“นูทานิคซ์” ปลุกกระแส Private Cloud ตอบรับผู้บริโภคยุคดิจิทัล - Forbes Thailand

“นูทานิคซ์” ปลุกกระแส Private Cloud ตอบรับผู้บริโภคยุคดิจิทัล

ในโลกยุคดิจิทัลที่ผู้บริโภคต้องการความเร็วและสะดวก ระบบข้อมูลหลังบ้านที่สนองตอบได้ทันทีจึงเป็นประเด็นสำคัญของธุรกิจ ทำให้ “นูทานิคซ์” บริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ระบบคลาวด์จากสหรัฐฯ ขยายเข้ามาในไทยเพื่อปักหมุดตัวเลือก “Private Cloud” แทนดาต้าเซ็นเตอร์ภายในแบบดั้งเดิม

ทีมงาน Forbes Thailand พบกับ “ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี” ผู้จัดการประจำประเทศของ บริษัท นูทานิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ในสำนักงานที่เช่าพื้นที่จาก Regus โค-เวิร์กกิ้ง สเปซบนตึกเกษรพลาซ่า เป็นตัวเลือกพื้นที่สำนักงานที่คล้ายคลึงกับธุรกิจที่นูทานิกซ์ดำเนินการและพยายามผลักดันอยู่ นั่นคือธุรกิจซอฟต์แวร์ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งที่มุ่งเน้นให้ลูกค้าพิจารณาเลือกใช้ Private Cloud แทนดาต้าเซ็นเตอร์ในบริษัทแบบดั้งเดิม (On-premise) หรือระบบ Public Cloud ซึ่งกำลังมาแรงในปัจจุบัน นูทานิคซ์ เป็นบริษัทจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดย Dheeraj Pandey ในฐานะสตาร์ทอัพเมื่อปี 2009 ก่อนจะระดมทุน เติบโต และเข้าไอพีโอในตลาดหุ้น New York เมื่อปี 2015 สำหรับนูทานิคซ์ประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2557 โดยทวิพงศ์เป็นพนักงานคนที่ 2 ของบริษัท กลุ่มผู้ก่อตั้งนูทานิคซ์ในสหรัฐฯ ใช้วิธีศึกษาระบบของ Google และ Facebook ในการบริหารจัดการเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ แม้จะมีคนเข้าใช้งานพร้อมกันปริมาณมากก็ยังรักษาให้ระบบไม่ล่ม แล้วนำองค์ความรู้นั้นออกมาตั้งเป็นบริษัทนูทานิคซ์ สร้างซอฟต์แวร์ระบบคลาวด์ที่นำไปใช้ได้กับธุรกิจของลูกค้า
นูทานิกซ์
ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศ บริษัท นูทานิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
“โจทย์ของไอทีบริษัทยังเหมือนเดิมเสมอแม้เราจะพัฒนากันมาต่อเนื่อง คือจะทำระบบข้อมูลอย่างไรให้ หนึ่ง ไม่ล่มหรือลดเวลาในการล่ม สอง ทำให้เร็วขึ้น และสาม ความปลอดภัย เป็นระบบที่เจาะไม่เข้า” ทวิพงศ์เกริ่นนำถึงปลายทางเดียวกันของการพัฒนา ‘หลังบ้าน’ ซึ่งสำคัญมากขึ้นในปัจจุบันเพราะธุรกิจหลายกลุ่มเริ่มมี front-end ของการค้าที่เป็นระบบดิจิทัล เช่น อี-คอมเมิร์ซ การเงิน และอีกหลายธุรกิจเริ่มเก็บดาต้าของลูกค้าเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ในภายหลัง  

ลดต้นทุนด้วย Private Cloud

สำหรับนูทานิคซ์ นวัตกรรมตอบโจทย์ปัญหานั้นคือการเปลี่ยนจากระบบดาต้าเซ็นเตอร์ภายในบริษัท มาเป็นระบบ Private Cloud ซึ่งนูทานิคซ์อธิบายเปรียบเทียบว่า ดาต้าเซ็นเตอร์แบบดั้งเดิมเป็นเหมือนฟาร์มสุนัข ขณะที่ระบบคลาวด์คือฟาร์มไก่ปศุสัตว์ ความแตกต่างคือ สุนัขไม่ใช่สัตว์ปศุสัตว์ สุนัขมีอายุยืนยาว หนึ่งตัวจะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ (scale-up) โดยมีข้อจำกัดของขนาดการเติบโต เมื่อจะซื้อสุนัขตัวใหม่เข้ามาในฟาร์มเพื่อเพิ่มปริมาณ หากเปลี่ยนเป็นสุนัขพันธุ์อื่นก็จะเลี้ยงร่วมกันยาก เปรียบเหมือนดาต้าเซ็นเตอร์ภายในแบบดั้งเดิมที่มีข้อจำกัดปริมาณการใช้งาน และการเปลี่ยนระบบไปใช้เซิร์ฟเวอร์ต่างยี่ห้อก็อาจเกิดปัญหาความเข้ากันได้ ขณะที่คลาวด์เหมือนกับฟาร์มไก่ การเติบโตของฟาร์มสามารถเพิ่มจำนวนไก่ได้เรื่อยๆ (scale-out) ตามความต้องการใช้งาน ส่วนนูทานิคซ์ที่เป็นซอฟต์แวร์รันระบบ Private Cloud เหมือนกับมีฟาร์มของตัวเองที่ตรวจสอบได้ชัดว่าเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ไปเช่าอยู่ในดาต้าเซ็นเตอร์ไหนและไม่ใช้ปะปนกับใครเหมือน Public Cloud ฟาร์มนี้ยังสามารถเลี้ยงไก่ได้หลายพันธุ์ เพราะซอฟต์แวร์สามารถปรับใช้กับเซิร์ฟเวอร์ได้หลายยี่ห้อตามความเหมาะสม เนื่องจากระบบของนูทานิคซ์เป็น Open Software ข้อแตกต่าง หากเปรียบเทียบระบบคลาวด์กับระบบดั้งเดิมแล้ว นอกจากการเติบโตที่ทำได้เร็วกว่า คลาวด์ยังทำให้การลงทุนเริ่มต้นถูกกว่าด้วย เพราะไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ของตัวเอง
ตัวอย่างดาต้า เซ็นเตอร์ส่วนกลางที่ให้บริษัทต่างๆ เช่าใช้เพื่อทำระบบจัดเก็บข้อมูลแบบ Private Cloud ได้ (PHOTO CREDIT: CGD)
อย่างไรก็ตาม ระบบคลาวด์ที่ลูกค้าปัจจุบันรู้จักมากกว่าคือ Public Cloud ซึ่งเป็นถังรวมสาธารณะที่ให้ลูกค้าเช่าพื้นที่จ่ายรายเดือนเพื่ออัพโหลดข้อมูลขึ้นไปเก็บ มีรายใหญ่ในตลาดปัจจุบัน เช่น Amazon Web Services (AWS), Google Cloud, Azure เป็นต้น ทวิพงศ์แจกแจงว่า Public Cloud การลงทุนเริ่มต้นจะถูกกว่า Private Cloud จริง เพราะปริมาณข้อมูลยังน้อย แต่เมื่อบริษัทของลูกค้าเติบโต มีข้อมูลและการอัพโหลดดาวน์โหลดข้อมูลมากขึ้น ค่าใช้จ่ายจะพุ่งเป็นเงาตามตัว ดังนั้น นูทานิคซ์มักจะแนะนำลูกค้าบริษัทใหญ่ให้พิจารณาระบบ Hybrid Cloud แทน คือการใช้ Private Cloud เป็นฐาน เริ่มลงทุนเฉพาะที่ใช้งานในปัจจุบันและทยอยขยายตามต้องการ ส่วนระบบ Public Cloud สามารถเช่าใช้เฉพาะช่วงที่ระบบจะมีการใช้งานมากเป็นพิเศษ “เมื่อมีโปรโมชันขายตามฤดูกาล เช่น เทศกาล 11.11 ก็เชื่อมต่อระบบดาต้าขึ้นไปใช้บน Public Cloud ชั่วคราว เพราะเมื่อจบแคมเปญพวกนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งานแล้ว” ทวิพงศ์อธิบาย
นูทานิกซ์
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กรณีตัวอย่างการใช้งาน Private Cloud กับนูทานิกซ์ (photo credit: throughwave.co.th)
ทั้งนี้ นูทานิคซ์ประเทศไทยมีการติดตั้งระบบให้ลูกค้าไปแล้ว 300 ราย โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากลูกค้า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งมีโจทย์ต้องการสร้างความรวดเร็วและสะดวก ให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้จากทุกที่ทุกเวลาเพื่อให้คำแนะนำการรักษา ดังนั้นจึงติดตั้งระบบ Private Cloud เป็นแหล่งเก็บข้อมูลคนไข้เพื่อให้เข้าถึงได้จากทุกที่ และเป็นระบบที่อนุญาตให้เริ่มลงทุนทีละน้อย ทยอยถ่ายโอนข้อมูลตามงบที่ได้รับต่อปี ไม่เหมือนกับการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งระบบเองซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงซึ่งโรงพยาบาลไม่สามารถลงทุนก้อนใหญ่ได้  

ขาขึ้นของธุรกิจคลาวด์

สำหรับภาพรวมตลาดโลกนั้น Gartner บริษัทวิจัยและที่ปรึกษา ฉายภาพว่าปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนระบบจัดเก็บข้อมูลมาไว้บนคลาวด์มาตั้งแต่ปี 2015 Gartner คาดการณ์อนาคตไปถึงปี 2020 ว่า สหรัฐฯ จะยังคงเป็นประเทศที่ใช้งานคลาวด์มากที่สุดวัดจากสัดส่วนงบสำหรับบริการคลาวด์จะสูงถึง 14% ของงบไอทีทั้งหมดในบริษัท ขณะที่ประเทศอย่าง แคนาดา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ บราซิล และออสเตรเลีย จะใช้งบคลาวด์สัดส่วน 10-11.5% ที่น่าสนใจในงานวิจัยของ Gartner คือประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วและพัฒนาด้านเทคโนโลยีไปมากกลับไม่นิยมใช้ระบบคลาวด์ โดยจะมีการใช้งบคลาวด์สัดส่วนเพียง 4.4% ของงบไอทีรวมเพราะมีอคติเชิงวัฒนธรรมรวมถึงอุปสรรคทางกฎหมาย และการเติบโตของงบที่ใช้กับคลาวด์ในญี่ปุ่นยังเติบโตน้อยกว่า 20% ในรอบ 5 ปี (2017-2022) สวนทางกับประเทศจีนซึ่งปัจจุบันใช้งบคลาวด์สัดส่วน 8% ของงบไอทีรวม แต่มีการเติบโตเร็วที่ 35% ในรอบ 5 ปี
คาดการณ์สัดส่วนการใช้งบประมาณสำหรับระบบคลาวด์ของประเทศต่างๆ (source: Gartner)
ส่วนประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการใช้งานคลาวด์เช่นกัน “6 ปีก่อนนี่เหนื่อยมาก ลูกค้าเขาไม่เข้าใจเลยว่าคลาวด์คืออะไร ณ ตอนนี้ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ต้องบริการผู้ใช้ของเขาให้เร็วที่สุดและปลอดภัยที่สุด เช่น ธุรกิจการเงิน รีเทล” ทวิพงศ์กล่าว “ช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเมื่อก่อนมาก” อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ความเข้าใจถึงระบบคลาวด์ของลูกค้าเท่านั้นที่จะส่งผลดีต่อนูทานิคซ์ บริษัทจะต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจความต่างของ Public Cloud กับ Private Cloud ด้วย “กลยุทธ์ของเราคือต้องให้ความรู้กับพาร์ทเนอร์ นั่นคือกลุ่ม System Integrator (SI) ที่จะไปเสนอขายแพ็กเกจการทำระบบกับลูกค้า เราต้องให้ความรู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง” ผู้จัดการประเทศไทยยังกล่าวด้วยว่านูทานิคซ์จะเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่เป็นหลัก และเชื่อว่าธุรกิจคลาวด์กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นในโลกที่เปลี่ยนสู่ดิจิทัลเช่นนี้ “Digital Transformation และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความรวดเร็วอย่างมากของยุคนี้ คือแรงขับเคลื่อนสำคัญที่สุดที่จะทำให้บริษัทต่างๆ เกิดการปรับระบบด้านไอทีจากภายใน” ทวิพงศ์กล่าวสรุป   อ่านเพิ่มเติม   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร