1 ปีจอยลดา แอพพลิเคชั่นนิยายแชทที่พุ่งทะยานทราฟฟิกอันดับ 1 ในเครืออุ๊กบียู ติดตลาดด้วยฐานแฟนคลับเกาหลีสู่ก้าวต่อไปของแผนการทำเงิน ดึงดูดนักอ่านหน้าใหม่ และตลาดต่างประเทศ
จอยลดา เป็นแอพพลิเคชั่นเขียนและอ่านนิยายรูปแบบ UGC (User-Generated Content) ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้ 2 ล้านคนต่อเดือน หรือวันละ 5 แสนคน และยังใช้เวลาอยู่กับแอพฯ เฉลี่ย 30 นาทีต่อคนต่อวัน หรือคิดเป็นเวลา 1 พันล้านนาทีต่อเดือน นับเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยเมื่อคำนึงถึงว่าแอพฯ นี้เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 หรือแค่ปีกว่าๆ เท่านั้น และยังต้องแย่งชิงเวลาของผู้ใช้กับแอพฯ สร้างความบันเทิงอื่นๆ อีก สิ่งที่แปลกแหวกแนวของจอยลดาคือการเป็นแอพฯ อ่านและเขียนนิยายแต่ไม่ใช่นิยายที่คุ้นเคยกันทั่วไป นิยายในจอยลดามีการเล่าเรื่องด้วยรูปแบบที่จำลองจากการแชท คล้ายกับผู้อ่านได้แอบอ่านแชท LINE ของตัวละครที่จะตอบโต้กันไปมา ทั้งยังสามารถส่งมัลติมีเดียอื่นเข้ามาช่วยเล่าเรื่องได้ เช่น รูปภาพ เมื่อเข้าใช้งานในจอยลดา การแตะหน้าจอ 1 ครั้งจึงจะทำให้ข้อความในแชทปรากฏ 1 ข้อความ ประสบการณ์ในการอ่านนิยายจึงแตกต่างจากนิยายแบบดั้งเดิมอย่างมากและมีชีวิตชีวา “เราเห็นเด็กๆ เขาแชทกันทั้งวันอยู่แล้ว และถ้าแต่งนิยายแบบแชทก็ทำได้กระชับ จะใส่มีเดียอื่นๆ เข้ามาในเรื่องก็ได้แบบเดียวกับที่เขาใช้กันอยู่แล้วเวลาเขาแชทกัน ทำให้แต่งเรื่องได้ง่ายกว่า เลยได้ไอเดียขึ้นมา” ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท อุ๊กบี จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิยายแชทจอยลดา ซีอีโออุ๊กบีหรือที่ทุกคนรู้จักเขาในนาม หมู อุ๊กบี เล่าว่าเขาและทีมงานช่วยกันแต่งนิยายแชทจอยลดาขึ้นมาประมาณ 100 เรื่องในช่วงเริ่มต้นก่อนจะปล่อยออกสู่ตลาดซึ่งปรากฏว่าแอพฯ จอยลดาติดตลาดอย่างรวดเร็วด้วยกระแสการบอกต่อที่แพร่ไปสู่โซเชียลมีเดียอื่น โดยเฉพาะ Twitter ที่มีการติดแฮชแท็กชื่อนิยายเด่นๆ ดึงดูดให้คนเข้าแอพฯ และกลายเป็นกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีที่เข้าใช้งานมากที่สุด ทำให้นิยายจากแฟนคลับที่ใช้ศิลปินเกาหลีเป็นตัวละครเดินเรื่อง (Fan Fiction) มีมากถึง 70-80% ของนิยายจอยลดาทั้งหมดในขณะนี้แปลงจำนวนผู้ใช้เป็นรายได้
ก่อนหน้านี้ บริษัท อุ๊กบียู จำกัด ในเครือของอุ๊กบี ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาแอพฯ นิยายแบบ UGC เคยพัฒนาแพลตฟอร์มอื่นมาแล้ว เช่น ธัญวลัย fictionlog แพลตฟอร์มก่อนหน้าจอยลดานั้นอุ๊กบียูใช้กลยุทธ์ทำเงินจากการเก็บค่าอ่าน โดย ธัญวลัย นั้นมีการเก็บค่าอ่านนิยายเฉพาะเรื่อง คิดเป็นสัดส่วน 5% ของนิยายทั้งหมด ส่วน fictionlog จะเริ่มเก็บค่าอ่านตั้งแต่บทที่ 2 ของนิยายทุกเรื่อง นอกจากนั้นยังนำเรื่องเด่นๆ มารวมเล่มจำหน่ายแบบสิ่งพิมพ์เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ณัฐวุฒิกล่าวว่าจอยลดาจะต้องใช้กลยุทธ์ที่ต่างไป หนึ่งเพราะคอนเทนต์หลักขณะนี้ติดลิขสิทธิ์ตัวละครที่ใช้ในการแต่งจึงรวมเล่มจำหน่ายไม่ได้ สองคือกลุ่มผู้อ่านที่แตกต่าง จอยลดานั้นมีกลุ่มผู้อ่านส่วนใหญ่ในวัย 13-24 ปี ต่างจากสองแพลตฟอร์มก่อนหน้าที่เป็นกลุ่มผู้อ่านวัย 24-35 ปี ทำให้อำนาจซื้อต่างกัน แต่จุดแข็งของจอยลดาคือจำนวนทราฟฟิกที่สูงที่สุดในบริษัท จึงสามารถขายพื้นที่โฆษณาได้ โดยจะมีโฆษณาสองประเภทคือแบนเนอร์คั่นช่วงเริ่มต้นแต่ละบทของนิยายซึ่งเป็นโฆษณาแบบ programmatic คิดเป็นสัดส่วน 90% อีกส่วนหนึ่งคือโฆษณาขายตรงที่ทีมของอุ๊กบียูนำเสนอต่อลูกค้า เป็นโฆษณา tie-in เข้าไปในเนื้อเรื่องโดยตรงคิดเป็น 10% โฆษณาส่วนนี้จะเข้าหานักเขียนที่เขียนเรื่องฮิต 50 อันดับแรกในขณะนั้น “เราจะคุยกับนักเขียนว่าต้องการรับโฆษณาไหม ถ้ารับ tie-in ก็จะต้องแทรกเข้าไปในเนื้อเรื่อง เช่น อาจจะให้ตัวละครคุยกันว่าได้ใช้แชมพูตัวนี้แล้ว” ทั้งนี้ จอยลดายังได้รายได้ส่วนหนึ่งจากผู้ใช้ที่ไม่ชอบโฆษณา โดยสามารถเสียค่าสมาชิกเดือนละ 35 บาทเพื่อเป็นสมาชิก VIP สามารถปิดแบนเนอร์โฆษณาทั้งหมดได้มัดใจแฟนคลับเกาหลี-ต่อยอดสู่แฟนนิยายอื่นๆ
“การจะให้คนอ่านหนังสือ 4-5 หน้าต่อวันว่ายากแล้ว แต่ลองจินตนาการว่าจะให้คนเขียนหนังสือได้ 4-5 หน้าต่อวันยากกว่ามาก” คือคำกล่าวของณัฐวุฒิถึงการดึงดูดผู้ใช้ในแอพฯ UGC ซึ่งไม่ใช่แค่การดึงผู้อ่านแต่ต้องดึงผู้เขียนให้ได้ด้วย ปัจจุบันจอยลดามีผู้เขียน 4.5 แสนคน นั่นทำให้ผู้ใช้จอยลดาส่วนใหญ่เป็นทั้งผู้อ่านและผู้เขียน แต่ถึงแม้ว่าขณะนี้คนเขียนซึ่งมักเป็นเด็กวัยรุ่นจะแต่งนิยายแชทในจอยลดาเพื่อความสนุกสนานมากกว่าจะคิดต่อยอดถึงการทำเงิน แต่ณัฐวุฒิใช้ประสบการณ์จากแพลตฟอร์มเดิมมาวางวิสัยทัศน์เรียบร้อยแล้วว่า หากจะดึงดูดให้นักเขียนมากฝีมือทำผลงานได้สม่ำเสมอจะต้องมีค่าตอบแทนมากกว่านี้ (ปัจจุบันนักเขียนจอยลดาระดับท็อปทำเงินได้หลักพันบาทต่อเดือน) “นอกจากค่าโฆษณาที่นักเขียนได้ เรากำลังคิดว่าจะทำช่องทางให้แฟนๆ ผู้อ่านสามารถจ่ายตรงให้นักเขียนคนที่เขาชอบตามความพอใจ (donate)” กลยุทธ์ต่อไปเพื่อตีวงล้อมให้แฟนคลับยังอยู่กับจอยลดา ณัฐวุฒิแย้มว่าเขากำลังจะทำอีเวนท์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปินเกาหลีที่ผนวกรวมกับแอพฯ จอยลดา ทั้งนี้ยังไม่เปิดเผยในรายละเอียด สุดท้ายคือการเพิ่มฐานแฟนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่แฟนคลับเกาหลี โดยจอยลดาจะจัดฟังก์ชันเรื่องยอดฮิตที่แบ่งตามหมวดหมู่มากขึ้น เพื่อให้นิยายกลุ่มอื่นที่น่าจะได้รับความนิยมไม่แพ้กันเข้าสู่สายตาผู้อ่านมากกว่านี้ เช่น หมวดสยองขวัญ ความรักทั่วไป แฟนตาซี เป็นต้นเปลี่ยนภาษาสยายปีกต่างประเทศ
โมเดลจอยลดายังไม่ได้หยุดแค่ที่ไทยแต่ณัฐวุฒิยังพาแอพพลิเคชั่นนี้ไปบุกต่างประเทศด้วย ผ่านการปรับภาษาในแอพพลิเคชั่นเป็นภาษาอื่น และแปลนิยายแชทไทยเป็นภาษาอื่นจำนวนหนึ่งเพื่อให้นักอ่านเข้าใจตัวตนของจอยลดา โดยประเทศแรกที่เจาะตลาดเมื่อราว 4 เดือนก่อนคืออินโดนีเซีย ปัจจุบันมีฐานผู้อ่านรวม 3 แสนคน และนักเขียน 2-3 หมื่นคน ขณะที่อีก 2 ประเทศล่าสุดคือ มาเลเซีย และ เกาหลี เพิ่งเข้าตลาดเกือบ 2 เดือนก่อนนี้เอง จึงยังวัดผลไม่ได้มากนัก “คนแต่ละประเทศมีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน เราต้องลองดูธรรมชาติของเขาก่อน เช่น ความอดทนต่อการรับสื่อโฆษณามากน้อยไม่เท่ากัน แต่ที่แน่นอนคือ ถ้าเรายังมีผู้ใช้ไม่ถึง 1 แสนคนต่อวันก็ยังไม่ควรลงโฆษณาในแอพฯ” ณัฐวุฒิกล่าว ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปีก่อน แอพฯ จอยลดายังคงเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 20-30% ทุกเดือน แต่มีจังหวะขึ้นลงตามวัฏจักรช่วงปิดเทอม-เปิดเทอมของเด็กนักเรียน เรายิงคำถามไปว่า ปัจจุบันจอยลดาทำกำไรหรือยัง ณัฐวุฒิยิ้มๆ ก่อนตอบว่า “ถ้าจะรีบ ปีหน้าเราก็ทำกำไรได้ ถ้าเริ่มเปิดระบบ VIP คล้ายกับ JOOX ที่ต้องเสียค่าสมาชิกเพื่อเข้าถึงคอนเทนต์บางอย่าง แต่คงยังไม่ทำเร็วๆ นี้”Forbes Facts
- อุ๊กบียู เป็นบริษัทลูกของอุ๊กบีที่แยกเส้นทางการระดมทุนและทรัพยากร โดยอุ๊กบียูได้นายทุนใหญ่คือ Tencent จากจีนลงทุนให้กว่า 800 ล้านบาท
- fictionlog เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นหลังจากอุ๊กบียูเทกโอเวอร์สตาร์ทอัพ Storylog เข้ามาในบริษัท และเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่ทำกำไรเรียบร้อยแล้ว