ในหลายๆ ทาง NFT เปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่เข้าสู่วงการศิลปะที่มีคนบางกลุ่มชอบสร้างกำแพงกันคนนอกเข้าเอาไว้ แต่เหมือน Wikipedia จะสร้างกำแพงใหม่ซะแล้ว
นี่ทำให้เราได้เหล่านักสะสมได้ค้นพบศิลปินที่หลากหลายมากขึ้นอีกทั้งพวกเขาเหล่านี้ยังสามารถขายผลงานอย่างเป็นอิสระได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ทีมงานผู้เรียบเรียง Wikipedia ได้ลงคะแนนเสียงเมื่อเร็วๆ นี้สร้างกำแพงแบบใหม่ โดยสารานุกรมออนไลน์ชื่อดังอย่าง Wikipedia ตัดสินใจว่าจะไม่นับงานดิจิทัลเหล่านี้เป็นศิลปะ
ผู้สร้างและนักสะสมศิลปะดิจิทัลหลายคนมองว่า การตัดสินใจครั้งนี้มันทั้งล้ำเส้นและเป็นการมองที่ตื้นมาก โดยพื้นเพของความรู้สึกร่วมกันนี้เกิดจากการสังเกตว่า แม้ NFTs จะไม่ได้ใช้เพื่อศิลปะเสมอ แต่มันก็ยังถือเป็นสื่อกลางทางศิลปะอีกแบบได้ เช่นเดียวกับสีน้ำ และเซรามิค
และยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดที่ว่าใครคนใดคนหนึ่ง หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งจะแม้แต่พยายามสร้างกรอบว่าอะไรถือเป็นศิลปะมันก็รู้สึกเป็นปัญหาสำหรับใครหลายคน โดยปัญหานี้ดันมีผลกระทบในชีวิตจริงต่อชีวิตของศิลปินจำนวนมากซะด้วย
นิยามของศิลปะ
Art เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่ถูกนิยามโดยศิลปิน และถูกชื่นชมโดยผู้มองดูทั้งหลาย ดังที่ Oscar Wilde กล่าวไว้ในงานเขียน The Decay of Lying – An Observation ของเขาเมื่อปี 1891 ซึ่ง Wikipedia สรุปไว้ว่า “เราควรเมินเฉยต่อประเด็นในงานศิลปะไม่มากก็น้อย เราควร ไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม ปราศจากความพึงใจ, อคติ หรือความรู้สึกเอนเอียงใดๆ ทั้งสิ้น” ไม่แปลกเลยว่าทำไมศิลปินและนักสะสมจำนวนมากถึงรู้สึกโกรธเคืองกับความคิดที่ว่าจะมีใครคนใดคนหนึ่งมาตัดสินว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่ศิลปะ
“นี่เป็นคำแถลงการณ์ที่แบ่งแยกงานของศิลปินนับพันที่ค้นพบอิสระทางความคิดสร้างสรรค์และไฟในโลก NFT” Marlon Portales ศิลปินชาวคิวบาสาขาสหศาสตร์ศิลป์กล่าว “ไม่ใช่หน้าที่ของวิกิพีเดียหรือสถาบันที่มีอำนาจใดๆ ก็ตามที่จะกล่าวว่าอะไรใช่ศิลปะ และอะไรไม่ใช่ ศิลปะมีตัวตนอยู่ในสายตาและความตระหนักรู้ของผู้มอง ศิลปะคือวิธีการสื่อสาร, การอภิปราย, การปลอดปล่อย และการแสดงออกทางอารมณ์ มันคืออิริยาบถ”
ไม่ใช่เพียงผู้สร้างและนักสะสมรุ่นใหม่เท่านั้นที่เห็นคุณค่าของ NFTs ในฐานะศิลปะ “ความจริงที่ว่าโรงประมูลที่ใหญ่ที่สุดทั้งหลายมีคนด้านงานศิลปะดิจิทัลโดยเฉพาะก็เป็นข้อพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดที่สุดแล้ว” Alex Marshall ศิลปินและผู้อำนวยการ Silicon Valley Bank กล่าว
เขายังได้กล่าวอีกว่า “NFTs มีส่วนช่วยขยายฐานนักสะสมของ Sotheby’s เป็นอย่างมาก ส่วนทาง Christie’s ก็ปิดประมูลงาน NFT ไปในราคา 69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และทาง British Museum ก็กำลังขายคอลเล็กชั่นที่พวกเขาครอบครองอยู่ในรูปแบบ NFT อีกด้วย เพียงเพราะ NFTs สามารถใช้เป็นเครื่องมือด้านการเงินและรับรองได้ ไม่ได้หมายความว่าพวกมันไม่ใช่ศิลปะ ในบางมุม มันดีกว่าศิลปะแบบดั้งเดิมซะอีก เพราะสิทธิการครอบครองก็โปร่งใส อีกทั้งศิลปินทั้งหลายก็ยังสามารถได้รับส่วนแบ่งอยู่ตลอดอีกด้วย”
NFTs ในฐานะสื่อกลาง
ศิลปะสามารถสร้างได้บนสื่อนับไม่ถ้วน ตั้งแต่การละเลงสีน้ำลงบนแผ่นกระดาษไปถึงวัตถุสักชิ้น หลายคนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของ Wikipedia เรื่อง NFTs และโต้ว่าเราควรมองมันเสมือนเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ใช้ในการสร้างงานศิลปะ และเหมือนกับที่กระดาษทุกใบไม่ใช่งานศิลป์ งาน NFTs ก็ไม่ใช่งานศิลป์ทุกงานเช่นกัน แต่สื่อกลางที่ใช้ก็ไม่ควรที่จะเป็นตัวจำกัดความของผลลัพธ์
Breanna Faye ศิลปิน NFT และผู้สร้าง Metarkitex Metaverse อธิบายโดยเปรียบเทียบ NFTs กับพิมพ์เขียว “พิมพ์เขียวดิจิทัลทุกใช้สร้างตึกสมัยใหม่ทุกตึก เราไม่เรียกแปลน AutoCAD ว่า ‘สถาปัตยกรรมจอมปลอม’ และเราก็ไม่ควรทำเช่นนั้นกับศิลปะเหมือนกัน” เธอกล่าว
“NFTs ก็เป็นเพียงแค่แคนวาสที่ศิลปินทั้งหลายถ่ายทอดงานศิลปะของตัวเองลงไป ใช่อยู่ที่ว่าสื่อกลางที่ใช้มันเปลี่ยนไป แต่ผลิตผลและนิยามไม่ได้เปลี่ยน NFTs คือแคนวาส และบล็อกเชนคือสื่อกลาง สิ่งที่อยู่บนแคนวาสต่างหากที่จะบอกเราว่านั่นคือศิลปะหรือไม่ แต่เอาศิลปินชื่อดังทั้งหลายออกจากลิสต์ของคุณไปเพียงเพราะพวกเขาใช้สื่อกลางที่ต่างแแกไปก็ช่างน่าอับอายเหลือเกิน”
มีหลายครั้งที่ศิลปะถูกสร้างขึ้นมาผ่านสื่อใหม่ๆ และเราก็ชื่นชมงานเหล่านั้นในฐานะศิลปะ “Piero Mansoni เปลี่ยนโลกสุดๆ ศิลปินเชิงแนวคิดล้ำลึกที่ล้อเลียนระบอบที่แสร้งกล่าวว่าอะไรคือศิลปะที่แท้จริง” Portales ยกตัวอย่าง โดยอ้างอิงถึงผลงาน Artists’ Shit, งานศิลปะที่ทาง Wikipedia อธิบายไว้ว่าเป็นงานศิลปะซึ่งประกอบไปด้วยกระป๋องอัดแน่นไปด้วยมูล 90 กระป๋อง “ท้ายที่สุดแล้ว NFT ก็เป็นเพียงสื่อกลางอีกอย่าง มันคือระบบภาษาใหม่”
งานศิลป์ดิจิทัลนี้ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางใหม่สำหรับโลกศิลปะเท่านั้น แต่พวกมันยังปลดล็อคโลกศิลปะใบใหม่อีกด้วย
“NFTs ทำให้ความเป็นไปได้ว่าอะไรคือการถ่ายทอดทางศิลปะไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ ณ วันนี้ และไปไกลกว่าที่เราคาดคิด งาน Robert De Niro NFT ของ LIT คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลย” Gabriela Sabate ผู้ก่อตั้งธุรกิจและนักสะสม NFT กล่าว “นักแสดงคนนั้นแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบงานอีเวนต์สดต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจาก NFT ชิ้นนี้ถูกสร้างไว้กว่า 4,600 สีหน้า NFTs มีพลังที่จะจำกัดความคอนเซ็ปต์ของศิลปะและวัฒนธรรมปัจจุบันของเราใหม่”
ผลกระทบต่อศิลปิน
ข้ออ้างที่ว่า NFTs ไม่ใช่ศิลปะส่งผลกระทบแง่ลบต่อกลุ่มศิลปินที่ค้นพบโอกาสที่จะแผ่ปีกกว้างในระบบนิเวศ NFT เป็นพิเศษ
“ศิลปิน NFT หลายๆ คนคือศิลปินแบบดั้งเดิมที่โยกย้ายงานศิลปะของพวกเขาเข้ามาในโลก Metaverse และ นับเป็นครั้งแรกในชีวิตพวกเขาที่พวกเขาสามารถเลี่ยงตัวเองด้วยงานศิลป์เหล่านั้นได้” Samantha Hume ศิลปิน NFT และผู้ก่อตั้ง Crypto Lady Gang เปิดอก
“NFTs กำลังฆ่าตัวละคร ‘ศิลปินไส้แห้ง’ และสร้างศิลปินยุคใหม่ที่มีความมั่นคงทางการเงินขึ้นมาแทน ยุคเก่าของโลกศิลปะมันเป็นเรื่องของเอกสิทธิ์ล้วนๆ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์และเงินทอง ยุคใหม่ของโลกศิลปะ NFT นี้สามารถผลักดันศิลปินที่มีความสามารถคนไหนก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงพื้นเพของบุคคลนั้นๆ นั่นมันเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว” เธอกล่าว
Michael Gold ศาสตราจารย์ด้านศิลปะผู้สอน Generative Art อธิบายเพิ่มเติมว่า “หากเราคิดดูว่าการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เป็นตัวขัดขาไม่ให้ศิลปินหลายคนสามารถสร้างและเผยแพร่งานศิลปะของพวกเขาได้ในอดีต NFTs ก็ได้เข้ามาพลิกบทนั้นไปเลย” เขากล่าว
“ศิลปิน NFT ที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากได้ก้าวเข้าสู่พื้นที่ตรงนี้ผ่านการเรียนรู้เทคนิคที่จำเป็นต่างๆ ผ่านการใช้ทรัพยากรที่ใครก็ตามที่มีคอมพิวเตอร์และเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้สามารถเข้าถึงได้แบบฟรีๆ ด้วตัวของพวกเขาเอง เมื่อโลกอินเตอร์เน็ตมักจะมองว่าวิกิพีเดียเป็นแหล่งความจริง หากผู้เรียบเรียงวิกิพีเดียกลุ่มหนึ่งตัดสินใจว่าอะไรใช่และไม่ใช่ศิลปะ การตัดสินใจนั้นก็จะส่งผลกระทบแบบระลอกคลื่น ตัดโอกาสของศิลปินที่สอนตัวเองในอนาคต และอาจจะตัดโอกาสที่โลกศิลปะจะเติบโตไปได้อีกด้วย” Gold ทิ้งท้าย
แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ How Wikipedia’s Classification Of NFTs As ‘Not Art’ Impacts Equity In The Art World เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม: Balmain X Barbie: อนาคตของ NFT ในโลกแฟชั่นและตุ๊กตา
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine