Bernard Arnault มหาเศรษฐีผู้ครองบัลลังก์อาณาจักรแฟชั่นลักชัวรี LVMH - Forbes Thailand

Bernard Arnault มหาเศรษฐีผู้ครองบัลลังก์อาณาจักรแฟชั่นลักชัวรี LVMH

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก Bernard Arnault วัย 75 ปี ยังคงเป็นมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.33 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการเก็บพอร์ตแบรนด์หรูนานนับสิบปี ที่เติบโตจนสร้างรายได้มหาศาลระดับหลายหมื่นล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา


    ปี 2024 ยังคงเป็นอีกปีที่ Bernard Arnault แซงหน้า Elon Musk ขึ้นครองอันดับ 1 บนทำเนียบมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุดในโลกจากการจัดอันดับโดย Forbes เขาเป็นเพียงมหาเศรษฐีรายเดียวที่ไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่กลับเป็นเจ้าของอาณาจักรแบรนด์แฟชั่นลักชัวรี ชวนให้นึกถึงบทสนทนาในอดีตระหว่างเขากับ Steve Jobs

    ครั้งหนึ่ง Bernard Arnault เคยถามผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ว่า “Steve คุณคิดว่ามือถือของคุณจะยังประสบความสำเร็จในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือเปล่า?”

    Steve Jobs ตอบว่าเขาไม่รู้เลย เพราะธรรมชาติของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงเสมอ


Bernard Arnault


    “นั่นคือข้อแตกต่างระหว่างเรา” ประธานแห่ง LVMH บอก “เพราะผมสามารถการันตีได้ว่า แชมเปญของผมจะยังขายได้และประสบความสำเร็จแม้เวลาล่วงเลยไปอีก 20 ปี”


ก่อร่างสร้างอาณาจักร

    แม้ปัจจุบันจะเป็นมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งจากแบรนด์แฟชั่นหรู แต่พื้นเพแล้ว Bernard Arnault เรียนจบจากสถาบันด้านวิศวกรรมศาสตร์ชั้นนำของประเทศ Ecole Polytechnique

    นอกจากจะเรียนจบการศึกษาจากสถาบันชื่อดัง เขายังมีแต้มต่อมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด เพราะที่บ้านของเขามีฐานะดีอยู่ก่อนแล้ว โดยในปี 1971 เขาได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ Ferret-Savinal บริษัทก่อสร้างที่พ่อของเขาเป็นเจ้าของ

    ในปีเดียวกันนั้นเอง Bernard มีโอกาสเดินทางไปเยือนนิวยอร์ก และได้สนทนากับคนขับรถแท็กซี่ เขาถามคนขับรถแท็กซี่ว่ารู้จัก Georges Pompidou นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ณ เวลานั้นหรือเปล่า

    “ไม่ครับ แต่ผมรู้จัก Christian Dior” คือคำตอบที่เขาได้รับ

    ณ วินาทีนั้น Bernard จึงตระหนักถึงอำนาจการรับรู้อันยิ่งใหญ่ของแบรนด์แฟชั่นฝรั่งเศสในสายตาชาวโลก และชั่วขณะหนึ่ง เขาฝันถึงการครอบครองบริษัทแฟชั่นสัญชาติฝรั่งเศสที่โด่งดังในระดับสากล ทว่าเขายังไม่ได้เริ่มต้นในทันที แต่กลับไปทำงานกับพ่อที่ฝรั่งเศส


DIOR Paris 30 Montaigne


    กระทั่งปี 1984 โอกาสก็มาถึง Bernard ซื้อบริษัท Agache-Willot-Boussac เจ้าของห้าง Bon Marche และแบรนด์ Christian Dior ที่ล้มละลาย ก่อนเข้าบริหารกิจการด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากการปลดพนักงานออกถึง 9,000 คนรวมถึงตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกมหาศาล

    ท้ายสุดแล้ว Bernard ก็สามารถพลิกสถานการณ์ของบริษัทกลับมาได้ ก่อนจะทยอยขายกิจการที่ไม่จำเป็นทิ้งไป เนื่องจากสิ่งที่เขาต้องการแต่แรกนั้นคือแบรนด์ Christian Dior หลายคนมองว่าแนวทางของเขานั้น ‘ไร้ความปราณี’ และมอบฉายาให้เขาว่า ‘The Terminator’

    อีกสมญาหนึ่งที่ Bernard ได้รับคือ ‘Wolf in Cashmere’ ที่สะท้อนตัวตนของเขาในฐานะนักธุรกิจผู้เด็ดเดี่ยวที่พร้อมทำทุกอย่างเพื่อเป้าหมาย

    นับได้ว่าการซื้อ Agache-Willot-Boussac เป็นปราการด่านแรกที่นำพาเขาก้าวเข้าสู่เส้นทางธุรกิจแบรนด์แฟชั่นลักชัวรีอย่างเต็มตัว เพราะเขาไม่ได้หยุดแค่การครอบครอง Christian Dior แต่ยังหมายมั่นสร้างอาณาจักรแบรนด์ลักชัวรียักษ์ใหญ่


หมาป่าห่มแคชเมียร์บนบัลลังก์ LVMH

    LVMH คือบริษัทเจ้าของพอร์ตแบรนด์ลักชัวรีหรูมากมาย ที่สร้างรายได้มหาศาลในแต่ละปี และนำพาให้ Bernard Arnault ขึ้นแท่นครองบัลลังก์มหาเศรษฐีโลก

    LVMH หรือ Moet Hennessy Louis Vuitton เกิดจากการควบรวม 2 กิจการเข้าด้วยกัน ได้แก่ แบรนด์แฟชั่น Louis Vuitton และแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ Moet Hennessy (โดย Moet Hennessy ก็เกิดจากการควบรวมบริษัทไวน์ Moet et Chandon และบริษัทเหล้า Hennessy)


Henry Racamier, Alain Chevalier และ Bernard Arnault


    หลังการควบรวมกิจการ Henry Racamier ผู้นำแบรนด์ Louis Vuitton และ Alain Chevalier ผู้นำแบรนด์ Moet Hennessy กลับมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องตำแหน่งประธานบริษัท และได้เชื้อเชิญ Bernard Arnault เข้าไปร่วมเล่นเกมการเมืองครั้งนี้ด้วยผ่านการทุ่มทุนซื้อหุ้น

    สงครามแย่งชิงอำนาจครั้งนี้จบลงด้วยการที่ Bernard กลายเป็นผู้ครอบครองตำแหน่งประธานและซีอีโอแห่ง LVMH ในท้ายที่สุด โดยที่ทั้ง Racamier และ Chevalier ต่างก็หลุดจากตำแหน่งในบริษัททั้งหมด

    เมื่อได้ LVMH มาไว้ในมือ Bernard ยังไม่หยุดเดินหน้าสร้างอาณาจักร โดยการซื้อแบรนด์หรูต่างๆ เก็บเข้าพอร์ตมากมาย เช่น Fendi, Givenchy, Loewe, Celine, TAG Heuer, Bulgari และอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 75 แบรนด์ โดยมีการแบ่งให้ลูกๆ แต่ละคนบริหารบางส่วน

    สำหรับผลประกอบการของ LVMH ตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา สร้างรายได้รวม 8.62 หมื่นล้านยูโร หรือราว 9.36 หมื่นล้านเหรียญ ธุรกิจทั้งหมดนอกเหนือจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการเติบโต โดยเฉพาะในยุโรป และเอเชีย ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.52 หมื่นล้านยูโร หรือ 1.65 หมื่นล้านเหรียญ เติบโต 8% จากปี 2022


ธุรกิจหรูของตระกูลร่ำรวย

    Bernard Arnault มีทายาท 5 คนจากการแต่งงานทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกกับ Anne Dewarin มีลูกสาวคือ Delphine และลูกชายคือ Antoine หลังการหย่าร้างในปี 1990 เขาก็แต่งงานใหม่กับ Helene Mercier นักเปียโนชาวแคนาดา และมีลูกชาย 3 คน ได้แก่ Alexandre, Frederic และ Jean


Bernard Arnault กับ Helene Mercier และทายาททั้ง 5 คน


    Bernard ได้แบ่งกิจการ LVMH ให้ทายาททั้ง 5 ดูแลกัน ดังนี้

    1. Delphine Arnault ลูกสาวคนโตและลูกสาวเพียงคนเดียวของเขา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานและซีอีโอแห่ง Christian Dior และยังเป็นสมาชิกบอร์ดบริหารของ LVMH มีการคาดเดาว่าเธอจะเป็นผู้รับสืบทอดอาณาจักร LVMH คนต่อไป

    2. Antoine Arnault ประธานและซีอีโอแห่ง Christian Dior SE ควบตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการสื่อสาร ภาพลักษณ์ และสิ่งแวดล้อมของ LVMH โดยก่อนหน้านี้เขาเคยดำรงตำแหน่งซีอีโอแบรนด์ Berluti และ Loro Piana ซึ่งเป็นแบรนด์ในพอร์ต LVMH มาก่อน

    3. Alexandre Arnault รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์และการสื่อสารของแบรนด์ Tiffany & Co. หลังก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอแบรนด์กระเป๋าเดินทาง Rimowa ที่เขาดูแลมายาวนานถึง 4 ปี

    4. Frederic Arnault หลังดำรงตำแหน่งซีอีโอ TAG Heuer ตั้งแต่ปี 2020 มาจนถึงปี 2023 ล่าสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาก็ก้าวขึ้นเป็นซีอีโอ LVMH Watches ดูแล 3 แบรนด์นาฬิกาหรู ได้แก่ Hublot, TAG Heuer และ Zenith

    5. Jean Arnault น้องชายคนสุดท้องของบ้าน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการพัฒนาของแผนกนาฬิกาประจำ Louis Vuitton มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2021


สำนักงานใหญ่ LVMH ในปารีส


    กล่าวได้ว่า Bernard Arnault ใช้เวลาตลอดชีวิตก่อร่างสร้างอาณาจักรแบรนด์หรูจนเติบโตอย่างแข็งแกร่ง กอปรกับความเด็ดขาดในการทำธุรกิจ และมุมมองที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอุตสาหกรรมลักชัวรีเป็นอย่างดี

    “สิ่งสำคัญที่สุดในธุรกิจของเราคือ ‘ความปรารถนา’ เราจะสร้างความปรารถนาให้แก่ผู้คนที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราขึ้นมาได้อย่างไร” เขาเคยกล่าวในงาน Oxford Union พร้อมอธิบายว่า “เมื่อคุณมีสินค้า คุณก็ต้องสร้างบรรยากาศที่ดีภายในร้าน และต้องนำเสนอออกมาอย่างดีด้วย”

    นอกจากนี้ Bernard ยังมีครอบครัวที่ฝากธุรกิจให้ดูแลได้ พร้อมแบ่งสัดส่วนให้บรรดาสมาชิกในครอบครัวบริหาร ตัดปัญหาการแย่งชิงผลประโยชน์กับคนนอกไปโดยปริยาย ซึ่งทั้งหมดนี้เอง น่าจะเป็นตัวช่วยอธิบายได้ว่าเหตุใด LVMH จึงกลายเป็นบริษัทแฟชั่นลักชัวรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และพาให้เจ้าของขึ้นครองตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 1 ในยุคที่ธุรกิจเทคโนโลยีกำลังเฟื่องฟู


แหล่งที่มา:

Inside the rise of Bernard Arnault, world’s richest man

LVMH: A Timeline Behind the Building of the World’s Most Valuable Luxury Goods Group

Steve Jobs once asked LVMH boss Bernard Arnault for advice on opening Apple Stores

BERNARD ARNAULT — THE 200 BILLION DOLLAR MAN WHO OWNS ALL THE LUX

LVMH roles held by Bernard Arnault's children

2023: New record year for LVMH


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 10 อันดับมหาเศรษฐีโลก ประจำปี 2024

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine