ทุนสนับสนุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินที่ Scott Wu วัย 28 ปี และทีมเขียนโค้ดผู้กระหายความสำเร็จที่ Cognition กำลังใช้สร้างเครื่องมือ AI ที่เขียนโปรแกรมได้ด้วยตัวมันเองทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลให้ทั้งอุตสาหกรรมแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ได้ แต่มูลค่าประเมิน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ของบริษัทนี้เป็นผลลัพธ์จากการค้นพบที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง หรือจะเป็นเพียงแค่การฝันเฟื่องเรื่อง AI อีกครั้ง
ณ เวลาก่อนถึงวันคริสต์มาสปี 2023 ไม่นาน ทีมเล็กๆ ที่ Cognition กำลังปวดหัวกับการตั้งค่าเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลซึ่งซับซ้อนเป็นพิเศษสำหรับ AI ผู้ช่วยเขียนโค้ดชื่อ Devin ที่เพิ่งเกิดได้ไม่นานของสตาร์ทอัพด้าน AI จาก San Francisco รายนี้ พวกเขาใช้เวลาหลายชั่วโมงศึกษาเอกสารการติดตั้งเซิร์ฟเวอร์อย่างละเอียดและพยายามใช้คำสั่งที่แตกต่างจากเดิมแต่ก็ไม่ได้ผล ทีมซึ่งเหนื่อยล้าและหงุดหงิดจึงตัดสินใจลองดูว่า Devin จะแก้ปัญหานี้อย่างไร
เมื่อ AI เริ่มลงมือทำงานเหล่าผู้สร้างก็ต้องอึ้ง “มันเขียนคำสั่งที่ดูเหมือนไสยศาสตร์มนตร์ดำสุดๆ ขึ้นมา” ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้นำฝ่ายผลิตภัณฑ์ Walden Yan วัย 21 ปีเล่า ตอนแรกดูเหมือน Devin คงจะไม่ได้แก้ปัญหาเก่งไปกว่าพวกเขา แต่แล้วไฟที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ซึ่งเป็นสีแดงมาหลายชั่วโมงก็เปลี่ยนเป็นสีเขียว แล้วเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลก็พร้อมทำงาน
พวกเขาพบว่า Devin ลบไฟล์ระบบที่มีปัญหาซึ่งก่อนหน้านั้นทีมมองข้ามไป “นาทีนั้นผมรู้เลยว่างานวิศวกรรมซอฟต์แวร์กำลังจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน” Yan กล่าว
นี่คืองานสำคัญชิ้นแรกที่ Devin ทำสำเร็จ และเป็นการพิสูจน์แนวคิดสำหรับ Cognition ที่มีวิสัยทัศน์อยากใช้ AI มาช่วยตัดงานขั้นพื้นฐานออกจากกระบวนการเขียนโค้ด หลังจากผ่านมาเกือบ 1 ปีตอนนี้ Devin ทำงานวิศวกรรมซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานได้แล้ว เช่น การตรวจหาและแก้ไขบั๊ก ปรับปรุงโค้ดบางส่วน และย้ายโค้ดข้ามแพลตฟอร์ม เมื่อผู้ใช้งานออกคำสั่งด้วยประโยคธรรมดาเช่น “เก็บรายละเอียดของโค้ดชุดนี้” มันจะสร้างแผนการทำงานและลงมือทำ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ใช้ได้จริง
แนวทางนี้แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นๆ ที่ชื่อดังกว่าและเป็นรายใหญ่กว่าในสนามที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ เช่น Github (ซึ่ง Microsoft ซื้อไปแล้วด้วยราคา 7.5 พันล้านเหรียญในปี 2018) และ Codeium ซึ่งมีมูลค่าประเมิน 1.3 พันล้านเหรียญ ทั้งสองรายมีบริการที่นำ AI มาใช้เป็นผู้ช่วยดิจิทัลเพื่อให้คำแนะนำแก่นักเขียนโค้ดที่เป็นมนุษย์ ส่วน Devin นั้นเป็นเอเจนต์ปัญญาประดิษฐ์อัตโนมัติ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วสามารถเขียนโค้ดได้โดยไม่ต้องมีมนุษย์มาเกี่ยวข้อง และทำงานซึ่งตามปกติแล้วจะต้องมอบหมายให้นักพัฒนาโปรแกรมเป็นคนทำได้ด้วยตัวเองจนจบ (ชื่อ Devin มาจาก “dev” ซึ่งเป็นคำย่อของคำว่านักพัฒนาหรือ developer) “สิ่งที่เราเห็นในตอนนั้นมันเป็นโอกาสได้จริง” Scott Wu วัย 28 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Cognition กล่าว “เพื่อขยับจากแค่การใช้ AI ช่วยเติมคำ มาเป็นการใช้ AI ทำงานได้ทั้งชิ้น”
โค้ดที่สร้างด้วย AI ได้เริ่มพลิกโฉมของอุตสาหกรรมนี้ไปแล้ว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Sundar Pichai ซีอีโอของ Google กล่าวว่า โค้ดใหม่ที่เขียนกันในบริษัทยักษ์ใหญ่สายเทคแห่งนี้กว่า 1 ใน 4 เป็นโค้ดที่เขียนโดย AI และสำหรับ Github ซึ่งมีรายได้ต่อปีแตะ 2 พันล้านเหรียญในปี 2024 นั้น Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft กล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า รายได้จากเครื่องมือช่วยเติมโค้ดคิดเป็น 40% ของรายได้ส่วนที่เติบโตขึ้นในปี 2024 Brendan Burke นักวิเคราะห์ของ Pitchbook กล่าวว่า การใช้ AI เขียนโค้ดกลายเป็นสายงานที่ได้เงินลงทุนสูงที่สุดในสายงาน generative AI โดยเหล่าสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นงานสายนี้ระดมทุนไปได้กว่า 1 พันล้านเหรียญแล้วแค่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024
ส่วนรายได้จริงๆ นั้นเพิ่งเริ่มโต บริษัทวิจัย IDC คาดว่า ภายในปี 2029 รายได้ของธุรกิจนี้น่าจะยังอยู่แค่กว่า 4 พันล้านเหรียญเท่านั้น มีสตาร์ทอัพด้านการใช้ AI เขียนโค้ดหลายรายที่ทำรายได้ต่อปีเกิน 10 ล้านเหรียญ ส่วน Cognition ไม่เปิดเผยข้อมูลรายได้ แต่ Russell Kaplan กรรมการผู้จัดการกล่าวว่า บริษัทมีลูกค้าหลายสิบรายแล้วซึ่งโดยทั่วไปทำสัญญารายปีด้วยมูลค่าตัวเลข 6 หรือ 7 หลัก และโอกาสในธุรกิจนี้ก็น่าตื่นเต้นมากพอที่จะทำให้ยักษ์ใหญ่อย่าง Anthropic, Amazon และ IBM ปล่อยเครื่องมือเขียนโค้ดของตัวเองออกมาแข่งบ้าง พร้อมด้วยสตาร์ทอัพอย่าง Poolside (มูลค่าประเมิน 3 พันล้านเหรียญ) และ Anysphere (มูลค่าประเมิน 400 ล้านเหรียญ) Ritu Jyoti นักวิเคราะห์ของ IDC กล่าวว่า ตอนนี้ความสามารถในการเขียนโค้ดกลายเป็น “ข้อเสนอขั้นต่ำ” ที่โมเดล AI โดยทั่วไปต้องทำให้ลูกค้าได้แล้วและกล่าวว่า ผู้นำในวงการนี้ยังคงเป็น ChatGPT ของ OpenAI แต่ AI ซึ่งจะทำงานเขียนโค้ดได้ด้วยตัวมันเองแบบที่ Cognition กำลังพัฒนาอยู่นั้น “จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ”
เรื่องนี้คงไม่ใช่ข่าวดีเท่าไรสำหรับคนอเมริกัน 5 ล้านคนที่ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ด้วยค่ามัธยฐานเงินเดือนอยู่ที่ 130,000 เหรียญต่อปี ส่วนนักเขียนโค้ด 13 ล้านคนในอินเดียและจีนได้น้อยกว่านั้นมาก แต่ Wu ยืนยันว่า การตกงานครั้งมโหฬารจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ และที่ผ่านมาสายงานนี้ “มีอุปสงค์เป็นข้อจำกัด”
นักเขียนโปรแกรมทั่วไปอาจระแวง แต่นักลงทุนถูกใจสิ่งนี้ Founders Fund ของ Peter Thiel และ Khosla Ventures วางเดิมพันกับ Wu และทีม 25 คนของเขาด้วยการลงทุน 176 ล้านเหรียญกับ Cognition ในรอบซีรี่ส์ B เมื่อเดือนเมษายน ปี 2024 ทำให้มูลค่าประเมินของบริษัทพุ่งขึ้นเป็น 2 พันล้านเหรียญภายในหกเดือนนับตั้งแต่ก่อตั้ง และการอัดฉีดเงินทุนดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาแค่ 3 เดือนหลังจากที่สตาร์ทอัพรายนี้ปิดการระดมทุนรอบซีรี่ส์ A ไปด้วยเงิน 21 ล้านเหรียญเมื่อเดือนมกราคมในปีที่ผ่านมา
Sahir Azam ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์กล่าวว่า ในบรรดาลูกค้าของที่นี่รวมไปด้วยบริษัทบริหารค่าใช้จ่ายชื่อ Ramp มูลค่า 300 ล้านเหรียญ (รายได้ปี 2023 โดยประมาณ) ซึ่งนำ Devin ไปใช้เขียนโจทย์ทดสอบและเก็บกวาดโค้ดที่ไม่ใช้แล้ว อีกรายคือ แพลตฟอร์มข้อมูลชื่อ MongoDB มูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญ (รายได้ปีบัญชี 2024) ซึ่งใช้ Devin ปรับปรุงวิธีการจัดโครงสร้างโค้ดที่ล้าสมัยและช่วยให้ลูกค้าประหยัดเงินได้หลายล้านเหรียญ ส่วนโปรแกรมเมอร์ที่บริษัทเทคโนโลยีการเงิน Nubank มูลค่า 8 พันล้านเหรียญ (รายได้ปี 2023) ก็นำ Devin ไปใช้ทำงานอย่างการปรับปรุงคลังเก็บโค้ด (code repository)
แม้บริษัทนี้จะยังใหม่แต่ John Luttig หุ้นส่วนของ Founders Fund ก็ลงทุนใน Cognition เองด้วยบางส่วน เพราะเขาคิดว่าบริษัทนี้นำหน้าคู่แข่งไปจนถึงจุดที่ “จะตามพวกเขาให้ทันในธุรกิจเอเจนต์เขียนโค้ดเป็นเรื่องยากมากแล้ว” และ Microsoft ก็ดูเหมือนจะรู้สึกแบบเดียวกัน เพราะ Microsoft ทำสัญญาหุ้นส่วนกับ Cognition เมื่อเดือนพฤษภาคมเพื่อนำ Devin มาให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้งานกันได้บนคลาวด์ Azure ของบริษัท โดยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี Kevin Scott ออกปากชมว่า เครื่องมือนี้ “ไม่ธรรมดา” ในงานประชุมนักพัฒนาประจำปีของบริษัท
แม้ Silicon Valley จะเต็มไปด้วยกองซากศพของบริษัทที่เคยรุ่งโรจน์จนแซงหน้า Amazon กับ Google แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด แต่เหล่าผู้สนับสนุน Cognition ขอเดิมพันว่า ถ้าจะมีใครสร้างสุดยอดเครื่องจักรเขียนโค้ดได้จริงก็ต้องเป็นนักเขียนโค้ดระดับโลก 3 คนที่มีรางวัลเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือ กลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัทนี้ล้วนแต่เป็นนักเขียนโค้ดระดับเหรียญทองโอลิมปิกที่มาพบกันในวงการแข่งขันเขียนโปรแกรม โดยที่ Wu เคยเป็นเซียนคณิตศาสตร์รุ่นประถมศึกษาที่ได้รับการจัดอันดับเป็นถึง “legendary grandmaster” (ปรมาจารย์ระดับตำนาน) (อันดับสูงสุด) โดย Codeforces เว็บไซต์เครือข่ายนักเขียนโปรแกรมที่เป็นผู้จัดงานแข่งขันเขียนโค้ด Eric Glyman นักลงทุนรุ่นก่อตั้งของ Cognition และซีอีโอของ Ramp กล่าวว่า Wu เป็น 1 ใน “5 คนที่มีไอคิวสูงสุดเท่าที่ผมเคยพบ”
“Scott เป็นคนปราดเปรื่อง ช่างสงสัย และทะเยอทะยานไม่สิ้นสุดอย่างเห็นได้ชัด” Sarah Guo นักร่วมลงทุนผู้ลงทุนกับ Cognition ในรอบการระดมทุน 3 รอบผ่านบริษัท Conviction ของเธอกล่าว Wu ยังเคยได้เข้าทำเนียบ Forbes 30 Under 30 ปี 2019 ด้วยจากการที่เขาทำบริษัทของตัวเองชื่อ Lunchclub ซึ่งใช้ AI ช่วยจองบัตรงานประชุมสร้างเครือข่ายต่างๆ นักลงทุนรายหนึ่งของ Cognition บอก Forbes ว่า Wu ลาออกเมื่อปี 2022 เพราะเขาหันไปสนใจงานด้านอื่น (Wu ไม่ให้ความเห็นเรื่องนี้) และ Lunchclub ซึ่งระดมทุนมาได้ประมาณ 30 ล้านเหรียญก็ยังคงทำธุรกิจไปแบบเอื่อยๆ
Cognition เปิดตัว Devin เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมาท่ามกลางเสียงฮือฮาอย่างมาก ในวิดีโอสาธิตที่มีผู้เข้าชม 30 ล้านครั้งบน X บริษัทอ้างว่า Devin “สอบผ่านการสัมภาษณ์งานจริงสำหรับตำแหน่งวิศวกรซอฟต์แวร์ของบริษัท AI ชั้นนำหลายแห่ง” และทำงานแก้โค้ดที่ยุ่งเหยิงได้สำเร็จ ทำเอาวิศวกรส่วนหนึ่งตกตะลึงกับความสามารถเชิงเทคนิคของ Devin และอีกส่วนหนึ่งเริ่มกลัวตกงาน หลังจากพักกลางวันได้สักครู่ก็มีคนนำวิดีโอที่ Wu สมัยเรียนชั้น ม.1 เคยโชว์ความเหนือชั้นในงานแข่งขันคณิตศาสตร์กลับมาแชร์อีกครั้ง โดยมีคอมเมนต์ออนไลน์พูดติดตลกว่า “หมอนี่ไม่ใช่คน เขาเป็น AI” และ “ที่จริง Devin คือ Scott แอบตอบคำถามของคุณผ่านแอปส่งข้อความ”
แต่ต่อมา Carl Brown นักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระชื่อดังจากเมือง Austin รัฐ Texas ออกมาบอกว่า นี่เป็นแค่โชว์ปาหี่ โดยในวิดีโอชื่อ “Debunking Devin” (เปิดโปง Devin) ที่มีผู้เข้าชมกว่า 500,000 ครั้ง เขากล่าวหาว่า Cognition อวดอ้างสรรพคุณของวิศวกร AI ตัวนี้เกินจริง เพราะเขาตรวจสอบพบว่า Devin ใช้เวลาทำงานนานกว่ามนุษย์มาก แถมยังทำให้เกิดข้อผิดพลาดใหม่ๆ ระหว่างทางด้วย
ประสบการณ์เช่นนี้ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า Devin เป็นแค่การปั่นกระแสฟองสบู่ AI ให้ผู้คนตื่นเต้นหรือไม่ Krish Manair วิศวกรจากบริษัทติดฉลากข้อมูล Labelbox ซึ่งทดสอบทักษะการสร้างเว็บแอปของเครื่องมือตัวนี้กล่าวว่า เขาสั่งให้ Devin ออกแบบ user interface (ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งาน) ที่ดูโดดเด่น แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับออกมาจืดสนิท ผู้ก่อตั้งบริษัทคู่แข่งอีกหลายคนบอก Forbes ว่า พวกเขาคิดว่า บริษัทนี้ให้สัญญาเกินจริงในเรื่องความสามารถของ Devin จนทำให้ดูเหมือนวิศวกรจะใช้ Devin ทำงานเขียนโค้ดอะไรก็ได้ทันทีที่แกะกล่อง
แต่พวกเขาแย้งว่า ขีดความสามารถของ Devin ในปัจจุบันยังอยู่ในวงแคบกว่าที่โฆษณามาก และโน้มเอียงไปทางด้านการทำงานตามที่บริษัทกำหนดมาแล้วมากกว่า เช่น การเก็บรายละเอียดในโค้ดที่เขียนเสร็จแล้ว ในการสาธิตสด Forbes สั่งให้ Devin เขียนแอปสำหรับตั้งสายกีตาร์ ซึ่งมันทำได้ภายในเวลาประมาณ 10 นาที แต่แอปนี้ไม่สามารถระบุตัวโน้ตที่เราเล่นทดสอบได้อย่างถูกต้อง และเหล่าผู้ก่อตั้ง Cognition ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร “ความเป็นไปได้ที่น่าตื่นเต้นกับสิ่งที่ทำแล้วหวังผลได้จริงตามคาดมันแตกต่างกันเสมอ” Varun Mohan ซีอีโอของ Codeium สตาร์ทอัพคู่แข่งด้านการเขียนโค้ดกล่าว
Wu ยอมรับว่า Devin ยังห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ “งานวิศวกรรมซอฟต์แวร์ในโลกจริงมันยุ่งเหยิงมาก” เขากล่าว ณ สำนักงานใหญ่ของ Founders Fund ซึ่งมองเห็นอ่าว San Francisco “มนุษย์เองยังเขียนโค้ดที่มีบั๊กอยู่เรื่อยเลยนี่” และถ้าพูดอย่างเป็นธรรม หลายคนที่วิพากษ์วิจารณ์ Devin ก็ยังประทับใจในความสามารถของเครื่องมือตัวนี้ Wu อ้างว่า Devin พัฒนาขึ้นอีกมากนับจากตอนที่เปิดตัวเมื่อ 7 เดือนก่อน ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณคำติชมจากลูกค้าองค์กรกลุ่มแรกๆ ที่ดูเหมือนจะยอมรับได้ว่าเอเจนต์ตัวนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา “เราไม่ได้คาดหวังว่าเครื่องมือนี้จะมีเวทมนตร์วิเศษ” Vitor Olivier ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ Nubank กล่าว “เรามองในแง่ดีโดยไม่หวังสูงเกินไป” และกล่าวว่า ในบางกรณี วิศวกรที่เข้ามาใช้งาน Devin จะทำงานของตัวเองได้เร็วขึ้น 8 เท่า
Cognition ยังคงทดลองต่อไป เมื่อช่วงต้นปี 2024 บริษัทเพิ่มความสามารถให้ Devin สร้าง AI ที่เป็นลูกน้องขึ้นมาช่วยทำงาน แต่เมื่อ Cognition ทดสอบโหมด “ผู้จัดการ” ที่สร้างขึ้นใหม่นี้บริษัทพบว่า พวกลูกน้องของ Devin จะสร้างลูกน้องของตัวเองออกมา และลูกน้องก็จะสร้างลูกน้องออกมาเพิ่มอีกจนกลายเป็นระบบราชการ AI ขนาดมหึมาวนไปไม่สิ้นสุด “ในที่สุดเราต้องยกเลิกงานชิ้นนั้นเพราะมันเอาแต่โยนงานไปเรื่อยๆ” Kaplan กล่าว
ดังนั้น Kaplan จึงตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องมือนี้จะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อสั่งให้ Devin หลายตัวทำโครงการที่แตกต่างกันไปพร้อมๆ กัน เหมือนเป็น “กองทัพวิศวกรระดับจูเนียร์” ซึ่งวลีนี้คงทำให้คนส่วนหนึ่งที่ทำมาหากินด้วยการเขียนโค้ดรู้สึกไม่สบายใจ และ Wu กล่าวว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบต่อ Cognition ส่วนหนึ่งก็มาจากความกังวลว่า AI จะมาแย่งงานวิศวกรซอฟต์แวร์หรือไม่ แต่เขาแย้งว่า Devin จะช่วยให้บริษัทต่างๆ ทำโครงการได้มากขึ้น และจ้างมนุษย์ไปทำงานอื่นที่สำคัญกว่าแทน
“มีคนกลัวเรื่องนี้กันมาก” เขากล่าว “ผู้คนถามกันเยอะว่าจะเกิดอะไรขึ้นในกระบวนทัศน์ใหม่นี้”
เรื่อง: Rashi Shrivastava และ Richard Nieva เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: Cody Pickens
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สู่อาณาจักร Zyn แต่งกลิ่นนิโคตินบรรจุซอง ชิงส่วนแบ่งตลาดยาสูบสหรัฐฯ
