โรงไฟฟ้าไร้มลพิษ - Forbes Thailand

โรงไฟฟ้าไร้มลพิษ

โรงไฟฟ้ามูลค่า 150 ล้านเหรียญที่จะปฏิวัติวงการด้วยการดักจับก๊าซคาร์บอนทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาระหว่างกระบวนการผลิตอันก่อให้เกิดมลพิษต่อโลก และสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนที่ต่ำไม่ต่างจากโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม

ผมเติบโตขึ้นที่ประเทศอังกฤษหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 “ซึ่งเด็กวัยเดียวกับผมแทบทุกคนมีความหลงใหลในเครื่องบิน” Rodney Allam กล่าว เหล่านั้นคือสิ่งที่จุดประกายความสนใจ Allam ให้มุ่งสู่เส้นทางอาชีพด้านวิศวกรรมเคมีและเข้าทำงานกับบริษัท Air Products & Chemicals ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Allentown รัฐ Pennsylvania โดยประจำอยู่ที่สหราชอาณาจักร ในช่วงการทำงานระหว่างศตวรรษที่ 1970 เขาเริ่มมีความสนใจในแนวคิดการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ซึ่งตอนนั้นเขามีทางจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว Allam พยายามเสาะหาเทคโนโลยีต่อขยายที่จะดักจับก๊าซ CO2 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังผลิต 2,400 เมกะวัตต์ในสกอตแลนด์ ทว่า ไม่มีวิธีไหนสามารถนำไปใช้งานได้จริงเนื่องด้วยเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ ว่ามีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปจากนั้นเขาจึงหันมามุ่งความสนใจไปที่การทำให้กระบวนการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์มีต้นทุนต่ำลงด้วยเหตุผลสองประการคือต้องการทลายกำแพงอุปสรรคด้านเทคโนโลยีและส่งเสริมการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน “ผมทุ่มเทอย่างสุดความสามารถ” เขากล่าว แต่ตอนนี้เขาสามารถก้าวถึงฝั่งฝัน ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา Allam วัย 76 ปีตีตั๋วเครื่องบินจากสหราชอาณาจักรเพื่อเดินทางไปเจอกับ Forbes ที่โรงไฟฟ้าซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในรัฐ Texas และอยู่ใกล้กับ Houston Ship Channel ย่านศูนย์กลางธุรกิจปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา เมื่อเสร็จสมบูรณ์ตามกำหนดในช่วงต้นปีนี้โครงการก่อสร้างมูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประกอบไปด้วยเหล็กและคอนกรีตท่อถังบรรจุและสายไฟแรงสูงบนเนื้อที่ประมาณ 2.5 ไร่จะกลายเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบสำหรับเทคโนโลยีที่เรียกว่า Allam Cycle โดยผลิตกระแสไฟฟ้าจากการเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติและสามารถจัดการกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตทั้งหมด สิ่งที่เป็นจุดเด่นก็คือมันสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยต้นทุนในระดับต่ำพอๆ กับโรงไฟฟ้าระบบกังหันยุคใหม่ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 6 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ในปี 2009 เขาได้รับโทรศัพท์จาก 8 Rivers กองทุนร่วมลงทุนและเจ้าของโครงการบ่มเพาะธุรกิจที่ตั้งอยู่ใน Durham รัฐ North Carolina ปลายสายคือ Bill Brown ผู้ร่วมก่อตั้ง 8 Rivers ซึ่งพบว่ามีงบสำหรับวิจัยเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เหลืออยู่จำนวนมากหลังรัฐบาลกลางออกกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องยากที่จะจุดประกาย Allam ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากนั้นไม่นาน Allam เขียนไอเดียที่อยู่ในหัวของเขาทั้งหมดและส่งให้กับกลุ่มนักวิศวกรรุ่นใหม่ของ 8 Rivers ภายในเวลา 6 เดือน Allam ก็ออกแบบโครงสร้างทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์ในตลาดมีเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนไดออกไซด์แบบติดตั้งเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว
Rodney Allam
ระบบการผลิตไฟฟ้าของ Allam ไม่ได้อาศัยแรงดันจากไอน้ำแต่สิ่งที่เขาใช้แทนไอน้ำในการหมุนกังหันก็คือตัวคาร์บอนไดออกไซด์เอง ก๊าซ CO2 ที่ถูกบีบอัดและรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 1,000 องศาเซลเซียลจะถูกเก็บไว้ที่สภาพเหนือจุดวิกฤตซึ่งสามารถบรรจุใส่ลงคอนเทนเนอร์ได้เหมือนก๊าซแต่ยังมีลักษณะเป็นของเหลว จากนั้นแทนที่จะปล่อยสู่อากาศ ก๊าซ CO2 นี้จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อขับดันกังหันให้เกิดกระแสไฟฟ้า กระบวนการเผาไหม้จะเพิ่มปริมาณก๊าซ CO2 อย่างต่อเนื่องขณะที่ก๊าซ CO2 ส่วนเกินจะถูกขนส่งออกไปผ่านระบบท่อส่ง Exelon ยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงาน (รายได้ 3.5 หมื่นล้านเหรียญ) เล็งเห็นความเป็นไปได้และตัดสินใจร่วมลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นหลังจบกระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะกิจการที่ใช้เวลาอยู่นานหลายเดือน “ปกติเราจะไม่ลงทุนในธุรกิจต้นน้ำขนาดนี้” Ron DeGregorio ประธานของ Exelon Power กล่าว ทั้งนี้เขามีแผนใช้จ่ายเงินหลายพันล้านเหรียญเพื่อปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่เริ่มเก่าของ Exelon ที่มีอยู่จำนวนมากในช่วงหลายปีข้างหน้าผู้ร่วมลงทุนรายที่สามและมีสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทที่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น NetPower ในปัจจุบันคือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และขาใหญ่ในธุรกิจก่อสร้างอย่าง CB&I (ย่อมาจาก Chicago Bridge & Iron) “แผนก็คือเราจะสร้างโรงไฟฟ้าในบริเวณแหล่งน้ำมันและส่งก๊าซไปยังหลุมขุดเจาะน้ำมันต่างๆ” Daniel McCarthy ประธานฝ่ายการลงทุนด้านเทคโนโลยีของ CB&I กล่าว “ถ้าคุณสามารถผลิตไฟฟ้าโดยปราศจากการปล่อยมลพิษคาร์บอนไดออกไซด์และไม่ต้องใช้เงินทุนมากกว่าเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่จะมีเหตุผลอะไรที่จะบอกปฏิเสธ” อาจต้องใช้เวลาเดินเครื่องสัก 2-3 เดือนกว่า NetPower จะพิสูจน์ได้ว่าเทคโนโลยีนี้มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ Allam ประเมินว่าเทคโนโลยีที่เขาคิดค้นขึ้นจะขายตัวมันเองในที่สุด “เราจะพิสูจน์รู้ชัดในหนึ่งปี”
คลิกอ่าน "โรงไฟฟ้าไร้มลพิษ" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ พฤษภาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine