ผู้ผลิตรองเท้ามากมายมีการนำเทคโนโลยีพรินต์สามมิติ (3D Printing) มาใช้หลายปีแล้ว แบรนด์ใหญ่ของวงการรองเท้าแฟชั่นอย่าง Adidas, Nike, New Balance, Dior, Reebok และ Fendi ต่างก็เคยเปิดตัวรองเท้าพรินต์สามมิติลิมิเต็ดอีดิชัน ทว่าแทบทั้งหมดล้มเหลวในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้ต่อ
การพรินต์สามมิติยังดีไม่พอหรือเปล่า? วงการรองเท้ายังไม่ล้ำหน้าพอจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์วิธีการผลิตแบบนี้หรือไม่?
อาจผิดทั้งสองอย่าง
“เรายังขาดความรู้โดยทั่วไปเกี่ยวกับเทคโนโลยีการพรินต์สามมิติในธุรกิจรองเท้า และเราก็ยังขาดความรู้เกี่ยวกับรองเท้าในธุรกิจการพรินต์สามมิติเป็นอย่างมาก” Nicoline van Enter ที่ปรึกษาธุรกิจรองเท้าและผู้เชี่ยวชาญการพรินต์สามมิติกล่าว
งาน Footprint 3D ของเธอที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายนออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยการพาผู้บริหารแบรนด์ต่างๆ และผู้ผลิตเครื่องพรินต์สามมิติมาสนทนากันว่าด้วยเรื่องของเทคโนโลยี การผลิต และสิ่งที่แต่ละฝั่งวาดหวังไว้เกี่ยวกับอนาคตของวงการรองเท้า
ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกัน
งานประชุมและการจัดแสดงสินค้าว่าด้วยรองเท้าพรินต์สามมิติอย่างเป็นทางการที่เตรียมจะจัดขึ้นในเดือนกันยายน ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน จะเป็นการรวบรวมแบรนด์ดังที่ผลิตรองเท้าพรินต์สามมิติพร้อมด้วยบรรดาสตาร์ทอัพมาอวดโฉมนวัตกรรมรองเท้า และกระบวนการผลิตที่พวกเขาพัฒนาขึ้นเพื่อพาผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้าสู่ท้องตลาด
รองเท้าวิ่งที่มีพรินต์สามมิติแผ่นรองกลางฝ่าเท้า
“เราเห็นบริษัทต่างๆ หันมาให้ความสนใจรับเอาการพรินต์สามมิติไปใช้อย่างจริงจังกันมากขึ้น” Nicoline van Enter ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง Footwearlogy Lab แพลตฟอร์มให้ความรู้ว่าด้วยนวัตกรรมรองเท้าออนไลน์ กล่าว
แม้บริษัทมากมายจะให้ความสนใจการพรินต์สามมิติ แต่ก็ยังมีเหตุผลหลายข้อของเบื้องหลังความสัมพันธ์รักๆ เลิกๆ ระหว่างการพรินต์สามมิติและตัวรองเท้า ตัวอย่างเช่น วัสดุและเครื่องจักรราคาแพง ความสามารถในการผลิตที่จำกัด อีกทั้งที่ผู้บริโภคก็ยังไม่ค่อยให้ความสนใจ
หลายปีมาแล้ว รองเท้าพรินต์สามมิติเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ก่อนจะค่อยๆ จืดจางหายไป แบรนด์แฟชั่น Dior ส่งนายแบบขึ้นเวที Paris Fashion Week 2023 พร้อมรองเท้ารุ่น Derby คลาสสิกที่ไม่มีจำหน่ายแล้วในเวอร์ชันพรินต์สามมิติราคา 250 เหรียญสหรัฐฯ
“ผมไม่คิดว่าแบรนด์ใหญ่ๆ จะไปถึงเป้าหมายกันแล้ว อย่างน้อยก็เท่าที่พวกเขาเปิดเผยให้เราเห็นเป็นสาธารณะ” Philippe Holthuizen ผู้ก่อต้ังสตาร์ทอัพรองเท้าพรินต์สามมิติแสดงความคิดเห็น “ผลงานออกแบบส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยการตลาด น้อยนักที่เป็นไปเพื่อการผลิตและการขายระยะยาว”
การเปลี่ยนวิธีการผลิตรองเท้าจากแบบหนึ่งไปยังอีกแบบหนึ่งสำหรับแบรนด์ใหญ่นั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยง สำหรับบริษัทรายเล็กกว่าที่ล่วงหน้าไปไกลแล้ว ความเสี่ยงอาจมีน้อยกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี
อันที่จริง ก่อนหน้ามีแรงกระตุ้นผู้ผลิตสู่การพรินต์สามมิติเพียงน้อยนิดและไม่มีผลประโยชน์ที่จับต้องได้สำหรับผู้บริโภคเลย แต่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป
ด้วยการยกระดับความสนใจในการลดความยุ่งยากในห่วงโซ่อุปทาน และการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมรองเท้า แบรนด์ทั้งหลายมองว่าการพรินต์สามมิติตอบโจทย์ทั้งสองข้อนี้
เพิ่มความยืดหยุ่นให้รองเท้า
สินค้าล้นคลังและการออกแบบที่พลาดเป้าผู้บริโภคลุกลามหนักในหมู่ผู้ผลิต รองเท้ากว่า 2 หมื่นล้านคู่ถูกผลิตขึ้นทุกปี และแทบทั้งหมดจบลงในหลุมฝังกลบ ประมาณได้ว่าหนึ่งในห้าถูกส่งตรงไปยังถังขยะทั้งที่ยังไม่เคยมีใครสวมใส่
การพรินต์สามมิติมอบความสามารถในการผลิตรองเท้าแต่ละคู่ตามจำนวนที่ต้องการ หรืออย่างน้อยก็ผลิตรองเท้าน้อยลงกว่าเดิม ดึงดูดแบรนด์ที่ต้องการกำจัดขยะ นอกจากนี้ยังมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแบบได้บ่อยๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อผลิตแม่พิมพ์และอุปกรณ์ใหม่
นอกเหนือจากการพรินต์ตามจำนวนที่ต้องการ การผลิตรองเท้าที่รีไซเคิลได้ทั้งคู่ก็เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งด้วยเช่นกัน
บริษัทสตาร์ทอัพรองเท้าพรินต์สามมิติ Zellerfeld เพิ่งเปิดตัวแพลตฟอร์มรองเท้าพรินต์สามมิติไปเมื่อต้นปีนี้ พวกเขาผลิตรองเท้าตามที่ลูกค้าต้องการ แต่ละคู่เป็นไปตามเท้าของผู้สวมใส่จากการสแกนสามมิติที่บ้านด้วยสมาร์ทโฟน
รองเท้ารุ่น Nami จาก Zellerfeld
Zellerfeld ไม่มีคลังสินค้า และลูกค้าสามารถนำรองเท้ามาคืนให้พวกเขารีไซเคิลให้ได้ พวกเขารับบทเป็นผู้ให้บริการพรินต์สามมิติสำหรับกลุ่มนักออกแบบรองเท้าทรงอิทธิพล เช่น Heron Preston, KidSuper, Rains และ Kitty ด้วยกองทัพเครื่องพรินต์สามมิติตามสั่งที่ทำงานแทบจะตลอดเวลา
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Zellerfeld จับมือกับแบรนด์เสื้อผ้าลักชูรีสัญชาติอิตาเลียน Moncler ในการเปิดตัวรองเท้า Trailgrip แบบพรินต์สามมิติ
ยกระดับธุรกิจด้วยการพรินต์สามมิติ
“ตั้งแต่ Zellerfeld เปิดตัวเป็นต้นมา เราก็ได้รับสายจากบริษัทที่อยากทำแบบนั้นบ้างทุกวัน” van Enter เล่า แต่รองเท้าพรินต์สามมิติไม่ใช่เพียงวิธีการผลิตเท่านั้น เธอเตือนว่า มันคือห่วงโซ่อุปทานใหม่ทั้งหมดรวมถึงกระบวนการใหม่ที่ต้องมาพร้อมวิธีการออกแบบรองเท้าใหม่ด้วยซอฟต์แวร์ที่แตกต่างและวัสดุพิเศษ
เป็นระยะเวลาหลายปีที่ผู้ผลิตเครื่องพรินต์สามมิติพยายามขายเครื่องพรินต์ให้กับบริษัทรองเท้า “ผลตอบรับที่ออกมาไม่ค่อยดีนัก เพราะพวกเขาไม่สามารถผสมผสานมันเข้ากับการผลิตที่มีอยู่ได้” van Enter เผย
การพรินต์สามมิติจำเป็นต้องมีกระบวนการ วัสดุ และชุดทักษะของพนักงานที่แตกต่างจากการผลิตแบบเดิม พร้อมด้วยป้ายราคาหกหลักสำหรับเครื่องพรินต์แบบเรซินและแบบแป้ง (แป้งในที่นี้คือวัสดุที่เป็นผง เช่น ผงยิปซัม หรือผงพลาสติก) ทั้งหมดนี้คือการลงทุนราคาแพงจนน่าผวาเลยทีเดียว
แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น อุตสาหกรรมนี้กลับต้องการโมเดลธุรกิจใหม่ van Enter กล่าว โดยจะต้องเป็นโมเดลที่เปลี่ยนจุดสนใจจากการผลิตจำนวนมากมาเป็นการผลิตตามจำนวนความต้องการ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับแบรนด์ใหญ่
วิธีการแก้ปัญหาหนึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน โดยวางศูนย์กลางไว้ที่การพรินต์สามมิติในฐานะบริการ อันมีผู้เชี่ยวชาญการพรินต์สามมิติ เช่น ผู้ผลิตเครื่องพรินต์ ดูแลแพลตฟอร์มการผลิตให้กับแบรนด์ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นพันธมิตรการวิจัยและพัฒนา
รองเท้ารุ่น 16kW จาก Koobz ผลิตจาก TPU รีไซเคิล
นอกเหนือจากบริการของ Zellerfeld เพิ่งมีการเปิดตัวอีกสองสตาร์ทอัพแพลตฟอร์มพรินต์รองเท้าสามมิติเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ Koobz ที่มีบริการแบบเบ็ดเสร็จเพื่อ “สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงการผลิตรองเท้า” และอีกหนึ่งคือ Hilos จากเมืองพอร์ตแลนด์ที่เพิ่งประกาศว่าระดมทุนได้ 5 ล้านเหรียญ ซึ่งในบรรดาผู้ลงทุนเหล่านั้นยังมีอดีตผู้บริหาร Nike หลายคนรวมอยู่ด้วย
Hilos คาดหวังจับมือกับแบรนด์รองเท้าต่างๆ เพื่อนำเสนอพื้นรองเท้าพรินต์สามมิติ ซึ่งผลิตจากเครื่องพรินต์สามมิติของ HP และสามารถรีไซเคิลได้เมื่อสิ้นอายุการใช้งาน
อันที่จริงแล้ว บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง HP ก็ตั้งเป้าลดภาระในกระบวนการผลิตให้กับผู้ผลิตรองเท้าอยู่เช่นกัน โดย HP มีสำนักงานใหญ่ด้านการผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ (Additive Manufacturing) หรือการพรินต์สามมิติอยู่ที่เมืองบาร์เซโลนา
ในการเปิดตัวคอนเซ็ปต์รองเท้าล่าสุดร่วมกับแบรนด์กีฬา Decathlon ทางบริษัทแสดงให้เห็นว่าความสามารถด้านการออกแบบและการผลิตช่วยให้พวกเขาตระหนักถึงความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีพรินต์สามมิติมาใช้อย่างไร
ผลลัพธ์นั้นคือรองเท้าที่ส่วนผ้าด้านบนกับพื้นพรินต์สามมิติถอดแยกจากกันได้ ทั้งสองส่วนสามารถสร้างสรรค์ตามความชอบและความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคน การประกอบโดยปราศจากกาวยังช่วยให้ซ่อมแซมง่ายเมื่อรองเท้าได้รับความเสียหาย ยืดอายุผลิตภัณฑ์ และลดขยะ
“เราภาคภูมิใจที่ได้จับมือกับ Decathlon นำเสนอศักยภาพอันยอดเยี่ยมของการพรินต์สามมิติเพื่อเพิ่มความยั่งยืนให้กับการผลิต” Don Albert หัวหน้าฝ่ายรองเท้าและกีฬาฝ่ายผลิตภัณฑ์เฉพาะบุคคลและการพรินต์สามมิติของ HP แถลง
ที่ไหนก็ผลิตรองเท้าได้
ความร่วมมือระหว่าง HP และ Decathon ในการผลิตรองเท้าด้วยเครื่องพรินต์สามมิติของ HP อันเป็นที่โปรดปรานของผู้ให้บริการงานพรินต์ทั่วโลก เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการผลิตรองเท้าได้ตามต้องการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
รองเท้าราว 85% ผลิตจากโรงงานในเอเชีย แต่การพรินต์สามมิติช่วยให้สามารถผลิตรองเท้าที่ต้นทางได้เลย
“เราภูมิใจที่จะกล่าวว่ารองเท้าทุกคู่ของ Made Plus บรรจงสร้างสรรค์ขึ้นที่สหรัฐฯ แห่งนี้” คือข้อความในหน้าแนะนำตัวบนเว็บไซต์ของ Made Plus สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยอดีตผู้บริหาร UnderArmor และ Nike
รองเท้ารุ่น Kodo จาก Fused Footwear
Made Plus ที่ผลิตสินค้าแบบตามสั่ง (Made-to-order) ปล่อยรองเท้าคู่แรกออกมาให้ได้รับชมกันในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตอนนี้ทางแบรนด์ใช้การพรินต์สามมิติแค่กับพื้นรองเท้าด้านในเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ถักทอโดยใช้วัสดุทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิล
รองเท้าพรินต์สามมิติหลายคู่ถูกผลิตโดยใช้เครื่องพรินต์สามมิติระดับอุตสาหกรรมอย่างบริษัท HP หรือ Carbon ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ แต่แพลตฟอร์มใหม่ เช่น Zellerfeld, Fused Footwear และอื่นๆ ใช้เทคโนโลยีราคาประหยัดกว่านี้ โดยเหมือนกับเครื่องพรินต์สามมิติตั้งโต๊ะสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งอาจมีราคาต่ำกว่า 1,000 เหรียญต่อเครื่อง
พื้นรองเท้าพรินต์สามมิติเลียนแบบไม้จากสตาร์ทอัพ Hilos
ย่างก้าวในรองเท้าพรินต์สามมิติ
เมื่อบรรดาผู้บริหารแบรนด์รองเท้าได้พบปะกันที่งาน Footprint 3D ณ เมืองบาร์เซโลนา พวกเขาจะมีโอกาสได้สัมผัส รู้สึก และลองสวมรองเท้าพรินต์สามมิติ ซึ่งก็น่าจะเป็นการเปิดหูเปิดตาให้กว้างขึ้น van Enter กล่าว
ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปีที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี มีการเผยโฉมรองเท้าพรินต์สามมิติในงานแสดงรองเท้า MICAM ผู้ค้าปลีกมากมายมาเยือนบูธ Footwearology Lab ของ van Enter ด้วยความคิดว่ารองเท้าพวกนี้จะต้องแข็งและไม่สบายเท้า
“พวกเขารู้สึกอึ้งไปเลยเมื่อได้สัมผัสแล้วว่ามันนุ่มสบายขนาดไหน” และตอนนี้มันก็ขึ้นอยู่กับร้านค้าต่างๆ แล้วว่าจะนำรองเท้าพรินต์สามมิติเหล่านี้ไปนำเสนอผู้บริโภคกันมากขึ้นหรือเปล่า
แปลและเรียบเรียงจากบทความ 3D Printing Meets The Billion-Dollar Footwear Industry ซึ่งเผยแพร่บน Forbes
อ่านเพิ่มเติม : ประธานวงศ์ พรประภา ปักธง “BYD” ไทยฐานผลิตรถไฟฟ้าอาเซียนประธานวงศ์ พรประภา ปักธง “BYD” ไทยฐานผลิตรถไฟฟ้าอาเซียน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine