บริษัทสตาร์ทอัพ “Fivetran” ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำผ่านการ “ต่อท่อเชื่อมคลาวด์” - Forbes Thailand

บริษัทสตาร์ทอัพ “Fivetran” ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำผ่านการ “ต่อท่อเชื่อมคลาวด์”

FORBES THAILAND / ADMIN
01 May 2023 | 08:15 AM
READ 3467

ใครอยากค้นหาความหมายของข้อมูลก็ปล่อยเขาไป ส่วน Fivetran ขอพิสูจน์ว่าแค่ต่อท่อส่งข้อมูลจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งก็ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำแล้ว


    ณ วันที่สดใสของฤดูร้อนในเดือนสิงหาคม ปี 2021 George Fraser พยายามผ่อนคลายอยู่ที่บ้านพักของตระกูลริมทะเลสาบกลางป่าในรัฐ Wisconsin แต่ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Fivetran ยังกังวลเรื่องงานและเรื่องบริษัทที่เขาใช้เวลานาน 9 ปีร่วมสร้างกันมากับ Taylor Brown เพื่อนตั้งแต่สมัยเด็ก ซึ่งตระกูลของเขาก็หลบร้อนมาพักผ่อนในป่าสนภาคเหนือที่นี่เช่นกัน

    สองคนนี้มีไอเดียยอดเยี่ยม นั่นคือการช่วยบริษัทต่างๆ รวบรวมข้อมูลจากสารพัดแหล่งที่แตกต่างกัน เช่น ข้อความใน Twitter และธุรกรรมบัตรเครดิต จากนั้นก็คิดค่าบริการเพื่อต่อท่อส่งไปให้บริษัทที่รับวิเคราะห์บิ๊กดาต้าอย่าง Snowflake หรือ Databricks ซึ่งน่าจะช่วยบอกได้ว่าข้อมูลเหล่านี้มีความหมายอย่างไร 

    Fraser กับ Brown ผ่านหลักสูตรบ่มเพาะจาก Y Combinator มาด้วยกัน พวกเขาระดมทุนได้ประมาณ 160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และใช้เวลานับไม่ถ้วนนั่งเหงื่อตกอยู่กับรายละเอียดเชิงเทคนิค แต่ก็ยังออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับบริษัทใหญ่ไม่ได้


คบกันมานาน
ตระกูลของ George Fraser (ซ้าย) กับ Taylor Brown ผู้ร่วมก่อตั้ง Fivetran เป็นเพื่อนกันมา 4 รุ่นแล้ว “ปู่ทวดผมเป็นคนซื้อที่กั้นประตูรูปกบให้ปู่ทวดเขาเป็นของขวัญวันแต่งงาน” Brown เล่า “มันเป็นของขวัญที่ประหลาด แต่ตอนนี้เราเอามาใช้เป็นมาสคอตของบริษัทเรา”


    หนึ่งในคณะกรรมการบริษัทของ Fivetran คือ Bob Muglia อดีตซีอีโอของ Snowflake ผู้รู้ซึ้งเรื่องเดิมพันในการทำธุรกิจ เขาเล่าว่า “Steve Ballmer เล่นงานผมซะอ่วม” 

    หลังจากเขาเสียลูกค้าองค์กรให้ Oracle ในสมัยที่เขาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Microsoft (แล้วในปี 2011 Satya Nadella ซีอีโอคนปัจจุบันของ Microsoft ก็เข้ามาแทน Muglia) และเขาใช้เวลาปั้น Snowflake อยู่ 5 ปีแต่ถูกเชิญออกก่อนที่บริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของ Silicon Valley แค่ปีครึ่ง 

    คราวนี้เขาจึงเตือน Fraser ว่า เวลาของ Fivetran เหลือน้อยลงแล้ว “ผมซัดพวกเขาตรงๆ เลย” Muglia เล่า “ผมบอกว่า ‘เฮ้ย บริษัทนี้มันไม่มีผลิตภัณฑ์นี่’”

    Fraser นั่งโต๊ะทำงานเก่าของปู่ทวดซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Chicago Title and Trust ที่ก่อตั้งในยุค 1930 และเขาก็บังเอิญพบวิธีเก่าแก่ที่จะแก้ปัญหาให้เขาได้อย่างชะงัด นั่นก็คือ การซื้อทางรอดให้บริษัท HVR บริษัทคู่แข่งในเมือง San Francisco ซึ่งอยู่ห่างแค่คนละฟากอ่าวกับสำนักงานใหญ่ของ Fivetran ในเมือง Oakland

    เขาได้ข่าวจากคนในวงการเทคว่า HVR จะขายกิจการในราคา 700 ล้านเหรียญ แต่เขาต้องเข้าแถวประมูลให้ชนะก่อนหมดสัปดาห์นั้น การซื้อกิจการครั้งนี้จะช่วยให้พวกเขามีรายได้จากลูกค้าองค์กรและได้ผลิตภัณฑ์ที่จะเอามาต่อยอดให้สมบูรณ์ขึ้น 

    ปัญหาคือ Fivetran ซึ่งมีมูลค่าประเมินเกิน 1.2 พันล้านเหรียญแค่นิดหน่อย ไม่มีเงินสดให้ใช้ซื้อกิจการ แต่ Fraser ยังมีแฟนๆ กลุ่มใหญ่อยู่ใน Silicon Valley บวกกับความดื้อรั้นบ้าพลังอย่างเหลือเฟือ

    Fraser โทรหาบริษัทเพื่อการลงทุนระดับบลูชิป 5 แห่งที่เน้นธุรกิจเทค ซึ่งรวมถึง Iconiq Capital จากเมือง San Francisco และ D1 Capital Partners จาก New York ในวันเสาร์และบอกว่า เขาต้องใช้เงิน 565 ล้านเหรียญเพื่อเอาไปซื้อกิจการ 

    แล้วภายใน 72 ชั่วโมงต่อมาทุกรายก็ตกลงโอนเงินให้เขา “จู่ๆ เราก็แก้ปัญหาได้แบบเกินคาด” Fraser กล่าว “ธุรกิจเลยโดดข้ามไปข้างหน้าอีก 2-3 ปี”

    การซื้อกิจการช่วยดันมูลค่าของ Fivetran ขึ้นเป็น 5.6 พันล้านเหรียญ แต่รางวัลที่แท้จริงคือรายได้ของ HVR ประมาณ 30 ล้านเหรียญจากบริษัทยักษ์ที่มีงบประมาณด้านเทคก้อนใหญ่ ซึ่งช่วยให้ Fivetran มีจุดยืนมั่นคงกว่าคู่แข่งอีกหลายราย 

    มีหลายบริษัทในกลุ่มนี้ ซึ่งรวมถึงคู่แข่งโดยตรงอย่าง Airbyte (ซึ่งได้มูลค่าประเมินในปีที่แล้ว 1.5 พันล้านเหรียญ แม้จะมีรายได้ไม่ถึง 1 ล้านเหรียญ) กล่าวว่า พวกเขากำลังพิจารณาวิธีการรักษาเงินสด แต่ Fraser กล่าวว่า “เราไม่มีปัญหานั้น เพราะตัวคูณของเราไม่ได้สูงเกินเหตุและรายได้ก็โตมากแล้ว”

    Fivetran ซึ่งได้อันดับที่ 27 ในทำเนียบ Cloud 100 ของเราในปี 2022 คาดว่า จะมีรายได้ 189 ล้านเหรียญในปีงบประมาณนี้ (สิ้นสุดเดือนมกราคม) ซึ่งสูงกว่าปี 2021 เกินเท่าตัวและตอนนี้บริษัทก็มี JetBlue, Forever 21 และเครือร้านไก่ย่าง Nando’s อยู่ในกลุ่มลูกค้า

    Forbes ประเมินว่า ผู้ร่วมก่อตั้ง 2 คนถือหุ้นบริษัทอยู่คนละ 10% จึงมีทรัพย์สินสุทธิคนละประมาณ 500 ล้านเหรียญ (เราหักลดไป 10% เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชน) Martin Casado หุ้นส่วนของ VC อย่าง Andreessen Horowitz ซึ่งเป็นนักลงทุนตัวหลักในการระดมทุนของ Fivetran 3 รอบล่าสุดกล่าวชื่นชมความเป็นผู้นำของบริษัทนี้ในตลาดเคลื่อนย้ายข้อมูลว่า “ไร้ผู้ต่อกร”

    จุดขายเด่นที่สุดของที่นี่คือ ใช้งานง่าย “ระบบนี้ติดตั้งง่ายไม่เปลืองสมองที่สุดในโลกแล้ว” Muglia กล่าว แต่ในความเรียบง่ายที่ลวงตานั้นมีความซับซ้อนอย่างมหาศาลอยู่เบื้องหลัง เดิมทีผลิตภัณฑ์นี้จะส่งข้อมูลวันละครั้งตอนเที่ยงคืน ซึ่ง Fraser ก็จะอยู่ดึกจนเป็นพิธีกรรมประจำวันเพื่อตรวจตราท่อส่งข้อมูล 

    และถ้าเจอท่อแตก ซึ่งช่วงแรก “มันแตกซะทุกจุด” เขาก็ต้องซ่อมท่อไปอีกหลายชั่วโมงเหมือนเป็นช่างประปา แม้เงินสดสำรองของ Fivetran ที่ยังเหลือประมาณ 200 ล้านเหรียญดูเหมือนเป็นเงินก้อนใหญ่พอที่จะช่วยให้บริษัทรอดพ้นจากช่วงการหาผู้ร่วมลงทุนไปได้ 

    แต่ Fraser กล่าวว่า เขามีแผนจะระดมทุนอีกรอบภายราว 2 ปีข้างหน้า ไม่ว่าสภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร และหลังจากนั้นเขาวางแผนจะนำ Fivetran เข้าตลาดหลักทรัพย์ 

    งานนี้ล้มเหลวไม่ได้ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันแบบเมืองเล็กในชุมชนขนาดจิ๋วกลางป่าของพวกเขาเอง “ทุกคนรู้กันหมดว่าใครทำอะไรอยู่ แถมปล่อยข่าวลือกันให้แซด” Fraser กล่าว “ผลกระทบที่คาดไม่ถึงจากการตั้งบริษัทคือ คนพวกนั้นพลอยรู้ไปด้วย เราก็เลยต้องไปต่อให้รอด ไม่งั้นโดนแขวะไม่เลิกแน่”


เรื่อง: Kenrick Cai เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: Jamel Toppin



อ่านเพิ่มเติม: เครื่องบินสีเขียว


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine