วันพิพากษาของธุรกิจฟินเทค - Forbes Thailand

วันพิพากษาของธุรกิจฟินเทค

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Jul 2023 | 11:00 AM
READ 1000

    เมื่อช่วงเวลาแห่งการระดมทุนอย่างบ้าคลั่งผ่านพ้นไป สตาร์ทอัพที่เคยมีอนาคตสดใสหลายแห่งกำลังวิ่งไล่ตามลูกค้าจำนวนน้อยนิดในสภาพที่เงินขาดมือ ส่วนใหญ่ในจำนวนนี้หากไม่ขายกิจการคงต้องถึงกาลอวสาน


    ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน บรรดาผู้ร่วมก่อตั้ง Ribbon Home บริษัทเทคโนโลยีการเงินที่เปิดกิจการมา 5 ปีด้วยคำมั่นว่าจะเข้ามาซ่อมแซมตลาดซื้อขายที่อยู่อาศัยอัน “แหลกสลาย” โดยการช่วยให้ผู้ซื้อสามารถเสนอซื้อบ้านด้วยเงินสดได้ กลับส่งอีเมลซึ่งมีเนื้อหาน่าพิศวงและชวนให้คนรับรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจไปยังพนักงานทั้งบริษัท โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า “ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ เราขอให้พนักงานที่ไม่ได้ดูแลลูกค้าหรือเรื่องการเงินเปลี่ยนเป้าหมายจากการทำงานไปเป็นการดูแลตัวเอง ใช้เวลากับครอบครัว และทำสิ่งต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกสบายใจ”

    จากนั้นอีก 6 วัน Ribbon ที่มีสำนักงานอยู่ใน New York ปลดพนักงานออก 85% และลดจำนวนเงินชดเชยเลิกจ้างเหลือเพียง 1 สัปดาห์ จากเดิมที่เคยสัญญาไว้ว่าจะให้ 6 สัปดาห์ โดยทุกวันนี้บริษัทนี้มีพนักงานเหลือไม่ถึง 30 คน และเพิ่งจะประกาศระงับการทำธุรกิจใหม่ทั้งหมดไปเมื่อไม่นานนี้

    เวลาของ Ribbon กำลังจะหมดลง แต่ถ้าย้อนไปช่วงเดือนกันยายน ปี 2021 ท่ามกลางตลาดซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เฟื่องฟู บรรดา VC อย่าง Bain Capital และ Greylock เคยทุ่มเงินถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปกับสตาร์ทอัพแห่งนี้ที่มีการประเมินมูลค่าไว้ถึง 500 ล้านเหรียญ เงินจำนวนนี้น่าจะช่วยให้โตได้อย่างก้าวกระโดด ทำให้ทางบริษัทประเมินว่า จะมี “ธุรกรรมเกี่ยวกับบ้านปีละ 1 หมื่นล้านเหรียญ” และจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 360 คน

    วันเวลาที่ทำเงินได้อย่างง่ายดายผ่านพ้นไปแล้ว อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวตั้งแต่ปี 2021 ทำให้ทั้งตลาดและความสนใจในข้อเสนอซื้อเงินสดต่างซบเซาลง Ribbon ที่แทบจะไม่มีโอกาสทำกำไรได้ต้องคอยพึ่งพาแหล่งเงินทุนภายนอกเป็นส่วนใหญ่ โดยต้องมีบริษัทด้านการเงินยักษ์ใหญ่คอยให้ทุนหนุนหลังเพื่อให้พวกเขาออกสินเชื่อสำหรับให้ลูกค้าไปซื้อบ้านเงินสด ต่างจากธนาคารแบบดั้งเดิมที่นำเงินฝากมาใช้ปล่อยสินเชื่อได้ ซึ่ง Goldman Sachs และ Waterfall Asset Management นายทุนรายใหญ่ต่างเพิกถอนการให้ทุนแก่ Ribbon ไป เพราะไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการกู้ยืมเงินได้ 

    โดย Ribbon ปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไม่ต่างอะไรกับธุรกิจฟินเทคที่เคยดูดีมีอนาคตสดใสรายอื่นๆ Ribbon เองก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้ เงินในกระเป๋าร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว โมเดลธุรกิจที่ไม่ได้ความก็จะไม่สามารถช่วยสร้างสภาพคล่องให้บริษัทได้ ฟินเทคที่ประสบปัญหาอาจสามารถเลือกปิดหรือขายกิจการในราคาลดแหลกได้ โดยมีผู้บริหารฟินเทครายหนึ่งกล่าวไว้ว่า “เคยมีนักลงทุน VC บอกเราว่า "ทุกอย่างในพอร์ตของเราขายได้ทั้งนั้น”

    ฟินเทคเป็นคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวางเพื่อนิยามถึงบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่เน้นให้บริการทางการเงิน บริษัทหน้าใหม่เหล่านี้ส่วนมากเพิ่งจะตั้งขึ้นช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมาด้วยเป้าหมายคือ การพลิกโฉมวงการการเงินหัวเก่า ทั้งธนาคาร บริษัทประกันภัย หรือบัตรเครดิตที่ใช้เทคโนโลยีอันล้าหลัง ซึ่งเพิ่งจะเพียงไม่กี่ปีมานี้เองที่บรรดานักลงทุน VC ต่างให้ความสนใจในธุรกิจนี้กันอย่างล้นหลาม ในปี 2021 บริษัท CB Insights รายงานว่า กลุ่มธุรกิจฟินเทคกวาดเม็ดเงินลงทุนไปได้มากกว่า 1.4 แสนล้านเหรียญผ่านการระดมทุน 5,474 รอบ ซึ่งมากกว่า 3 ปีก่อนหน้านั้นรวมกัน พอช่วงที่การเข้าตลาดเฟื่องฟู

    หลายบริษัทก็เข้าตลาดฯ และระดมทุนรวมกันได้ 1 หมื่นล้านเหรียญจากการเสนอขายหุ้น IPO ของฟินเทค 28 แห่งในปี 2020 และ 2021 ตามข้อมูลจาก S&P Global Market Intelligence ได้ระบุไว้ จนทำให้คนที่จับพลัดจับผลูได้กลายเป็นเศรษฐีพันล้านแบบปัจจุบันทันด่วนผุดขึ้นตามบริษัทต่างๆ อย่างเช่นที่ Affirm (สินเชื่อซื้อเลยจ่ายทีหลัง) Marqeta (ระบบดำเนินการชำระเงินรูปแบบใหม่) และ Upstart (บริษัทสินเชื่อที่ใช้ AI ตรวจสอบเครดิต)

    แต่เมื่อตลาด IPO ทรุดหนักใกล้สิ้นลม และหุ้นฟินเทคดิ่งตัวลงจากจุดสูงสุดถึง 60% บรรดานักลงทุน VC และนายธนาคารก็พากันตัดท่อน้ำเลี้ยงที่เป็นแหล่งเงินทุน ไม่ใช่แค่สำหรับการลงทุนใหม่ๆ แต่รวมถึงการให้ทุนเพิ่มแก่บริษัทเดิมที่มีในพอร์ตด้วย ทั้งนี้ข้อมูลจาก CB Insights ระบุว่า การให้ทุนแก่บริษัทฟินเทคหดตัวลงเหลือ 1.1 หมื่นล้านเหรียญในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2018

    “นักลงทุน VC บางคนบอกว่า "ไม่รู้เลยว่าขาลงนี้จะไปจบที่ตรงไหน” ผู้บริหารฟินเทคคนหนึ่งกล่าว “ไม่มีทางที่เราจะลงเงินเพิ่ม” Sheel Mohnot ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ถือหุ้น Better Tomorrow Ventures กล่าว “ปีนี้เราจะได้เห็นการปิดกิจการอย่างแน่นอน แนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างเจ็บปวด”

    การสำรวจบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงกำลังจัดตั้งบริษัท 450 แห่ง ซึ่งจัดทำโดย January Ventures บริษัท VC ใน Boston เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่แล้วได้ข้อสรุปว่า 81% มีกระแสเงินสดในมือเพียงพอสำหรับการดำเนินกิจการไม่ถึง 1 ปี ในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่กินเวลานานหลายเดือนของ Forbes เราใช้ข้อมูลจาก CB Insights และ PitchBook เพื่อตรวจสอบสตาร์ทอัพฟินเทคมากกว่า 200 แห่งที่ได้รับเงินทุนงวดสุดท้ายมาแล้วอย่างน้อย 18 เดือน ประกอบกับการหาข้อมูลจากคนวงใน นักลงทุน นายธนาคาร

    นักวิเคราะห์ และผู้ก่อตั้งบริษัทฟินเทค เพื่อคัดกรองว่าบริษัทสตาร์ทอัพที่เงินทุนร่อยหรอรายไหนมีโมเดลธุรกิจ ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพและไม่ทำกำไร หลายที่มีสัญญาณของปัญหาอย่างชัดเจน เช่น การปลดพนักงานจำนวนมาก ซึ่งการรายงานของเรายังเผยให้เห็นถึงธุรกิจฟินเทคที่ประสบปัญหาอื่นๆ และเพิ่งจะระดมทุนเพิ่มไปหมาดๆ ทั้งหมดทั้งมวลแล้วบรรดาธุรกิจฟินเทคผีดิบของเราทั้ง 25 ราย (ดูตารางประกอบ) กวาดเงินจากนักลงทุนรวมกันไปได้ราว 7.5 พันล้านเหรียญ จากมูลค่าประเมินสูงถึง 2.5 พันล้านเหรียญเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งหลายบริษัทคงจะต้องถูกเข้าซื้อกิจการ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องล้มหายตายจากไป

    “หลังฉากมีการเจรจาเรื่องการควบรวมกิจการกันอย่างเงียบๆ อยู่หลายราย” Jigar Patel ผู้ดูแลธุรกิจฟินเทคของ Morgan Stanley กล่าว

    ไม่มีธุรกิจฟินเทคประเภทใดอีกแล้วที่จะประสบปัญหามากไปกว่าบรรดา “neobank” หรือผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งมีแนวคิดเปลี่ยนแปลงธุรกิจธนาคารดั้งเดิมแบบง่ายๆ คือ การให้บริการพื้นฐานไม่ต่างจากธนาคารอย่างบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือสินเชื่อรายย่อยผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่แอปเหล่านี้จะลดขั้นตอนวุ่นวายเรื่องเอกสาร ลดค่าธรรมเนียม และลดการต้องพบปะกันซึ่งหน้า ซึ่งในช่วงที่โควิด-19 ระบาดและมีคนจำนวนหลายล้านคนที่ได้เงินช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่อย่าง Chime, Current และ Varo ต่างดึงดูดลูกค้าได้เป็นจำนวนมาก โดย CB Insights ประเมินว่า ตั้งแต่ปี 2020 มีผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ 47 แห่งที่ระดมทุนผ่าน VC รวมกันได้ถึง 7.5 พันล้านเหรียญ

    Step ใน Palo Alto รัฐ California เป็นผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่เปิดกิจการมาได้ 4 ปี ให้บริการบัญชีออมทรัพย์ บัตรเครดิต และการลงทุนในคริปโตสำหรับวัยรุ่น เมื่อปี 2021 บริษัทนี้ได้เงินลงทุน 920 ล้านเหรียญจากทั้ง Coatue บริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยี Stripe ยักษ์ใหญ่ด้านการชำระเงิน และ Will Smith นักแสดงชื่อดัง ภายในปลายปีนั้นทางบริษัทระบุว่า มีลูกค้า 2.7 ล้านคน แต่รายได้ประจำปียังมีเพียงหลักล้านเท่านั้นตามข้อมูลจากแหล่งข่าววงในที่คลุกคลีกับเรื่องการเงินของบริษัทนี้

    การระดมทุนผ่านการขายหุ้นของ Step ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อราว 2 ปีก่อนในเดือนเมษายน ปี 2021 มีมูลค่า 100 ล้านเหรียญ ซึ่งขณะนี้ยังไม่คืนทุน และเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว Step ยังปลดพนักงานไปประมาณ 20% แม้ว่า CJ MacDonald ซีอีโอของบริษัทจะชี้แจงว่า การตัดลดจำนวนพนักงานเป็นไปตามศักยภาพในการทำงาน และยืนยันว่าบริษัททำรายได้มากกว่า 10 ล้านเหรียญในปี 2021 (เขาปฏิเสธคำขอหลักฐานยืนยันจาก Forbes)

    ผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่อีกแห่งคือ Aspiration ที่เปิดตัวเมื่อปี 2014 ด้วยภารกิจอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างการปัดเศษยอดใช้จ่ายบัตรเดบิตเพื่อนำไปปลูกต้นไม้ และมีนักแสดงคนดังอย่าง Leonardo DiCaprio กับ Orlando Bloom ร่วมลงทุนด้วย ข้อมูลจาก Apptopia บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือชี้ว่า ยอดดาวน์โหลดแอปรายเดือนของ Aspiration ลดลงจาก 400,000 ครั้ง ต่อไตรมาสในปลายปี 2021 เหลือเพียง 35,000 ครั้งต่อไตรมาสเมื่อปลายปี 2022 โดยเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วซีอีโอของบริษัทประกาศลาออกหลังจากข้อตกลง SPAC ที่ประเมินราคาบริษัทซึ่งกำลังขาดทุนรายนี้ไว้ที่ 2.3 ล้านเหรียญ และคำสัญญาที่จะอัดฉีดเงินเพิ่ม 400 ล้านเหรียญต้องล่าช้าไป เมื่อไม่นานมานี้ Aspiration เบนเข็มครั้งใหญ่ไปสู่กลุ่มลูกค้ากิจการและเสนอทางออกเรื่องคาร์บอนเครดิตให้แก่บริษัทต่างๆ ขณะที่การควบรวมกิจการ SPAC และกำหนดการ IPO เลื่อนออกไปจนถึง 31 มีนาคม ปี 2023

    “บรรดาผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ดิ้นรนมานาน 10 ปี พวกเขา อยู่รอดมาได้นานกว่าที่ใครๆ คิดเอาไว้” ผู้บริหารธนาคารคนหนึ่งกล่าว

    “ไม่มีรายไหนเลยที่จัดการระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพการสร้างแบรนด์ก็ต้นทุนสูง การหาลูกค้าผ่านสื่อสังคม

    ออนไลน์ หรือจ่ายเงินค่าโฆษณาผ่านการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็แพงเกินไป การก่อร่างสร้างความเชี่ยวชาญในการปล่อยสินเชื่อช่างยากเย็นแสนเข็ญและต้องใช้เวลา”

    อุปสรรคใหญ่อีกประการคือ ผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ไม่ใช่ธนาคารจริงๆ เพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร หากต้องการปล่อยสินเชื่อก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารอื่น หรือหาเงินจากนักลงทุนมาปล่อยกู้ ซึ่งถือว่าแพงหากมีต้นทุนเกินกว่า 0 ทุกวันนี้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (ที่ธนาคารใช้อ้างอิงในการปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารด้วยกันเอง) อยู่ที่ประมาณ 4.25% พุ่งขึ้นจาก 0.08% เมื่อ 1 ปีก่อน

    Varo ผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่รายหนึ่งใน San Francisco ใช้งบประมาณ 100 ล้านเหรียญเพื่อยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารเป็นของตัวเองเพื่อให้สามารถทำกำไรจากการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น แต่ตอนนี้ต้องเจอความท้าทายอีกอย่างคือ การขาดฐานเงินฝากที่จะนำมาปล่อยกู้ได้ ข้อมูลเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาระบุว่า Varo มีบัญชีเงินฝากอยู่ 5.3 ล้านบัญชี ซึ่งมีเม็ดเงินรวม 276 ล้านเหรียญ เท่ากับว่าแต่ละบัญชีมีเงินฝากเฉลี่ยเพียง 52 เหรียญ ปัจจัยหนึ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุของยอดเงินฝากยิบย่อยแบบนี้คือ Varo ที่โฆษณาว่าไม่เก็บค่าธรรมเนียม ให้ถอนเงินค่าจ้างได้เร็วและยังให้เงินคืน 6% สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนั้นมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งส่วนมากไม่ได้ใช้ Varo เป็นบัญชีหลัก

    ปัจจุบัน Varo มีรายได้หลักจากค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างธนาคารที่ห้างร้านต่างๆ ต้องจ่ายราว 1-2% เมื่อลูกค้าใช้บัตรเครดิตหรือเดบิตรูดชำระค่าสินค้า ส่วนบริการสินเชื่อทำรายได้ไม่ถึง 10% ของรายรับทั้งหมดในปี 2022 ซึ่งข้อมูลจากเอกสารที่ยื่นต่อหน่วยงานกำกับดูแลล่าสุดชี้ว่า ทางบริษัทมีเงินทุนสำหรับดำเนินกิจการได้อีก 14 เดือน

    “เรายังมั่นใจว่า Varo จะสามารถผ่านพ้นสภาพเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปได้” โฆษกของทางบริษัทกล่าว

    การให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ไม่ใช่แค่อย่างเดียวที่โมเดลธุรกิจบกพร่อง Vise บริษัทสตาร์ทอัพอันโดดเด่นจาก New York มีผู้ก่อตั้งวัย 22 ปี 2 คน ซึ่งขายซอฟต์แวร์ AI ที่ช่วยสร้างพอร์ตการลงทุนได้เองอย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนอันย่อมเยาให้แก่บรรดาที่ปรึกษาทางการเงินสตาร์ทอัพแห่งนี้มูลค่าแตะ 1 พันล้านเหรียญจากการประเมินเมื่อปี 2021 หลังได้รับทุนจาก Ribbit Capital และ Sequoia แม้ทางบริษัทจะคุยไว้ว่ามีสายป่านยาวจากบรรดาที่ปรึกษาทั้งหลาย แต่การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินชี้ว่า เมื่อเดือนกันยายน ปี 2022 มูลค่าสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การจัดการของทางบริษัทมีเพียง 362 ล้านเหรียญเท่านั้น (Vise อ้างว่ามีเกือบ 500 ล้านเหรียญ) ด้วยอัตราค่าธรรมเนียมประมาณ 0.5% รายได้ของ Vise จึงอยู่ในหลักไม่กี่ล้านเหรียญ และท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์บริหารพอร์ตการลงทุน ประกอบกับแนวโน้มความลังเลใจในการเปลี่ยนผู้ให้บริการของบรรดาที่ปรึกษาทางการเงิน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Vise กำลังประสบปัญหา

    Samir Vasavada ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทกล่าวว่า สตาร์ทอัพที่มีพนักงาน 50 คนของเขามีเงินสดหมุนเวียน 70 ล้านเหรียญ และจะดำเนินกิจการไปได้อีก 5 ปี แต่ขณะเดียวกันทางบริษัทยังคงพยายามเดินหน้าจับมือกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นข้อตกลงประเภทที่มักจะจบลงด้วยการเข้าซื้อกิจการ Vasavada ระบุว่า ตอนนี้ Vise ยังไม่ได้คิดเรื่องการขายบริษัท แต่เขาเสริมขึ้นมาทันควันว่า “ผมอาจจะเปลี่ยนใจในอีก 2-3 ปีนี้ก็ได้” นอกจากนี้ ยังมีอีกปัญหาคือ จำนวนลูกค้าอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับบริษัทคู่แข่งจำนวนมหาศาลที่ต่างแย่งกันหาลูกค้า

    “ลองนึกดูว่าถ้ามีแข่งซอฟต์บอล มีเด็กอยู่ 16 คน กับซุ้มขายน้ำมะนาวเต็มไปหมด” Steve McLaughlin ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง FT Partners วาณิชธนกิจที่เน้นทำธุรกิจฟินเทคจาก San Francisco กล่าว “ต่อให้น้ำมะนาวรสชาติดีเยี่ยม แต่สุดท้ายทุกร้านก็จะเจ๊งกันหมดอยู่ดี”

    ปัญหาสภาวะที่มีคู่แข่งล้นพ้นกำลังก่อตัวกับบรรดาบริษัทที่ให้บริการด้าน Banking-as-a-Service หรือ BaaS ที่บริษัทสตาร์ทอัพส่วนหนึ่งพยายามหว่านล้อมขายซอฟต์แวร์ของตัวเองให้แก่บริษัทอื่นๆ ด้วยสรรพคุณเกินจริง โดยเฉพาะผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่อยากจะเปิดบริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างบัญชีกระแสรายวันหรือบัญชีออมทรัพย์ด้วย บริษัทผู้ให้บริการด้าน BaaS ที่มั่นคงที่สุด 2 แห่งและอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต่างตั้งอยู่ใน Austin รัฐ Texas ได้แก่ Green Dot ที่มีมูลค่าตลาด 940 ล้านเหรียญและทำกำไรได้เพียงเล็กน้อย กับ Q2 ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาด 1.8 พันล้านเหรียญและไม่เคยทำกำไรได้เลยนับตั้งแต่ IPO เมื่อปี 2014 แถมยังขาดทุน 100 ล้านเหรียญในช่วง 12 เดือนก่อนหน้าจากรายได้รวม 550 ล้านเหรียญ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2020 บริษัทสตาร์ทอัพที่ให้บริการด้าน BaaS 13 แห่ง ระดมทุนจาก VC ได้รวมกัน 2.1 พันล้านเหรียญ ตามข้อมูลจาก CB Insights ที่ได้ระบุไว้

    ไม่เพียงแต่บริษัทผู้ให้บริการด้าน BaaS จะมีจำนวนเหลือล้นในตลาดที่มีลูกค้าแค่เพียงหยิบมือเท่านั้น ส่วนมากยังขาดสภาพคล่องและกำลังจะต้องเจอกับกฎระเบียบที่มาเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานให้อีกต่อหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากระทรวงการคลังสหรัฐออกรายงานแนะนำให้บริษัทต่างๆ รวมถึงผู้ให้บริการด้าน BaaS ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารและฟินเทคต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ และเข้ารับการตรวจสอบโดยหน่วยงานกำกับดูแลธนาคาร ซึ่งรวมถึงสำนักงานคุ้มครองด้านการเงินของผู้บริโภคด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่สตาร์ทอัพซึ่งให้บริการ

    ด้าน BaaS มากมายกำลังประกาศขายกิจการ ทั้งนี้ข้อมูลจากคนในวงการที่ชี้ว่า Rize บริษัทที่ให้บริการด้าน BaaS ใน New York กำลังมองหาผู้ซื้อ (ทางบริษัทไม่ตอบรับคำขอสัมภาษณ์ของ Forbes) เช่นเดียวกับ Railsr บริษัทผู้ให้บริการด้าน BaaS ในสหราชอาณาจักร โฆษกของทางบริษัทระบุว่า “สถานการณ์ของตลาดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาผลักดันให้ต้องต่อสู้ดิ้นรนและเกิดการควบรวมกิจการขึ้น”

    สตาร์ทอัพใน San Francisco อย่าง Synapse มีความสามารถในการดึงดูดลูกค้ามากกว่าบริษัทผู้ให้บริการด้าน BaaS ส่วนใหญ่ แต่การบริหารงานอันเลวร้าย เช่น การสั่งปลดพนักงานตามอำเภอใจทำให้คนที่มีความสามารถต่างพากันลาออกไปเมื่อปี 2020 โดยมีข่าวจากวงในว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา Synapse ตระเวนเร่ขายบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินในการระดมทุนรอบล่าสุดเมื่อปี 2019 อย่างมาก ส่วนโฆษกของทางบริษัทยืนยันว่า “Synapse มีสภาพคล่องดี และกำลังเติบโตด้วยงบดุลที่แข็งแรง โดยไม่ได้กำลังประกาศขายกิจการ” พร้อมปฏิเสธด้วยว่า ไม่ได้มีปัญหาพนักงานแห่ลาออกกันเป็นจำนวนมาก

    ความล้มเหลวของบริษัทผู้ให้บริการด้าน BaaS ที่เกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหงนับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบธุรกิจฟินเทคในภาพรวม เพราะซอฟต์แวร์ของบริษัทเหล่านี้ถือเป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมต่อกับธนาคารแบบดั้งเดิมต่างๆ “จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของคุณเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ไม่มีกำไรและระดมทุนรอบต่อไปไม่ได้” Merritt Hummer นักลงทุนฟินเทคและพาร์ตเนอร์จาก Bain Capital ตั้งคำถาม ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อว่าการสูญเสียเลือดเนื้อของบรรดาฟินเทคเป็นเรื่องเลวร้าย พันธมิตรคนหนึ่งจากบริษัท VC ชั้นนำกล่าวว่า “ฉันเห็นว่านี่เป็นเพียงธรรมชาติอย่างหนึ่งของการสะสมทุน”

    

    อ่านเพิ่มเติม : MFC เปิดตัวกองทุน "MDIGI1YA" ชูจุดเด่นลดความเสี่ยงจากการขาดทุนเงินต้น พร้อมผลตอบแทนคงที่ จากสัญญาวอร์แรนท์ทุก 3 เดือน

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine