Pfizer เผยยาเม็ดต้านโควิด-19 อาจใช้ได้จริงปลายปีนี้ - Forbes Thailand

Pfizer เผยยาเม็ดต้านโควิด-19 อาจใช้ได้จริงปลายปีนี้

Aber Bourla ซีอีโอ Pfizer หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 รายใหญ่ของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่า ยาต้านเชื้อโควิด-19 ชนิดเม็ดอาจพร้อมใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ภายในสิ้นปี 2021 นี้ คาดมีประสิทธิภาพในการรักษาไวรัสที่กลายพันธุ์เช่นกัน

Pfizer เมื่อถูกถามถึงประเด็นที่เว็บไซต์ Telegraph รายงานว่า ขณะนี้ทางบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดกับกลุ่มอาสาสมัคร 2 กลุ่มในสหรัฐอเมริกาและเบลเยียม ช่วงอายุระหว่าง 18-60 ปี Aber Bourla กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังทดสอบยาต้านไวรัสอยู่ทั้งหมด 2 ชนิด โดยตัวหนึ่งสำหรับฉีดเข้าเส้นเลือดดำ และอีกตัวสำหรับทาน ในทำนองเดียวกัน ซีอีโอผู้นี้ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญกับตัวเลือกการทานมากกว่า เพราะ “มีข้อดีหลายประการ” โดยหลักๆ คือ การหลีกเลี่ยงการเดินทางไปโรงพยาบาลหรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพรายอื่นเพื่อรับการรักษา ด้วยเหตุนี้ การที่จะสามารถทานยาต้านเชื้อไวรัส SARS-Cov-2 ที่บ้านได้ จึงเท่ากับเป็นการ “เปลี่ยนเกม” ครั้งใหม่ และเมื่อถูกถามถึงช่วงเวลาที่คาดว่ายาเม็ดดังกล่าวจะพร้อมใช้งาน หลังผ่านการทดสอบในเฟสที่ 3 ซึ่งใช้ระยะเวลา 145 วัน โดยตามกำหนดจะเสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ Bourla ตอบว่า “ถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี... ผมหวังว่าภายในสิ้นปีนี้” พร้อมเสริมว่า บริษัทมีแผนที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมในช่วงฤดูร้อน ทั้งนี้ Pfizer ได้ออกมาประกาศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทได้เริ่มกระบวนการทดสอบทางคลินิกเฟส 1 ของยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดชื่อ PF-07321332 ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเอนไซม์ที่เชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องใช้ในการคัดลอก เพื่อสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ “การรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำเป็นต้องมีทั้งการป้องกันด้วยวัคซีน และการรักษาโดยตรงในผู้ที่ติดเชื้อไวรัส” Mikael Dolsten ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ Pfizer กล่าวในแถลงการณ์ พร้อมเสริมว่า “เมื่อพิจารณาถึงการกลายพันธุ์ของไวรัส SARS-CoV-2 และผลกระทบของโรคโควิด-10 ดูเหมือนว่าจะมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะมีตัวเลือกในการรักษาทั้งในปัจจุบันและอนาคต” มากกว่านั้น จากการรายงานของบริษัท ระบุอีกว่า สารยับยั้งดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น HIV และไวรัสตับอักเสบซีเช่นกัน โดยระหว่างการให้สัมภาษณ์ Bourla ยังยืนยันด้วยว่า ประเทศที่ยากจนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าถึงวัคซีนให้มากขึ้น “โดยเฉพาะประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง” เช่น อินเดียและแอฟริกา เพราะ “ประเทศเหล่านี้มีโอกาสจะกลายเป็นแหล่งกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดอื่น” ท้ายที่สุด Bourla กล่าวว่า ในปีนี้จะผลิตวัคซีนอย่างน้อย 2.5 พันล้านโดส ซึ่งเทียบเท่ากับ 3 พันล้านโดสต่อปี แปลและเรียบเรียงจากบทความ Pfizer CEO Says Antiviral Pill To Treat Covid Could Be Ready By The End Of The Year เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: “แอสตร้าเซนเนก้า” เผยความคืบหน้าการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของสยามไบโอไซเอนซ์