สตาร์ทอัพทุนหนาสองรายต่างพากันก่อร่างสร้างแอพฯ มาแข่งกับ Craigslist แพลตฟอร์มเต่าล้านปีอายุร่วม 22 ปีที่ทำเงินมหาศาลให้กับผู้ก่อตั้งและมหาเศรษฐีป้ายแดงอย่าง Craig Newmark
OfferUp แพลตฟอร์มประกาศขายของมือสองออนไลน์ที่ Nick Huzar ริเริ่มขึ้นมาเมื่อหกปีก่อน ปัจจุบันเติบโตแบบฉุดไม่อยู่ โดยยอดขายสินค้าในปีนี้ทะลุ 2 หมื่นล้านเหรียญไปแล้ว คิดเป็นเกือบหนึ่งในสี่ของยอดขายสินค้าผ่าน eBay ในปี 2016 ทั้งนี้มีการประเมินมูลค่ากิจการของ OfferUp ไว้ที่ 1.2 พันล้านเหรียญ และมันยังถูกมองว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของ Craigslist เจ้าตลาดธุรกิจขายของมือสองออนไลน์ซึ่งแทบจะผูกขาดธุรกิจนี้มาตั้งแต่เริ่มยุคอินเทอร์เน็ตมาเลยทีเดียว ในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีซึ่งความอยู่รอดของธุรกิจขึ้นอยู่กับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลานี้ ธุรกิจอย่าง Craigslist น่าจะล้มหายตายจากไปจากสารบบตั้งแต่หลายปีก่อนแล้ว เพราะตั้งแต่ที่ Craig Newmark เริ่มเปิดให้บริการเว็บไซต์ Craigslist ในปี 1995 จนถึงทุกวันนี้ มันแทบไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ของเว็บไซต์เลย โดยบนหน้าเว็บยังเต็มไปด้วยตัวหนังสือสีน้ำเงินที่ลิงค์ไปยังสินค้าและบริการประเภทต่างๆ เรียกว่าเคยเป็นมาอย่างไรเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น แต่ปรากฏว่าไม่เพียงแต่มันจะอยู่รอดมาได้ตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่มันยังสามารถโตได้ตลอดเวลาด้วย โดยในปัจจุบันมีคนเข้าเว็บมากถึงเดือนละ 55 ล้านคน ถึงแม้จะไม่ได้มีดีไซน์สวยเก๋ใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันก็เป็นแพลตฟอร์มที่ทรงประสิทธิภาพสำหรับการขายของออนไลน์ ซึ่งนอกจากจะทำให้ธุรกิจการลงประกาศบนหน้าหนังสือพิมพ์ไม่มีที่ยืนอีกต่อไปในโลกยุคอินเทอร์เน็ต ยังสามารถประคองตัวมาได้อย่างไม่บอบช้ำจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ถึงแม้ว่าเว็บ Craigslist จะลงท้ายด้วย .org หรือซีอีโอ Jim Buckmaster จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าบริหารกิจการแบบพวก “สังคมนิยมอนาธิปไตย” แต่ Craigslist ก็ไม่ได้เป็นหน่วยงานไม่แสวงกำไร จริงๆ แล้วมันเป็นกิจการที่ฟันกำไรอย่างมโหฬารจนเหมือนกับเป็นเครื่องปั๊มเงินเลยล่ะ AIM Group ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยใน Florida ประเมินว่าเมื่อปีที่แล้ว Craigslist กวาดรายได้ไปถึงกว่า 690 ล้านเหรียญ ทั้งๆ ที่มีพนักงานแค่ 50 คนกับต้นทุนด้านเซิร์ฟเวอร์และค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายอีกนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่ารายได้เกือบทั้งหมดนั้นกลายมาเป็นผลกำไรของบริษัท โดย Forbes ได้ประเมินมูลค่าของ Craigslist ไว้อย่างต่ำ 3 พันล้านเหรียญ ด้วยการเปรียบเทียบกับบริษัทในตลาดหุ้นที่ทำธุรกิจลักษณะเดียวกัน ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของ Newmark ชายวัย 64 ปีที่ถือหุ้นใน Craigslist 42% อยู่ที่ 1.3 พันล้านเหรียญ การที่ Craigslist ทำกำไรได้ถึงปีละกว่า 500 ล้านเหรียญโดยไม่ต้องออกแรงอะไรมากมายเป็นการแสดงให้ OfferUp และคู่แข่งรายอื่นๆ เห็นอย่างชัดเจนว่าธุรกิจนี้มีศักยภาพและสามารถให้ผลตอบแทนที่ชวนน้ำลายหกขนาดไหน ในขณะที่ทรัพย์สินของ Newmark และ Buckmaster พอกพูนขึ้นทุกวัน แต่ก็ต้องถือว่าพวกเขาเปราะบางขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน เพราะแม้ว่า Craigslist จะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่บริษัทก็ปิดตัวเองไม่เปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ยอมสร้างแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งในเรื่องนี้ Huzar ฟันธงเต็มที่ว่าการผูกขาดตลาดสินค้ามือสองบนโลกออนไลน์กำลังจะถึงจุดจบ ซึ่งเมื่อเราถามเขาว่าอะไรทำให้เขามั่นใจขนาดนั้น เขาก็หันไปมองที่ iPhone ของเขาแล้วก็ตอบว่า “ก็เครื่องนี้ไง” OfferUp เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการประกาศขายสินค้าอะไรก็ได้เกือบทุกอย่างโดยสิ่งที่ต้องทำก็เพียงแค่ถ่ายภาพสินค้า กำหนดราคา และโพสต์ข้อความบรรยายสินค้าสั้นๆ เท่านั้น ในขณะฝั่งคนซื้อก็สามารถที่จะเปิดดูรูปสินค้าในสไตล์เดียวกับ Pinterest และเมื่อเจอสินค้าถูกใจก็สามารถต่อรองราคากับผู้ขายผ่านแอพฯ ซึ่งหากตกลงกันได้ก็สามารถนัดพบเพื่อส่งมอบสินค้ากันได้เลย แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ OfferUp จะสามารถเชิญชวนให้เจ้าของสิ่งของเหล่านั้นขายมันบนแพลตฟอร์มของบริษัทได้หรือเปล่า ถึงแม้ว่าในปัจจุบันรายได้ของบริษัทจะยังไม่ได้สูงมาก แต่นักลงทุนอย่าง Andreessen Horowitz และ T. Rowe Price ก็ทุ่มเงินลงทุนใส่ลงมาใน OfferUp ถึง 220 ล้านเหรียญ โดยเดิมพันว่ามันจะกลายมาเป็น Craigslist ของยุคมือถือ อย่างไรก็ตาม OfferUp ไม่ได้เป็นเจ้าเดียวที่กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้ เพราะยังมีคู่แข่งรายอื่นๆ อีก อย่างเช่น Letgo ซึ่งระดมทุนมาได้ถึง 375 ล้านเหรียญ โดยส่วนใหญ่มาจากผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง Naspers ยักษ์ใหญ่ในวงการอินเทอร์เน็ตที่มีฐานธุรกิจอยู่ที่แอฟริกาใต้ หรือคู่แข่งที่น่าสนใจอีกรายก็คือ Facebook Marketplace ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว โดยทั้ง Letgo และ Facebook ต่างก็หวังจะแซงหน้า OfferUp ในการแข่งขันที่หลายคนมองว่าเป็นตลาดแบบผู้ชนะกวาดเรียบ นั่นคือใครก็ตามที่สามารถดึงผู้ซื้อ และผู้ขายมาใช้บริการซื้อขายบนแพลตฟอร์มของตัวเองได้มากที่สุด หรือที่ภาษานักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “มีสภาพคล่อง” มากที่สุด ก็จะสามารถคุมตลาดได้ และในที่สุดคู่แข่งก็จะอยู่ไม่ได้ ต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด จนถึงขณะนี้ Craigslist ยังคงเป็นคู่แข่งตัวเอ้ที่ทุกคนจ้องจะโค่นให้ได้ Craigslist เริ่มต้นกิจการในปี 1995 โดยในช่วงแรกทำหน้าที่เป็นแค่ตัวกลางที่รวบรวมประกาศแจ้งข่าวการจัดงานอีเวนท์ต่างๆ ใน San Francisco เท่านั้น แต่ต่อมาธุรกิจของ Craigslist ก็กลายมาเป็นสิ่งที่ท้าทายทุกๆ แนวคิดกระแสหลักด้วยการโพสต์ประกาศต่างๆ โดยแบ่งเป็นประเภท อย่างเช่น งาน หาคู่ ขายสินค้า และ ที่อยู่อาศัย ไปบนหน้าเว็บแบบซื่อๆ ความเรียบง่ายของ Craigslist สามารถดึงดูดผู้ใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว และยิ่งมีคนใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเติบโตตามไปด้วย ถึงแม้ว่าบริการส่วนใหญ่ของ Craigslist จะเปิดให้ผู้คนสามารถเข้ามาใช้ได้ฟรี แต่มันก็ไม่ได้เป็นกิจการเพื่อสังคม โดยในช่วงแรก บริษัทพยายามหารายได้เพื่อให้พอกับรายจ่ายด้วยการเก็บค่าบริการ 25 เหรียญ สำหรับประกาศหาคนงานในย่าน Bay Area และในเวลาต่อมาก็เพิ่มประเภทของประกาศที่มีการเก็บค่าบริการ อย่างเช่น ประกาศขาย/เช่าอะพาร์ตเมนต์ใน New York ประกาศขายรถยนต์โดยเต็นท์รถ และประกาศให้กลุ่ม “การบำบัด” ซึ่งเป็นช่องทางลงประกาศสำหรับบริการนวด และบริการอื่นๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าเป็นช่องทางที่ล่อแหลมต่อการค้าประเวณีอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งการเก็บค่าบริการเหล่านี้ทำให้เว็บไซต์ฟันกำไรได้ถล่มทลายในยุคแรก อ่านต่อ: “ยักษ์ใหญ่อย่าง Craigslist มีสิทธิ์ถูกโค่น” (ตอน 2)คลิกเพื่ออ่าน "ยักษ์ใหญ่อย่าง Craigslist มีสิทธิ์ถูกโค่น?" ฉบับเต็มได้ในรูปแบบ e-Magazine