ปัจจุบันมีจักรยานสาธารณะให้ยืม สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และล่าสุด ร่มสาธารณะจาก Rentbrella ทำให้ต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะไปไหนมาไหน คุณก็อาจจะไม่จำเป็นต้องควักเงินซื้อของเหล่านี้แล้วก็ได้
หากเมื่อเร็วๆ นี้ได้ออกจากบ้าน คุณก็คงเข้าใจนะ จู่ๆ ฝนก็เริ่มตก ร่มสักคันก็ไม่มี อย่างมากอาจจะหาอะไรมาบังสักหน่อย (เอาเสื้อคลุมขึ้นมาบ้างอะไรประมาณนั้น) หรือไม่ก็หยิบร่มมาใช้ แต่ว่า ตายล่ะ ลืมไว้ที่บ้านซะงั้น งั้นหาไปหาซื้อข้างหน้าเอาล่ะกันนะ แต่กว่าจะไปถึงร้านก็ตัวเปียกโชกไปหมดแล้ว แต่หากคุณอยู่ที่ Manhattan, New York ล่ะก็ คุณสามารถหยิบร่มจากสถานีแชร์ของ Rentbrella ได้เลย โดยใช้ได้ฟรีถึง 24 ชั่วโมง หากอยากเก็บไว้ใช้ต่อ ก็เพียงวันละ 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน หลังจากนั้น 3 วัน คุณจะต้องจ่ายทั้งหมดรวมเป็น 16 เหรียญ และสามารถเก็บร่มคันนั้นไว้ได้เลย นอกจากที่ Manhattan แล้ว Rentbrella ยังได้มีสถานีร่มอีก 35 แห่งตามจุดที่ผู้คนพลุกพล่าน นอกจากนี้ Rentbrella ยังมีสถานีร่มสาธารณะมากกว่า 400 สถานี มีร่มโดยรวมถึง 40,000 คันทั่วเมือง São Paulo ประเทศบราซิลบ้านเกิดบริษัทที่เปิดตัวเมื่อปี 2018 นี้อีกด้วย และทางบริษัทสุดล้ำนี้ก็มีแผนการมากมายที่จะช่วยให้เมืองอื่นๆ ตัวแห้งในวันฝนตกอีกด้วย
รีไซเคิลพลาสติก
นอกเหนือจากความสะดวกสบายแล้ว หากคุณอยู่ในที่ที่ใช่ล่ะก็นะ Marcos ยังบอกด้วยว่าร่มของพวกเขายังทำมาจากขวด PET ที่นำมารีไซเคิล โดยนำเข้าจากจีน บริษัทให้ยืมร่มแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายในการนำขยะมารีไซเคิล และลดปริมาณการผลิตร่มที่สุดท้ายก็โดนขว้างทิ้ง (มีการผลิตร่มถึง 33 ล้านคันต่อปีในทวีปอเมริกาเหนือ โดยอ้างอิงจากบริษัทให้บริการร่มในเมือง Vancouver) คุณสามารถหาสถานียืมร่มสาธารณะของบริษัทสัญชาติบราซิลนี้ได้โดนใช้แอปพลิเคชั่นบนมือถือ เหมือนกับไอเท็มอื่นๆในเมืองแห่งนี้ (รวมถึงสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าด้วย) "เราคิดถึงความยั่งยืนในทุกมุมของผลิตภัณฑ์ของเรา" Marcos กล่าว "ข้อหนึ่งเลย ผ้าร่มเนี่ยทำมาจากขวด PET ที่นำมารีไซเคิล ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้ขวดพวกนั้นถูกทิ้งตามภูเขาขยะต่างๆ หรือลงในมหาสมุทร ข้อสอง หลังจากวงจรชีวิตของร่มมันหมด เราก็จะนำผ้าร่มตรงนั้นมาใช้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแมสก์หรือกระเป๋า เป็นต้น ซึ่งของเหล่านี้จะถูกแจกจ่ายไปตามองค์กรไม่แสวงกำไรที่คอยช่วยเหลือชุมชนที่ยากลำบาก" Marcos กล่าวว่าทางบริษัทได้พัฒนามาไกลมากจากตอนที่เปิดตัวใน São Paulo ในวันนั้น
โฆษณาท่ามกลางสายฝน
แล้ว Rentbrella ทำเงินจากไหนกัน หากร่มพวกนี้มันฟรี (อยู่บ้าง) "Revenue model ของเราขึ้นอยู่กับการโฆษณา สปอนเซอร์จากแบรนด์ต่างๆ บนร่มของเรา" Marcos กล่าว "ในบราซิล ร่มของเราได้สปอนเซอร์เป็นบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่าง Unimed" Marcos กล่าวว่าร้อยละ 98 ของผู้ใช้ใน Manhattan คืนร่มภายใน 24 ชั่วโมง (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ) ในขณะที่ร้อยละ 1 เก็บร่มไว้วันสองวัน (ในอัตรา 2 เหรียญต่อวัน) และอีกร้อยละ 1 เลือกที่จะเก็บร่มไว้ และจ่ายเต็มราคา (16 เหรียญ) ตัวเลขนั้นก็คล้ายกันกับในบราซิล ณ เมืองใหญ่ที่ฝนพร่ำจนได้ฉายาว่า 'land of the drizzle' ไอเดียแจ่มแจ้งนี้เกิดขึ้นมาในขณะที่ Janovich กำลังออกมาจากรถไฟฟ้าใต้ดิน โดย Marcos บอกว่า "มีคนเป็นร้อยอัดกันอยู่ที่ประตูตอนนั้น เพราะฝนมันตก แล้วเขาก็เห็นจักรยานสาธารณะปั่นผ่านไป แล้วเขาก็คิดว่า 'หากไม่มีใครจำเป็นที่จะต้องมีจักรยานเป็นของตัวเองเพื่อไปไหนมาไหน ทำไมถึงต้องจำเป็นมีร่มกันล่ะ?' "ในตอนนั้น เขาก็โทรมาหาผม แล้วผมก็เสนอให้ใช้ร่มเป็นเครื่องมือในการโฆษณาที่จะมอบความเคลื่อนตัวและคุ้มกันให้แก่ผู้ใช้งาน และก็เป็นถือเป็นประสบการณ์สื่อแบบ high impact สำหรับแบรนด์ด้วย" Marcos ทิ้งท้าย แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ Rentbrella Keeps The Drops Off Your Head - For Free If You Return It In Time เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: Domus Stay เปิดประสบการณ์เช่าห้องพักแบบลักชัวรีไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine