สตาร์ทอัพช่วยจับผิด สินค้าของคุณละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่? - Forbes Thailand

สตาร์ทอัพช่วยจับผิด สินค้าของคุณละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่?

การประกาศแบนสินค้านำเข้าล่าสุดของสหรัฐอเมริกา พาให้บรรดาผู้ค้าปลีกต้องวุ่นกับการพิสูจน์ตัวเอง ว่าในกระบวนการผลิตของพวกเขานั้นปราศจากผ้าฝ้ายจากสถานที่อย่างเขตซินเจียงในประเทศจีน รวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้สินค้าเหล่านี้ถูกยึด


    เทคโนโลยีที่ปกติจะสงวนไว้ใช้ในการสอบสวนฆาตกรรมถูกนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อตรวจหาว่าผ้าฝ้ายที่ใช้ผลิตเสื้อของคุณมาจากส่วนไหนของโลก 

    เฉกเช่นที่อัยการอาจตรวจคราบเลือดบนเสื้อผ้าของเหยื่อเพื่อบ่งชี้ตัวผู้ต้องสงสัย Oritain สตาร์ทอัพซึ่งตั้งอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ได้นำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อบอกบริษัทต่างๆ ว่าพวกเขามีความผิดฐานใช้ฝ้ายจากสถานที่มีปัญหาอย่างเติร์กเมนิสถาน หรือเขตซินเจียงในจีนหรือไม่ ด้วยสถานที่เหล่านี้เป็นที่รู้กันดีว่ามีการบังคับใช้แรงงานผิดหลักมนุษยธรรม 

    สตาร์ทอัพรายนี้มองเห็นตัวเลขคำขอเพิ่มขึ้นกว่าห้าเท่าตั้งแต่ปี 2020 เมื่อแรงกดดันจากผู้บริโภคและหน่วยงานควบคุมต่างๆ ว่าด้วยเรื่องของการบังคับใช้แรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก 

    โดยปัจจุบันทางบริษัทได้ทำการช่วยเหลือแบรนด์ยักษ์ใหญ่กว่า 100 ราย รวมถึงผู้ค้าปลีกอย่าง Shein, Primark และ Lacoste โดยทำการตรวจสอบนับพันครั้งต่อเดือน วิธีคือจับคู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทผู้ใช้บริการเปรียบเทียบกับตัวอย่างในฐานข้อมูลของ Oritain

    

ตรารับรองของ Oritain


    “เราสามารถช่วยให้คุณเข้าใจว่า ใครคือคนดีในกระบวนการผลิตของคุณ และใครที่ไม่ใช่” Grant Cochrane ซีอีโอแห่ง Oritain กล่าว ทางบริษัทเพิ่งระดมทุนได้ 57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก Chanel และนักลงทุนรายอื่นๆ เมื่อเดือนกรกฎาคม 

    เทคโนโลยีนี้สามารถช่วยให้บริษัทมีทัศวิสัยในกระบวนการผลิตของพวกเขาได้ชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ การวางแผนผังข้อมูล หรือการประเมินความเสี่ยง จนขยับการเป็นสิ่งที่ควรมีสู่สิ่งที่ต้องมีอย่างรวดเร็ว 

    เมื่อปีที่ผ่านมา การเริ่มใช้งานกฎหมายใหม่ในสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยทำการแบนบริษัทที่นำเข้าสินค้าจากเขตซินเจียง และอนุญาตให้ศุลกากรยับยั้งการขนส่งที่พวกเขาสงสัยว่าฝ่าฝืนกฎ บริษัทต่างๆ มีเวลา 30 วันในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพวกเขา 

    หากผู้นำเข้าไม่สามารถนำหลักฐานมากาง สินค้าเหล่านั้นต้องถูกส่งกลับหรือทำลาย และอาจทำให้พวกเขาต้องสูญเสียยอดขายหลายล้านเหรียญ หรือหากพวกเขาหาหลักฐานมาได้ ก็อาจใช้เวลานานจนล่วงเลยฤดูกาลสำหรับสินค้าชนิดนั้น เช่น กางเกงขาสั้นและเสื้อกล้าม ที่ขายได้ดีช่วงใกล้เปิดเทอม 

    นับตั้งแต่การแบนได้เริ่มต้นในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา สำนักงานศุลกากรและป้องกันพรมแดนสหรัฐฯ เผยว่า ได้ทำการยึดสินค้ามูลค่ารวม 1.7 พันล้านเหรียญ ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า ไปจนถึงมะเขือเทศ สี่ในสิบของการขนส่งที่ถูกยับยั้งได้รับการปลดปล่อยหลังบริษัทต่างๆ ประสบความสำเร็จในการหาหลักฐานมายืนยันว่าสินค้าของพวกเขาไม่ได้มาจากซินเจียง

    “พวกเขาจริงจังกันมาก ถึงจุดที่ประเด็นนี้กลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของการบริหารระดับซีอีโอในทุกบริษัทที่เป็นสมาชิกของเราเลยทีเดียว” Nate Herman รองประธานอาวุโสด้านนโยบายแห่งสมาคมเสื้อผ้าและรองเท้าอเมริกัน (Ameri-can Apparel & Foorwear Association หรือ AAFA) กล่าว 

    สภาพการทำงานอันเลวร้ายในเขตซินเจียงของจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตฝ้ายอันดับห้าของโลกถูกตีแผ่ครั้งแรกในปี 2017 เมื่อกลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวอื่นๆ เริ่มเผยแพร่บัญชีรายชื่อชาวอุยกูร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและถูกบังคับใช้แรงงานโดยไม่เต็มใจ 

    รายงานจากสหประชาชาติเมื่อปีที่ผ่านมาอธิบาย “แบบแผนการทรมาน วิธีการปฏิบัติที่โหดร้าย ทารุณ และลดทอนความเป็นมนุษย์” ว่าอาจหนักขึ้นจนกลายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งทางจีนออกมาตอบโต้ว่าพวกเขาจัดค่ายฝึกอาชีพและให้การศึกษาอื่นๆ ต่างหาก

    

ฝ้ายซินเจียง

    

    การบอกลาฝ้ายจากซินเจียงกลายเป็นปัญหาน่าปวดหัวสำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ในปี 2019 Australian Strategic Policy Institute พบว่าบริษัทใหญ่อย่างน้อย 82 ราย รวมถึง Nike, Gap และ H&M มีพันธะกับทางซินเจียง หลังจากนั้นสองปีถัดมา Oritain สุ่มเก็บตัวอย่างเสื้อผ้าฝ้าย 1,000 ชิ้นจากแบรนด์ต่างๆ ทั่วร้านในสหรัฐฯ พบว่า 16% ใช้ฝ้ายจากซินเจียง 

    เพื่อช่วยบริษัททั้งหลายในการก้าวออกจากสัมพันธ์กับซินเจียง United States Fashion Industry Association (USFIA) เริ่มจัดประชุมในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด รวมถึงสัมมนาออนไลน์โดยบริษัท 30 รายร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีสำหรับสืบหาร่องรอยต่างๆ ซึ่งบางชนิดก็ราคาแพงมาก 

    “ฝันร้ายเกิดขึ้นเมื่อศุลกากรยับยั้งการขนส่งของคุณ แล้วขอให้คุณส่งเอกสารเพื่อพิสูจน์แหล่งที่มาทั้งหมด” Julia Hughes ประธาน USFIA เล่า “เพราะว่านั้นเป็นคำขอที่สุดโต่งมาก” 

    ที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลต้องการเห็นกองเอกสารซึ่งอธิบายตั้งแต่แหล่งที่มาของวัสดุไปจนลำดับขั้นต่างๆ “พวกเขากำลังมองหาเอกสารประกอบที่ลงรายละเอียดตั้งแต่เริ่มจนมาเป็นเสื้อตัวหนึ่ง” Herman จาก AAFA กล่าว พร้อมเสริมว่าบริษัทส่วนใหญ่ต้องส่งเอกสารนับร้อยหน้ารวมถึงใบแจ้งหนี้ ใบสั่งซื้อ และใบเสร็จค่าขนส่งซึ่งต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ 

    ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องยากหากคุณไม่รู้เกี่ยวกับส่วนต่างๆ ในกระบวนการผลิตของคุณ ในอดีต บริษัทหนึ่งอาจติดต่อกับผู้จัดหาวัสดุหลายร้อยรายโดยตรง แต่รู้เพียงน้อยนิดว่าผู้จัดหาวัสดุเหล่านั้นไปหาวัสดุมาจากไหน 

    บริษัทจำนวนมากขึ้นกำลังแบ่งเงินมาใช้จ่ายเพื่อสร้างแผนผังใหญ่เต็มไปด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการผลิตของพวกเขา เพื่อให้สามารถติดตามข้อมูลต่างๆ ของสินค้าที่ถูกยึดไปอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น ผู้ค้าปลีกเครื่องครัว Williams-Sonoma กับบริษัทรองเท้า Hoka และ Ugg ต่างกำลังดำเนินการร่วมกับสตาร์ทอัพจากบอสตัน Sourcemap 

    Leonardo Bonanni ซีอีโอแห่ง Sourcemap เปรียบสตาร์ทอัพของเขาว่าเป็นเหมือน LinkedIn สำหรับผู้จัดหาทรัพยากร ผู้จัดหาแต่ละรายจะเชื้อเชิญผู้จัดหารายอื่น ซึ่งจะเชื้อเชิญรายอื่นๆ ต่อไปจนกระทั่งได้รายชื่อที่สมบูรณ์แบบ 

    โดยบริษัทตามปกตินั้นจะสร้างเครือข่ายกับผู้จัดหาในกระบวนการผลิตได้ราว 50,000 ราย อัตราการเข้าร่วมที่เคยแห้งเหือดบัดนี้กลับสูงถึง 92% ผู้จัดหาทรัพยาการที่ไม่ได้เข้าร่วมก็เหมือนโดนติดธงแดงว่าไม่น่าไว้วางใจทันที 

    “ไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่าผู้จัดหาที่ไม่ยอมบอกคุณว่าซื้อของมาจากไหน” Bo-nanni กล่าว Sourcemap ซึ่งคิดค่าบริการซอฟต์แวร์รายเดือนมียอดขายเพิ่มขึ้นสิบเท่ามาตลอดสามปี ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านว่า พวกเขาระดมทุนได้ 20 ล้านเหรียญ

    

เอกสารนับพันล้าน

     

    Sayari คือ อีกหนึ่งสตาร์ทอัพที่ช่วยหลากหลายบริษัทเปิดเผยความเชื่อมโยงต่างๆ กับเขตซินเจียงที่ถูกซ่อนไว้ โดยสืบหาจากเอกสารนับพันล้านฉบับเกี่ยวกับผู้มีกรรมสิทธิ์ในบริษัทและธุรกรรมการแลกเปลี่ยนระดับโลก

Farley Mesko ซีอีโอแห่ง Sayari


    อาจมีการปักธงเตือนว่าผู้จัดหาทรัพยากรหลายสิบรายที่พวกเขาวินิจฉัยมีความเป็นไปได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับซินเจียง ช่วยให้บริษัททั้งหลายสามารถตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป
“มันช่วยให้ลูกค้าคัดแยกความเสี่ยงในกระบวนการผลิตได้ว่องไวขึ้น” Da-vid Lynch หัวหน้าฝ่าย Analytical Solutions สากลของ Sayari เผย

    บ่อยครั้งที่ผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทางกายภาพแบบเดียวกับที่ Oritain ทำถูกส่งให้ศุลกากรโดยเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานชุดใหญ่ แต่มันมีค่าใช้จ่ายสูงและอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุด “อย่างดีที่สุด ก็เพียงส่วนหนึ่งของจิ๊กซอว์” John Foote ทนายการค้าสากลจาก Kelley Drye & Warren ในวอชิงตันกล่าว

    ตามปกติแล้ว บริษัทหนึ่งจะผสมผสานหลากหลายเทคโนโลยีเพื่อปะติดปะต่อแหล่งที่มาในกระบวนการผลิต และอาจต้องแปลกใจเมื่อพบตัวอย่างการฉ้อโกง การทารุณ หรือการปลอมแปลงเหนือความคาดหมาย

    เดิมพันนี้อาจสูงมาก ผู้บัญญัติกฎหมายและอัยการสูงสุดประจำรัฐต่างออกมาวิ่งเต้นให้ระงับการ IPO ของ Shein ออกไปก่อน จนกว่าทางบริษัทจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้มีการบังคับใช้แรงงานภายหลังจากที่ Bloomberg เผยรายงานที่เชื่อมโยงไปยังซินเจียง

    เพื่อนำมาประกอบการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของบริษัท (Due Dili-gence) Shein ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลายร้อยรายการจากทั้งหมด 40 โรงงานต่อเดือนด้วยความช่วยเหลือจาก Oritain พวกเขาหวังว่าการดำเนินการนี้จะช่วยหาหลักฐานประกอบว่าทางบริษัทไม่มีการใช้ฝ้ายจากการบังคับใช้แรงงาน

    อย่างไรก็ตาม ราว 2% ของผลการตรวจสอบแสดงถึงความเชื่อมโยงไปยังซินเจียงและเติร์กเมนิสถาน Peter Pernot-Day หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ของ Shein บอก Forbes ในกรณีเหล่านั้น Shein ยิ่งยกระดับการสอดส่องและตรวจสอบ เมื่อปีที่ผ่านมา พวกเขายุติความสัมพันธ์กับโรงงานสามแห่ง

    “มันช่วยให้เราสามารถตรวจสอบดูแลได้กว้างขวางกว่าเดิมมหาศาลเลย” Pernot-Day กล่าว “แต่ในเรื่องของความเชื่อมั่นด้านกระบวนการผลิตต่างๆ รวมถึงการสร้างความไว้วางใจให้กับเหล่าบรรดาลูกค้าที่เลือกซื้อสินค้าไปนั้น เราคงไม่ได้กำหนดมูลค่าหรือราคาเอาไว้ได้หรอก”

    

    แปลและเรียบเรียงจาก Was Your Clothing Made By Forced Labor? These Startups Can Tell You ซึ่งเผยแพร่บน Forbes

    

    อ่านเพิ่มเติม : หนังสือเดินทางดิจิทัล ครั้งแรกของโลก เริ่มทดสอบแล้วที่ฟินแลนด์

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine