"แบตเตอรี่จิ๋ว" มหัศจรรย์ของ Varta - Forbes Thailand

"แบตเตอรี่จิ๋ว" มหัศจรรย์ของ Varta

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Jan 2021 | 11:54 AM
READ 2269

เมื่อ 13 ปีที่แล้วไม่มีใครอยากซื้อธุรกิจผลิตแบตเตอรี่เครื่องช่วยฟังที่ไม่ทำกำไร ไม่มีใครเลย ยกเว้น Michael Tojner แม้แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ “Mr. 300%” แห่งออสเตรีย ได้เปลี่ยนเงินลงทุน 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กลายเป็นทรัพย์สินมูลค่า 1.9 พันล้านเหรียญ (ต้องขอบคุณ Apple!) ตอนนี้ถึงคราวที่เขาต้องขจัดของเลียนแบบออกไป

ภายในห้องประชุมที่มีผนังสีเทาบริเวณชานเมือง Nordlingen เมืองเก่าแก่สมัยยุคกลางในรัฐ Bavaria มหาเศรษฐีพันล้านชาวออสเตรีย Michael Tojner กำลังเล่นอยู่กับแบตเตอรี่ขนาดจิ๋ว อุปกรณ์ขนาดเท่าเหรียญนี้คือ ความมหัศจรรย์ทางเทคโนโลยี ซึ่งวัดความยาวรอบวงได้เพียงครึ่งนิ้ว

อุปกรณ์จิ๋วนี้อัดพลังงานไว้มากกว่าถ่านถึง 100 เท่าและมีปริมาตรมากกว่า 10 เท่า สามารถนำกลับมาชาร์จใหม่จนเต็มภายในเวลาแค่ 15 นาที และใช้งานได้ 5 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ส่วนแบตเตอรี่รุ่นก่อนหน้าเมื่อนานมาแล้วใช้ในกล้องของ Neil Armstrong ระหว่างการลงจอดบนดวงจันทร์ของยาน Apollo 11 ส่วนพวกรุ่นใหม่เอาไปใช้เป็นแบต AirPod Pro หูฟังไร้สายอันโด่งดังของ Apple

แบตเตอรี่ยังเป็นความมหัศจรรย์ทางการเงินด้วย Tojner ซื้อ Varta บริษัทผลิตแบตเตอรี่นี้เพียง 40 ล้านเหรียญในปี 2007 เมื่อ 2 ปีครึ่งก่อนหน้านี้ นักธุรกิจที่ผ่านธุรกิจมาอย่างโชกโชนและนักลงทุนร่วมลงทุนผู้นี้ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น Frankfurt Stock Exchange และตอนนี้มูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.8 พันล้านเหรียญ Commerzbank คาดการณ์ว่า Varta ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 50% ของแบตเตอรี่หูฟังไร้สายในตลาดพรีเมียม ซึ่งมีกำไรมากกว่าปกติถึงร้อยละ 40

ยอดขาย AirPod Pro พร้อมด้วยข้อตกลงร่วมกับ Samsung, Jabra และ Sony ได้ขับเคลื่อนรายได้ของ Varta ขึ้นราวร้อยละ 34 ไปอยู่ที่ 400 ล้านเหรียญในงบปี 2019 หุ้น 56 เปอร์เซ็นต์ ของ Tojner บวกกับความสำเร็จในการลงทุนของเขา ซึ่งสื่อออสเตรียขนานนามเขาว่า “Mr. 300%” ทำให้คุณพ่อลูก 6 วัย 54 ปีผู้นี้เข้าสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีพันล้านของ Forbes ได้เป็นครั้งแรก

“ด้วยไมโครแบตเตอรี่เรากลายเป็นผู้นำตลาดอย่างชัดเจนในกลุ่มที่น่าจะกำลังเติบโต 50-60% ต่อปี” Tojner กล่าว “ในช่วง 10 ปีนี้ไม่มีใครซื้อโทรศัพท์โดยไม่มีหูฟัง นับว่ามีศักยภาพการเติบโตมหาศาล”

Varta ของ Tojner คือ ส่วนที่อยู่รอดของบริษัทเยอรมันซึ่งมีชื่อว่า Varta เช่นกัน บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 1887 แล้วขยายเข้าไปในธุรกิจเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ พลาสติก และแน่นอนแบตเตอรี่ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ตระกูลมหาเศรษฐี Quandt หรือที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจมากที่สุดของ BMW ซื้อหุ้นบริษัทเกือบทั้งหมด

ในเกือบศตวรรษต่อมาจากการที่ธุรกิจยาและเคมีที่แยกตัวออกมานานแล้ว Deutsche Bank และทายาทตระกูล Quandt ขายธุรกิจส่วนอื่นๆ Rayovac และ Johnson Controls ซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของธุรกิจแบตเตอรี่ แต่ธุรกิจไมโครแบตเตอรี่เล็กๆ นั้นขายออกเป็นส่วนสุดท้าย

“เหลือผมแค่คนเดียวที่เสนอซื้อ Varta เพราะไม่มีใครกล้าซื้อ Varta” Tojner กล่าว “พวกเขาขายบริษัทที่มีเงินหมุนเวียนเป็นลบให้ผม แต่ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น เพราะเรามีสัญญากับ Apple หลังผ่านไป 1 ปีแบตเตอรี่เล็กๆ อันหนึ่งระเบิด เราเสียสัญญากับ Apple ไปบริษัทเกือบล้มละลาย ธนาคารก็กระวนกระวาย และผมอยู่ในแผนกปรับโครงสร้างธุรกิจ เพราะเราไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้”

แบตเตอรี่ Apple iPod Nano ที่ระเบิดนั้นบีบให้ Varta ต้องล้มแผนการลงทุน 60 ล้านเหรียญในแบตเตอรี่ลิเธียม โพลิเมอร์ Tojner และ Herbert Schein ซีอีโอของ Varta หันไปทุ่มกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดเท่าเหรียญให้เป็นการผลิตแบบอัตโนมัติ เพื่อขจัดคู่แข่งเอเชียที่ใช้แรงงานค่าแรงต่ำ และใช้เงินไปกับการวิจัยเพื่อเพิ่มพลังงานขึ้นมาอย่างมหาศาล

Sven Quandt ผู้อยู่ในบอร์ดบริหาร Varta มาอย่างยาวนานกล่าวว่า ครอบครัวของเขาเคยคิดเสนอซื้อธุรกิจนี้ แต่เป็น Tojner ที่พลิกโฉมบริษัทเล็กๆ ให้กลายเป็นผู้นำโลก “บริษัทเหล่านี้อยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้คนไม่ได้สนใจมากนักเรื่องผลกำไร ความน่าเชื่อถือ หรือการทำให้บริษัทเติบโต Michael คือ ผู้ขับเคลื่อนบริษัท”

อาณาจักรไฮเทคแห่งไมโครแบตเตอรี่และสัญญากำไรงามใน Silicon Valley ดูเหมือนไม่ใช่ที่มั่นสำหรับนักธุรกิจนักเดินทางที่เริ่มต้นจากการขายไอศกรีมให้นักท่องเที่ยว

พระราชวัง Schonbrunn Palace ขนาด 1,400 ห้อง เป็นที่ประทับฤดูร้อนมายาวนาน 300 ปีของราชวงศ์ Habsburg ซึ่งปกครองออสเตรีย และตอนนี้คือ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่สุดในเส้นทางท่องเที่ยว Vienna และที่นี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางนักธุรกิจของ Tojner ด้วยเช่นกันในปี 1991 ขณะที่กำลังเรียนกฎหมายและการบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัย Vienna University of Economics เขาได้ใบอนุญาตเปิดแผงขายไอศกรีมข้างในลานพระราชวัง

Tojner เป็นชายหนุ่มที่กำลังไฟแรง และเขาใช้กำไรจากขายไอศกรีมไปขยายธุรกิจที่เกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจนี้ไปสู่ธุรกิจขายของทางไปรษณีย์ ซึ่งขายเครื่องผสมอาหารในครัว เปิดไนต์คลับใน Vienna หลังยุคคอมมิวนิสต์ในฮังการี และทำแม้กระทั่งเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์

“ไอศกรีมมีกำไรสูงกว่าไมโครแบตเตอรี่ด้วยซ้ำและนั่นวางรากฐานชีวิตผู้ประกอบการของผม” Tojner กล่าว “ช่วงเวลานั้นค่อนข้างยุ่งเหยิง เพราะผมอายุ 23-24 และได้เงินทั้งหมดมาจากธุรกิจไอศกรีมและเงินกู้บางส่วนจากแบงก์ ผมเกือบล้มละลาย”

หลังจากคว้าปริญญาเอกทั้งด้านกฎหมายและบริหารธุรกิจ Tojner ขายธุรกิจ และริเริ่มกองทุนร่วมลงทุนของเขาเองใน Vienna เขาประสบความสำเร็จครั้งใหญ่จาก Bwin เว็บพนันออนไลน์ใน Vienna ซึ่งเขานำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้บริษัทมีมูลค่า 242 ล้านเหรียญในปี 2000

ธุรกิจไมโครแบตเตอรี่เองก็มีเงาบางอย่างปกคลุมอยู่ จากรายงานว่า Samsung และลูกค้าหลายรายของ Varta เริ่มใช้แบตเตอรี่จากผู้ผลิตแบตเตอรี่จีนอย่าง Eve Energy และ MIC-Power ซึ่งสร้างความกังวลในหมู่นักวิเคราะห์และนักลงทุน Varta กำลังสู้กลับด้วยการดำเนินการทางกฎหมาย โดยยื่นฟ้องฐานละเมิดสิทธิบัตรใน Texas ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่การต่อสู้ทางเทคโนโลยีแทบไม่เคยชนะเลยในศาล

“ผมคิดว่า บางครั้งบริษัทเยอรมันก็ประเมินศักยภาพคู่แข่งเอเชีย ต่ำเกินไปในเวลาอันรวดเร็ว และนี่โชคไม่ดีที่ดูเหมือน Varta จะเป็นกรณีเดียวกัน” Stephan Klepp นักวิเคราะห์ Commerzbank กล่าว

Robert-Jan van der Horst จาก Warburg Research กล่าวว่า กำไรอันหวานฉ่ำของ Varta กำลังถูกบีบคั้นจากการแข่งขัน แต่การลงทุนอย่างหนักในหุ่นยนต์จะทำให้แบตเตอรี่ “Made in Germany” ยังผลิตออกมาจากโรงงานใน Bavarian และ Van der Horst ชี้ว่า ในธุรกิจผลิตเครื่องช่วยฟังอันล้าสมัยนี้ “พวกเขาจ้างคนเพียง 10 คน ซึ่งผลิตแบตเตอรี่ทั้งหมด 1.4 พันล้านอันต่อปี” ธุรกิจไมโครแบตเตอรี่ของ Varta ก็มีประสิทธิภาพคล้ายๆ กัน

ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร Tojner ดูมั่นใจว่าเทคโนโลยีของเขาจะทำให้ Varta นำหน้าคู่แข่งอื่นๆ “คุณภาพของเราดีกว่านั่นเป็นเหตุผลที่เราสามารถขอตั้งราคาสูงกว่าได้ ทั้ง Apple และ Samsung ค่าหูฟังเหล่านี้คิดเป็นเงินจำนวนมาก แบตเตอรี่ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดอาจมีราคา 5 ยูโร แต่คุณจะเป็นบ้าแน่ถ้ามันใช้ไม่ได้หลังผ่านไป 8 เดือน”

 


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine