หุ้นของ Caregen บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นถึงสามเท่าในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ Chung Yong-ji ผู้ก่อตั้งและซีอีโอกลายเป็นผู้ประกอบการรายแรกในรอบเจ็ดเดือนที่ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีระดับพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ของประเทศ
Chung Young-Ji ที่มีอายุย่างก้าวเข้า 53 ปีในปลายเดือนนี้ คือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Caregen โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นราว 64% ภายใต้ชื่อของเขาเอง ขณะที่ลูกๆ ของเขา ได้แก่ มินอูและยอนอูต่างถือครองหุ้นคนละ 0.05% ซึ่ง Forbes ได้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของครอบครัว Chung อยู่ที่ 1.1 พันล้านเหรียญ ณ วันศุกร์ที่ผ่านมาหลังตลาดหุ้นปิดทำการ
บริษัท Caregen ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Anyang ทางตอนใต้ของกรุงโซล คือ ผู้พัฒนาเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพโดยใช้เปปไทด์ซึ่งเป็นสารที่ประกอบด้วยโมเลกุลของกรดอะมิโนสั้นๆ หลายชนิดเรียงต่อกันรวมตัวกันเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือฟิลเลอร์สำหรับฉีดเข้าผิวหนังเพื่อรักษาริ้วรอยให้ดูอ่อนเยาว์เสมอ
ทั้งนี้ Caregen กล่าวว่า บริษัทได้จัดจําหน่ายผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่างๆ กว่า 130 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ ประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ รองลงมา คือ ยุโรป และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
จากข้อมูลการรายงานของบริษัท ยังชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 5 หมื่นล้านวอน คิดเป็นมูลค่า 40 ล้านเหรียญในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2022 ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 13.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021
ขณะที่รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 2.1% เป็น 2.1 หมื่นล้านวอน คิดเป็นมูลค่า 16 ล้านเหรียญ ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์ในรูปแบบช็อตสำหรับฉีดลงบนผิวหนังเพื่อต่อต้านริ้วรอยถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่สร้างรายได้มากที่สุดถึง 45% ของยอดขายสินค้าทั้งหมด
Chung ก่อตั้งบริษัท Caregen ขึ้นในปี 2001 หลังจากนั้นเขาได้ผลักดันบริษัทให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Kosdaq ปี 2015 เขาได้รับปริญญาเอกด้านสัตวศาสตร์ที่ Cornell University ปริญญาโทด้านชีววิทยาที่ Texas State University จากสหรัฐอเมริกา และปริญญาตรีสาขาพันธุวิศวกรรมที่ Sungkyunkwan University ในกรุงโซล เกาหลีใต้
Chung Yong-ji ถือเป็นมหาเศรษฐีที่สร้างธุรกิจมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองคนแรกในเกาหลีใต้นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2022 หลังจาก Kim Jae-young ผู้ก่อตั้งผู้พัฒนาเกมออนไลน์ Lionheart Studio มีรายชื่อติดโผในระดับมหาเศรษฐีเช่นกันหลังได้รับเงินสนับสนุนการลงทุนจาก Kakao บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจอินเทอร์เน็ตของเกาหลีใต้สูงถึง 925 ล้านเหรียญ
ปัจจุบันตลาดหุ้นเกาหลีใต้มีผลการดำเนินงานต่ำสุดเป็นอันดับสองของเอเชียรองจากฮ่องกงนับตั้งแต่ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยดัชนี Kospi ของราคาหุ้นสามัญทุกตัวที่ทำการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์มีอัตราลดลง 10%
แต่ทั้งนี้ ก่อนที่ตลาดหุ้นจะตกต่ำในปี 2022 เกาหลีใต้ได้สร้างมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นถึง 8 รายในช่วงระยะเวลาเพียง 6 เดือน ซึ่งมหาเศรษฐี 2 รายแรกมาจากธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ได้แก่ Song Chi-hyung และ Kim Hyoung-nyon ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Dunamu
ขณะที่มหาเศรษฐีอีก 2 รายที่มาจากสายธุรกิจด้านอื่นอย่างธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ Biotech และยังมีรายชื่อติดอยู่ในการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีเกาหลีใต้ ได้แก่ Seo Jung-Jin และ Cho Young-sik
Seo Jung-Jin คือ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทผลิตยา Celltrion ในปี 2002 ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีผู้มีความมั่งคั่งร่ำรวยที่สุดอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ในปี 2021 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.25 หมื่นล้านเหรียญ โดยล่าสุด ณ ปัจจุบันเขาถูกจัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีผู้มีความมั่งคั่งอันดับ 4 มีทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 6.9 พันล้านเหรียญ
ด้าน Cho Young-sik ผู้ก่อตั้งธุรกิจเครื่องตรวจสอบโควิด-19 “SD Biosensor” ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้านเหรียญของเกาหลีใต้ในเดือนกรกฎาคม ปี 2021 หลังจากสร้างรายได้จากการจำหน่ายเครื่องตรวจสอบหาเชื้อโควิด-19 ได้มหาศาลและการผลักดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ Kosdaq และระดมทุนได้สูงถึง 680 ล้านเหรียญ ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของการจัดอันดับรายชื่อ 50 มหาเศรษฐีเกาหลีใต้จาก Forbes มีรายชื่อของ Cho อยู่ในอันดับที่ 18 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.35 พันล้านเหรียญ
แปลและเรียบเรียงจากบทความ: South Korean Founder Of Anti-Wrinkle Shot-Maker Becomes A Billionaire ซึ่งเผยแพร่บน forbes.com
อ่านเพิ่มเติม: ธุรกิจไม่โปร่งใส ฉุดรายได้ Gautam Adani ร่วง "อันดับ 3 มหาเศรษฐีโลก”
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine