Francis Yeoh ขับเคลื่อน YTL ด้วยพลังงานสีเขียว - Forbes Thailand

Francis Yeoh ขับเคลื่อน YTL ด้วยพลังงานสีเขียว

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Jan 2024 | 09:00 AM
READ 1770

ตลาดศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังร้อนแรงขึ้น และ YTL ก็อยากร่วมวงด้วย นักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลชาวมาเลเซีย Francis Yeoh และครอบครัวกำลังเดินหน้าพันธกิจสร้างความหลากหลายให้กลุ่มบริษัทที่ตั้งมา 68 ปี ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาก็คือ พวกเขากลายเป็นผู้นำด้วยพลังงานหมุนเวียน


    Francis Yeoh ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัท YTL กำลังหาทางต่อยอดจากศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลที่กำลังเป็นกระแสในฐานะตัวขับเคลื่อนใหม่ทั้งในบ้านเกิดและตลาดอื่นๆ YTL สร้างศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลแห่งแรกเมื่อประมาณ 14 ปีที่แล้ว ขนาด 5 เมกะวัตต์ใน Kuala Lumpur เพื่อตอบสนองความต้องการของฝ่ายโทรคมนาคมเคลื่อนที่ของกลุ่ม ในปี 2021 YTL Data Centers หน่วยธุรกิจที่ตั้งใหม่ภายใต้ YTL Power International ได้ขยายตัวเข้าสู่สิงคโปร์โดยใช้เงิน 200 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซื้อหุ้น 50% ของศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลแห่งที่ 2 ขนาด 12.5 เมกะวัตต์ (ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลจะถูกจัดอันดับตามปริมาณการใช้ไฟฟ้า)

    อย่างไรก็ตามตัวเปลี่ยนเกมคือ โครงการก่อสร้างสวนศูนย์ข้อมูลปฏิบัติการมูลค่า 1.5 หมื่นล้านริงกิต (3.3 พันล้านเหรียญ) ในรัฐ Johor ที่ท้ายสุดมีจะมีการใช้กำลังไฟฟ้ามากถึง 500 เมกะวัตต์ โดยขับเคลื่อนร่วมกับโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่อยู่ติดกัน คาดว่าเฟสแรก (สูงสุด 72 เมกะวัตต์) จะเริ่มดำเนินงานได้ตอนต้นปี 2024 ที่นี่ไม่ใช่แค่ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในมาเลเซีย แต่ยังเป็นศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย “ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลเป็นธุรกิจที่สำคัญมากสำหรับเรา และมันจะต้องขับเคลื่อนด้วยพลังงานสีเขียว” Yeoh กล่าวขณะให้สัมภาษณ์พิเศษ ณ สำนักงานเพนท์เฮ้าส์ใน Kuala Lumpur “นี่คือสิ่งที่เราสามารถทำได้”

    การไปให้ถึงตัวเลขที่ต้องการเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลซึ่งจำเป็นต่อการประมวลผลบนระบบคลาวด์ ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลขนาดใหญ่และอี-คอมเมิร์ซล้วนถูกจับจองโดยบริษัทที่มีชื่อและทุนหนา ตามรายงานการวิจัยเดือนเมษายนของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ Knight Frank ระบุว่า มาเลเซียมีความเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นเป้าหมายการลงทุนด้านศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลอันดับ 1 เมื่อปี 2022 แล้วโดยมีการใช้งานอยู่ที่ 113 เมกะวัตต์ (สูงสุดอันดับ 2 คือไทย อยู่ที่ 25 เมกะวัตต์) ปัจจัยหลักมาจากโครงการสนับสนุนจากรัฐบาล พื้นที่ว่างมากมายเมื่อเทียบกับข้อจำกัดด้านที่ดินในสิงคโปร์ซึ่งเป็นแหล่งรวมศูนย์ข้อมูลระดับภูมิภาค และความต้องการอันล้นหลามจากบริษัทใหญ่ที่ให้บริการคลาวด์ เช่น Amazon Web Services ซึ่งเพิ่งประกาศว่า จะควักเงินกว่า 6 พันล้านเหรียญเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ในมาเลเซียใน 14 ปีข้างหน้า

    “สิ่งที่แน่นอนมีเพียงจุดจบและภาษี…และ [ตอนนี้] อาจเป็นจุดจบ ภาษี และความต้องการพลังในการประมวลผลเพิ่มขึ้น” Michael Warrilow รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายวิจัยของ Gartner ใน Sydney กล่าว “มาเลเซียเริ่มได้ลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ และนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแส” เขาเสริมและตั้งข้อสังเกตว่าองค์กรต่างๆ หันไปหาผู้ให้บริการคลาวด์หรือใช้วิธีการเช่ามากขึ้นแทนที่จะเป็นเจ้าของศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลเอง “มันคือโอกาสทางธุรกิจที่ซ่อนอยู่สำหรับ YTL เลยละ” Gartner ประมาณการว่า การใช้จ่ายของผู้ใช้บริการศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย) จะเพิ่มขึ้นเป็น 4 พันล้านเหรียญในปี 2025 ซึ่งเพิ่มขึ้น 29% จากปี 2022

    YTL จะต้องพิสูจน์ตัวเอง Dedi Iskandar หัวหน้าฝ่ายโซลูชันของศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ CBRE ในสิงคโปร์กล่าว “มันเป็นเดิมพันครั้งใหญ่” แต่เขาสังเกตว่าการเป็นผู้เล่นที่ทำได้รอบด้านทำให้กลุ่มมีสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดที่พร้อมจะโต “พวกเขากำลังใช้ประโยชน์จากช่องว่างในปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงการขาดแคลนศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลภายในภูมิภาค หรือถ้าให้เจาะจงก็คือในสิงคโปร์” เขากล่าว “พวกเขาไม่ได้แค่เก่งอย่างเดียว อย่างแรกมาเลเซียเป็นถิ่นของพวกเขา และพวกเขามีหน่วยปฏิบัติการในทุกอุตสาหกรรม มีฝ่ายผลิตพลังงาน มีที่ดิน มีระบบเชื่อมต่อเครือข่าย และมีศูนย์ข้อมูลที่เพิ่งก่อตั้ง [ด้วย]”

    ในปี 2009 YTL ลงทุนไปราว 2.5 พันล้านริงกิตในช่วงตั้งต้นเพื่อสร้างเครือข่าย 4G ที่ใช้ WiMax ทั่วประเทศจากไม่มีอะไรเลย Yeoh เล่าว่า WiMax ได้เสนอโอกาสที่จะทำให้ YTL Communications ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหน้าใหม่ตอนนั้นก้าวกระโดดเหนือผู้ให้บริการ 3G รายอื่นๆ แต่มันไม่ได้เป็นไปตามที่คาด เทคโนโลยีบรอดแบนด์ที่เหนือกว่าอย่าง LTE ถูกนำมาใช้โดยคู่แข่งของ YTL แล้วก็กลายเป็นมาตรฐานของ 4G อย่างรวดเร็ว (YTL เปลี่ยนมาใช้ LTE ในปี 2016) ในขณะที่ WiMax กลายเป็นสิ่งล้าสมัย “วิสัยทัศน์ถูก แต่เทคโนโลยีผิด” Yeoh กล่าว “บางครั้งเมื่อคุณเร็วไปหรือช้าไป ความคิดนั้นจะไม่ได้ผล”

    เขามุ่งมั่นที่จะไม่ปล่อยให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นอีกโดยเป็นหัวหอกด้านความยั่งยืนในขณะก้าวไปข้างหน้า “หากคุณต้องการทำธุรกิจนี้ คุณจำเป็น [ต้องมี] ความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องพลังงานสีเขียว” Yeoh กล่าว “กับคนทั่วไปอาจจะยังไม่ต้องเข้มงวดมากนัก แต่ถ้าดูจากทิศทางของโปรโตคอลในปัจจุบัน ผมไม่คิดว่า Amazon หรือ Google จะใช้ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลใดๆ ของคุณถ้ามันไม่ได้ใช้พลังงานสีเขียว” ผู้ให้บริการคลาวด์ขนาดใหญ่ทั้งสองรายให้คำมั่นว่าจะดำเนินธุรกิจด้วยพลังงานหมุนเวียน ของ Amazon คือภายในปี 2025 และ Google ภายในปี 2030 

    ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลาดศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลให้ความสำคัญกับสิงคโปร์มายาวนานเพราะมีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง แต่ข้อจำกัดด้านอุปทานและการให้ความสนใจมากขึ้นต่อศูนย์ข้อมูลที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ประกอบกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการต้องตั้งกิจการในประเทศด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ข้อบังคับเรื่องการเก็บข้อมูลไว้ในประเทศ และการเชื่อมต่อที่มีความหน่วงต่ำ ก่อให้เกิดกระแสการลงทุนและการพัฒนาไปยังส่วนอื่นๆ ของภูมิภาค ตอนนี้ที่ดินผืนใหญ่ๆ ในมาเลเซียและอินโดนีเซียกำลังถูกนำไปสร้างเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน



    บรรดาผู้ที่เน้นพลังงานหมุนเวียนก็มี DCI และกลุ่ม Salim ที่เป็นหุ้นส่วนซึ่งฐานอยู่ใน Jakarta เมื่อเดือนมิถุนายนพวกเขาได้เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของอินโดนีเซียที่เมือง Karawang บนเกาะ Java ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 30 เฮกตาร์ในแคมปัสขนาดใหญ่ ซึ่งขยายกำลังการผลิตได้เต็มที่ถึง 600 เมกะวัตต์ ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมจากพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ 30 เมกะวัตต์ DCI และกลุ่ม Salim กำลังทำโครงการขนาดใหญ่กว่าเคย ซึ่งรวมถึงโซลาร์ฟาร์มขนาด 2,000 เมกะวัตต์บนเกาะ Bintan ซึ่งอยู่ห่างจากสิงคโปร์ 40 นาทีถ้านั่งเรือเฟอร์รี่ โดยเฟสแรกน่าจะเริ่มได้ภายในปี 2025 Sugiri เสริมว่า “อย่างไรเราก็ต้องสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซนอกเหนือจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ดี”

    จนถึงขณะนี้ YTL Green Data Center Park ในรัฐ Johor เป็นที่ยอมรับอย่างมาก ในเดือนเมษายน ปี 2022 YTL ได้เซ็นสัญญากับลูกค้ารายแรกอย่าง Sea Ltd. บริษัทเกมออนไลน์และช็อปปิ้งยักษ์ใหญ่ที่มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ แห่งนี้จะเป็นผู้เช่าหลักในเฟสแรกของโครงการซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น มูลค่า 1.5 พันล้านริงกิต ที่รองรับกำลังการผลิตได้สูงสุด 72 เมกะวัตต์ YTL บอกว่า Sea ตกลงที่จะใช้ไฟฟ้า 48 เมกะวัตต์ งานก่อสร้างนั้นเริ่มไปแล้วและคาดว่าจะดำเนินงานได้ในไตรมาสแรกของปี 2024

    รายถัดไปคือ GDS Holdings ผู้ให้บริการศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลชั้นนำในประเทศจีนซึ่งประกาศในเดือนเมษายน ปี 2022 ว่า มีแผนร่วมพัฒนาโครงการขนาด 168 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยศูนย์ข้อมูล 8 แห่ง ซึ่งไม่ได้เปิดเผยมูลค่าเพื่อสนับสนุนโครงการขนาดมหึมาอื่นๆ ในรัฐ Johor และอินโดนีเซีย การมีพันธมิตรที่เป็นบริษัทระดับบลูชิปอย่าง Sea และ GDS “ถือเป็นลางดีในการดึงดูดสัญญากับบริษัทอื่นๆ ในอนาคต และยังเปิดโอกาสให้หาเงินทุนได้มากขึ้นด้วย” Tjen-San Chong นักวิเคราะห์ประจำ CGS-CIMB ใน Kuala Lumpur กล่าวในรายงานการวิจัยเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

    Yeoh ก็มองในแง่ดีเช่นกัน “เมื่อคุณเป็นผู้ประกอบการที่จริงจังอย่าง YTL และประกาศตัวแล้วว่าจะมาอยู่ในธุรกิจนี้…คนอื่นๆ เลยมั่นใจว่าคุณอยากได้หุ้นส่วนแน่ๆ” เขากล่าว กลุ่มบริษัทได้เงินกู้สีเขียวจำนวน 1.1 พันล้านริงกิตจาก Maybank และ OCBC Bank ในเดือนมกราคม ปี 2023 เพื่อเป็นทุนสำหรับสวนศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลสีเขียวในเฟสแรก Yeoh กล่าวว่า YTL จะทยอยทำโครงการเป็นหลายๆ เฟสหลังจากมีการพิจารณาหุ้นส่วนและผู้เช่าอย่างถี่ถ้วนรวมถึงการจัดหาเงินทุนด้วย

    ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลเป็นความพยายามส่วนหนึ่งในการสร้างความหลากหลายที่มากขึ้นให้แก่ YTL ทางกลุ่มได้วางแผนที่จะเปิดตัวบริการต่างๆ เช่น จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในสิงคโปร์ ขณะเดียวกันกลุ่มความร่วมมือที่นำโดย Sea และ YTL ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารดิจิทัลมา 1 ประเภทจาก 5 ประเภทของมาเลเซียเมื่อปีที่แล้ว ยิ่งช่วยเสริมความร่วมมือที่แข็งแกร่งอยู่แล้วจากการทำโครงการมากมายมาด้วยกัน รวมถึงโครงการสร้างโกดังของกลุ่มในมาเลเซียสำหรับ Shopee ธุรกิจช็อปปิ้งออนไลน์ของ Sea ซึ่งมีคำสั่งซื้อ 7,600 ล้านครั้งต่อปี 

    YTL มีรายได้ก้อนใหญ่จากธุรกิจสาธารณูปโภค ปูนซีเมนต์ และการก่อสร้างที่กระจายอยู่ทั่วมาเลเซีย, สิงคโปร์ ซึ่งมีโรงไฟฟ้าขนาด 3,100 เมกะวัตต์ชื่อ YTL Power Seraya และสหราชอาณาจักรที่ที่พวกเขาเป็นเจ้าของบริษัทวางระบบน้ำประปาและน้ำทิ้งชื่อ Wessex Water Services ทั้งนี้ YTL Corp. เป็นบริษัทแม่จดทะเบียนของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์อีก 3 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกัน 3 หมื่นล้านริงกิต ในปีบัญชีสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี 2022 YTL Corp. พ้นจากภาวะขาดทุนด้วยกำไรสุทธิ 545 ล้านริงกิต ด้วยกำไรจากราคาค่าบริการที่สูงขึ้นของธุรกิจสาธารณูปโภค โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น 40% เป็น 2.4 หมื่นล้านริงกิต โดย 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2023 รายได้และกำไรสุทธิโตขึ้น 13% และ 5% ตามลำดับ


    นอกจากนี้ หุ้นของ YTL Corp. มีราคาสูงขึ้นกว่า 90% เมื่อเทียบกับต้นปี 2023 และสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือดัชนี KLCI ซึ่งลดลง 4% ในช่วงเวลาเดียวกัน Chong จาก CGS-CIMB ตั้งข้อสังเกตในรายงานเดือนมิถุนายนว่า นอกจากการฟื้นตัวของกำไรที่แข็งแกร่งเมื่อไม่นานมานี้ของ YTL Power แล้ว ยังมีปัจจัยเร่งอีกหลายประการที่ช่วย YTL ทั้งยอดสั่งซื้อใหญ่เป็นพิเศษของธุรกิจก่อสร้างมูลค่า 3 พันล้านริงกิต ความต้องการปูนซีเมนต์ที่สูง และยอดขายที่เพิ่มขึ้นของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ แม้ว่ารายได้ของกลุ่มจากศูนย์ปฎิบัติการข้อมูลในปัจจุบันจะยังไม่มากมาย แต่ Yeoh มองว่า ธุรกิจนี้มีศักยภาพในการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้บริษัทในอนาคต 

    ถึงกระนั้นสิ่งหนึ่งที่ถ่วงรั้ง YTL มากที่สุดก็คือ หนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2022 ทางกลุ่มมีหนี้สินรวม 4.4 หมื่นล้านริงกิต ในขณะที่หนี้สินสุทธิอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านริงกิต “แม้ว่าระดับหนี้จะสูง แต่ประมาณ 54% ของหนี้นั้นเป็นสัมปทานหรือเกี่ยวข้องกับ REIT พวกเขามีมาตรการป้องกันและไม่จำเป็นต้องพึ่งบริษัทโฮลดิ้ง” Karin Koh ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดอันดับของ RAM Ratings ใน Kuala Lumpur กล่าว และล่าสุดก็ได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตระยะยาวของ YTL Corp. จากอยู่ในกลุ่มเป็นลบเป็นกลุ่มคงที่

    YTL พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลักซึ่งรวมถึงหุ้น 34% ในบริษัทวางระบบส่งไฟฟ้าของออสเตรเลีย ElectraNet โดยขายไปเมื่อปี 2022 ในราคา 3.1 พันล้านริงกิต “เรายังเหลือสินทรัพย์สำคัญๆ ที่ทำเงินได้เยอะ” Yeoh บอก สำหรับค่าใช้จ่ายในการสร้างธุรกิจศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล “เราน่าจะตอบสนองความต้องการด้านนี้ได้ทั้งหมด” เขาเสริม “และตอนนี้เรากำลังก้าวไปด้วยความเร็วที่เหมาะสม”

    ปัจจุบัน Yeoh และพี่น้องของเขาซึ่งมีทรัพย์สินสุทธิมูลค่าราว 1.4 พันล้านเหรียญ และคนตระกูล Yeoh รุ่นที่ 4 อีก 18 คนกำลังช่วยกันบริหารธุรกิจครอบครัว หลายสิบปีที่ผ่านมาพวกเขาเป็นผู้นำในการขยาย YTL ไปสู่ธุรกิจสาธารณูปโภค โรงแรม และการสื่อสารในมาเลเซีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และที่อื่นๆ Yeoh กับ Rosaline ภรรยาผู้ล่วงลับของเขามีลูกด้วยกัน 5 คน Ruth คนโตวัย 40 ปี เป็นหัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของกลุ่ม ในขณะที่ Jacob ลูกชายวัย 39 ปี เป็นรองซีอีโอของ YTL Communications คนที่เหลือล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงซึ่งช่วยดูแลด้านการเงิน รวมถึงธุรกิจซีเมนต์ โรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่ม “คนรุ่นใหม่ของบ้านเรา ลูกๆ หลานๆ ของผมทันสมัยมาก … เพราะฉะนั้นพวกเขาช่วยพวกเราขับเคลื่อนได้ ไม่ใช่กลับกัน” Yeoh กล่าว


เรื่อง: JESSICA TAN   เรียบเรียง: พินน์นรา วงศ์วิริยะ   ภาพ: JEFFRY LIM 



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พลิกโฉม Aboitiz ขยายการลงทุนสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine