เส้นทาง 75 ปีของ Ingvar Kamprad ชายหัวขบถผู้ก่อตั้ง IKEA - Forbes Thailand

เส้นทาง 75 ปีของ Ingvar Kamprad ชายหัวขบถผู้ก่อตั้ง IKEA

Ingvar Kamprad ผู้ก่อตั้ง IKEA บริษัทเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพิ่งเสียชีวิตในวัย 91 ปี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2018 เขาคือตัวอย่างร่วมสมัยของนักธุรกิจที่สร้างตัวขึ้นจากความกล้าที่จะแตกต่าง ทำให้ร้านและแบรนด์ IKEA มีเอกลักษณ์ด้วยการออกแบบที่มีสไตล์ในราคาเข้าถึงได้ และก่อวัฒนธรรม DIY-Do it yourself ด้วยการให้ลูกค้าประกอบสินค้าเองที่บ้าน

ในเมือง Småland ทางใต้ของประเทศสวีเดน ปี 1926 เด็กชายคนหนึ่งถือกำเนิดในฟาร์มและมีสัญชาตญาณผู้ประกอบการติดตัวมาตั้งแต่เกิด Ingvar Kamprad เริ่มเป็นพ่อค้าตั้งแต่อายุ 5 ขวบด้วยการเร่ขายไม้ขีดไฟ และขยายกิจการเป็นการปั่นจักรยานขายปลา ดินสอ และเครื่องประดับตกแต่งต้นคริสต์มาสเมื่ออายุได้ 10 ปี จนกระทั่งอายุ 17 ปี พ่อของ Kamprad ให้รางวัลเขาเป็นเงินสดจำนวนหนึ่ง เพื่อให้กำลังใจที่เขาสามารถสอบได้เกรดดีแม้จะเป็นโรคดิสเล็กเซีย (ภาวะบกพร่องในการอ่านและสะกดคำ) Kamprad ใช้เงินจำนวนนั้นก่อตั้งธุรกิจขึ้นในชื่อ IKEA เมื่อปี 1943 โดย IKEA เป็นอักษรย่อของชื่อและนามสกุลของเขา (I-Ingvar , K-Kamprad) ชื่อฟาร์มที่เขาถือกำเนิด (E-Elmtaryd) และชื่อหมู่บ้านที่ใกล้ฟาร์มมากที่สุด (A-Agunnaryd) ในช่วงแรก IKEA ยังไม่ได้เป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ แต่ค้าขายของใช้ภายในบ้านชิ้นเล็กๆ เช่น กรอบรูป โดยจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ จน 5 ปีต่อมา Kamprad จึงได้ก่อตั้งร้านเฟอร์นิเจอร์ IKEA ที่มีหน้าร้านจริงๆ ขึ้นในเมืองบ้านเกิดของเขาที่สวีเดน
IKEA สาขาแรกที่เมือง Småland ประเทศสวีเดน (Cr: wikicommon)
สิ่งที่ทำให้ IKEA ขยับขยายจากร้านเฟอร์นิเจอร์ท้องถิ่นกลายเป็นบริษัทใหญ่ มาจากบุคลิกที่ไม่เหมือนใครของ Kamprad โดย Malcolm Gladwell ผู้เขียนหนังสือวิเคราะห์บุคลิกภาพของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ อธิบายไว้ว่า บุคลิกภาพ 3 อย่างที่โดดเด่นของ Kamprad คือ “มีมโนธรรมสูง เปิดใจกว้าง แต่กระนั้นก็เป็นคนที่ไม่เป็นมิตร ไม่สนใจหากใครจะมองว่าเขาสติไม่ดี” Gladwell อธิบายว่า เพราะไม่แคร์สายตาคนอื่นถึงทำให้ Kamprad เป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดีตัวอย่างเช่น ในปี 1956 IKEA เป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์แห่งแรกที่ขายเฟอร์นิเจอร์แบบ “flatpacking” หมายถึงเฟอร์นิเจอร์ที่แยกชิ้นส่วนให้ลูกค้านำไปประกอบเองที่บ้าน เมื่อเฟอร์นิเจอร์ยังไม่ประกอบจึงทำให้การบรรจุในกล่องมีพื้นที่ว่างน้อยลง ไม่เปลืองพื้นที่ขนส่ง และลูกค้าที่ไม่มีรถส่วนตัวก็สามารถหิ้วเฟอร์นิเจอร์ที่ยังไม่ประกอบขึ้นรถสาธารณะได้ ณ ขณะนั้นการแยกชิ้นส่วนทำให้กล่องบรรจุเล็กและแบนของ IKEA กลายเป็นสิ่งที่ปฏิวัติวงการ จนถึงปัจจุบัน เฟอร์นิเจอร์ที่ยังไม่ประกอบก็ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของ IKEA ทั่วโลก จิตวิญญาณของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์จากสวีเดนแห่งนี้ล้วนเริ่มต้นจากตัวตนของ Kamprad เขาเคยเขียนหนังสือเรื่อง The Testament of a Furniture Dealer (พันธสัญญาของผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์) เมื่อปี 1976 ซึ่งต่อมากลายเป็นเหมือนคัมภีร์ไบเบิลให้กับ IKEA ในหนังสือเล่มนั้นสามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่า IKEA คือการทำให้ทุกอย่างสมถะธรรมดาที่สุด ได้ผลลัพธ์ที่ดีด้วยวิธีการที่ง่าย ราคาถูก และประหยัดทรัพยากร
เฟอร์นิเจอร์แยกชิ้นส่วนแบบ flatpacking ของ IKEA ถูกออกแบบมาให้ชิ้นส่วนต่างๆ สามารถประกอบเองได้ที่บ้าน เมื่อประกอบเสร็จอย่างถูกต้อง จะไม่มีชิ้นส่วนใดๆ ขาดหรือเกินไปแม้แต่น็อตเพียงตัวเดียว เป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด (Cr: ikea.com)
ยกตัวอย่างเช่น IKEA เป็นเจ้าแรกๆ ที่นำไม้ MDF หรือที่เรียกกันว่าพาร์ติเคิลบอร์ดมาใช้แทนไม้จริงในการทำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่อย่างตู้ครัวหรือตู้เสื้อผ้า หรือการที่ IKEA ประสานความร่วมมือกับดีไซเนอร์เพื่อออกแบบเฟอร์นิเจอร์ แต่ไม่ได้นำชื่อดีไซเนอร์มาใช้เชิงการตลาดมากนักเหมือนอย่างเจ้าอื่นๆ เพราะ IKEA ให้ความสำคัญกับการนำเสนอดีไซน์ของผลิตภัณฑ์มากกว่าชื่อดีไซเนอร์ และไม่ได้ทำให้เป็นคอลเลกชันพิเศษด้วยการผลิตจำนวนจำกัดแต่กลับส่งมันออกขายไปทั่วโลก ความไม่สนใจใครและเปิดกว้างต่อวิธีใหม่ของ Kamprad ยังสะท้อนออกมาในเชิงการบริหาร เขาย้ายแหล่งผลิตหลักไปยังโปแลนด์ตั้งแต่ปี 1961 เพราะค่าแรงถูกกว่า ทั้งที่ตอนนั้นโปแลนด์ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตและเขาต้องเจอแรงต้านจากสังคมในยุคสงครามเย็น ต่อมาในปี 1973 Kamprad เมินสังคมอีกครั้งเมื่อเขาย้ายสำนักงานใหญ่ของ IKEA จากสวีเดนไป Copenhagen ประเทศเดนมาร์ก เพื่อประท้วงการขึ้นภาษีของรัฐบาลสวีเดน แถมยังย้ายตัวเองกับครอบครัวไปอาศัยที่สวิตเซอร์แลนด์แทนด้วยเหตุผลเดียวกัน (อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของ IKEA อยู่ในเนเธอร์แลนด์)
ไม่เพียงสินค้าที่มีเอกลักษณ์ ร้าน IKEA ยังจัดวางสินค้าเลียนแบบการตกแต่งห้องจริงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และอนุญาตให้ลูกค้าสัมผัสหรือทดลองใช้ได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ Kamprad ยังไม่สนใจการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เหมือนอย่างบริษัทขนาดใหญ่ทั่วไปด้วย โดยเขาให้เหตุผลว่า “ผมตัดสินใจว่าการนำ IKEA เข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่ทางเลือกของบริษัท ผมรู้ว่ามีเพียงวิสัยทัศน์ระยะยาวเท่านั้นที่จะรับประกันแผนการเติบโตของบริษัทได้ และผมไม่ต้องการให้ IKEA ขาดอิสระเพราะสถาบันทางการเงิน” ถึงแม้ IKEA จะไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่จนถึงปี 2017 บริษัทสามารถขยายสาขาไปถึง 411 สาขาใน 49 ประเทศ (รวมสาขาที่เป็นระบบแฟรนไชส์ด้วย) เมื่อปี 2016 IKEA สร้างรายได้รวม 35,074 ล้านยูโร ส่วนทรัพย์สินของ Ingvar Kamprad นั้นย่อมติดอันดับโลกเช่นกัน เจ้าพ่อเฟอร์นิเจอร์เคยติดอันดับ 10 มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกจัดโดยนิตยสาร Forbes ช่วงปี 2005-2010 อันดับสูงสุดที่เขาเคยได้รับคืออันดับ 4 ของโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนที่ในปี 2011 เอกสารจากทนายของ Kamprad จะเปิดเผยว่าความเป็นเจ้าของ IKEA ของ Kamprad ได้ถูกโอนย้ายไปให้มูลนิธิที่ตั้งอยู่ในประเทศลิคเตนสไตน์มานานกว่าทศวรรษแล้ว ทำให้อันดับของเขาลดฮวบลง จนถึงปี 2016 เขาจึงหลุดจากการจัดอันดับทั้งหมดของ Forbes เนื่องจาก Kamprad ได้โอนย้ายทรัพย์สินให้กับลูกชายทั้งสามของเขา ได้แก่ Peter, Jonas และ Mathias ถึงแม้ว่า Ingvar Kamprad จะเป็นมหาเศรษฐี แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของเขากลับสมถะเหมือนกับเอกลักษณ์ของแบรนด์ IKEA เขายังคงเลือกที่นั่งชั้นประหยัดเมื่อต้องโดยสารเครื่องบิน และขับรถวอลโว่คันเดิมอยู่นานถึงสองทศวรรษจนรถหมดอายุการใช้งาน ช่วงบั้นปลายของชีวิต Kamprad กลับไปอาศัยอยู่ในบ้านเกิดที่สวีเดน ลมหายใจสุดท้ายของเขาจากไปในบ้านที่อยู่ห่างจากฟาร์มที่เขาถือกำเนิดเพียง 10 นาทีโดยรถยนต์   Forbes Facts สำหรับประเทศไทย IKEA เปิดตัวสาขาแรกขึ้นที่บางนา-ตราด กม.8 เชื่อมต่อกับศูนย์การค้าเมกา บางนา เมื่อปี 2554 และกำลังจะเปิดสาขาที่สองที่ศูนย์การค้า เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ย่านบางใหญ่ ในเดือนมีนาคมนี้   อ้างอิงจาก