โสกราตีส (Socrates) คือนักปรัชญากรีกโบราณผู้วางรากฐานปรัชญาตะวันตก แม้ล่วงเลยมากว่าสองสหัสวรรษ ภูมิปัญญาของเขายังคงสอดรับกับโลกแห่งสตาร์ทอัพที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
คำสอนของเขากระตุ้นให้เกิดการไตร่ตรอง ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ความเพียรพยายาม และการอุทิศตัวเพื่อความเป็นเลิศเหนือกาลเวลา ดังเช่นหัวใจแห่งปรัชญาโบราณอื่นๆ ซึ่งยังคงนำมาประยุกต์ใช้ในการริเริ่มสร้างสรรค์งานสมัยใหม่ได้
เพราะไม่ว่าจะอย่างไร การจะประสบความสำเร็จในฐานะผู้ก่อตั้งนั้น จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในการจัดการตัวเอง โลก และคนอื่นๆ ให้ได้เสียก่อน ธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้มิได้ผันแปรไปมากนักตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา
บทความนี้จะขอนำเสนอหลักสำคัญสี่ข้อของโสกราตีส และแนวทางการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพ
ข้อที่ 1 ความเพียรพยายาม (Perseverance)
“การล้มลงไม่ใช่ความล้มเหลว ความล้มเหลวคือการที่คุณยังอยู่ที่เดิมที่เคยล้ม”
คุณลักษณะของบริษัทสตาร์ทอัพมักถูกสร้างขึ้นมาจากอุปสรรคและขวากหนามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญความท้าทายด้านเงินทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือความผันผวนของตลาด ความเพียรพยายามจะช่วยให้ผู้ก่อตั้งสามารถเอาชนะอุปสรรคและหาหนทางใหม่สู่ความสำเร็จ
การรับมือกับอุปสรรคต่างๆ (และอื่นๆ อีกมากมาย) อย่างดีเยี่ยมนั้น ท้ายสุดแล้วจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว คุณไม่สามารถทำมันได้หากปราศจากความเพียรพยายามและความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะมุ่งไปข้างหน้า นี่คือเหตุผลว่าคุณลักษณะที่แข็งแกร่งคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จของสตาร์ทอัพ
ในฐานะผู้ก่อตั้ง คุณจำเป็นต้องอ้าแขนรับความล้มเหลวเป็นบทเรียนระหว่างทางและใช้โอกาสสำคัญนี้ในการเรียนรู้ ขณะเดียวกันคุณต้องพยายามลดการเกิดความล้มเหลวและผลกระทบของมันลง เพราะเพื่อคว้าชัยชนะแล้ว คุณต้องมีความสามารถพอจะยืนอยู่ในสนามต่อไป
ข้อที่ 2 ความอ่อนน้อมถ่อมตนและแสวงหาภูมิปัญญา (Humility and the Pursuit of Wisdom)
“ภูมิปัญญาที่แท้จริงจะมาสู่เราแต่ละคนเมื่อเราตระหนักว่าเราเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต ตนเอง และโลกรอบตัวน้อยนิดเพียงใด”
โสกราตีสเน้นย้ำความสำคัญของความอ่อนน้อมถ่อมตนและการสำนึกในข้อจำกัดของตนเอง
การยอมรับว่าตัวคุณไม่ได้มีคำตอบให้สำหรับทุกเรื่องจำเป็นต่อการประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องง่ายที่บรรดาผู้ก่อตั้งจะเชื่อมั่นในแนวคิดและสมมติฐานของตนเองมากเกินไป ซึ่งจะทำให้พวกเขาตามืดบอดจนประสบข้อผิดพลาดร้ายแรงหรือสูญเสียโอกาสต่างๆ ได้
การเปิดใจรับภูมิปัญญาแบบโสกราตีส หมายถึง การแสวงหาความรู้อย่างแข็งขัน การเรียนรู้ให้สม่ำเสมอ รวมถึงการตรวจสอบสมมติฐานผ่านการสัมภาษณ์ลูกค้าและการสำรวจตลาดต่างๆ การรับเอาวิธีคิดที่อ่อนน้อมถ่อมตนมาใช้นั้นจะส่งผลให้ผู้ก่อตั้งสามารถพัฒนาและปรับกลยุทธ์ตามเสียงตอบรับ เพิ่มความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
ข้อที่ 3 การอุทิศตัวเพื่อความเป็นเลิศ (Commitment to Excellence)
“ตัวเราคือผลจากการกระทำซ้ำๆ ของเรา ดังนั้นความเป็นเลิศจึงหมายถึงพฤติกรรมความเคยชิน”
โสกราตีสเชื่อว่าความเป็นเลิศไม่ใช่การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงโดดๆ แต่คือความเคยชินที่ก่อตัวผ่านการกระทำสม่ำเสมอ
ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพต้องต่อสู้เพื่อความเป็นเลิศในทุกแง่มุมธุรกิจของตน ทั้งให้ความสำคัญกับการส่งมอบสินค้าหรือบริการสุดพิเศษ นำเสนอประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครให้กับลูกค้า และพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง ผู้ก่อตั้งต้องทำให้ตัวเองแตกต่างจากคู่แข่ง
การปลูกฝังวัฒนธรรมสู่ความเป็นเลิศคือการวางรากฐานความสำเร็จระยะยาวให้องค์กร และยังช่วยให้สตาร์ทอัพโดดเด่นในตลาดที่เต็มไปด้วยผู้เล่นมากมาย
ข้อที่ 4 ชีวิตที่ผ่านการไตร่ตรอง (Examined Life)
“ชีวิตที่ไม่ผ่านการไตร่ตรองไม่ควรค่าแก่การดำรงอยู่”
โสกราตีสสนับสนุนการสะท้อนตนเอง (Self-Reflection) และการตรวจสอบวิจารณ์ (Critical Examination) ความเชื่อและสมมติฐานส่วนบุคคลต่างๆ คุณสามารถนำหลักข้อนี้มาประยุกต์ใช้โดยการตั้งคำถามเกี่ยวกับแรงจูงใจ เป้าหมาย และกลยุทธ์ของคุณเป็นประจำ
วิธีการตั้งคำถามต่อสมมติฐานต่างๆ แบบโสกราตีสช่วยให้ผู้ก่อตั้งเล็งเห็นอคติที่มีอิทธิพล พบช่องว่างในการใช้เหตุผล และตัดสินใจบนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจ นี่เป็นสิ่งที่ง่ายดายที่สุดในการสนทนากับผู้ร่วมก่อตั้ง อย่างไรก็ตามหากเลือกเส้นทางนี้แล้วคุณจำเป็นต้องเปิดใจยอมรับเพื่อท้าทายสมมติฐานและแรงบันดาลใจของตนเอง
การตรวจสอบเชิงวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของตัวเองและท้าทายภูมิปัญญาที่เคยยึดถือมาโดยตลอด ช่วยให้คุณสามารถสร้างทางเลือกที่ละเอียดอ่อนเพิ่มขึ้นสำหรับสตาร์ทอัพของคุณได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว หลักทั้งสี่ข้อนี้ของโสกราตีสนำเสนอแนวทางล้ำค่าสำหรับผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพในการดำเนินไปบนเส้นทางของผู้ประกอบการ ความเพียรพยายามพาให้ผู้ก่อตั้งยืนหยัดเหนือความล้มเหลว ในขณะที่ความอ่อนน้อมถ่อมตนนำไปสู่การเรียนรู้และปรับตัวสม่ำเสมอ การแสวงหาความเป็นเลิศขับเคลื่อนให้ผู้ก่อตั้งต่อสู้เพื่อความยิ่งใหญ่ และการไตร่ตรองชีวิตช่วยให้พวกเขารู้จักตั้งคำถามเกี่ยวกับแรงจูงใจและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แปลและเรียบเรียงจากบทความ 4 Socratic Principles Relevant To Startup Founders ซึ่งเผยแพร่บน Forbes
อ่านเพิ่มเติม : พลังคนรักสัตว์ดันตลาดสินค้าลักชูรีเติบโตไม่หวั่นโควิด-19
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine