อุตสาหกรรมการเงิน กำลังแข่งขันเพื่อจัดหาเครื่องมือพื้นฐานด้านเครดิตและเงินออมแก่ประชากร 1.7 พันล้านคนบนโลกที่ไม่มีบัญชีธนาคารจะช่วยเปลี่ยนชีวิต ทำให้โลกร่ำรวยขึ้นและเป็นการวางรากฐานขุมทรัพย์แห่งใหม่บางส่วนของศตวรรษนี้ พบ 3 ธุรกิจด้านการเงินที่มุ่งเป้าคว้าขุมทรัพย์แห่งโลกดิจิทัล
Tala ประเมินสินเชื่อผ่านสมาร์ทโฟน Siroya ผู้ก่อตั้ง Tala ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ชาวอินเดียที่เป็นผู้อพยพในละแวก Park Slope ซึ่งเป็นย่านที่ได้รับการพัฒนาจากแหล่งเสื่อมโทรมของ Brooklyn ทั้งคู่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพเธอเข้าเรียนที่โรงเรียน United Nations International School ใน Manhattan ได้รับปริญญาจาก Wesleyan และ Columbia และทำงานเป็นนักวิเคราะห์ด้านวาณิชธนกิจที่ Credit Suisse และ UBS ในช่วงแรกเริ่มของการทำงานในปี 2006 เธอได้รับมอบหมายให้ประเมินผลกระทบของสินเชื่อรายย่อยในประเทศในทวีปแอฟริกาที่ตั้งอยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา (sub-Saharan) และแอฟริกาตะวันตกแก่องค์การสหประชาชาติ (UN) เธอติดตามผู้หญิงที่ทำเรื่องขอกู้เงินไม่กี่ร้อยเหรียญจากธนาคารและต้องประหลาดใจ กับจำนวนผู้ที่ถูกปฏิเสธ “พนักงานธนาคารจะบอกฉันว่า ‘เราจะไม่ให้บริการลูกค้ากลุ่มนี้’” เธอกล่าว ขณะที่ธนาคารมองเห็นความเสี่ยง แต่เธอมองเห็นโอกาสในงานที่เธอทำให้กับยูเอ็นนั้น เธอได้สัมภาษณ์คน 3,500 คนเกี่ยวกับวิธีการหาเงิน ใช้จ่าย หยิบยืมและเก็บออมของพวกเขา ข้อมูลเชิงลึกเหล่านั้นนำไปสู่การถือกำเนิดของ Tala ผู้สมัครสินเชื่อสามารถพิสูจน์ความน่าเชื่อถือทางเครดิตของพวกเขาผ่านกิจกรรมรายวันและรายสัปดาห์ที่บันทึกไว้ในโทรศัพท์ ผู้สมัครจะถูกมองว่ามีความน่าเชื่อถือ ถ้าเธอทำกิจกรรมอย่างโทรศัพท์หามารดาเป็นประจำ หรือจ่ายค่าไฟค่าน้ำตรงเวลา “เราใช้ร่องรอยทางดิจิทัลของผู้สมัคร” Siroya กล่าว Tala เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้มีลูกค้าแล้วกว่า 4 ล้านรายใน 5 ประเทศ ซึ่งกู้เงินรวมกันแล้วกว่าพันล้านเหรียญ บริษัทสามารถทำกำไรในเคนยาและฟิลิปปินส์ และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในแทนซาเนีย เม็กซิโก และอินเดีย Remitly บริการโอนกลับบ้านด้วยค่าบริการเป็นมิตร Matt Oppenheimer ผู้ร่วมก่อตั้ง Remitly วัย 37 ปี ได้รับแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นบริการธุรกิจโอนเงินกลับขณะทำงานที่ธนาคาร Barclays Bank of Kenya ที่นั่นเขารับผิดชอบงานด้านบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถืออยู่ 1 ปีตั้งแต่ปี 2010 Oppenheimer มาจากเมือง Boise รัฐ Idaho เขาจบปริญญาสาขาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Dartmouth และ MBA จาก Harvard ก่อนจะไปทำงานที่ธนาคาร Barclays ใน London เมื่อเขาถูกโอนย้ายไปทำงานที่เคนยา เขาได้สังเกตเห็นว่าเงินที่ส่งกลับมาสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างบ้านที่มีและไม่มีท่อน้ำประปา “ผมเห็นว่าเงิน 200, 250, 300 เหรียญในเคนยาสามารถทำอะไรได้มากจริงๆ” เขากล่าว Oppenheimer ลาออกจาก Barclays ในปี 2011 และร่วมกับ Shivaas Gulati ผู้อพยพชาวอินเดียวัย 31 ปี ที่มีดีกรีปริญญาโทด้านไอทีจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon นำเสนอไอเดียของเขาแก่โครงการบ่มเพาะธุรกิจของ Techstars ใน Seattle ที่นั่นพวกเขาได้พบผู้ร่วมก่อตั้งคนที่ 3 Josh Hug วัย 41 ปี ก่อนหน้านี้ Hug ขายบริษัทสตาร์ทอัพแห่งแรกของเขาแก่ Amazon เครือข่ายทางธุรกิจของเขานำเขาไปสู่บริษัทจัดการกองทุน Bezos Expeditions ซึ่งบริหารสินทรัพย์ส่วนตัวของ Jeff Bezos กองทุนดังกล่าวกลายมาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนรายแรกๆ ของ Remitly จนถึงวันนี้ Remitly สามารถระดมทุนได้แล้ว 312 ล้านเหรียญ และได้รับการประเมินมูลค่าที่เกือบ 1 พันล้านเหรียญ Oppenheimer และทีมของเขาสามารถคงอัตราการดำเนินการที่ระดับต่ำได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาใช้ระบบการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) และเทคโนโลยีอื่นๆ ในการสกัดผู้ก่อการร้าย มิจฉาชีพ และนักฟอกเงินจากการโอนเงินอัลกอริทึมจะตั้งคำถามน้อยกว่ากับลูกค้าที่โอนเงินจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับลูกค้าที่ส่งเงินกลับในจำนวนมากๆ Remitly โอนเงินปีละ 6 พันล้านเหรียญ โดยให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการส่งเงินกลับใน 16 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ในจุดหมายปลายทาง 45 ประเทศ ในครึ่งแรกของปี 2019 บริษัทเพิ่มจุดหมายประเทศผู้รับอีก 15 ประเทศ M-Pesa โอนเงินดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟน จุดเริ่มต้นของ M-Pesa (pesa มีความหมายว่า ‘เงิน’ ในภาษาสวาฮีลี) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเงินเคลื่อนที่รายแรกในแอฟริกา เกิดขึ้นในปี 2003 เมื่อ Nick Hughes ผู้บริหาร Vodafone ที่นำทีมพนักงาน 5 คนในการทำภารกิจสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคม ความคิดของ Hughes คือ สร้างระบบโอนเงินดิจิทัลที่ทำงานผ่านโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่ M-Pesa เปิดตัวในปี 2007 บริการได้เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในด้านขนาดและความแพร่หลาย ขนาดที่คนขับแท็กซี่ชาวเคนยาไม่ชอบใจเมื่อผู้โดยสารจ่ายค่าแท็กซี่เป็นเงินสด 69% ของครัวเรือนในเคนยาหันมาทำธุรกรรมผ่าน M-Pasa ก่อนที่จะมีบริการนี้มีชาวเคนยาเพียง 27% จากประชากร 38 ล้านคนที่มีบัญชีธนาคารตั้งแต่นั้นมาจำนวนประชากรในเคนยาเพิ่มขึ้นเป็น 51 ล้านคนและมีถึงร้อยละ 83 ที่มีบัญชีเงินฝากที่รองรับการชำระเช็คเงินสดหรือบัญชีออมทรัพย์ บริการได้ขยายไปใน 8 ประเทศรวมทั้งอียิปต์และอินเดีย M-Pesa ไม่คิดค่าบริการเมื่อส่งเงินน้อยกว่า 50 เซนต์ จำนวนที่มากกว่านั้นจะต้องจ่ายค่าบริการที่ 1-2% เป็นผลให้ M-Pesa ที่ดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทลูกต่างๆ ทำรายได้ค่าบริการรายปีราว 840 ล้านเหรียญให้แก่ Vodafone การเข้าสู่ตลาดของ M-Pesa มีผลกระทบกว้างขวางต่อแวดวงธุรกิจสตาร์ทอัพในเคนยา ผู้ขายสินค้าคงทนต่างก็นำเสนอแผนชำระเงินแบบ “จ่ายไปใช้ไป” ที่ช่วยเพิ่มลูกค้าใหม่หลายล้านคนตัวอย่างเช่น บริษัท Deevabits จาก Nairobi ซึ่งดำเนินธุรกิจมาได้ 3 ปีจากการจำหน่ายระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อที่พักอาศัยมูลค่า 80 เหรียญในหมู่บ้านห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ลูกค้าทุกคนของบริษัทใช้บริการ M-Pesa ในการโอนเงินมัดจำก้อนแรก พวกเขาจ่ายส่วนที่เหลือผ่านระบบของ M-Pesa โดยมีส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มวันละ 50 เซนต์ในระยะ 8 เดือน “M-Pesa เปลี่ยนโฉมการทำธุรกิจในเคนยา” David Wanjau ผู้ก่อตั้งและซีอีโอวัย 32 ปีของ Deevabits กล่าว “เราคงทำธุรกิจไม่ได้ถ้าไม่มี M-Pesa” เรื่อง: Jeff Kauflin และ Susan Adams เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม ภาพ: Jamel Toppinคลิกอ่านฉบับเต็ม "ลายแทงขุมทรัพย์สุดท้ายแห่ง "อุตสาหกรรมการเงิน" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับมกราคม 2563 ได้รูปแบบ e-magazine