ยักษ์ใหญ่อย่าง Craigslist มีสิทธิ์ถูกโค่น? (ตอน 2) - Forbes Thailand

ยักษ์ใหญ่อย่าง Craigslist มีสิทธิ์ถูกโค่น? (ตอน 2)

คลิกเพื่ออ่าน "ยักษ์ใหญ่อย่าง Craigslist มีสิทธิ์ถูกโค่น? (ตอน1)

ทุกๆ 2-3 ปี จะต้องมีใครบางคน ที่อยู่ใน Silicon Valley มองมาที่ Craigslist และคิดว่าเขาหรือเธอจะสามารถเสนอบริการที่เหนือกว่าได้

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 บริษัทหนังสือพิมพ์ที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจพยายามรวมตัวกันเพื่อทำโครงการหลายๆ โครงการขึ้นมาแข่ง ตามด้วยสตาร์ทอัพอีกหลายราย แต่ไม่เคยมีใครโค่น Craigslistสำเร็จ แม้แต่ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการอย่าง eBay ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองสามปีมานี้ มีผู้ประกอบการหลายรายที่เห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจขึ้นมาจากประกาศบางประเภทของ Craigslist ด้วยการนำเสนอบริการในรูปแบบที่ดีกว่า อย่างเช่น Airbnb สำหรับการให้เช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราว Redfin สำหรับบริการอสังหาริมทรัพย์ Ok-Cupid สำหรับหาคู่ ซึ่งคู่แข่งเหล่านี้มีส่วนดึงลูกค้าบางส่วนไปจาก Craigslist ในขณะที่กิจการสตาร์ทอัพหลายแห่งสามารถชิงลูกค้าในกลุ่มสินค้าและบริการบางประเภทไปจาก Craigslist ได้ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรายไหนที่สามารถชนกับ Craigslist ตรงๆ ในการขายสินค้ามือสองออนไลน์ได้ OfferUp ถือเป็นรายแรกที่ทำท่าจะเบียดเข้ามาแข่ง โดยทางบริษัทรายงานว่าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีผู้เข้ามาใช้บริการรวม 14 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในสี่ของ Craigslist
Airbnb หนึ่งในสตาร์ทอัพประเภท marketplace จับคู่ผู้เสนอบริการกับผู้ใช้บริการ ซึ่งเปรียบเสมือนการดึงประกาศบางประเภทของ Craigslist ออกมาพัฒนาให้ดีกว่า
“จริงอยู่ว่า มีคนจำนวนมากที่ซื้อของจาก Craigslist แต่ฝั่งคนขายน่ะมีไม่มากนักหรอก” Nick Huzar ผู้ก่อตั้ง OfferUp บอก “หลายๆ คนบอกว่า ‘ผมไม่มีเวลา’ หรือถ้าในกรณีที่เป็นผู้หญิงก็จะบอกว่า ‘ฉันไม่ไว้ใจ – ฉันกลัว’” การที่ผู้ใช้บริการบางรายลังเลที่จะใช้บริการ Craigslist ทำให้ OfferUp มองเห็นช่องทางที่จะสร้างธุรกิจขึ้นมาได้ โดยยึดหลักว่าบริการจะต้องเรียบง่ายและเชื่อถือได้ เพื่อดึงผู้ขายมาจาก Craigslist ในขณะที่เรื่องของความปลอดภัย OfferUp เปิดให้มีการประเมินเรตติ้งของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกที่จะ “ยืนยันตัวตน” โดยใช้โปรไฟล์ Facebook หรือใบขับขี่ก็ได้ จริงๆ OfferUp ก็ยังไม่ได้ถือว่าสมบูรณ์แบบ เพราะบนหน้าหลักของแอพฯ ยังดูเต็มไปด้วยสินค้าที่ปนกันแบบมั่วๆ อยู่ นอกจากนี้ ก็ยังมีรายงานว่าเกิดเหตุโจรกรรมในระหว่างการส่งมอบสินค้าอยู่บ้างเหมือนกัน ในขณะที่สินค้าต้องห้ามบางรายการอย่างเช่นกัญชาก็หาได้ไม่ยาก Huzar บอกว่าการพยายามจะสกัดผู้ใช้ที่ไม่ดีออกไปจากระบบเป็น “สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องไปอย่างไม่รู้จบ” เพราะการมีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการใช้บริการเพียงหนึ่งครั้งอาจจะทำให้ลูกค้ารายนั้นเปลี่ยนไปใช้บริการของ Letgo แทน ซึ่งเป็นบริการที่ใกล้เคียงกับ OfferUp อย่างมากทั้งในแง่ของดีไซน์ และการใช้งาน เมื่อไหร่ก็ตามที่มีโอกาส Alec Oxenford ชายวัย 48 ชาวอาร์เจนติน่าซึ่งเป็นผู้กุมบังเหียน Letgo มักจะคุยทับคู่แข่งของเขาอยู่เรื่อยๆ ว่า บริษัทของเขาเพิ่งเปิดตัวในปี 2015 แต่มียอดธุรกรรมรวมหลายประเทศที่ให้บริการมากถึง 2.34 หมื่นล้านเหรียญในช่วงเดือนมิถุนายน 2016 - มิถุนายน 2017 “เราโตเร็วกว่าใครต่อใครแทบทั้งนั้นในสหรัฐฯ” Oxenford บอก
Alec Oxenford ทุ่มงบโฆษณา Letgo ในจอแก้วกว่าร้อยล้านเหรียญเพื่อเอาชนะ OfferUp
สำหรับ Huzar เขาเกิดและโตที่ Washington โดยพ่อของเขาทำงานเป็นวิศวกร และแม่เป็นนักกายภาพบำบัด ช่วงที่เขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย Washington State University เนื่องจากเขามีทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ต่อมาจึงได้เข้าทำงานในกิจการสตาร์ทอัพของรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะเปลี่ยนงานไปทำด้านการบริหารผลิตภัณฑ์ที่ Microsoft และ T-Mobile เมื่อถึงปี 2006 เขาก็เริ่มเบื่อชีวิตการเป็นผู้บริหารระดับกลาง และออกมาริเริ่มกิจการของตัวเองด้วยการสร้างเว็บไซต์สำหรับสร้างเครือข่ายของคนทำงานที่ชื่อ Konnects ซึ่งเจอคู่แข่งที่เติบโตได้ดีกว่าอย่าง LinkedIn พอถึงปี 2010 Huzar ก็ถอดใจ ในช่วงนั้น Huzar ค้นพบว่าลานจอดรถเพื่อบริจาคของที่ Goodwill มีคนเต็มตลอดเวลา เพราะแม้ว่าจะมี Craigslist แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีเวลาโพสต์ขายของ ทำให้ Huzar ได้ไอเดียและเริ่มเขียนโปรแกรมที่ต่อมากลายเป็น OfferUp
จุดเริ่มต้นของ OfferUp เกิดขึ้นเมื่อ Huzar จัดการย้ายข้าวของในบ้านออก มีสิ่งของจำนวนมากที่เขาต้องการประกาศขายบน Craigslist แต่ไม่มีเวลาพอ ทำให้เขานำมันไปบริจาคที่ Goodwill และพบว่ามีรถแวะเข้ามาบริจาคสิ่งของจนเต็มลานอยู่ตลอดเวลา เกิดเป็นไอเดียที่จะสร้างช่องทางการขายของมือสองที่ง่ายขึ้น (Photo Credit: www.goodwillaz.org)
ปัญหาใหญ่ในการเริ่มต้นคือปัญหา “ไก่กับไข่” เพราะ OfferUp กำลังพยายามจะสร้างตลาดสินค้าออนไลน์ให้เติบโตมีผู้ใช้มากทั้งสองขา คือ ผู้ซื้อ และ ผู้ขาย ในช่วงแรกบริษัทพยายามที่จะเพิ่มจำนวนธุรกรรมด้วยการซื้อสินค้าจากคนที่โพสต์ขายแล้วเอากลับไปขึ้นประกาศขายบนแอพฯ ซึ่งต่อมาความพยายามของพวกเขาก็ประสบผล มีคนใช้งานแอพฯ ของพวกเขามากขึ้นทีละน้อย สองปีต่อมา หลังจากที่เขาพยายามระดมทุนถึง 15 ครั้ง ในที่สุด Huzar ก็สามารถระดมทุนได้ถึง 2.8 ล้านเหรียญ ถึงวันนี้ OfferUp และ Letgo ระดมทุนรวมกันแล้วเกือบ 600 ล้านเหรียญ ในขณะที่ Craigslist ซึ่งยังไม่เคยระดมทุนจากนักลงทุนประเภท venture capital เลยสักครั้ง อันที่จริงการจะโค่น Craigslist ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการ Craigslist มักจะไม่ได้ใช้มันในชีวิตประจำวันแต่จะเข้ามาเมื่อต้องการขายของเก่า ดังนั้นหน้าเว็บบรมเชยอาจไม่ใช่ปัญหาถ้าหากว่ามันพึ่งพาได้จริง อย่างไรก็ตาม Mary Meeker นักวิเคราะห์ชื่อดังของ Wall Street ที่ผันตัวเองมาเป็นนักลงทุน venture capital วิเคราะห์ว่า ผู้ที่ใช้งาน OfferUp จะใช้เวลาดูสินค้าในแอพฯ เฉลี่ยวันละ 25 นาที เท่ากับระยะเวลาที่คนใช้ดูแอพฯ อย่าง Instagram และ Snapchat ซึ่งการดูแอพฯ พวกนี้มากๆ สามารถติดเป็นนิสัยได้
ความหวัง: หน้าตาที่สวยงามของ OfferUp อาจจะดึงดูดให้คนเข้ามาใช้เวลาดูสินค้าบ่อยๆ ได้เหมือนกับแอพฯ สื่อสังคมอย่าง Instagram
หลังจากที่เปิดมาได้ห้าปี เมื่อปีที่แล้วมีธุรกรรมที่ทำผ่าน OfferUp ถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญ แต่เบื้องหลังสถิตินี้ก็คือการที่บริษัทไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ เลยจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เท่ากับว่าบริษัทไม่มีรายได้เข้ามาเลย ในปีนี้ บริษัทจึงเริ่มทดลองดำเนินกลยุทธ์การหารายได้ อย่างเช่น การให้บริการชำระเงินภายในแอพฯ การขายโฆษณา และคิดค่าธรรมเนียมเพื่อโปรโมทประกาศบางรายการ แต่ผู้บริหารของ OfferUp ทราบดีว่ารายได้ก้อนใหญ่จริงๆ จะมาก็ต่อเมื่อบริษัทสามารถเป็นหนึ่งในใจของผู้ใช้แอพฯ อย่างแท้จริงเท่านั้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเรื่องยากตราบที่ยังมีคู่แข่งอย่าง Letgo อยู่ในตลาด Letgo มีออฟฟิศที่ New York และ Barcelona โดยมี Naspers บริษัทยักษ์ใหญ่เป็นนายทุน นอกจากนี้ Letgo ยังใช้กลยุทธ์การตลาดที่เน้นไปที่สื่อโทรทัศน์ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่าใช้ได้ผลเป็นอย่างดีกับบริษัทอีกแห่งที่ Naspers เป็นเจ้าของนั่นคือ OLX เว็บไซต์สำหรับลงประกาศออนไลน์ที่ให้บริการในบราซิล อินเดียและประเทศอื่นๆ อีก 43 ประเทศทั่วโลก ทำให้ OfferUp เริ่มเห็นความสำคัญและลงโฆษณาทีวีมากขึ้นเมื่อไตรมาสแรกปีนี้
Kaidee.com เว็บไซต์ลงประกาศขายสินค้ามือสองออนไลน์ระดับต้นๆ ในไทย เป็นเว็บไซต์หนึ่งที่จับมือเป็นพันธมิตรอยู่กับเครือ OLX
แต่ OfferUp และ Letgo ไม่ได้แค่แข่งกันเองเท่านั้น ยังมีผู้เล่นที่ประมาทไม่ได้อย่าง Facebook ค้ำคออยู่อีกทั้งคน ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา Facebook จะไม่ประสบความสำเร็จกับความพยายามรุกธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่ขอแค่บริษัทสามารถดึงเศษเสี้ยวของผู้ใช้ Facebook 1.86 พันล้านคนมาใช้บริการได้ก็สามารถจะเบียดแทรกเข้ามาในตลาดนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น แถม Facebook ยังมีจุดแข็งด้วยข้อมูลความสนใจของผู้คนที่มีอยู่ในมือ แม้จะต้องคอยจับตาคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง Letgo และ Facebook แต่ Huzar รู้ดีว่าอุปสรรคใหญ่ที่กีดขวางความสำเร็จของกิจการของเขาก็คือกิจการเก่าแก่อายุ 22 ปี อย่าง Craigslist ซึ่งเมื่อเราถามเขาว่าจะมีใครที่เก่งกล้าสามารถพอที่จะล้มแมมมอธตัวสุดท้ายแห่งยุคดอทคอมตัวนี้ได้จริงๆ หรือไม่ Huzar ก็ตอบเราอย่างมั่นอกมั่นใจว่า “ผมคงไม่ห่วงกังวลกับเรื่องนั้นหรอก” เพราะเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่า OfferUp จะยังคงอยู่ได้อีกเป็นสิบปี   เรื่อง: Ryan Mac เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา
คลิกเพื่ออ่าน "ยักษ์ใหญ่อย่าง Craigslist มีสิทธิ์ถูกโค่น?" ฉบับเต็มได้ในรูปแบบ e-Magazine