Kjell Inge Rokke เศรษฐีชาวนอร์เวย์ ผู้สร้าง "ซูเปอร์ยอช์ต" ลำใหญ่ที่สุดในโลก - Forbes Thailand

Kjell Inge Rokke เศรษฐีชาวนอร์เวย์ ผู้สร้าง "ซูเปอร์ยอช์ต" ลำใหญ่ที่สุดในโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Oct 2020 | 10:58 AM
READ 1663

Kjell Inge Rokke สะสมทรัพย์สิน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการขุดน้ำมันและจับปลาจากมหาสมุทร แต่ตอนนี้เขาอยากช่วยสะสางปัญหาปฏิบัติการจากบนดาดฟ้าเรือ "ซูเปอร์ยอช์ต" ลำใหญ่ที่สุดในโลก ขอเชิญพบเรื่องสุดย้อนแย้งแห่งท้องทะเล

นอกชายฝั่งของหมู่บ้าน Brattvaag ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งห่างจากวงกลมอาร์กติกลงมาทางใต้ไม่กี่ร้อยไมล์ เรือ Rev ขนาด 600 ฟุต ลอยลำอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เรือลำนี้ยังเปลือยเปล่า แม้จะต่อตัวเรือเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ ตัวเรือสีดำและน้ำตาลเข้มทำให้มันดูเหมือนซากเรือจมที่ถูกกู้ขึ้นมา “ผมมองเห็นตัวเองใช้เวลาอยู่บนเรือลำนี้ปีละ 2 เดือน” Kjell Inge Rokke มหาเศรษฐีชาวนอร์เวย์เจ้าของเรือ ซูเปอร์ยอช์ต ลำนี้กล่าว Rokke โน้มตัวลงสำรวจพิมพ์เขียว เขาเซ็นอนุมัติรายละเอียดแต่ละอย่างของเรือด้วยตนเอง ตั้งแต่เรือดำน้ำ ลานสำหรับจอดเฮลิคอปเตอร์ สระว่ายน้ำ 3 สระ และอ่างน้ำอุ่น แต่เรือลำนี้ไม่ใช่แค่ของเล่นมหาเศรษฐีทั่วไปเพราะบนเรือมีห้องแล็บ 8 ห้อง และเรือดำน้ำควบคุมระยะไกลซึ่งดำได้ลึก 19,000 ฟุต เรือ Rev คือ ความย้อนแย้งลอยน้ำได้ มองมุมหนึ่งนี่คือเรือซูเปอร์ยอช์ตลำใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการให้รางวัลตัวเองขั้นสุดยอดด้วยราคาประมาณ 350 ล้านเหรียญ แต่ Rokke อยากให้มองอีกมุมหนึ่งมากกว่าเพราะเขายืนยันว่า Rev คือ เรือทำงานวิจัย แผนของเขาไม่มีอะไรมาก Rokke วัย 61 ปี จะให้นักวิทยาศาสตร์ใช้เรือยอช์ตลำนี้ฟรี เพื่อระบุตำแหน่งแพขยะในมหาสมุทร ประเมินมวลปลา และทดสอบระดับความเป็นกรดของน้ำทะเล และเมื่อเหล่านักวิทยาศาสตร์ไม่ใช้เรือ เขาก็จะใช้มันเพื่อหาความสำราญ หรือให้บรรดามหาเศรษฐีคนดังเช่า แล้วนำค่าเช่าไปบริจาคให้โครงการอนุรักษ์ต่างๆ ตัว Rokke เองก็มีความย้อนแย้งไม่แพ้เรือของเขา เขาสร้างทรัพย์สิน 1.7 พันล้านเหรียญด้วยการหาประโยชน์จากท้องทะเล ตั้งแต่การทำประมงอวนลาก แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล ไปจนถึงการขนส่งสินค้า “ผมเองก็ร่วมก่อปัญหา” เขายอมรับ และแม้ตอนนี้เขาบอกว่าอยากช่วยสะสางปัญหา แต่ก็ยังไม่มากพอจะทำให้เขายอมขายหุ้นของพวกบริษัทก่อมลพิษในพอร์ตของเขา “เราไม่ได้ต้องการความดีความชอบ” Rokke กล่าว “เราแค่อยากรู้สึกดีที่ได้มีส่วนช่วย (แก้ปัญหา)” Rokke เติบโตในเขตเทศบาล Molde ของประเทศนอร์เวย์ในครอบครัวฐานะไม่ดีนัก พ่อเขาเป็นช่างทำตู้ส่วนแม่เป็นนักบัญชีที่ขายเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าเป็นอาชีพเสริม Rokke เป็นโรคบกพร่องทางการอ่านเขาจึงออกจากโรงเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 “ครูเคยพูดกับผมต่อหน้าชั้นเรียนว่า ‘วันไหนที่เธอสอบใบขับขี่ผ่าน เธอควรจะถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จ’” เขาเล่า Rokke ได้งานเป็นลูกเรือประมงสัญชาตินอร์เวย์ เขาออกทะเลปีละ 10 เดือน หลังจากนั้นในปี 1980 เมื่อเขาอายุ 21 ปี เขาย้ายไปอยู่เมือง Seattle เพื่อทำงานบนเรืออวนลาก แต่หลังจากหมดฤดูจับปลาในปีแรกเขาก็คิดหนักว่า เขามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร “ผมไม่มีแผนอนาคตเลย” เขากล่าว เขาจึงเริ่มเรียบเรียงเป้าหมายชีวิตใหม่ “ผมอยากพึ่งตัวเองได้ ใช้ชีวิตของผมเอง และผมคิดว่า การจะทำแบบนั้นได้ก็ต้องรวยก่อน ซึ่งผมคิดผิดอย่างน่าเศร้าเลย” ขั้นแรก เขาเก็บเงินเป็นบ้าเป็นหลัง เขาเล่าว่า “เวลาเพื่อนๆ ไปเที่ยวเม็กซิโกหรือฮาวายกัน ผมจะอยู่บ้านทำอุปกรณ์จับปลาสำหรับใช้บนเรือ” และเมื่อถึงปี 1982 เขาก็มีเงิน 75,000 เหรียญไปดาวน์เรืออวนลากขนาด 69 ฟุตของตัวเอง 2 ปีต่อมาเรือลำนั้นไฟไหม้ เขาจึงซื้อเรือลำที่ 2 แต่ลำที่ 2 ก็ชนโขดหินจมลง “ผมต้องไปนั่งเจรจาต่อรองกับผู้ขายทุกราย” Rokke กล่าว กระบวนการนี้กินเวลากว่า 7 ปี แล้วความพยายามก็เป็นผล จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ธนาคารหลายแห่งยังให้ Rokke กู้เงินต่อไป เขาจึงตั้งตัวใหม่ได้ และเมื่อเวลาผ่านไป เขาสะสมเรือเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นกองเรือเล็กๆ ซึ่งเมื่อถึงปี 1987 กองเรือนี้ก็เติบโตขึ้นเป็นบริษัทเต็มตัวโดยใช้ชื่อว่า American Seafoods ซึ่งจับปลาพอลล็อคตามแนวชายฝั่งของรัฐ Alaska เมื่อเขาได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน ซึ่งส่วนหนึ่งต้องขอบคุณเงินอุดหนุนจากรัฐบาลนอร์เวย์ เขาจึงมีกองเรือที่จับปลาได้เป็นปริมาณมาก Rokke ประมาณว่า เคยมีช่วงที่เรือเหล่านี้จับปลาพอลล็อคได้วันละ 600,000-800,000 ตัว สร้างยอดขายต่อปีมากกว่า 18 ล้านเหรียญ (หรือเกือบประมาณ 45 ล้านเหรียญเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ในปัจจุบัน) ปลาคุณภาพสูงที่สุดจะถูกแล่ขายเป็นชิ้นส่วนเศษเนื้อใช้ทำปลาป่นและน้ำมันปลา “ในที่สุดบริษัทของ Rokke สามารถเข้าควบคุมการจับปลาพอลล็อคได้ถึง 40% ของอเมริกา” Kevin M. Bailey นักนิเวศวิทยาเขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชื่อ Billion-Dollar Fish ของเขา แต่เมื่อ American Seafoods ขยายกิจการไปทั่วโลก Bailey กล่าวว่า บริษัทนี้ “มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการซึ่งถูกกล่าวหาว่าจับปลามากเกินไปตั้งแต่ในรัสเซียไปจนถึงอาร์เจนตินา” ซูเปอร์ยอช์ต ในปี 1990 Rokke หันกลับมาสนใจประเทศบ้านเกิดเมื่อนอร์เวย์ประสบกับภาวะถดถอยจากวิกฤตเศรษฐกิจ “มีไม่กี่คนที่มีเงินเหลือใช้” เขาเล่า “ซึ่งผมมี...ผมจึงซื้อกิจการทุกอย่างเท่าที่ซื้อได้” ในบรรดากิจการที่เขาซื้อมีทั้งบริษัทเสื้อผ้า เครือร้านอุปกรณ์กีฬา และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ใหญ่มาก “เขาโผล่มาจากไหนก็ไม่ค่อย จะมีใครรู้” Knut Sogner อาจารย์วิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของ BI Norwegian Business School กล่าว ในปี 1996 Rokke เข้าซื้อหุ้นที่มีอำนาจควบคุมใน Aker ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทใหญ่ที่สุดของนอร์เวย์ที่เน้นให้บริการต่อเรือและแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล (ปัจจุบัน Aker คือ ชื่อบริษัทมหาชนของ Rokke พอร์ตของเขาสร้างรายได้รวม 9.4 พันล้านเหรียญต่อปี) แล้วเขาก็ล้ำเส้นจนได้ เมื่อปี 2002 Rokke มีเรื่องขลุกขลักในการขอใบอนุญาตแล่นเรือยอช์ตขนาด 56 ฟุตของเขาที่ชื่อ Celina Bella เขาจึงเลี่ยงกฎหมายด้วย การจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐของสวีเดน 10,000 เหรียญเพื่อแลกกับใบอนุญาต “ผมอยากได้ใบอนุญาตด้วยวิธีที่ปวดหัวน้อยที่สุด” เขากล่าว โดยอ้างว่าไม่รู้ว่าการทำเช่นนั้น ผิดกฎหมาย พนักงานอัยการตรวจพบเรื่องสินบนนี้ Rokke จึงถูกตัดสินจำคุก 120 วัน แต่ติดจริง 23 วัน หลังพ้นโทษ Rokke ลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจพลังงาน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจนอร์เวย์ เขาก่อตั้งบริษัทขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลชื่อ Aker Drilling ในปี 2005 และซื้อกิจการ Marathon Oil Norway ด้วยราคา 2.7 พันล้านเหรียญในปี 2014 แต่เขากังวลเรื่องมรดกที่เขาจะทิ้งไว้ให้โลก “ผมยังไม่เคยลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานไม่เคยสร้างถนนสักสาย” เขาเล่าถึง สิ่งที่เขาคิดในตอนนั้น “ผมเป็นแค่นักเก็บเกี่ยว” ด้วยเหตุนี้ ในปี 2017 เขาจึงก่อตั้ง Rev Ocean องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรเพื่อมาดูแลเรือซูเปอร์ยอช์ตของเขา เขาติดต่อ Nina Jensen ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้ากองทุน World Wildlife Fund ในนอร์เวย์ให้มาเป็นผู้นำทีมนี้ แต่ตอนนั้นนักสิ่งแวดล้อมหญิงไม่ได้รู้สึกปลื้มด้วย “Kjell Inge โทร. มาถามฉันว่า อยากทำโครงการร่วมกับเขาไหม” Jensen เล่า “ฉันตอบทันทีว่า ‘ไม่’” ซูเปอร์ยอช์ต แต่ผู้ชายที่ใช้เวลาหลายปีในการกอบกู้บริษัทตัวเองออกจากกองไฟและซากเรือจมไม่ใช่คนที่ยอมรับคำปฏิเสธง่ายๆ ในที่สุด Jensen ก็ยอมใจอ่อน และปัจจุบันเธอออกหน้าสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรที่ไม่ธรรมดาของพวกเขา “ในที่สุดแล้ว ถ้านักชีววิทยาและนักอนุรักษ์จับมือเป็นทีมเดียวกันกับนายทุนและนักอุตสาหกรรมได้มันต้องเป็นเวทมนตร์ใช่ไหมล่ะ” เรือซูเปอร์ยอช์ตลำนี้เป็นโครงการแรกของ Rev Ocean และยังมีความพยายามที่จะลดขยะพลาสติกในประเทศกานา กับแผนงานทำซอฟต์แวร์ที่จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับมหาสมุทรด้วย กลุ่มของ Jensen ตั้งสำนักงานอยู่บนชั้น 3 ในอาคารสำนักงานใหญ่บริษัทของ Rokke ที่กรุง Oslo ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ทำงานร่วมกันกับฝ่ายธุรกิจพลังงานของ Aker เรื่องนี้คือความบังเอิญที่ยิ่งเน้นให้เห็นถึงความตึงเครียดระหว่างสองฝ่ายอย่างชัดเจน เพราะขณะที่ Rev Ocean ทำงานเพื่อช่วยให้ทะเลสะอาด Aker ก็เดินหน้าก่อมลพิษต่อไป ดูเหมือน Rokke จะไม่หนักใจกับความย้อนแย้งนี้ “ถ้าอยากเป็นนักแก้ปัญหา คุณก็ต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดีโดยธรรมชาติ” เขากล่าว แต่สำหรับนักวิจารณ์แล้ว “พวกเขาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเลย” อ่านเพิ่มเติม: โครงการ “UTO” วงรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนรายแรกในไทย
คลิกอ่านฉบับเต็ม “เศรษฐีน้ำมันกับทะเล” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine