โดรน ตัวเต็งแห่งอนาคตการขนส่งทางการแพทย์ - Forbes Thailand

โดรน ตัวเต็งแห่งอนาคตการขนส่งทางการแพทย์

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Jan 2022 | 01:58 PM
READ 4180

‘โดรน’ เดินทางบนอากาศอย่างรวดเร็ว บวกกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นหนึ่งในตัวเต็งแห่งอนาคตของโลกการแพทย์ที่ต้องแข่งกับเวลาอยู่เสมอ

ตั้งแต่อดีตกาล เทคโนโลยีช่วยให้เราก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการดูแลสุขภาพสมัยใหม่ โลกใบนี้ได้ประจักษ์ผลลัพธ์แห่งนวัตกรรมสุดมหัศจรรย์เนื่องมาจากเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี ‘โดรน’ ซึ่งแม้เดิมทีจะถูกใช้เพียงในการค้นคว้าทางอากาศและทางการทหาร แต่นักพัฒนาสมองใสทั้งหลายก็ได้ค้นพบว่าสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้งานในสิ่งที่สำคัญมากกว่านี้ได้ นั่นก็คือ ขยายปีกธุรกิจขนส่งทางการแพทย์

‘โดรน’ ได้ให้ความหวังในการนำไปใช้ทางการแพทย์ได้หลากหลายรูปแบบ โดยเมื่อปีที่แล้ว บรรดานักวิจัยจาก University of Cincinnati มองว่าหนึ่งในการนำมาใช้ที่มีค่าที่สุดคือการใช้ในโทรเวชกรรมและการดูแลเสมือนจริง 

อิมแพ็คที่เกินขึ้นจากตรงนี้มีมูลค่ามโหฬาร เพราะมันจะช่วยให้ผู้ป่วยที่เข้าถึงการดูแลรักษายากมีโอกาสมากขึ้น และเทคโนโลยีนี้ยังมีศักยภาพที่จะแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการที่เปรียบเสมือนโรคร้ายที่การบริการสุขภาพสมัยใหม่กำลังเผชิญ

โดรน
เครื่อง AED ขนส่งโดยโดรนไปยังผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล

นอกจากนั้น โดรนยังสามารถใช้ในการขนส่งซัพพลายและสินค้าทางการแพทย์ได้ทั่วโลก เราได้เผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าโดรนจะสามารถถูกนำมาใช้ในการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19ได้อย่างไรเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นทางออกที่ค่อนข้างล้ำหน้าแก่ปัญหาโลจิสติกส์ของการขนส่งวัคซีนที่ดูมืดมนไม่ใช่น้อย

เมื่อปีที่แล้ว เราได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับงานวิจัยของ European Heart Journal ที่ค้นคว้าเรื่องการใช้โดรนในการขนส่งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AEDs) เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล (OHCA)

ในงานวิจัยซึ่งถูกตีพิมพ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 พบว่าเครื่อง AEDs สามารถขนส่งโดยโดรนไปยังเคส OHCA ในชีวิตจริงได้ โดยอัตราการขนส่ง AED สำเร็จนั้นอยู่ที่ร้อยละ 92 นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ในแง่ของเวลาเมื่อเทียบกับการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินต่างๆ เนื่องจากโดรนจะไปถึงเป้าหมายก่อน

โดรน
เบื้องหลังการควบคุมโดรน

และเปรียบเสมือนเป็นบทสรรเสริญให้แก่การค้นพบที่อัศจรรย์นี้ก็ได้มีประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า โดรนขับเคลื่อนตัวเองได้ช่วยชีวิตชายคนหนึ่งที่มีอาการ OHCA ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทางการแพทย์

ในจดหมายข่าวได้อธิบายว่าชายอายุ 71 กำลังโกยหิมะบริเวณหน้าบ้านของเขาตอนที่เขามีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล (OHCA) […และต้องขอบคุณ…] การขนส่งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถช่วยชีวิตเขาไว้ได้ด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อคได้ก่อนที่รถฉุกเฉินจะมาถึง ทำให้เขารอดชีวิต

คติพจน์ที่เป็นที่รู้จักกันดีในโลกของการแพทย์ที่มักจะพูดกันบ่อยๆ คือเวลาคือสมอง’ ซึ่งหมายความว่า เนื้อเยื่อสมอง (และเนื้อเยื่อทุกส่วนในร่างกายของเรานั่นแหละ) สามารถอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีเลือดหล่อเลี้ยง (‘การกำซาบ’) ยิ่งเวลาผ่านไปโดยปราศจากเลือดไหลเวียนมากเท่าไร เนื้อเยื่อก็จะตายไปมากขึ้นเท่านั้น (‘ภาวะขาดเลือด’)

ดังนั้น เวชบำบัดวิกฤตและการรักษาช่วยชีวิตทั้งหลายก็มักจะขึ้นอยู่กับคำถามที่ว่า เราจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้อาการของผู้ป่วยคงที่ และฟื้นฟูการไหลเวียนโลหิตให้ได้เร็วที่สุด?

การช่วยชีวิตชายคนนั้นก็เป็นการนำคติพจน์นี้มาใช้อย่างสวยงาม  และจดหมายข่าวก็ชี้ให้เห็นว่าเวลาตั้งแต่ที่มีการแจ้งเตือนจนไปถึงตอนที่ AED ถูกส่งไปยังหน้าประตูได้อย่างปลอดภัยรวมๆ แล้วเพียงแค่สามนาทีกว่าๆ หลังจากการช่วยเหลือเบื้องต้น ณ จุดเกินเหตุ ผู้ป่วยก็ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว และปัจจุบัน ผู้ป่วยก็ปลอดภัยแล้ว

'โดรน' ของ Amazon
โดรนของ Amazon (Photo Credits: AP Photo/Amazon)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราพูดถึงการช่วยเหลือนอกโรงพยาบาลที่ต้องแข่งกับเวลา เหตุการณ์นี้นับเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความหวังในการนำโดรนมาใช้แก้ปัญหาทางการแพทย์ได้อย่างเหลือเชื่อ

ข่าวดีก็คือ บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Walmart รวทไปถึง 7-Eleven ก็ได้เริ่มทดลอง และใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อตอบโจทย์ปัญหาด้านรีเทลกันแล้ว การที่สามารถนำโดรนไปใช้ได้หลากหลายแบบนี้สื่อให้เห็นว่านี้อาจจะไปได้สวย อย่างแรกเลย ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่ก้าวเข้าสู่โลกโดรนก็จะหนุนหลังการค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีโดรนและการนำมาใช้ที่ล้ำหน้าขึ้น

นอกจากนี้ การถูกนำไปใช้มากขึ้นก็จะผลักให้ราคาโดรนต่ำลง ทำให้ Barrier of Entry เตี้ยลงสำหรับองค์กรด้านการดูแลสุขภาพต่างๆ และท้ายสุด การถูกนำไปใช้มากขึ้นยังสามารถทำให้โดรนกลายเป็นเครื่องมือหลักที่จะมาช่วยตอบโจทย์ด้านซัพพลายเชน และโลจิสติกส์ต่างๆ ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนี้โตยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า หากนักพัฒนาทั้งหลายยังคงเดินหน้าผลักดันเทคโนโลยีนี้อย่างปลอดภัย, มั่นคง, ขยายตัวได้ และมีประสิทธิภาพ โดรนก็จะมีศักยภาพที่จะช่วยเราในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขนส่งทางการแพทย์ที่ต้องแข่งกับเวลา และผลลัพธ์ทางการแพทย์ที่สามารถวัดได้

แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ Drones May Become ‘The Next Big Thing’ In Healthcare Delivery เผยแพร่บน Forbes.com

อ่านเพิ่มเติม: Orient Express La Dolce Vita รถไฟหรูพาตะลุยอิตาลี


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine