อนาคตของการเกษตร Grobot ตู้ปลูกผักในอาคารฝีมือคนไทย - Forbes Thailand

อนาคตของการเกษตร Grobot ตู้ปลูกผักในอาคารฝีมือคนไทย

จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถปลูกผักไว้ภายในอาคาร ด้วยระบบปิดที่มีแมลงรบกวนน้อยจึงไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง และยังไม่ต้องคาดเดากับปริมาณแสงแต่ละวันเพราะพืชผักโตได้ด้วยแสงเทียมจากไฟฟ้า

ธนิต ภักดีโสดา กรรมการผู้จัดการและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท อินเทลอะโกร จำกัด ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวที่บังเอิญพบเห็นบนอินเทอร์เน็ต และเริ่มลงมือประดิษฐ์ตู้ปลูกผักในร่ม (Indoor Farming) ขึ้นมาเอง “เริ่มแรกคือผมทดลองปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วยชุด kit ที่ใช้ปลูกแบบกลางแจ้ง แต่ปรากฏว่ามันไม่สำเร็จ เพราะปัจจัยหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะแสงแดดธรรมชาติ ที่ถ้าหากไม่สม่ำเสมอผักก็จะไม่แข็งแรง เมื่อศึกษาไปก็พบว่าในต่างประเทศมีการปลูกผักในร่มโดยใช้แสงหลอดไฟ เลยเริ่มสนใจลองทำเอง” ธนิตเล่าถึงที่มา เขาร่วมกับเพื่อน 5 คนประดิษฐ์ตู้ปลูกผักในอาคารขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน จนถึงปัจจุบันที่เป็นรูปเป็นร่างแล้ว พวกเขาใช้ชื่อแบรนด์ว่า Grobot
ธนิต ภักดีโสดา หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทลอะโกร จำกัด บริษัทผลิตตู้ปลูกผักและระบบปลูกผักในร่ม
Grobot หากอธิบายโดยง่ายคือระบบปลูกผักด้วยน้ำ (Hydroponics) ที่นำมาบรรจุไว้ในตู้ที่ติดตั้งหลอดไฟแอลอีดี พร้อมกับพัดลมระบายอากาศ และเสริมด้วยการใช้แอพพลิเคชั่นสั่งตั้งเวลาการเปิดปิดไฟในตู้ ซึ่งแอพฯ นี้ยังสามารถตรวจสอบค่ากรดด่าง (pH) อุณหภูมิ ปริมาณแสง (LUX) ฯลฯ ได้ด้วย การต่อยอดจากระบบปลูกผักไฮโดรฯ มาเป็นผักไฮโดรฯ ในร่ม สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ต้องมีการวิจัยคือปริมาณแสงที่เหมาะสมสำหรับผักแต่ละชนิด “ผักแต่ละประเภทต้องการแสงไม่เท่ากัน เวลาที่จะเปิดปิดไฟก็จะต้องตั้งค่าเอง แม้แต่ภายในตู้จะใช้สีอะไรก็มีผลเพราะแต่ละสีสะท้อนแสงไม่เท่ากัน ไปจนถึงการใช้แสงโทนสีต่างๆ ก็ให้ผลไม่เหมือนกัน” ธนิตกล่าว โดยหลอดไฟที่ใช้ในตู้จะเป็นหลอดไฟแอลอีดีที่ผลิตเพื่อใช้ปลูกผักโดยเฉพาะ เนื่องจากให้สเปกตรัมที่เหมาะสม และต้องสั่งจากต่างประเทศเท่านั้นเพราะในไทยยังไม่มีจำหน่าย ค่าแสงมีความสำคัญมาก เพราะถ้าผิดพลาดจะทำให้ผักไม่แข็งแรง เติบโตไม่ได้ขนาดที่ต้องการ และอินเทลอะโกรยังต่อยอดไปมากกว่านั้นคือกำหนดตัวแปรที่ทำให้ผัก “อร่อย” “เรากำลังทดลองว่าทำอย่างไรให้อร่อย ซึ่งเกิดจากทุกอย่าง เช่น ปริมาณแสง ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากการหมุนเวียนอากาศ วันที่เก็บเกี่ยวนับจากลงปลูกวันแรก การเก็บเกี่ยวช้าหรือเร็วเกินไปอาจจะทำให้ผักมีรสขมได้" 
แอพพลิเคชั่นสำหรับติดตามสภาพแวดล้อมในตู้ปลูกผัก
การตั้งค่าตัวแปรเหล่านี้เมื่อคำนวณได้ค่าที่เหมาะสมจะถูกบรรจุในแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ผู้ใช้ปลายทางใช้งานได้สะดวก เพียงกดปุ่มบนจอว่ากำลังปลูกผักชนิดใด ระบบก็จะมีการเปิดปิดไฟและสั่งหมุนเวียนอากาศตามกำหนด ขณะนี้ทีมของธนิตวิจัยการปลูกผักอยู่หลายชนิด หลักๆ คือ ผักสลัดทุกชนิด (อาทิ เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค บัตเตอร์เฮด) ผักชี กะเพรา ผักบุ้ง ปวยเล้ง  ความคาดหวังของการทำระบบเบ็ดเสร็จเช่นนี้ คือการจำหน่ายตู้ Grobot ให้ลูกค้ารายย่อยสามารถปลูกผักได้ง่ายและเก็บเกี่ยวได้เอง โดยคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายตู้แรกได้ภายในปีนี้ ในราคา 7-9 หมื่นบาท/ตู้   รับจ้างผลิตส่งออกสู่ญี่ปุ่น แม้ตู้ปลูกผักในบ้านจะเพิ่งเริ่มต้น แต่ก่อนหน้านี้อินเทลอะโกรมีการส่งออกโครงสร้างและระบบปลูกผักสำหรับผู้ประกอบการแล้ว โดยส่งออกไปที่ญี่ปุ่น ประเทศที่ธนิตกล่าวว่า มีความตื่นตัวกับระบบปลูกผักในร่มมากที่สุด เนื่องจากชาวญี่ปุ่นเผชิญเหตุการณ์สึนามิตามด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ Fukushima ซึ่งทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดลง และเกิดวิกฤตวัตถุดิบอาหารขาดแคลน ดังนั้น ระบบปลูกผักในร่มจะช่วยแก้ปัญหาให้สามารถปลูกผักที่ใดก็ได้
โครงสร้างชั้นปลูกทำจากเหล็กที่อินเทลอะโกรรับจ้างผลิต (OEM) ให้ที่ญี่ปุ่น
โดย บริษัท Hanmo บริษัทผู้ศึกษาวิจัยเรื่องการทำฟาร์มผักในร่มจากญี่ปุ่น เป็นพันธมิตรที่เข้ามาติดต่อสั่งซื้อให้อินเทลอะโกรออกแบบและผลิตโครงสร้างชั้นปลูกพร้อมระบบไฟและระบบควบคุมดังกล่าวในลักษณะ OEM ไปติดตั้งในญี่ปุ่น ซึ่ง Hanmo เป็นผู้ทำตลาดหาลูกค้าและผู้ดูแลหลังการขาย โครงการแรกที่ติดตั้งให้เป็นลูกค้าที่ต้องการดัดแปลงโกดังเก่ามาเป็นฟาร์มผักในร่ม อินเทลอะโกรทำการออกแบบพื้นที่กว่า 500 ตารางเมตรนี้ให้ใช้ประโยชน์สูงสุด ผลออกมาเป็นโต๊ะเหล็กปลูกผักสูง 7 ชั้น จำนวน 20 โต๊ะ รวมทั้งหมดสามารถปลูกผักได้ 2 หมื่นต้น ซึ่งมากกว่าการปลูกแนวระนาบชั้นเดียว 100-300 เท่า   โอกาสในตลาด...ต้องลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับมามองตลาดประเทศไทย หากต้องการจะปลูกผักในร่มในเชิงพาณิชย์เพื่อทำเป็นธุรกิจ ธนิตยอมรับว่าอยู่ในขั้นที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้นทุนของระบบปลูกผักในร่มยังสูงมากเมื่อเทียบกับผักไฮโดรโปนิกส์ทั่วไป โดยผักไฮโดรฯ มีต้นทุนที่ 50-80 บาท/กิโลกรัม แล้วแต่ประเภทผัก ขณะที่ผักจากฟาร์มปลูกในร่มมีต้นทุนที่ 100-150 บาท/กิโลกรัม  ราคาที่ต่างกันเท่าตัวเกิดจากอะไร? ธนิตแจกแจงว่าเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า 50% ค่าเสื่อม 20-30% ที่เหลือ 10-20% คือค่าเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย ดังนั้นงานที่ต้องทำต่อไปคือการลดต้นทุนค่าผลิตตู้ (ซึ่งจะลดลงได้ด้วยการประหยัดต่อขนาดหากทำตลาดได้มากกว่านี้) และปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้า ถึงแม้ว่าจะยังมีจุดอ่อนเรื่องต้นทุนสูง แต่ธนิตมองว่าผักที่ปลูกในร่มมีข้อได้เปรียบเรื่องการควบคุมสิ่งแวดล้อมได้เกือบ 100% นั่นทำให้ผักจะเป็นผักออร์กานิกส์/ปลอดสารจริง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาและมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาทางอากาศได้ยาก “เรามองลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาล โรงแรม จนถึง Niche Market อย่างบ้านเรือน คอนโดฯ โฮสเทลเล็กๆ ของคนที่ใส่ใจสุขภาพจริงๆ ตลาดเหล่านี้เชื่อว่ามี แต่อยู่ที่ว่าเขารับราคาเราได้แค่ไหน” ธนิตกล่าว ปัจจุบันธนิตอยู่ในวัย 45 ปี ก่อนที่จะเริ่มทดลองตู้ปลูกผักในร่ม เขาลาออกจากงานสายอาชีพธนาคารที่ทำมากว่า 20 ปีด้วยความรู้สึกอิ่มตัว แต่เนื่องจากธนิตเรียนจบปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทำให้มีพื้นฐานอยู่บ้าง แม้จะถนัดงานวิจัยและประดิษฐ์กลไก แต่เขายอมรับว่ายังขาดเรื่องเงินทุนที่จะขยายธุรกิจและการหาตลาด ทำให้บริษัทค่อนข้างเปิดกว้างหากใครต้องการเข้ามาร่วมทุน “เรากำลังมองหาลู่ทางที่จะขยายธุรกิจโดยการทำฟาร์มผักในร่มเอง ขายผักเอง เพื่อทดลองตลาดผู้บริโภค และให้ทุกคนได้เห็นว่าตู้ปลูกผักในร่มของเราใช้ได้จริง” ธนิตกล่าว