Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และเหล่าผู้เชี่ยวชาญเตือนให้ระวังถึง downside risks (ความเสี่ยงขาลง) และปัจจัยภายนอกที่อาจมีผลกระทบอันสูงกว่าที่ประเมินไว้ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น สงครามยูเครน รวมถึงการ ล็อกดาวน์ จากสถานการณ์โควิด-19 ของจีนเมื่อเร็วๆ นี้
ถึงแม้ว่าปัญหาการดิสรัปชันของซัพพลายเชนทั่วโลกจะเริ่มผ่อนคลายลง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กรณีจีนจะสั่งเพิ่มการ ล็อกดาวน์ อีกจะเป็น “เรื่องน่าปวดหัว” สำหรับธนาคารกลางในศึกการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อในครั้งนี้ โดยในที่ประชุมนโยบาย วันที่ 15 ของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการอ้างถึงการล็อกดาวน์ในจีนถึง 8 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง ส่งสัญญาณบอกถึงความเคลื่อนไหวในจีนที่อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จีนได้ใช้นโยบาย “Zero-Covid” หรือโควิดเป็นศูนย์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการกักกันในหลายเมืองใหญ่ รวมถึงเมืองท่าอันแสนวุ่นวายอย่าง เซี่ยงไฮ้ ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีใช้มาตรการดังกล่าว ล่าสุด จีนเพิ่งพบผู้ป่วยสายพันธุ์ย่อย BA.5 รายแรกในประเทศ ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสองเดือน เหล่าผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การล็อกดาวน์ระลอกสอง ณ ฐานผลิตสินค้าที่จีนจะชะลอการฟื้นตัวของซัพพลายเชนทั่วโลก หลังจากวิกฤตโรคระบาดที่คงอยู่มามากกว่า 2 ปี และทำให้ราคาที่ต้องจ่ายโดยธุรกิจและผู้บริโภคจากสหรัฐฯ นั้นสูงขึ้น ผู้สังเกตการณ์บางกลุ่มมองว่าการเกิดดิสรัปดังกล่าวอาจเป็นเพียงลูกระนาดในแผนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะที่กลุ่มอื่น รวมถึง Fed เห็นว่าการดิสรัปอาจทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อยู่ในช่วงขาขึ้นก่อนหน้านี้กลับคืนสู่สภาวะปกติ สถานการณ์จะออกมาเป็นแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจีนจะตอบโต้กับการระบาดครั้งนี้อย่างไร และจะเข้มงวดกับมาตรการ Zero-Covid นี้มากแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งรัฐบาลยังคงให้การปฏิเสธถึงการเพิ่มล็อกดาวน์ครั้งใหม่ ทว่า ความเป็นไปได้ของมาตรการดังกล่าวได้ทำให้เกิดการสั่นคลอนในตลาดหุ้นจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางด้านมาเก๊า ซึ่งเป็นแหล่งการพนันถูกกฎหมาย พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,500 ราย นับแต่กลางเดือนมิถุนายน ส่งผลให้กาสิโนทั้งหลายต้องปิดตัวชั่วคราวเป็นครั้งแรกหลังจากดำเนินการเปิดมาได้มากกว่า 2 ปี ตามนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส โดยห้ามประชาชนออกนอกที่อยู่อาศัย เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ในขณะที่ทางฝั่งกาสิโนบนเกาะอย่าง Las Vegas Sands, MGM และ Wynn คาดว่ายังคงไม่มีรายได้ในเร็วๆ นี้ “แน่นอนว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นที่จีนตอนนี้เป็นความเสี่ยง ที่ไม่ได้มีผลเฉพาะแต่แค่ในจีน แต่ยังรวมถึงคนทั้งโลกด้วย" Tim Uy นักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics กล่าว ทางด้านบริษัทยักษ์ใหญ่จากฝั่งสหรัฐฯ อย่าง Apple และ Tesla รับรู้ได้ถึงแรงสะเทือนของการล็อกดาวน์ที่ลากยาวมาตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงพฤษภาคม โดยทั้งสองบริษัทต่างเผชิญกับปัญหาเรื่องซัพพลายเชนที่จีนเช่นเดียวกัน ณ รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ของ Tesla เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซีอีโอพันล้านอย่าง Elon Musk เผยความกังวัลที่เขามีต่อสภาพคล่องโดยรวมของบริษัท เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่ามาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ของจีนจะเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ โดย Musk ได้กล่าวไว้ ณ ตอนต้นของรายงานว่า “มันเหมือนนรกสำหรับซัพพลายเชนเลยก็ว่าได้” ภาพรวมของเศรษฐกิจใหญ่ในจีนก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ข้อมูลจากทางการที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ว่าจีดีพีในไตรมาส 2 นั้นเติบโตขึ้นมาเพียงร้อยละ 0.4 โดยตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการร่วงลงมาอย่างชัดเจนจากอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรก อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ทางด้านของนักวิเคราะห์จาก Bank of America เผยว่า การล็อกดาวน์ขั้นสุดทำให้รายได้ของเซี่ยงไฮ้และมณฑล Jilin ลดลงถึงร้อยละ 52 และ 79 ตามลำดับ จากเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะนี้ คล้ายว่าจีนกำลังเลือกเดินอยู่บนเส้นด้ายบางๆ ระหว่างการดำเนินตามนโยบาย "Zero-Covid" และการจำกัดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมาจากการเลือกใช้มาตรการดังกล่าว ด้านประธานาธิบดี Xi Jinping กล่าวเน้นย้ำในการปราศรัยเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยแสดงถึงความมั่นใจต่อนโยบายนี้ว่าเป็นทางเลือกที่ “ประหยัดและมีประสิทธิภาพที่สุด” และการออกนอกกรอบของนโยบายที่วางไว้นั้นจะเป็นเรื่องที่ “แย่จนไม่สามารถจินตนาการได้ทีเดียว” ผู้นำของจีนยังกำชับอีกว่า แม้นโยบาย Zero-Covid นั้นจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่จะมีผลเพียงชั่วคราวและจะยังอยู่ในความควบคุม อย่างไรก็ตาม Brendan Ahern ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของ KraneShares บริษัทที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ EFT ในจีน กล่าวว่า ประชาชนในเซี่ยงไฮ้ต่างพากัน "ส่ายหน้า" ไม่อยากให้ต้องเกิดการล็อกดาวน์อีก ซึ่งรัฐบาลจีนนั้นก็รับรู้ได้ถึงความต้องการดังกล่าว “มีข้อโต้แย้งว่าจีนเปลี่ยนท่าทีเล็กน้อยหลังจากล็อกดาวน์ที่เซี่ยงไฮ้” Ahern กล่าวถึงการอะลุ่มอล่วยของนโยบาย Zero-Covid เขาชี้ไปที่การระบาดล่าสุดในหลายเมืองที่ทางการใช้การควบคุมระดับเล็ก โดยมุ่งเน้นไปที่เขตชุมชนและอะพาร์ตเมนต์ มากกว่าการจำกัดควบคุมทั้งเมือง “ราคาที่ต้องแลกมาสำหรับการล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการตอบโต้กับโรคระบาดลักษณะนี้มีผลกระทบสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจ” เขากล่าว Adam Crisafulli ผู้ก่อตั้งบริษัทข่าวกรองตลาด Vital Knowledge กล่าวถึง ความกังวลในเหล่าผู้ลงทุนต่อมาตรการล็อกดาวน์ที่อาจเกิดขึ้นอีก Crisafulli กล่าวต่ออีกว่า ในขณะที่บาร์ในการปิดเหล่าร้านขายส่งสูงขึ้นเรื่อยๆ การลดจำนวนการติดเชื้อให้เหลือ “ศูนย์” จะเป็นเรื่องที่ยากมาก เมื่อพิจารณาถึงการระบาดอย่างหนักของสายพันธุ์ใหม่ คำถามที่ตามมาคือ ทั้งหมดนี้จะมีผลอย่างไรต่อความพยายามของ Fed ในการสู้กับวิกฤตเงินเฟ้อ? สำหรับ Stephen Juneau นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสหรัฐฯ จากทีม global research ที่ Bank of America มองว่านี่เป็น “ภาพอันซับซ้อน” และเป็น “ความยุ่งยาก” ซึ่งอาจทำให้ Fed ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้มงวดกว่าเดิม “พวกเขาไม่สามารถแก้ไขปัจจัยที่เกิดจากฝั่งอุปทานได้ แต่คงทำได้เพียงเดินหน้าควบคุมปริมาณของอุปสงค์” จากรายงานการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ Fed ออกมาชี้ว่าการล็อกดาวน์ในจีนน่าจะส่งผลให้การดิสรัปฯ ของซัพพลายเชนบานปลายและจะฉุดภาพรวมของเงินเฟ้อให้แย่ลงกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนชี้ให้เห็นถึงปริมาณการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น โดยอ้างอิงจากข้อมูลการค้าล่าสุดของจีน จำนวนการส่งออกดังกล่าวช่วยลดความกังวลต่อการชะลอตัวที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น รวมถึงแสดงให้เห็นว่าปัญหาคอขวดของซัพพลายเชนกำลังทุเลาลง ด้าน the Federal Reserve Bank of New York หรือธนาคารกลางแห่งนิวยอร์ก เผยว่า ความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในสหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และนั่นอาจช่วยควบคุมให้ goods inflation อยู่ในระดับปานกลางได้ “ในกรณีที่จีนตัดสินใจจะกลับมาล็อกดาวน์อีกรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ มันอาจจะมีผลให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจของเราสะดุดลงชั่วคราว แต่ผมไม่คิดว่ามันจะทำให้สภาพของซัพพลายเชนในขณะนี้ถึงกับต้องเสียศูนย์” Uy กล่าว โดยระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าผลกระทบจะอยู่ในระดับปานกลางหากเทียบกับการล็อกดาวน์ครั้งก่อน พวกเขาเห็นตรงกันว่าจำนวนผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตในจีนไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นถึงขั้นต้องตอบโต้ด้วยการประกาศล็อกดาวน์เพิ่มอีกทั่วทั้งเมือง หากดูตัวอย่างจากผลเสียทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ครั้งก่อน รัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะดำเนินการตอบโต้แบบเฉพาะจุดมากกว่า “ถึงแม้ว่าเซี่ยงไฮ้อาจต้องมีการล็อกดาวน์อีกรอบ ผมคาดว่าผลกระทบจะอยู่ในระดับที่พอรับมือได้ เพราะว่ารัฐคงจะพยายามทำให้ธุรกิจทั้งหลายดำเนินต่อไปได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” Uy กล่าว แปลและเรียบเรียงโดย สิรินนรี อ๋องสกุล จากบทความ New China Covid-19 Lockdowns Would Threaten U.S. Economic Recovery (Just Ask Tesla) เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม:ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine