Igor Bukhman คนตรงกลางในวิกฤตรัสเซีย​​​-ยูเครน - Forbes Thailand

Igor Bukhman คนตรงกลางในวิกฤตรัสเซีย​​​-ยูเครน

FORBES THAILAND / ADMIN
24 Sep 2022 | 12:30 PM
READ 6096

เมี่อ Vladimir Putin บุกยูเครน Igor Bukhman เศรษฐีพันล้านผู้เกิดในรัสเซีย และก่อตั้งบริษัทเกม Playrix ต้องตกอยู่ท่ามกลางพนักงานหลายพันคนที่ถูกแนวรบแบ่งให้แตกเป็นสองฝ่าย สนามรบในบริษัทของ Bukhman จึงกลายเป็นบทเรียนให้เราทุกคน

Igor Bukhman ตื่นขึ้นในเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ในบ้านของเขาที่ West London มาเจอข้อความที่ส่งมาจากผู้จัดการสตูดิโอแห่งหนึ่งของ Playrix ในยูเครนว่า “มันเริ่มแล้ว” ตามด้วยภาพถ่ายภรรยาของผู้จัดการกอดปืนลูกซองอยู่กับลูกสาวในห้องใต้ดินที่บ้านของพวกเขาเพื่อหลบการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย เศรษฐีพันล้านผู้เกิดในรัสเซียคนนี้มีพนักงานหลายพันคนทำเกมมือถืออยู่ในรัสเซียและยูเครน และขณะที่เขากำลังตกใจนั่งอึ้ง เหล่าพนักงานชาวยูเครนของเขาก็เคลื่อนไหวแล้ว ช่องทางสื่อสารของพนักงานในโปรแกรม Slack ซึ่งปกติเคยเต็มไปด้วยการแชทสบายๆ ระหว่างเพื่อนร่วมงาน มีมขำขัน และการรายงานความคืบหน้าเรื่องเกมของบริษัท ตอนนี้กลับมีแต่เรื่องการอพยพและเงินบริจาคช่วยเหลือ   “เราไม่ได้ลงไปดูเองทุกเรื่อง พวกเขาเริ่มขยับเร็วกว่าเรามาก” Bukhman กล่าวถึงพนักงาน 1,500 คนของเขาซึ่งอยู่ในเขตสงคราม Igor และน้องชาย Dmitri ร่วมกันตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในบริษัทอายุ 18 ปีแห่งนี้ ซึ่งมีเกมอย่าง Fishdom และ Gardenscapes เป็นตัวสร้างทรัพย์สินให้สองพี่น้องรวมกันกว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากได้ข่าวสงครามไม่นาน ทั้งคู่ก็เดินไปมาระหว่างบ้านของพวกเขาบนถนนสายเก่าแก่ในเขต Kensington ย่านคนมีเงินของ London เพื่อช่วยกันวางแผน
 Igor กับ Dmitri Bukhman
สองพี่น้อง Igor (ซ้าย) กับ Dmitri Bukhman กลับไปเมืองบ้านเกิดที่รัสเซียในปี 2016 เพื่อฉลองความสำเร็จของบริษัทมือถือของพวกเขา
หลายชั่วโมงหลังจากเริ่มการรุกราน สองพี่น้องให้พนักงานชาวยูเครนหยุดงานโดยได้รับค่าจ้าง ในช่วง 2 วันต่อมาพวกเขาเปิดสายด่วนช่วยเหลือพนักงานให้อพยพ และ 48 ชั่วโมงหลังจากนั้นพวกเขาก็จ่ายโบนัสเท่าเงินเดือน 1 เดือนให้พนักงานทั้งหมด 4,000 คนของบริษัทซึ่งรวมถึง 1,500 คนในรัสเซียด้วย Bukhman กล่าวว่า เงินก้อนนี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้พนักงานรู้สึกว่าบริษัทยังมั่นคง และเงินนี้ไม่เพียงช่วยเหลือชาวยูเครนในแนวหน้าเท่านั้น แต่ยังช่วยชาวรัสเซียที่เดือดร้อนเพราะค่าเงินรูเบิลตกด้วย แต่ไม่นานทั้งคู่เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่แย่อีกครั้ง แม้ในช่วงที่เพื่อนร่วมงานหลายร้อยคนกำลังดิ้นรนหาทางหนีไปสู่ที่ปลอดภัย แต่ก็ยังมีพนักงานของ Playrix ปะทะกันใน Slack จนได้ หลังจากมีคนเล่นมุกตลกกันไปมาหลายครั้ง พนักงานในยูเครนคนหนึ่งก็ซัดกลับว่า “เรื่องนี้คงง่ายและสนุกสำหรับพวกคุณ…พวกคุณไม่ต้องสะดุ้งตื่นตอนตี 5 เพราะเสียงบึ้มดังสนั่น” ในช่วง 2-3 วันหลังจากนั้นการปะทะคารมก็ลุกลามกลายเป็น “การสาดความเกลียดชังใส่กันระหว่างพนักงานจนคุมไม่อยู่” Bukhman เล่า ตอนแรกสองพี่น้องเรียกร้องให้พนักงานหยุดคุยเรื่อง “การเมือง” ต่อมาผู้ดูแลระบบของบริษัทเริ่มลบข้อความเกี่ยวกับสงครามก่อนจะปิดช่องทางสื่อสารผ่าน Slack ทั้งหมด ซึ่งทำให้พนักงานส่วนหนึ่งโกรธมาก และมีคนลาออกอย่างน้อย 1 คน “เราไม่ได้ห้ามใครแสดงความเห็นในพื้นที่สาธารณะ เราแค่ขอให้เว้นช่องทางไว้อย่างน้อย 2-3 ช่องสำหรับสื่อสารเรื่องธุรกิจ” Bukhman กล่าวในข้อความที่ส่งถึงพนักงาน “เราอยู่ตรงกลางระหว่างไฟสองกอง เราตัดสินใจลำบาก แต่ก็ต้องทำ” Playrix และสองเศรษฐีพันล้านผู้ก่อตั้งกำลังตกที่นั่งลำบาก แต่ไม่ได้มีแค่พวกเขาที่เจอปัญหานี้เพียงลำพัง เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากหันมาพึ่งรัสเซียและยูเครนในช่วงหลายปีให้หลังเพื่อจะได้ใช้งานคนเก่งเทคที่ค่าแรงถูก ทำให้ธุรกิจของพวกเขากลับต้องตกอยู่ในเขตสงคราม ในเวลาเดียวกันพนักงานสายเทคชาวรัสเซียหลายหมื่นคนซึ่งมีทั้งผู้ที่ต่อต้านสงครามและผู้ที่ทำงานไม่ได้เพราะการคว่ำบาตรและรัสเซียจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตต้องอพยพไปที่อาร์มีเนีย จอร์เจีย และตุรกี Bukhman ไม่มีแผนจะถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย แต่กล่าวว่า Playrix ได้ช่วยพนักงานชาวรัสเซียประมาณ 10% จาก 1,500 คนให้อพยพไปต่างประเทศแล้ว “บริษัทเทคพากันอพยพครั้งใหญ่ออกจากรัสเซีย เพราะในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วถ้าหากยังทำกิจการอยู่ มันก็เหมือนเป็นการฆ่าตัวตาย แล้วตอนนี้ที่นั่นก็ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตด้วย” Mikhail Mizhinsky กรรมการผู้จัดการของ Relocode กล่าว โดยบริษัทใน London แห่งนี้ช่วยสตาร์ทอัพจากรัสเซียให้มาลงหลักปักฐานในยุโรป รัสเซียพยายามหยุดปัญหาสมองไหลด้วยการออกนโยบายใหม่ที่ยกเว้นภาษีเงินได้ให้บริษัทเทคและพนักงานเป็นเวลา 3 ปี และรัฐบาลยังสัญญาว่าจะไม่เกณฑ์พนักงานสายเทคไปเป็นทหารด้วย แต่เมื่อมาตรการคว่ำบาตรรุนแรงขึ้นและเส้นทางบินออกจากรัสเซียถูกปิด นโยบายนี้คงไม่เพียงพอจะรั้งให้ใครอยากอยู่ต่อ บางคนถูกสงครามเข้ามาประชิดใกล้บ้าน เช่น Nikolay Storonsky และ Vlad Yatsenko เศรษฐีพันล้านผู้ร่วมกันก่อตั้งธนาคารดิจิทัลสัญชาติอังกฤษ Revolut หนึ่งในสตาร์ทอัพมูลค่าสูงที่สุดในโลกซึ่งมีมูลค่าประเมินล่าสุด 3.3 หมื่นล้านเหรียญ พ่อของ Storonsky เกิดในยูเครน ตัวเขาโตในรัสเซียแต่ย้ายออกมาตอนอายุ 20 ปี และปัจจุบัน Storonsky วัย 37 ปี ถือสัญชาติอังกฤษ
Vlad Yatsenko และ Nikolay Storonsky
Vlad Yatsenko และ Nikolay Storonsky ผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารดิจิทัลสัญชาติอังกฤษ ​Revolut
“สมัยที่ผมโตมา ไม่มีใครคิดเลยว่ารัสเซียกับยูเครนจะรบกันได้ ไม่ใช่แค่เพราะสงครามและการทำลายชีวิตคนบริสุทธิ์เป็นเรื่องผิดเสมอนะ แต่สำหรับผมคนยูเครนกับคนรัสเซียก็เหมือนญาติกัน” Storonsky เขียนในบล็อกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งเขาประณามการทำสงครามแต่ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ประเทศรัสเซีย บริษัทนี้เคลื่อนไหวทันทีด้วยการช่วยอพยพพนักงานและตัดบัญชีสัญชาติรัสเซีย และช่วงกลางเดือนมีนาคมบริษัทก็ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินให้บัญชีธนาคารของชาวยูเครน และลดความเข้มงวดในการตรวจสอบตัวตนของลูกค้าใหม่ที่อาจต้องลี้ภัยสงครามโดยไม่ได้นำหนังสือเดินทางหรือเอกสารสำคัญอื่นติดตัวมาด้วย

รากเหง้าและสายสัมพันธ์กับบ้านเกิด

Bukhman โตมาในครอบครัวเชื้อสายยิว หนึ่งในไม่กี่ครอบครัวในเมืองห่างไกล “ในแง่หนึ่งผมไม่รู้สึกว่าผมเป็นคนรัสเซีย” เขาเล่า “ผมลำบากใจที่จะพูดอย่างเปิดเผยว่า ผมเป็นยิว ถึงจะไม่เคยมีใครแสดงท่าทีเกลียดยิวใส่เราตรงๆ เลยก็เถอะ แต่พ่อแม่ปู่ย่าก็บอกให้เราระวังไว้ก่อน” Bukhman เริ่มหัดเขียนโปรแกรมเมื่อปี 2001 หลังจากที่อาจารย์คนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า การเขียนแชร์แวร์ทำเงินได้ Igor จึงเกณฑ์ Dmitri น้องชายซึ่งยังเรียน ม. ปลายมาช่วยกันทำเกมและสกรีนเซฟเวอร์ พวกเขาทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีซีพูยูรุ่น Pentium 100 ซึ่งได้มาจากปู่ “พอเริ่มได้เงินเข้ามาหนึ่งในของชิ้นแรกๆ ที่เราซื้อคือคอมพิวเตอร์อีกเครื่อง ซึ่งช่วยให้เราทำงานได้เพิ่มเป็นเท่าตัว” สองพี่น้องตั้งบริษัท Playrix อย่างเป็นทางการในปี 2004 และเริ่มจ้างนักพัฒนาเกมและศิลปินในเมืองบ้านเกิด บริษัทเลื่อนขั้นจากการทำเกมพัซเซิลง่ายๆ สำหรับโฮมคอมพิวเตอร์มาทำเกมบนเครือข่ายโซเชียลใน Facebook แข่งกับเกม Farmville ของบริษัท Zynga ซึ่งกำลังดังในตอนนั้น ก่อนจะมาลงตัวที่แอปเกมเล่นฟรีในปี 2009 และระหว่างนั้นพวกเขาก็ซื้อกิจการสตูดิโอทำเกมอิสระหลายแห่งในยูเครนด้วย ธุรกิจของ Playrix เฟื่องฟูในช่วงโควิดระบาด รายได้โดดขึ้น 53% ด้วยแผนการตลาดที่คิดเก่งซึ่งสูบเอาผู้เล่นเข้ามาเพิ่มได้เยอะมากในช่วงที่คนติดอยู่กับบ้าน ปัจจุบัน Playrix เป็นบริษัทเกมมือถือใหญ่อันดับ 4 ของโลก (ดูจากรายได้) รองจาก Tencent กับ NetEase ของจีน และ Activision เกมของ Playrix อย่างเกมพัซเซิล Homescapes และเกมสร้างเมือง Township เป็นขาประจำในทำเนียบรายชื่อแอปที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุด เกมของ Playrix เปิดให้เล่นฟรี แต่ผู้เล่นจะจ่ายเงินเฉลี่ยเดือนละ 5 เหรียญ เงินที่ได้ครั้งละน้อยๆ จากผู้เล่นช่วยให้สองพี่น้องขยายกิจการได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินลงทุนจากภายนอก พวกเขาอยากย้ายออกจากเมืองบ้านเกิดมานานแล้ว เมื่อมีตำรวจรัสเซียมาหาถึงสำนักงานเพื่อสอบถามเรื่องการเงินของพวกเขา เพราะปรากฏว่าพวกเขาซื้อที่ดินมาจากคนที่ไม่ใช่เจ้าของที่ “เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาใหญ่สุดนะ แต่ผมหมดความเชื่อใจในระบบ และไม่เชื่อว่าเราอยู่ต่อไปแล้วจะปลอดภัย” Bukhman เล่า เขากับ Dmitri จึงย้ายไปอยู่อิสราเอลในปี 2016 หลังจากนั้นสองพี่น้องก็ย้ายไป London ในปี 2020

การประกาศจุดยืนต่อสงครามและการเดินหน้าต่อแม้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง

จุดยืนของพี่น้อง Bukhman ต่อหน้าสาธารณชนเปลี่ยนไปมากนับจากช่วงเริ่มต้นสงคราม ตอนแรกที่ Dmitri พูดเรื่องนี้กับพนักงานหลังจากการรุกรานเริ่มขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เขาประกาศว่า Playrix “ไม่ยุ่งกับการเมือง” แต่ 4 วันต่อมาเมื่อพวกเขาประกาศจ่ายเงินเพิ่มให้พนักงาน สองพี่น้องก็โพสต์ประกาศใน Facebook แบบเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า สงครามครั้งนี้คือ “โศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่สำหรับทุกคน รวมทั้งบริษัทของเราด้วย” และเรียกร้องให้ยุติสงคราม แม้บริษัทมีเจตนาอยากรักษาความสงบสุข แต่การกวาดล้างช่องทางสื่อสารใน Slack ยิ่งทำให้พนักงานโมโหหนักขึ้น เพราะสำหรับพนักงานชาวยูเครนจำนวนมากแล้ว Slack เป็นช่องทางเดียวที่ใช้ติดต่อเพื่อนร่วมงานในรัสเซียและไอร์แลนด์ได้ โปรดิวเซอร์คนหนึ่งของ Playrix ซึ่งยังอยู่ในเมือง Kharkiv บ้านเกิดของเขาต่อไปแม้จะถูกรัสเซียทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องกล่าวว่า เขา “โกรธจนตัวสั่น” ตอนเห็นบริษัทลบโพสต์ของพนักงานชาวยูเครน เขาเข้าใจเหตุผลที่ Playrix อยากจำกัดจำนวนโพสต์หัวร้อนที่ถกเถียงกันเรื่องการเมือง “แต่การแสดงความเห็นทางการเมืองมันเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนสงครามเป็นคนละเรื่องกันเลย” เมื่อมองภายในบริษัทสองผู้ก่อตั้งรับรู้เสียงสะท้อนจากพนักงานแล้วว่าพวกเขาควรแสดงจุดยืนต่อหน้าสาธารณชนให้เข้มแข็งกว่านี้ “ผมกับ [Dmitri] แสดงออกผ่านสื่อโซเชียลว่าเราสนับสนุนยูเครนด้วยคำพูดเท่าที่เราสามารถพูดได้” Igor เขียนชี้แจงต่อพนักงานเมื่อวันที่ 4 มีนาคม “แต่เรามีสำนักงาน 16 แห่งกับพนักงาน 1,500 คนในรัสเซีย…ตอนนี้เราแสดงจุดยืนอย่างเปิดเผยไม่ได้ เพราะเราต้องรับผิดชอบต่อพนักงานและครอบครัวของพวกเรา” ตามกฎหมายอันเข้มงวดของรัสเซียในขณะนี้แค่เรียกการรุกรานครั้งนี้ว่าสงครามก็ถือเป็นความผิดแล้ว และประชาชนชาวรัสเซียอาจมีความผิดฐานกบฏถ้าให้ “ความช่วยเหลือใดๆ” ต่อยูเครน ซึ่งเรื่องนี้สร้างความกังวลมากในช่วงเริ่มต้นการปะทะ แต่ตอนนี้ Playrix ดูจะมั่นใจในการแสดงจุดยืนมากขึ้น ช่วงแรกบริษัทพยายามปรามพนักงานไม่ให้บริจาคช่วยเหลือชาวยูเครนและมีความกังวลภายในเกี่ยวกับการจ่ายเงินเพิ่มให้พนักงานในเขตสงคราม แต่หลังจากนั้น Playrix ประกาศเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทจะบริจาค 500,000 เหรียญให้กาชาดยูเครน แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้คลี่คลายทั้งหมด Bukhman ยังมีพนักงานซึ่งอยู่กับบริษัทมานานอีกจำนวนมากที่อยู่ลึกเข้าไปในรัสเซีย และเขาคาดว่าจะมีพนักงานลาออกเพิ่มอีก มิหนำซ้ำเหล่าผู้จัดการของเขาก็ยังต้องหาทางจำกัดให้พนักงานชาวยูเครนมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานที่พูดภาษารัสเซียให้น้อยที่สุด ซึ่งรวมถึงตัว Bukhman เองด้วย “เราทำงานด้วยวิธีการอย่างที่เคยทำมาไม่ได้แล้ว” Bukhman กล่าว “แต่ผมคิดว่าเรายังทำงานในยูเครนต่อไปได้” เรื่อง: IAIN MARTIN และ JEMIMA MCEVOY เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: LEVON BISS อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine