“ช็อกโกแลต” ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์มากมายซึ่งต่างมีความอร่อยเฉพาะตัว มักมาพร้อม “สุนทรียภาพในปาก” อันรื่นรมย์และความหวานหลายระดับ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้รับการยกยอให้เป็นอาหารและเครื่องดื่มสุดหรู ทว่าสำหรับผู้คนจำนวนมาก ช็อกโกแลตถือเป็น “ความสุขใจในโอกาสพิเศษ”
ณ ตอนนี้ ผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตหาซื้อได้ทั่วไปและมีราคาที่จับต้องได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม อันที่จริงแล้วคำถามพื้นฐานที่เราควรถามตัวเองเกี่ยวกับช็อกโกแลตคือ “จำเป็นต้องทำอะไรเพื่อบ่มเพาะกระบวนการผลิตอาหารแสนวิเศษเหล่านี้ให้มีความรับผิดชอบและความยั่งยืนยิ่งขึ้น?”
นับเป็นประเด็นที่ซับซ้อน เต็มไปด้วยปัญหาหลายอย่างจากอุตสาหกรรมช็อกโกแลตในปัจจุบัน ตลอดจนความไม่แน่นอนต่างๆ เกี่ยวกับอนาคต ณ จุดนี้เรายังไม่ได้กำลังยืนอยู่ที่ริมขอบของ “วันสิ้นช็อกโกแลต” ดังที่ปรากฏในหนังสือเด็กเรื่อง Chocopocalypse ของ Chris Callaghan ก็จริง แต่มีเรื่องน่ากังวลมากมายที่ต้องบอกให้รู้
เริ่มแรก นี่ไม่ใช่แค่ความสุขในโอกาสพิเศษของผู้บริโภคที่ร่ำรวย มีการประมาณว่าความเป็นอยู่ของ 50 ล้านครอบครัวทั่วโลกถูกผูกไว้กับบทบาทที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าของช็อกโกแลต ตั้งแต่การปลูก การแปรรูป การขนส่ง ไปจนการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีเกษตรกรรายย่อยราว 5-6 ล้านคนที่ปลูกต้นโกโก้และยังดูแลกระบวนการชั้นต้นอีกด้วย (ได้แก่ การแยกเมล็ดโกโก้ออกจากฝัก การหมัก และการตากแห้ง)
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2023/08/K5qHhfiSeH6He6TKQwLM.jpg)
ข้อมูลแหล่งผลิตโกโก้ ข้อมูลปี 2017-2021
กระบวนการที่เกิดขึ้นในฟาร์มเหล่านี้รวมถึงแรงงานหัตถกิจซึ่งแทบจะไม่ค่อยมีแล้วในเกษตรกรรมสมัยใหม่ เกษตรกรจำนวนมากในกลุ่มนี้ยังขาดแคลนการเข้าถึงการฝึกฝน การสนับสนุนทางเทคนิค และอุปกรณ์ดูแลพืชพรรณอันทันสมัยที่จำเป็นในการเพาะปลูกซึ่งอาจช่วยยกระดับความมีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความยั่งยืน
โกโก้ถูกปลูกในพื้นที่เขตร้อน (Tropical Region) ทั่วโลก มี 17 ประเทศที่ผลิตโกโก้เกือบ 98% ของปริมาณโกโก้ทั้งหมดในโลก แต่ก็มีประเทศอื่นๆ อีก 44 ประเทศที่ผลิตโกโก้ด้วยเช่นกัน
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2023/08/V1y72FZSYpxukJkDsYg5.jpg)
ตารางแสดงประเทศผู้ผลิตโกโก้ ข้อมูลปี 2017-2021
ภาคอุตสาหกรรมอันกว้างใหญ่ที่กินอาณาบริเวณกว้างขวางนี้ยังปรากฏความอยุติธรรมทางสังคม เช่น การใช้แรงงานเด็ก และการบังคับใช้แรงงานเกิดขึ้น ในหลายภูมิภาค เด็กๆ อาจได้รับงานที่หนักหนาสาหัสจนถึงขั้นอันตราย
ในมุมมองความท้าทายด้านเศรษฐกิจสังคม บ่อยครั้งที่เกษตรกรได้รับส่วนแบ่งจากมูลค่าที่เกิดขึ้นนี้น้อยมาก ผู้ปลูกโกโก้จำนวนมากในแอฟริกาได้รับเงินน้อยกว่าหนึ่งเหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน (เส้นแบ่งความยากจนนานาชาติอยู่ที่ 2.15 เหรียญต่อวัน)
โดยรวมแล้ว มีการประเมินเงินแต่ละเหรียญที่ผู้บริโภคใช้จ่ายกับผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต เงิน 90 เซนต์ถูกส่งตรงเข้ากระเป๋าแบรนด์หรือร้านค้าต่างๆ ส่วนเกษตรกร คนงาน และผู้ส่งออกได้รับเพียง 7.5 เซนต์เท่านั้น ทั้งยังเป็น 7.5 เซนต์ที่พวกเขาต้องแบ่งสรรปันส่วนกันอีกด้วย
นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านจริยธรรมว่าด้วยการดิ้นรนของเกษตรกรเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่ต้องมีระบบที่เที่ยงธรรมกว่านี้ในการรับประกันอนาคตของภาคเกษตรกรรมที่เป็นต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทาน
น้ำมันปาล์มเป็นอีกหนึ่งส่วนผสมสำคัญอันก่อให้เกิด “สุนทรียภาพในปาก” ของผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตต่างๆ โดยปาล์มเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีการเพาะปลูกในหลายประเทศซึ่งบ่อยครั้งก็เกี่ยวโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ครอบคลุมการผลิตโกโก้ทั้งหมด แต่ก็อยู่ในส่วนย่อยที่เป็นปัญหา
อุตสาหกรรมช็อกโกแลตกำลังไล่ตามสองแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาความเป็นธรรมทางสังคมและทางเศรษฐกิจเหล่านี้ บรรดาผู้เล่นหลักมีอำนาจและอิทธิพลเพียงพอที่จะบรรลุแผนการของพวกเขา
ยกตัวอย่าง Mars มีเกษตรกรโกโก้ 350,000 รายอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา ในปี 2018 บริษัทอาหารและการผลิตระดับโลกรายนี้เปิดตัวกลยุทธ์ Cocoa for Gener-ations และให้คำมั่นว่าจะลงทุน 1 พันล้านเหรียญตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีทุ่มเทกับการปกป้องเด็กๆ ป่าสงวน และเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร
ในทำนองเดียวกัน Hershey ปฏิญาณสู่ความยั่งยืนและความเป็นธรรมทางสังคมด้วยกลยุทธ์ที่พวกเขาเรียกว่า Shared Goodness นอกจากนี้ยังมีโครงการด้านความยั่งยืนของแบรนด์ Lindt & Sprungli, Godiva และอื่นๆ อีกมากมาย บริษัทต่างทั้งหลายยังร่วมมือกันผ่านองค์กรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เช่น World Cocoa Foundation ซึ่งมีสมาชิก 95 ราย
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2023/08/VYY62zymQ69KzwiBmCV1.jpg)
เมล็ดโกโก้
อีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับผู้เล่นรายใหญ่และรายย่อยคือขอการรับรอง Fairtrade โดยเริ่มจากความเคลื่อนไหวในละตินอเมริกาดำเนินการโดยเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ ก่อนที่เร็วๆ นี้จะกลายมาเป็นช่องทางเข้าถึงผู้ถือหุ้นในกระบวนการสร้างมาตรฐานต่างๆ แล้วจึงให้ผู้ตรวจสอบที่เป็นบุคคลที่สามรับรองกฎระเบียบเหล่านี้ ดังเช่นในกรณีของ Fairtrade International
นอกเหนือจากการประกันราคาขั้นต่ำหรือ Fairtrade Minimum Price แล้ว เกษตรกรจะได้รับเงินพิเศษจาก Fairtrade Premium ซึ่งสหกรณ์ท้องถิ่นร่วมโหวตว่าจะใช้อย่างไร เอาไปทุ่มเทให้กับการสร้างความยืดหยุ่นด้านสภาพภูมิอากาศ ลงทุนในทรัพยากรของชุมชน หรือเป็นรายได้เพิ่มเติม
ยกตัวอย่าง Tony,s Chocolonely แบรนด์ช็อกโกแลตจากเนเธอร์แลนด์ซึ่งวางขายในสหรัฐอเมริกาผ่านการรับรองจาก Fairtrade ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2005 และก้าวเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ในปี 2015
Fairtrade International เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรโดยมีองค์กรผู้ผลิตที่ผ่านการรับรองกว่า 1,900 รายจาก 70 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อยและคนงาน มีมากกว่า 37,000 ผลิตภัณฑ์จากมากกว่า 2,500 แบรนด์ที่ได้รับการรับรองจาก Fairtrade America
ในการสัมภาษณ์เพื่อเขียนบทความนี้โดยเฉพาะ Deborah Osei-Mensah ผู้ปลูกโกโก้รายย่อยในประเทศกานาเผยว่ารู้สึกมีกำลังและเสียงที่ดังขึ้นจากการที่ Fairtrade จับมือกับสหกรณ์โกโก้ในท้องถิ่นของเธอ เธอเห็นว่าการเข้าถึงอุปกรณ์เพาะปลูกและวัสดุทางการเกษตรคุณภาพสูงนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
ดังนั้นในขณะที่มีช่องว่างสำหรับขยับขยาย ธุรกิจช็อกโกแลตก็กำลังพยายามแก้ไขปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจกันอย่างจริงจังไปพร้อมกับการมุ่งหน้าพัฒนาอุตสาหกรรม
ประเด็นความท้าทายบริเวณต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานในโกโก้นั้นก็เหมือนเช่นที่เกิดกับพืชพรรณส่วนใหญ่ นั่นคือสืบเนื่องมาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป ภัยแล้ง และพายุเฮอร์ริเคนพัดถี่ขึ้น จึงเป็นการยากที่จะพยากรณ์อย่างแม่นยำว่าสิ่งเหล่านี้จะกระทบการผลิตโกโก้อย่างไร และการปรับตัวแบบใดที่เป็นไปได้บ้าง เช่น การย้ายพื้นที่เพาะปลูก และวิธีการที่ต่างไปจากเดิม โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้เองที่เป็นสาเหตุหลักของความไม่แน่นอนในหลายกรณี
ส่วนสาเหตุอื่นนั้น ถ้าให้ว่ากันตามตรง คงไม่พ้นปัญหาที่เรื้อรังในอุตสาหกรรมนี้มานานนับศตวรรษ โรคพืชร้ายแรงทำลายอุตสาหกรรมโกโก้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และผลักโกโก้จากภูมิหนึ่งไปยังอีกภูมิภาค
เดิมโกโก้กำเนิดจากแอมะซอนตอนบน มีการเพาะปลูกโกโก้ในพื้นที่ดังกล่าวยาวนานกว่าเจ็ดพันปี ก่อนแผ่ขยายไปยังอเมริกาใต้และกลาง แต่การเพาะปลูกหนาแน่นมากในบริเวณเมโสอเมริกา ตรินิแดด เวเนซูเอลา และเอกวาดอร์หลังยุคล่าอาณานิคมจากมหาอำนาจยุโรป
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2023/08/V8jbt9sHz8nnjUe6VU5F.jpg)
โรคเชื้อราในโกโก้ (Frosty Pod Disease)
กระทั่งช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ภัยที่เรียกว่า “โรคไหม้ (Blast Disease)” ก็ลุกลามพังอุตสาหกรรมโกโก้ในตรินิแดดจนย่อยยับ ทางด้านเวเนซูเอลาและเอกวาดอร์ก็ถูกทำลายโดย “โรคเชื้อราในโกโก้ (Frosty Pod Disease)” การผลิตส่วนใหญ่จึงย้ายไปยังบราซิล ทว่าช่วงทศวรรษ 1980 กลับมี “โรคพุ่มไม้กวาด (Witches Broom)” ระบาดหนักในบราซิล เร่งสู่การย้ายไปยังทวีปแอฟริกาซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตโกโก้ราว 69% ของโลก
ณ ตอนนี้พืชพรรณในแอฟริกากำลังถูกคุกคามจากเชื้อไวรัส CSSV (Cacao Swollen Shoot Virus) และแมลงมวนเขียวดูดไข่ (Mirid) ซึ่งเป็นศัตรูพืช คาดการณ์ว่าแมลงและโรคพืชจะลดผลผลิตโกโก้ทั่วโลกราว 30-40% โดยภาพรวม สวนทางกับที่อุตสาหกรรมนี้ยังต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคซึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรละเลย
แม้มีอุปสรรคจากศัตรูพืช การผลิตโกโก้ในปี 2021 อยู่ที่ 5.6 ล้านตัน คิดเป็นสองเท่าของช่วงต้นทศวรรษ 1990 และถึงประชากรมนุษย์ทั่วโลกจะขยายตัว ตัวเลขนี้ก็ยังมากกว่าจำนวนคนทั่วโลกถึง 1.4 เท่า โดยในประเทศรายได้สูงตัวเลขนี้ขยับขึ้นเป็น 1.7 เท่าสะท้อนความใหญ่โตของตลาดช็อกโกแลต
ดังนั้นสถานการณ์ของภาคการผลิตในระดับต้นน้ำจึงไม่ใช่สัญญาณดีเท่าที่ควร เพราะความสำเร็จที่บรรลุแล้ว ณ เวลานี้คือการขยายพื้นที่เพาะปลูก ไม่ใช่การเพิ่มผลผลิต อันจะเห็นได้จากกราฟด้านล่าง
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2023/08/dCoQjq5zyEtxSJNekiAj.jpg)
ตลอดระยะเวลาที่ปรากฏ ผลผลิตที่ได้ต่อพื้นที่ไม่ว่าจะในหน่วยเอเคอร์หรือเฮกตาร์ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านการผลิตอย่างมีนัยสำคัญแก่พืชพรรณโดยส่วนใหญ่ แต่ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา กรณีของโกโก้กลับไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ทั้งศัตรูพืช ข้อจำกัดด้านพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงจะนำไปสู่ปัญหาด้านการจัดหาวัตถุดิบในอนาคตแน่นอน
สถานการณ์เช่นนี้ยังเพิ่มความยุ่งยากจากการที่พืชพรรณซึ่งผลิตในประเทศกำลังพัฒนาถูกส่งเข้าตลาดในประเทศที่ร่ำรวย คำพูดเก่าแก่ว่าไว้ “ลูกค้าถูกเสมอ” และนั่นคือนิยามของคำว่า “ถูก” ในทางปฏิบัติ แม้ว่าลูกค้าจะไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนักซึ่งสวนทางกับผลประโยชน์สูงสุดของผู้ผลิตก็ตาม
ในช่วงทศวรรษ 1990 นักวิจัยมากมายเริ่มนำเทคโนโลยีชีวภาพมาพัฒนาพืชพรรณธัญญาหารหลากหลายชนิด Dr.Mark Guiltinan จาก Pennsylvania State University ก็ทำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับโกโก้เช่นกันโดยได้รับการสนับสนุนจากบรรดาผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามเมื่อความเคลื่อนไหวการดัดแปลงพันธุกรรม (anti-GMO) เริ่มเข้มแข็ง ผู้เล่นที่อยู่ปลายน้ำของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพืชพรรณเหล่านี้จึงเลือกปกป้องแบรนด์ของตนเองด้วยการ “ปัดตก” เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งก็นับว่าได้ผลดีทีเดียว โดยในปัจจุบันการปฏิเสธพืชตัดต่อพันธุกรรมยังคงเป็นกำแพงที่สูงตระหง่าน แม้ไม่มีปัญหาใดเกิดขึ้นจริงตลอดหลายสิบปีที่มีการเพาะปลูกธัญพืชชนิดหลักๆ ซึ่งผ่านเทคโนโลยีชีวภาพมาแล้ว
ทวีปยุโรปตื่นตัวอย่างยิ่งกับประเด็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม กอปรกับอิทธิพลที่มีต่ออุตสาหกรรมช็อกโกแลต ทำให้กระทั่งการแก้ไขยีน (Gene Editing) เพียงเล็กน้อยยังยากจะเป็นที่ยอมรับ แม้บรรดานักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปเองเชื่อว่าเทคโนโลยีทั้งหมดนี้สามารถนำมาใช้อย่างปลอดภัยได้
กระแสออร์แกนิกคืออีกหนึ่งข้อจำกัดจากพวกคนรวยที่ไม่ได้อิงตามหลักวิทยาศาตร์ ทว่าบ่อยครั้งกลับเป็นที่ต้องการของลูกค้าผู้ซื้อโกโก้ ซึ่งมีแต่จะทำให้การจัดการศัตรูพืชของเหล่าเกษตรกรทวีความท้าทายขึ้นไปอีกเท่านั้น
โชคดีที่ ณ ตอนนี้ในอุตสาหกรรมโกโก้มีความพยายามพร้อมเงินทุนในการดำเนินการเพื่อทลายกำแพงเปิดทางแก่เทคโนโลยีอันน่าเสียดายนี้ หลายธุรกิจที่สนับสนุนหรือร่วมเริ่มต้นการค้าอย่างเป็นธรรมกำลังแสวงหาหนทางที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการพาเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้เข้าถึงเครื่องมือและข้อมูลที่ทันสมัยที่จำเป็นในการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management หรือ IPM)
ทางฝั่งพันธุศาสตร์ แบรนด์ Mars ร่วมผลักดันโครงการพันธุศาสตร์โกโก้ที่ครอบคลุมด้านสำคัญต่างๆ ของ University of California, Davis ในเรือนกระจก 80% ของเชื้อพันธุ์โกโก้อันเป็นที่รู้จักจากทั่วโลกถูกนำมาเก็บรักษาไว้เป็นกลุ่มตัวอย่าง และใช้เพื่อทดลองสร้างสายพันธุ์ใหม่ๆ จากนั้นจึงสามารถคำนวณความเหมาะสมสำหรับพื้นที่เพาะปลูกแต่ละแห่งได้
อีกด้านหนึ่ง นักวิจัยที่ University of Pennsylvania กำลังอยู่ระหว่างการเร่งกระบวนการผสมพันธุ์โกโก้ เนื่องจากในปัจจุบันพืชชนิดนี้ใช้เวลานานในการพัฒนาเพราะกว่าแต่ละรุ่นใหม่ๆ จะเริ่มออกผลนั้นกินเวลามาก
โครงการเหล่านี้นำมุมมองต่างๆ ว่าด้วยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพันธุศาสตร์สมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การตรวจลำดับคู่เบสใน DNA (Gene Sequencing) เพื่อใช้เครื่องหมายทางพันธุกรรมในการคัดเลือกลักษณะที่ต้องการนำมาเพาะพันธุ์ (Marker Assisted Breeding) แต่พวกเขายังไม่ได้รับไฟเขียวให้ใช้วิธีการแบบ Transgenic ซึ่งเป็นการนำยีนของสายพันธุ์อื่นมาเติมลงในสิ่งมีชีวิตอีกสายพันธุ์ หรือวิธีการแบบ Cisgenic ที่เป็นการนำยีนของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกันมาใส่ลงไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจคือบริษัท California Cultured ซึ่งได้รับเงินร่วมลงทุนสนับสนุนกำลังแหวกกรอบสร้างวิธีแก้ปัญหาใหม่ในการกอบกู้วัตถุดิบสำหรับช็อกโกแลตและกาแฟ พวกเขาอยู่ระหว่างพัฒนาระบบการผลิตที่นำเซลล์จากต้นโกโก้มาเพาะเลี้ยงจนเติบโตโดยให้ความสำคัญกับกระบวนการหมัก พวกเขาใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชมาตั้งต้นการเพาะเลี้ยงเซลล์ บำรุงด้วยน้ำตาลและสารอาหารอื่นๆ คล้ายคลึงกับเทคโนโลยีการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Cultured Meat)
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2023/08/GTGYA7NwMKkFDK6VcvJ4.jpg)
การวิจัยของ California Cultured
California Cultured เริ่มต้นทดลองโดยใช้โกโก้พันธุ์ Criollo สุดเข้มข้น และปรับเซลล์เพาะเลี้ยงให้เหมาะสมเพื่อความชัดเจนด้านรสชาติโดยคำนึงถึงสิ่งที่ปกติแล้วจะเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการหมัก การตากแห้ง และการคั่วในการผลิตเมล็ดโกโก้ พวกเขากำลังทำให้รายละเอียดต่างๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และมั่นใจว่าจะมีต้นทุนที่เหมาะสมสำหรับการแข่งขันภายในปี 2025-2026 คาดหวังนำร่องกระบวนการขอการรับรองจาก FDA อันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้นนับว่าเป็น “วิธีการผลิตแบบใหม่”
แม้ชัดเจนว่านี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาระยะสั้น มันก็สามารถก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับรสชาติ และสักวันคงไปถึงการรับมือกับความต้องการช็อกโกแลตที่เพิ่มขึ้นบนโลกใบนี้ซึ่งอยู่ยากขึ้นทุกที
กล่าวโดยสรุป ข่าวดีคือมีการลงมือพยายามอย่างจริงจังมากมายเพื่อคงไว้ซึ่งการผลิตโกโก้ท่ามกลางความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศและศัตรูพืช โดยดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เป็นธรรม และยั่งยืน ถึงกระนั้นก็มีความไม่แน่นอนมากพอจะพาให้เราตระหนักและซาบซึ้งในสิ่งที่เรามี ณ ปัจจุบันนี้
ตลอดจนไตร่ตรองว่ามีหนทางใดบ้างที่จะผลักดันผู้บริโภคอย่างมีหลักเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนตลาดย่อยที่มีความเชี่ยวชาญซึ่งสามารถเชื่อมต่อเกษตรกรรายย่อยเข้ากับเทคโนโลยีทันสมัย ประเทศที่ร่ำรวยต้องช่วยแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาโรคพืชและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นพื้นฐานในการคลายความกังวลของอุตสาหกรรมโกโก้ในอนาคตลงได้
แปลและเรียบเรียงจาก Reasons Not To Take Chocolate For Granted ซึ่งเผยแพร่บน Forbes
อ่านเพิ่มเติม : "บลูบิค" กำไรนิวไฮ ทะยานแตะ 137 ล้านบาท เร่งเครื่องพร้อมรับงานขนาดใหญ่ครึ่งปีหลัง ตลาดต่างประเทศตอบรับดีเกินคาด
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine