ปัญหาการเงินของบริษัทที่บริหารจัดการทรัพยากรน้ำสำหรับประชากรกว่าหนึ่งในห้าของสหราชอาณาจักร ได้เน้นย้ำสัญญาณเตือนระดับความเลวร้ายของสถานการณ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่คอยลำเลียงทรัพยากรอันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์
ที่บริษัทสาธารณูปโภคของลอนดอน Thames Water ปัญหาเหล่านี้มีความรุนแรงถึงขีดสุด แต่บริษัทรายอื่นๆ ทั้งในอังกฤษและเวลส์ต่างก็กำลังดิ้นรนอยู่เช่นกัน เพื่อคอยให้บริการที่ไว้วางใจได้ภายใต้ภาระหนี้สินอันหนักอึ้งซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่มีการขายให้กลุ่มนักลงทุนเอกชนเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว
ภาคส่วนด้านน้ำของสหราชอาณาจักรนั้น “อยู่ท่ามกลางวิกฤตมากมายอย่างชัดเจน” Dieter Heim ศาสตราจารย์ด้านนโยบายเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าว
“งานแต่ละวันในการบำรุงรักษาสินทรัพย์...และบรรลุเกณฑ์วัดผลด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ยังไม่สำเร็จลงด้วยดี และในบางกรณีก็แย่มากๆ ด้วย” Helm เผยกับ CNN และเสริมว่า “วิศวกรรมการเงินที่แพร่หลาย” เพื่อเสริมการจ่ายเงินปันผลให้บรรดาผู้ถือหุ้นนั้นพาให้อุตสาหกรรมนี้ตกอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง
น้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมาสู่ห้วย Earlswood จากการบำบัดโดย Thames Water ในเดือนเมษายน 2023
น้ำเสียที่ปนเปื้อนแม่น้ำและชายฝั่งเกิดขึ้นทุกวัน การรั่วไหลนั้นมหาศาล บริการย่ำแย่ สวนทางกับค่าใช้จ่ายสูงลิบ และยังจะเพิ่มขึ้นได้อีกในปี 2025 อันเนื่องมาจากหนี้สินที่ทับถมเป็นภูเขาเติมความยากลำบากในการแก้ปัญหาให้กับบริษัทต่างๆ
แม้บันทึกติดตามการรั่วไหลและน้ำเสียจะมีผลดีขึ้นหลังมีการเปลี่ยนมือมายังเอกชน บริษัทต่างๆ ในอังกฤษและเวลส์ก็ยังมีการรั่วไหลของน้ำถึง 51 ลิตรต่อคนต่อวันระหว่างเดือนเมษายน 2020 ถึงมีนาคม 2021 อ้างอิงจากหน่วยงานกำกับดูแลน้ำ Ofwat โดยปริมาณที่กล่าวมานี้มากพอจะเติมสระว่ายน้ำโอลิมปิกกว่า 1,200 สระจนเต็มทุกวัน
Ofwat กล่าวในเดือนธันวาคม 2022 ที่ผ่านมาว่าพวกเขาได้ “ยกระดับ” ความกังวลเกี่ยวกับการเงินของ 8 จาก 17 สาธารณูปโภคด้านน้ำที่พวกเขากำกับดูแล ซึ่งทั้งหมดนั้นจัดหาน้ำดื่มและบัดน้ำเสียแก่ผู้คนมากกว่า 37 ล้านคนในอังกฤษและเวลส์ คิดเป็น 62% ของประชากรรวม
Thames Water ประสบปัญหา
ปัญหาเรื้อรังยาวนานในอุตสาหกรรมถูกผลักดันจนเป็นที่สนใจอันเนื่องมาจากวิกฤตเงินสดที่บานปลายของ Thames Water ซึ่งให้บริการประชาชน 15 ล้านคนในลอนดอนและตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ
บริษัทจัดการทรัพยากรน้ำรายใหญ่สุดของอังกฤษแห่งนี้เผยเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า พวกเขาจำเป็นต้องระดมทุนเป็นเงินสดจากนักลงทุนทั้งหลายเพื่อนำมาสนับสนุนแผนการพลิกฟื้นกิจการ หลายวันถัดมา ทางบริษัทก็ถูกศาลอังกฤษสั่งปรับเป็นเงิน 3.3 ล้านปอนด์ (4.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ภายหลังจากยอมรับผิดที่ปนเปื้อนแม่น้ำในปี 2017
Thames Water ยังพยายามจะระดมทุนเพิ่มเติมอีก 1 พันล้านปอนด์ (1.3 พันล้านเหรียญ) จากผู้ถือหุ้นมามากกว่าหนึ่งปี โดยในบรรดาผู้ถือหุ้นนั้นมีกองทุนบำเหน็จบำนาญของแคนาดาตลอดจนกองทุนความมั่งคั่งของจีนและอะบูดาบีรวมอยู่ด้วย
แต่เหล่านักลงทุนซึ่งเคยอัดฉีดเงิน 500 ล้านปอนด์ (638.6 ล้านเหรียญ) ให้กับทางบริษัทไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม “เริ่มจะกังวลเรื่องความสำเร็จในการพลิกฟื้นบริษัท” David Black ซีอีโอแห่ง Ofwat เผยกับทางคณะกรรมาธิการด้านนิติบัญญัติเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม
ภาพถ่ายทางอากาศระบบบำบัดน้ำเสียของ Thames Water ทางตะวันตกของลอนดอน
Iain Coucher ประธาน Ofwat แนะว่าบริษัทอาจจำเป็นต้องมีเงินสดมากกว่านี้ “มีบทสนทนาที่ยังคงดำเนินอยู่ว่าด้วยเงิน 1 พันล้านปอนด์ที่เหลือ ซึ่งไม่แน่ใจว่ามันจะเพียงพอหรือเปล่า” เขาบอกคณะกรรมาธิการ
ความต้องการเงินทุนของ Thames Water อาจหนักหนาสาหัสที่สุด ด้วยหนี้สินที่คั่งค้างถึง 1.4 หมื่นล้านปอนด์ (1.75 หมื่นล้านเหรียญ) และประสิทธิภาพการดำเนินงานไม่ค่อยสู้ดี แต่พวกเขาไม่ใช่รายเดียวที่ต้องการความช่วยเหลือจากนักลงทุน
“ผมเข้าใจว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังจะประกาศว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการระดุมทุนในอนาคตอันใกล้” เขากล่าว ชี้ว่า Yorkshire Water เพิ่งจะได้รับเงิน 500 ล้านปอนด์ (638.6 ล้านเหรียญ) จากนักลงทุน
อีกทั้งเขายังเสริมว่าเหล่านักลงทุนในปัจจุบันอาจยังไม่มี “ความกระหาย” ที่จะลงทุนในบริษัทจัดการทรัพยากรน้ำเพิ่มเติม สำหรับกรณีนี้จำเป็นต้องสรรหานักลงทุนหน้าใหม่ หรือไม่รัฐบาลอังกฤษก็อาจต้องพิจารณาเข้ามาถือกรรมสิทธิ์ชั่วคราวเป็นทางเลือกสุดท้าย
เหตุใดจึงเลวร้ายถึงเพียงนี้?
บริษัทจัดการทรัพยากรน้ำในอังกฤษและเวลส์กลายมาเป็นของเอกชนในสมัยรัฐบาลอนุรักษ์นิยมภายใต้นายกรัฐมนตรีหญิง Margaret Thatcher เมื่อปี 1989 ด้วยเหตุผลในการปลดขีดจำกัดการลงทุนทหาศาล เพื่อยกระดับเครือข่ายบำบัดน้ำเสียที่มีมาตั้งแต่สมัยวิกตอเรียนของอังกฤษ ทว่าก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากพอ
“เงินถูกนำออกไปไม่ใช่ใส่เข้ามา” David Hall ศาสตราจารย์อาคันตุกะที่ Public Services International Research Unit ณ University of Greenwich ในลอนดอนกล่าว
Hall ประเมินว่าบริษัทจัดการทรัพยากรน้ำในอังกฤษและเวลส์จ่ายเงินปันผลรวมมูลค่า 7.5 หมื่นล้านปอนด์ (9.56 หมื่นล้านเหรียญ) หลังเปลี่ยนสู่เอกชน โดยตัวเลขนี้มีการปรับค่าเงินเฟ้อแล้ว ซึ่งเงินปันผลส่วนมากที่จ่ายออกไปก็มาจากการกู้ยืมใหม่
บริษัทจัดการทรัพยากรน้ำต่างๆ สะสมหนี้สินมากกว่า 6 หมื่นล้านปอนด์ (7.65 หมื่นล้านเหรียญ) นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนมือมายังเอกชน ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาไม่มีหนี้เลย นอกจากนี้พวกเขายังระดมเงินทุนใหม่ๆ จากผู้ถือหุ้นได้เพียงน้อยนิด อ้างอิงจาก Ofwat
“จริงแท้แน่นอนว่าในทุกปีนับตั้งแต่เปลี่ยนมือมายังเอกชน ไม่ได้มีการอัดฉีดเงินทุนพิเศษจากเหล่าผู้ถือหุ้นเลย” Hall บอก CNN ในทางกลับกัน เงินลงทุนราว 1.9 แสนล้านปอนด์ (2.42 แสนล้านเหรียญ) ส่วนใหญ่มาจากผู้บริโภคผ่านใบเรียกเก็บค่าบริการมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งมีการเพิ่มราคาราว 40% ตลอดช่วงเวลานี้ ตัวเลขมีการปรับค่าเงินเฟ้อแล้ว
ณ เวลานี้ภาคส่วนด้านน้ำกำลังตกอยู่ภายใต้ความกดดันทางการเงินเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และเงินค่าบริการที่ได้จากลูกค้าก็ถูกแบ่งสรรให้กับหนี้สินที่ทับถม สถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อหนี้สินอันเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อลุกลาม ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมไต่ระดับสูงขึ้นไปพร้อมกับราคา
เบื้องหลังสถานการณ์นี้ บริษัทจัดการทรัพยากรน้ำต่างๆ ต้องลงทุนเพิ่มให้ได้ 5.6 หมื่นล้านปอนด์ (7.14 หมื่นล้านเหรียญ) ภายในปี 2050 เพื่อยกระดับโครงสร้างสาธารณูปโภคตลอดจนแก้ไขปัญหาน้ำเสียรั่วไหลซึ่งมีรายงานการรั่วไหลกว่า 300,000 ครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา
หน้าจอแสดงผลการรั่วไหลของน้ำในจุดต่างๆ ดำเนินการโดย Thames Water เมื่อเดือนมกราคม 2023
“เมื่อคุณลองมองปริมาณงานที่จำเป็นในอีกห้าปีข้างหน้าและถัดจากนั้น... จำนวนเงินที่ต้องใช้ก็มหาศาล เราต่างก็กังวลเรื่องผลกระทบต่อราคาค่าน้ำกันอย่างมาก” Coucher จาก Ofwat บอกกับคณะกรรมาธิการด้านนิติบัญญัติ
Thames Water จะเปลี่ยนไปอยู่ภายใต้ภาครัฐหรือไม่?
รัฐบาลสหราชอาณาจักรเรียกประชุมฉุกเฉินว่าด้วยอนาคตของ Thames Water ซึ่งมี Ontario Municipal Employees Retirement System เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
S&P Global Ratings วางหนี้สินของบริษัทรายนี้ไว้ในกลุ่มน่าจับตามองด้วยความเป็นห่วง ซึ่งหมายความว่าบริษัทตั้งอยู่บนความเสี่ยงที่จะลดระดับลง S&P กล่าวว่าการลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหันของซีอีโอ Sarah Bentley เมื่อเร็วๆ นี้ “เพิ่มความเสี่ยง” ต่อความเป็นไปได้ของแผนการปรับเปลี่ยนบริษัท “ท่ามกลางความไม่แน่นอนสืบเนื่องมาจากจังหวะเวลาในการอัดฉีดเงินเพิ่มเติมของผู้ถือหุ้น”
หาก Thames Water ล้มเหลวที่จะระดมทุนใหม่ๆ เพิ่ม ก็อาจถูกบังคับให้ตกอยู่ภายใต้ระเบียบการบริหารจัดการพิเศษ ซึ่งถือเป็นการล้มละลายรูปแบบหนึ่ง เพื่อรับรองต่อลูกค้าว่าบริการต่างๆ จะยังคงดำเนินต่อไปในขณะที่รัฐบาลพยายามมองหาผู้ซื้อกิจการ
“นั่นคือตัวเลือกสุดท้าย...แต่เรายังอยู่อีกไกลกว่าจะไปถึงจุดที่ต้องใช้มัน” Black จาก Ofwat บอกกับ BBC radio
Thames Water ซึ่งมีพนักงานอยู่ 7,000 คนเผยเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมว่าพวกเขามี “สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง” รวมถึงเงินและเงินทุนผูกมัด 4.4 พันล้านปอนด์ (5.6 พันล้านเหรียญ)
Helm จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่าโครงสร้างกรรมสิทธิ์ในธุรกิจบริหารจัดการน้ำจะต้องเปลี่ยน และจะมี “ความเสียหายมากมายระหว่างทาง”
Hall จาก University of Greenwich บอกว่ารัฐบาลควรสรรหาวิธีการนำบริษัททรัพยากรน้ำกลับมาเป็นของภาครัฐเช่นเดียวกับเครือข่ายรางรถไฟ
ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ “ขายทั้งระบบให้บริษัทเอกชน” เขากล่าวทิ้งท้าย
แปลและเรียบเรียงจาก Britain s water industry crisis: Sewage spills, huge leaks and crushing debts ซึ่งเผยแพร่บน cnn.com
อ่านเพิ่มเติม : ชัยวัฒน์ นันทิรุจ บริหารพอร์ต (ไวน์) แห่งความสุข
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine