เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้ง องค์การสหประชาชาติเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจส่งประกวดผลงานศิลปะระหว่างประเทศ ในหัวข้อ #TheWorldWeWant เพื่อแบ่งปันวิสัยทัศน์ที่อยากจะเห็นในอนาคต และคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่
24 ตุลาคม 2020 เป็น
วันครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อนำสันติภาพมาสู่โลก และให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่ประเทศสมาชิก ปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ประเทศไทย ที่เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 55 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1946
สำหรับการประกวดภาพถ่าย
#TheWorldWeWant เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลงานส่งเข้ามาทั้งหมด 51,000 รูปจาก 133 ประเทศทั่วโลก ผ่านทางแอปพลิเคชัน Agora ซึ่งเปิดให้ใช้โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการ
ในที่นี้ 75 รูปที่ได้รับการคัดเลือก สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมเป็นต้นไป ทาง
นิทรรศการออนไลน์ของสหประชาชาติ
“ทั้ง 75 รูปที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย คือ การประกาศเจตนารมณ์ ที่สื่อออกมาผ่านทางภาพถ่าย สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องอาศัยร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการปกป้อง ดูแล และฟื้นฟูโลกของเรา อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่ามีอีกหลายปัจจัยที่ส่งเสริมประชาคมโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ เพื่อที่ทุกคนจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ เคารพซึ่งกันและกัน และยึดมั่นในความยุติธรรม” ผู้จัดงานกล่าว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นหนึ่งในบททดสอบที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ตั้งแต่หลังการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งได้เผยให้เห็นถึงความเป็นจริงของความไม่เท่าเทียม ความอยุติธรรม ความกลัว และการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนอีกทั้งยังมีประเด็นปัญหาด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ จะมีอะไรสำคัญไปกว่า การสะท้อน “เสียงของพวกเรา” ที่ต้องการขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม
“ขณะนี้ โลกกำลังเผชิญกับการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 และภัยคุกคามต่างๆ ที่ยากเกินกว่าจะรับไหว ดังนั้นพวกเราจะต้องร่วมมือกัน ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ในการสร้างประชาคมโลกที่ดีกว่าเดิม ซึ่งนิทรรศการภาพถ่ายที่จัดขึ้น จะเป็นแรงบันดาลใจให้เราร่วมมือกัน เพื่อสร้างโลกที่เราต้องการ” Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าว
คำบรรยายใต้ภาพ คือ คำอธิบายของช่างภาพถึง
“โลกที่เขาแต่ละคนต้องการ”
“โลกที่ผมต้องการ คือ โลกที่ปลอดภัย สะอาด และมีการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรากำลังให้ความสำคัญกับธรรมชาติรอบตัวอยู่ เพราะการเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่ยั่งยืน จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่มีต่อสัตว์ป่า ผืนน้ำ และพื้นดินได้”
“ความคิดที่ว่าธรรมชาติเป็นของเรา ทำให้สามารถทำลายหรือสร้างประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นเหตุให้การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า เพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม และการสร้างชุมชน กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่ทั่วทุกมุมโลก จนต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า การอุปโภคบริโภคของมนุษย์ มีคุณค่ามากกว่าการดำรงอยู่ของสัตว์จริงหรือ และหากไม่เป็นเช่นนั้น คงถึงเวลาแล้วที่เราจะคืนพื้นที่กลับสู่ธรรมชาติ”
“เราต้องสร้างโลก ที่รับรองความปลอดภัยให้เด็กๆได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ ใช้ชีวิต และเติบโตอย่างมีความสุข”
“โลกที่ผมต้องการ คือ โลกที่เรายอมรับซึ่งกันและกัน และเปลี่ยนข้อบกพร่องที่เราต่างมี ให้เป็นความแข็งแกร่ง”
“โลกที่ผมต้องการ คือ โลกที่ความมุ่งมั่นทางการศึกษา จะนำพาไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้ เพราะเมื่อผมเดินเตร็ดเตร่อยู่ในชุมชนแห่งนี้ ผมตระหนักว่า ต่อให้เด็กทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาได้ แต่จะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ดี แม้ว่าพวกเขาจะขาดความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเรียน แต่เด็กกลุ่มนี้กลับมีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด”
“การก่อตัวของถ้ำน้ำแข็งแห่งนี้ ทำให้ผมหวนนึกถึงความทรงจำที่มีทั้งความสุขและความเศร้า และคงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนักที่ความสวยงามของถ้ำแห่งนี้จะสะกดสายตานักท่องเที่ยว แต่ในทำนองเดียวกัน อัตราการลดลงของภูเขาน้ำแข็งที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนกลับกลายเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลใจ ด้วยเหตุนี้ โลกที่ผมต้องการ คงจะเป็นโลกที่คนรุ่นใหม่ยังมีโอกาสที่จะมองเห็นและชื่นชมความงามนี้ เพราะฉะนั้นเราทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป”
“ผมอยากให้โลกเต็มไปด้วยความสุข”
“โลกที่ฉันต้องการ คือ โลกที่เด็กผู้หญิงทุกคนสามารถไปโรงเรียนได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องรอบเดือน เราต้องสนับสนุนการแจกผ้าอนามัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายให้กับเด็กผู้หญิงทุกคนในโรงเรียน”
“ผมอยากให้โลกไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า คุณรู้หรือไม่ว่า Borneo คือ หนึ่งในสถานที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก ซึ่งประกอบด้วยพรรณไม้ 15,000 สายพันธุ์ และพันธุ์สัตว์อีกกว่า 400 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลื้อยคลาน โดยที่หลากหลายสายพันธุ์สามารถพบเห็นได้เพียงที่นี่ที่เดียวบนโลก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เราจะปกป้องพื้นที่เหล่านี้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเห็น”
“โลกที่ผมต้องการ คือ โลกที่เต็มไปด้วยความรัก โดยไม่คำนึกถึงสีผิว”
“ฉันต้องการโลก ที่ทุกคนแบ่งปันความอบอุ่นและความรักซึ่งกันและกัน และไม่ใช่เฉพาะต่อเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสายพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้”
“โลกที่ผมต้องการ คือ โลกที่ความฝันของเราทุกคนเป็นจริง”
“ฉันต้องการโลก ที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสันติ เพราะขณะที่ผู้คนในชนบทอาศัยอยู่ห่างไกลจากความวุ่นวายในตัวเมือง และยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและความหรูหราฟุ่มเฟือยได้ พวกเขากลับมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับธรรมชาติรอบตัว”
“ฉันต้องการโลกที่เด็กๆ สามารถเติบโตมาบนพื้นฐานของความรัก และมีทุ่งหญ้าสีเขียวที่อุดมสมบูรณ์”
“ท่ามกลางความพยายามในการยุติสงครามของรัฐ เด็กชาวโคลัมเบียจำนวนมากยังคงเป็นเหยื่อของสงคราม และความไม่เท่าเทียมกันภายในประเทศ ผมต้องการอยู่ในโลกที่เด็กทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม เป็นโลกที่ความรุนแรงจะไม่สามารถทำลายความฝันของพวกเขาได้”
“โลกที่ผมต้องการ คือ โลกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสีเขียว ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
“ธรรมชาติของเรากำลังถูกคุกคามมากขึ้นทุกวัน และนี่เป็นสถานการณ์ที่น่าตกใจสำหรับคนรุ่นต่อไป เด็กทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่ดี การเข้าถึงน้ำสะอาด และการศึกษา ดังนั้นโลกที่ผมต้องการ คือโลกที่จะรับประกันได้ว่า เด็กทุกคนจะไม่โดนกีดกันจากสิทธิขั้นพื้นฐาน”
“ฉันเชื่อในบทบาทการเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมของผู้หญิง ตลอดจนความเสมอภาคระหว่างเพศ ฉันจึงต้องการโลก ที่ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสที่จะทำงานเคียงข้างกัน”
“โลกที่ผมต้องการ คือ โลกที่มีสะพานเชื่อมเข้าหากัน แทนที่จะเป็นการขีดเส้นแบ่งพรมแดน อีกทั้งยังเป็นโลกที่เปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม”
“ฉันต้องการโลกที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ โลกที่ความหลากหลายทางภาษาจะไม่มีผลกระทบต่อมิตรภาพ และฉันเชื่อว่า กีฬาจะสามารถนำพาทุกคนมาอยู่ร่วมกันได้”
“สำหรับผม รูปนี้คือตัวอย่างที่ดีของสิ่งที่ผมอยากให้มีในอนาคต ซึ่งก็คือโลกที่ไร้ซึ่งอคติ”
แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Best Photos Of The World We Want: Great Photography Contest Celebrating U.N.'s 75th Year เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
IMF คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจเกินความเป็นจริง