เปิดท้องพระคลัง ส่องความมั่งคั่ง “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3” - Forbes Thailand

เปิดท้องพระคลัง ส่องความมั่งคั่ง “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3”

ก่อนที่จะได้ขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการในพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 6 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 (Charles III) แห่งราชวงศ์อังกฤษ ทรงมีทรัพย์สินในครอบครองอยู่ก่อนแล้วราว 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังทรงได้รับมรดกจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II) อีกอย่างน้อย 500 ล้านเหรียญ ซึ่งรวมถึงปราสาท เครื่องประดับ งานสะสมศิลปะ และฟาร์มม้า โดยที่ทั้งหมดนั้นไม่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐแต่อย่างใด​


    หากใครได้เป็นสมาชิกราชวงศ์วินด์เซอร์ (House of Windsor) ก็จะได้มีอภิสิทธิ์ร่วมในธุรกิจของครอบครัวซึ่งหมายถึง “ราชวงศ์” ที่นำมาด้วยชื่อเสียงเกียรติยศและความร่ำรวยมั่งคั่งตราบชั่วชีวิต แต่ทว่าความมั่งคั่งมหาศาลเหล่านั้นกลับมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป 

    เห็นได้จากรัชสมัยของกษัตริย์จอร์จที่ 6 (George VI) ระหว่าง ปี 1936-1952 ที่บรรดาสมาชิกของราชวงศ์ในรัชสมัยนั้นต่างก็เป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง กลับยังต้องพึ่งพาเบี้ยเลี้ยง สิ่งกำนัล และสิ่งของพระราชทานต่างๆ จากเหล่าผู้ดีมีสกุลจากเชื้อสายตระกูลชนชั้นสูงด้วยเช่นกัน แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การได้เป็นขึ้นครองราชย์ ก็ยังคงถือเป็นเรื่องดี

    พระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ที่จัดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2023 หลังจากพระองค์ได้เตรียมการฝึกฝนด้านต่างๆ เพื่อรับตำแหน่งมายาวนานกว่า 70 ปี โดยหลังพระราชพิธีขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงได้รับที่ดินขนาดใหญ่ อสังหาริมทรัพย์ อัญมณีและภาพวาดสุดหายาก รวมทั้งทรัพย์สินส่วนพระองค์อื่นๆ ซึ่งหลายชิ้นก็เก่าแก่มีอายุหลายศตวรรษที่เป็นมรดกตกทอดมาจากพระราชมารดาหรือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

    นอกจากนี้ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ยังทรงเป็นผู้ดูแลพอร์ตทรัพย์สินมูลค่ารวม 46 ล้านเหรียญต่อจากกษัตริย์องค์ก่อนในรูปแบบกองทุนทรัสต์ของอาณาจักร ซึ่งประกอบด้วยการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ พระราชวังวิจิตรตระการตาหลายแห่ง อัญมณีล้ำค่ามากมาย และงามศิลปะอันประเมินค่ามิได้ ซึ่งพระองค์ไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินในส่วนนี้ให้เป็นสมบัติของตนเองได้อย่างแท้จริง

    ด้านพินัยกรรมของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะถูกปิดผนึกไว้เป็นความลับยาวนานอย่างน้อย 90 ปี ถึงจะสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ ดังนั้นเหล่ารัชทายาทจึงยังมิอาจทราบรายละเอียดการแบ่งทรัพย์สินของพินัยกรรมที่แน่ชัดได้ไปอีกหลายต่อหลายรุ่น

    อย่างไรก็ตามในฐานะพระโอรสองค์โต กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงได้รับมรดกเป็นอสังหาริมทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แล้ว ได้แก่ ปราสาทแบลมอรัล (Balmoral Castle) ที่ทรงองค์สมเด็จพระราชินีฯ โปรดปรานในประเทศสกอตแลนด์อันเป็นสถานที่ที่เสด็จสวรรคต และพระตำหนักซานดริงแฮม (Sandringham House) ทางตะวันออกของประเทศอังกฤษซึ่งยังเป็นที่ตั้งของ Royal Studs ฟาร์มม้าพันธุ์เธอร์รัพเบรต (Thoroughbred)

ปราสาทแบลมอรัล (Balmoral Castle) ที่ทรงองค์สมเด็จพระราชินีฯ โปรดปราน ในประเทศสกอตแลนด์อันเป็นสถานที่ที่เสด็จสวรรคต

    นอกจากนี้ ยังคาดว่ากษัตริย์ชาร์ลส์จะยังทรงได้รับเครื่องประดับ งานสะสมศิลปะ แสตมป์หายาก และการลงทุนส่วนพระองค์มูลค่ามหาศาลจากพระราชมารดา และเมื่อนำทรัพย์สินทั้งหมดนี้มารวมกัน Forbes ได้ประเมินมูลค่าไว้ที่ 500 ล้านเหรียญ โดยทางกษัตริย์ชาร์ลส์ยังไม่ต้องเสียภาษีมรดกอีกด้วยแม้แต่เหรียญเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากข้อตกลงกับรัฐบาลอังกฤษในปี 1993 ที่ทำการละเว้นภาษีการโอนทรัพย์สินจากกษัตริย์องค์หนึ่งไปยังอีกองค์

    กษัตริย์วัย 73 พรรษายังทรงขึ้นครองราชย์พร้อมเงินจำนวนมหาศาลของพระองค์เอง ซึ่งเงินรายได้ส่วนใหญ่มาจากรายได้ประจำปีที่มีกำไรงดงาม โดยพระองค์ทรงได้รับจากสำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์ หรือ ดัชชีแห่งคอร์นวอลล์ (Duchy of Cornwall) เขตปกครองพิเศษภายใต้ความดูแลในตำแหน่งดยุกแห่งคอร์นวอลล์ (Duke of Cornwall) 

    ซึ่งในปีนี้พระองค์ทรงมีรายได้จากดัชชีดังกล่าวราว 27 ล้านเหรียญ และหลังจากที่กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงขึ้นครองราชย์ ตำแหน่งและเขตปกครองแห่งนี้จึงถูกส่งต่อไปให้เจ้าชายวิลเลียมพระโอรสองค์โตพร้อมกับอีกตำแหน่งนั่นคือเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales)

    ทั้งนี้ ก่อนขึ้นครองราชย์ กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงร่วมทุนหลากหลายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและอุปถัมภ์การทำการเกษตรแบบออร์แกนิค ทรงครอบครองแบรนด์อาหารออร์แกนิคที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรตลอดจนสถานที่พักผ่อนรายล้อมด้วยธรรมชาติพร้อมศูนย์งานหัตกรรมในทรานซิลเวเนียที่มีทั้งที่พักและอาหารเช้าผ่านทางด้านมูลนิธิการกุศลส่วนพระองค์ (ซึ่งเจ้าชายวิลเลียมจะทรงรับช่วงต่อ)

    ณ ตอนนี้ เจ้าชายวิลเลียมทรงเป็นผู้ครอบครองดัชชีแห่งคอร์นวอลล์ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.3 พันล้านเหรียญ ทรัพย์สินเหล่านั้นได้รวมถึงสนามคริกเกตทรงรีในลอนดอน (The Oval) พระตำหนักไฮโกรฟ (Highgrove House) อันเป็นที่ประทับหลังเก่าของกษัตริย์ชาร์ลส์ (ซึ่งทรงเริ่มต้นให้มีการทำฟาร์มแบบออร์แกนิคเป็นครั้งแรกในปี 1985) และหมู่เกาะซิลลี (Isles of Scilly)

    ในฐานะกษัตริย์องค์ใหม่ สันนิษฐานว่ากษัตริย์ชาร์ลส์ทรงถือกรรมสิทธิ์ในสถาบันต่างๆ ที่บริหารจัดการทรัพย์สินราว 4.6 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งรวมเอาบรรดาพระราชวังที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ (Crown Jewels) เข้าไปด้วย 

    ทั้งพระราชวังบักกิงแฮม (Buckingham Palace) ปราสาทวินด์เซอร์ (Windsor Castle) และหอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London) ต่างก็มิได้ถูกครอบครองโดยกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 โดยตรง แต่อันที่จริงแล้วถูกครอบครองโดยกษัตริย์ “ที่ทรงครองราชย์ ณ ขณะนั้น” ตลอดรัชกาลของพระองค์ ทรัพย์สินเหล่านี้อยู่ใน “กองทรัสต์” สำหรับผู้สืบทอดและประเทศ หมายความว่า ไม่สามารถขายทรัพย์สินเหล่านี้ได้

    เหล่าบรรดาพระราชวังและเครื่องประดับต่างๆ มักถูกมองว่าประเมินค่ามิได้ แตกต่างจากทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีการยื่นรายงานประจำปี เช่นนั้นแล้วทรัพย์สินเหล่านี้มีมูลค่าเท่าไหร่กันแน่? Forbes จึงได้ลองประเมินส่องดูมูลค่าความมั่งคั่งไว้ดังนี้


ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

    ทรัพย์สินเดี่ยวมูลค่าสูงสุดที่กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงครอบครองคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) ซึ่งอันที่จริงแล้วคือ พอร์ตอสังหาริมทรัพย์ขนาดมโหฬารมูลค่ารวมถึง 2.07 หมื่นล้านเหรียญ ตัวอย่างอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้น อาทิ ถนนรีเจ้นท์ (Regent Street) แหล่งชอปปิ้งชั้นเลิศในลอนดอน และสนามแข่งม้า Ascot Racecourse อันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตลอดจนพื้นที่ทะเลแทบจะทั้งหมดของสหราชอาณาจักร 

    กำไรสุทธิทั้งหมดของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะถูกส่งไปยังกระทรวงการคลัง โดยในปีงบประมาณ 2022 ตัวเลขอยู่ที่ 361 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตามทางราชวงศ์ย่อมได้รับผลประโยชน์เช่นกัน กระทรวงการคลังจะทูลเกล้าฯ ถวายเบี้ยเลี้ยงที่เรียกว่า “เงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ (Sovereign Grant)” โดยมีมูลค่าเท่ากับ 25% ของกำไรสุทธิของปีงบประมาณสองปีก่อนหน้า ในปี 2022 เงินปีส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ที่ 108.4 ล้านเหรียญอ้างอิงจากกำไรสุทธิของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปีงบประมาณ 2019-20

    แม้ผลประโยชน์เหล่านั้นจะมีมูลค่ามหาศาลดังที่กล่าวมาแต่ก็มิได้ถูกส่งไปถึงมือกษัตริย์ชาร์ลส์โดยตรง โดยส่วนแบ่ง 10% จากกำไรสุทธิหรือก็คือ 43.3 ล้านเหรียญในปี 2022 ถูกวางไว้สำหรับบูรณะพระราชวังบักกิงแฮม และส่วนเพิ่มเติมอีก 15% ถูกใช้เป็นงบสำหรับกิจกรรมต่างๆ ของราชวงศ์ ได้แก่ การเดินทาง งานพิธีการต่างๆ การดูแลรักษาความสะอาด และเงินเดือนเจ้าหน้าที่ โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต่างก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


    การเดินทางที่แพงที่สุดของราชวงศ์ในปี 2022 ที่ผ่านมาคือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเบลีซ ประเทศจาเมกา และประเทศบาฮามาส เป็นเวลาเก้าวันของเจ้าชายวิลเลียมและพระชายาเคทในเดือนมีนาคม ซึ่งใช้เงินไปประมาณ 280,000 เหรียญ โดยรวมถึงแผนการต่างๆ ตลอดการเสด็จในคราวนั้น หรือคิดเป็นเงินไทยราว 9.75 ล้านบาท

    เงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ใช่แหล่งรายได้เพียงทางเดียวของกษัตริย์ชาร์ลส์ ประการหนึ่งคือมันไม่ได้ครอบคลุมความมั่นคงปลอดภัยทางกายภาพ ในฐานะกษัตริย์ พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจในดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์ (Duchy of Lancaster) ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มูลค่ารวม 820 ล้านเหรียญโดยทรงครอบครองผ่านทรัสต์ของกษัตริย์ 

    รายได้สุทธิจากดัชชีจะถูกส่งตรงไปยังกษัตริย์เป็นเบี้ยเลี้ยงที่เรียกว่าพระคลังข้างที่ (Privy Purse) ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางการอื่นๆ (ในปี 2022 รายได้จากดัชชีก่อนหักภาษีอยู่ที่ 30 ล้านเหรียญ) ความแตกต่างระหว่างเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์และพระคลังข้างที่คือภาษี เงินปีส่วนพระมหากษัตริย์นั้นปลอดภาษี กลับกันสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงยินดีเสียภาษีจากการใช้เงินในพระคลังข้างที่กับค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากงานทางการตามข้อตกลงในปี 1993 และกษัตริย์ชาร์ลส์ก็ทรงยินดีปฏิบัติตามเช่นกันหลังการสืบราชบัลลังก์

    นอกเหนือจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์ กษัตริย์ชาร์ลส์ยังทรงถือครองสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในสกอตแลนด์ (Crown Estate Scotland) ซึ่งเป็นพอร์ตทรัพย์สินมูลค่าสุทธิ 760 ล้านเหรียญอันประกอบด้วยพื้นที่ทะเลสกอตแลนด์ อสังหาริมทรัพย์ในชนบท สิทธิ์ในการจับปลาแซลมอน และสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของแร่ทองและเงินจากเหมืองในสกอตแลนด์

    ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อื่นๆ อันได้แก่ พระตำหนักเก่าและพระตำหนักปัจจุบันอย่างน้อย 11 แห่ง และงานสะสมศิลปะหลวงรวมถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งต่างก็ยากแก่การประเมินค่าเนื่องมาจากว่าทรัพย์สินทั้งหมดนี้ไม่เคยถูกทำมาขายในตลาดเปิด และไม่มีการเปิดเผยรายงานประจำปี


    เครื่องราชกกุธภัณฑ์อาจเป็นทรัพย์สินที่มีความเชื่อมโยงและสื่อถึงความเป็นราชวงศ์อังกฤษมากที่สุด ในฐานะของงานสะสมศิลปะหลวงเครื่องราชกกุธภัณฑ์เหล่านี้ “ถูกเก็บไว้ในทรัสต์ของกษัตริย์สำหรับประเทศ” สถาบัน RICS (Royal Institution of Chartered Surveyors) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์และการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในสหราชอาณาจักรประเมินมูลค่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไว้ที่ 4 พันล้านเหรียญในปี 2019 อิงราคาขายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ฝรั่งเศสในปี 1887 และราคาขายเครื่องประดับของเจ้าหญิงมาร์กาเรตในปี 2006 มาเปรียบเทียบ

    มูลค่าทั้งหมดของงานสะสมศิลปะหลวงที่มีงานของศิลปินระดับตำนานอย่างแร็มบรันต์ (Rambrandt) เฟอร์เมร์ (Vermeer) การาวัจโจ (Caravaggio) และเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo Da Vinci) รวมอยู่ด้วยนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าสูงกว่ามาก อ้างอิงจากรายงานปี 2017 ของบริษัทประเมินมูลค่าแบรนด์ Brand Finance ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร งานสะสมศิลปะหลวงรวมเครื่องราชกกุธภัณฑ์น่าจะมีมูลค่าถึง 1.27 หมื่นล้านเหรียญ

    ยังมีพระราชวัง ปราสาท และพระตำหนักต่างๆ อีกอย่างน้อย 11 แห่งที่กษัตริย์ “ที่ทรงครองราชย์ ณ ขณะนั้น” ทรงเป็นเจ้าของ อ้างอิงจากการประเมินโดย Lenka Duskova Munter ผู้เชี่ยวชาญการขายอสังหาริมทรัพย์เก่าแก่จากบริษัทตัวแทนอสังหาริมทรัพย์จากสาธารณรัฐเช็ก และ Colby Short ผู้ร่วมก่อตั้งควบตำแหน่งซีอีโอจากเว็บไซต์ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ GetAgent.co.uk ทำให้ Forbes คาดคะเนราคารวมของทรัพย์สินเหล่านี้ไว้ที่ 1.01 หมื่นล้านเหรียญ

    ทรัพย์สินมูลค่าสูงสุดจากทั้งหมดย่อมเป็นพระตำหนักหลวงในลอนดอนอย่างพระราชวังบักกิงแฮมโดยมีมูลค่าราว 4.9 พันล้านเหรียญ ส่วนที่มูลค่าน้อยที่สุดคือพระตำหนักคลาเรนซ์ (Clarence House) ที่ประทับของกษัตริย์ชาร์ลส์ในลอนดอนเมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ซึ่งมีมูลค่า 72 ล้านเหรียญ สำหรับปราสาทแบลมอรัลและพระตำหนักซานดริงแฮมที่กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงครอบครองเป็นการส่วนพระองค์ภายหลังทรงรับมรดกจากมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีมูลค่า 118 ล้านเหรียญและ 73 ล้านเหรียญตามลำดับ

    ทรัพย์สินส่วนใหญ่ไม่สามารถขายได้ แต่ในเมื่อทรงเลือกชาร์ลส์เป็นพระนามในการครองราชย์แล้ว กษัตริย์พระองค์ใหม่นี้ควรทรงระลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพระราชสมบัติมหาศาลของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 (Charles I) ภายหลังทรงถูกสำเร็จโทษในปี 1649

    ภายหลังกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ทรงถูกปลงพระชนม์ในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ ทรัพย์สินของพระองค์ก็ถูกนำไปประมูลทันที มีรายงานว่าพระราชวังริชมอนด์ (Richmond Palace) ถูกขายไปในราคา 13,000 ปอนด์ (หรือราว 2.3 ล้านเหรียญในปัจจุบัน) ก่อนจะถูกรื้อถอนในตอนท้าย ทางรัฐสภายังขายงานสะสมศิลปะของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ซึ่งถูกมองว่าเป็นหนึ่งในงานสะสมศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก 

    ณ ช่วงเวลานั้น มูลค่าราคาประเมินเพียงภาพวาดต่างๆ อย่างเดียวก็อยู่ที่ 35,000 ปอนด์หรือราว 6.2 ล้านเหรียญหลังคำนวณค่าเงินเฟ้อแล้ว ทว่ามูลค่าอันมากมายของภาพวาดเหล่านี้ก็เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของภาพวาด พระผู้ช่วยให้รอด (Salvator Mundi) ของเลโอนาร์โด ดา วินชี ที่ถูกประมูลไปในราคา 450 ล้านเหรียญและกลายเป็นภาพวาดราคาแพงที่สุดในโลกเมื่อปี 2017

    อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่ารัชกาลของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 จะราบรื่นกว่ารัชกาลของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 อยู่บ้าง มีคลื่นสนับสนุนกษัตริย์องค์ใหม่นี้ตั้งแต่ครั้งพระราชมารดาของพระองค์เสด็จสวรรคต ผลสำรวจจาก YouGov ที่เผยแพร่บน Times of London เมื่อเดือนกันยายน 2022 พบว่าคะแนนนิยมของพระองค์กระโดดขึ้นไปที่ 63% ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ขณะที่ผู้ทำแบบสอบถาม 32% เชื่อว่าพระองค์จะทรงงานในฐานะกษัตริย์ได้อย่างดี

    “สมเด็จพระราชินีนาถ (เอลิซาเบธที่ 2) ทรงได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวางจากทั่วโลกและในสหราชอาณาจักร” David Haigh ซีอีโอแห่ง Brand Finance กล่าว “พระองค์ทรงงานอย่างดีเยี่ยม และยังบอกไม่ได้ว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะทรงดำเนินรอยตามพระองค์หรือไม่”


ทรัพย์สินส่วนพระองค์

    ในฐานะกษัตริย์พระองค์ใหม่ กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงรับมรดกส่วนพระองค์จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มูลค่ามากกว่า 500 ล้านเหรียญจากการประเมินของ Forbes ซึ่งรวมถึงปราสาทแบลมอรัลและพระตำหนักซานดริงแฮม สมุดสะสมแสตมป์หลวง (Royal Philatelic Collection) ซึ่งมี “บรรดาแสตมป์ของอังกฤษและเครือจักรภพที่หายากและครอบคลุมที่สุด” 

    นอกจากจากนี้ยังมีการลงทุนส่วนพระองค์ ม้า เครื่องประดับ และงานสะสมศิลปะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงรับต่อมาจากพระราชชนนีในปี 2002 ภาพวาดชิ้นเอกในคลังสะสมนั้นกล่าวกันว่าเป็น Study of rocks, Creuse โดยโกลด โมเนต์ (Claude Monet) มีรายงานมูลค่าสูงถึง 17.3 ล้านเหรียญ และหากว่าพระราชบิดาของกษัตริย์ชาร์ลส์อย่างเจ้าชายฟิลิป (Prince Philip) ทรงมีทนายด้านภาษีมรดกมากฝีมือแล้วละก็ 

    พระองค์ก็อาจจะทรงส่งต่องานสะสมศิลปะส่วนพระองค์ให้กับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หลังสิ้นพระชนม์ในเดือนเมษายนปี 2021 โดยปราศจากภาษีมรดกและกษัตริย์ชาร์ลส์เองก็อาจจะทรงได้รับทรัพย์สินเหล่านี้แบบปลอดภาษีเช่นกัน ซึ่งงานสะสมศิลปะของเจ้าชายฟิลิปมีมูลค่าราว 2.3 ล้านเหรียญอ้างอิงจาก David McClure นักวิจารณ์และนักข่าวเกี่ยวกับพระราชสำนัก

    นอกจากนี้ยังมีคอลเล็กชั่นของสะสมของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์อีกมากมาย ไม่ว่าจะรถยนต์ นาฬิกา และของเล่นอันแสนฟุ่มเฟือยต่างๆ ในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันแรกที่พระองค์ทรงครองราชย์อย่างเป็นทางการ กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงปรากฏตัวทักทายประชาชนที่พระราชวังบักกิงแฮมโดยทรงนาฬิกาข้อพระหัตถ์ Parmigiani Fleurier Toric Chronograph ทองคำ 18 กะรัตซึ่งทรงครอบครองมาตั้งแต่ช่วงกลาง 2000s ผู้ผลิตนาฬิกาสัญชาติสวิสรายดังกล่าวให้ข้อมูลแก่ Forbes ทาง Parmigiani Fleurier ไม่มีการผลิตนาฬิการุ่น Toric Chronograph อีกแล้ว แต่มีนาฬิการุ่นดังกล่าวถูกขายผ่าน Christie’s ในราคา 8,125 เหรียญในปี 2019


    สำหรับรถยนต์พระที่นั่งสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์คือ Rolls Royce Phantom VI ซึ่งเคยเป็นของพระราชมารดามาก่อน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงได้รับรถยนต์พระที่นั่งคันนี้เมื่อครั้งเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 25 ปี รถยนต์พระที่นั่งคันดังกล่าวไม่ได้มีไว้ขาย แต่มีรถยนต์รุ่นเดียวกันจากปี 1976 ประกาศขายในราคา 225,000 เหรียญ กษัตริย์ชาร์ลส์ยังทรงรับรถยนต์พระที่นั่ง Bentley State Limousine มาจากพระราชมารดาด้วยเช่นกัน โดยรถยนต์คันนี้ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่องานเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 50 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

    เมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์มายุ 64 พรรษาและดำรงพระยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงสร้างทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดยรายได้จากดัชชีแห่งคอร์นวอลล์เสียส่วนใหญ่ ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 พันล้านเหรียญในช่วงที่พระองค์ทรงดูแล รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์มูลค่า รวมถึง 433 ล้านเหรียญ และที่ดินรวมกันไม่ต่ำกว่า 52,000 เฮกตาร์ ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของพื้นที่เทศมณฑลเกรเทอร์ลอนดอน (Greater London) ซึ่งระหว่างปี 2011 ถึง 2022 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของดัชชีแห่งนี้เติบโตขึ้น 51%

    กำไรต่างๆ จากทรัพย์สินดังกล่าวส่งผลให้กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงมีรายได้มากพอจะไม่ต้องพึ่งพาเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2022 กษัตริย์ชาร์ลส์ซึ่งยังทรงเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์อยู่มีรายได้ 27 ล้านเหรียญ (ก่อนหักภาษี) จากดัชชีแห่งคอร์นวอลล์เทียบกับเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงได้รับเพียง 1.2 ล้านเหรียญ


    ทรัพย์สินทรงมูลค่าเหล่านั้นบัดนี้อยู่ในพระหัตถ์ของเจ้าชายวิลเลียมซึ่งทรงรับตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ต่อจากพระราชบิดา เมื่อทรงมีดัชชีแห่งคอร์นวอลล์ เจ้าชายวิลเลียมทรงไม่จำเป็นต้องขอส่วนแบ่งรายได้จากพระราชบิดาอีกต่อไป อีกด้านหนึ่งเจ้าชายแฮร์รี (Prince Harry) กำลังมุ่งหน้าร่วมทุนทำธุรกิจต่างๆ ร่วมกับชายา เมแกน มาร์เคิล (Meghan Markle) 

    ในเดือนธันวาคมปี 2020 ทั้งสองเซ็นสัญญาสามปีกับ Spotify ซึ่งน่าจะมีมูลค่าราว 15 ล้านเหรียญถึง 18 ล้านเหรียญ โดยยังมีซีรีส์ทาง Apple TV+ เกี่ยวกับสุขภาพจิตที่เจ้าชายแฮร์รีอำนวยการผลิตร่วมกับโอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) ซึ่งไม่มีการเปิดเผยตัวเลข และสัญญาห้าปีกับ Netflix ซึ่งเซ็นในปี 2020 อีก 100 ล้านเหรียญ

    อย่างไรก็ตาม การถอนตัวจากราชวงศ์อาจไม่ใช่ก้าวย่างทางการเงินที่ชาญฉลาดเสมอไป เมื่อกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 พระปิตุลาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสละราชสมบัติในปี 1936 เพื่ออภิเษกกับวอลลิส ซิมป์สัน (Wallis Simpson) ผู้ผ่านการหย่าร้างมาแล้วสองครั้งก็ถูกตัดออกจากรายชื่อผู้ที่จะได้รับเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์

    เอ็ดเวิร์ดได้เจรจาต่อรองกับพระอนุชาหรือกษัตริย์จอร์จที่ 6 เพื่อขอรับเงิน 25,000 ปอนด์ต่อปี (1.8 ล้านเหรียญหลังคำนวณค่าเงินเฟ้อแล้ว) และหลังสิ้นพระชนม์ในปี 1972 อดีตกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 ซึ่งกลายมาเป็นดยุกแห่งวินเซอร์ (ยศที่ได้หลังสละราชสมบัติ) ก็ทิ้งทรัพย์สินเกือบ 2.5 ล้านเหรียญเอาไว้ซึ่งมีมูลค่า 18 ล้านเหรียญในปัจจุบัน โดยในบรรดาทรัพย์สินเหล่านั้นมีบ้านพักตากอากาศในปารีสรวมอยู่ด้วย

    ทรัพย์สินส่วนพระองค์ก่อนขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ชาร์ลส์เป็นที่กังขากว่านั้นมาก มีการตรวจสอบการลงทุนต่างๆ ที่พระองค์ทรงดำเนินผ่านดัชชีแห่งคอร์นวอลล์ ในปี 2017 ชุดเอกสารพาราไดซ์เปเปอร์ส์ (Paradise Papers) ของกลุ่มนักหนังสือพิมพ์สืบสวนระหว่างประเทศ (International Consortium of Investigative Journalists) ซึ่งเปิดโปงการทุจริตสุดอื้อฉาวของบรรดาคนเด่นคนดังทั่วโลกมีการเปิดเผยว่าดัชชีแห่งคอร์นวอลล์ร่วมลงทุนหลายล้านปอนด์ในกองทุนและบริษัทต่างๆ นอกอาณาเขต 

    ตลอดจนธุรกิจที่จดทะเบียนในเบอร์มิวดาซึ่งดำเนินการโดย Hugh van Cutsem พระสหายเก่าแก่เมื่อครั้งทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในช่วง 1960s โดยทางดัชชีออกมาให้การในเวลานั้นว่ากษัตริย์ชาร์ลส์ทรง “ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงใดๆ ในการตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุน”

    เมื่อทรงขึ้นครองราชบัลลังก์ ณ ปัจจุบันกษัตริย์ชาร์ลส์ทรงมีทรัพย์สินส่วนพระองค์อย่างน้อย 500 ล้านเหรียญ และอีก 46 ล้านเหรียญในทรัสต์ของกษัตริย์ที่กำลังครองราชย์อยู่ และถึงแม้กษัตริย์ชาร์ลส์อาจมีไลฟ์สไตล์ที่ดูหรูหรา รวมถึงสิทธิ์ในปราสาท รถยนต์พระที่นั่ง เครื่องบินพระที่นั่ง ตลอดจนคอลเล็กชั่นมงกุฎและเครื่องประดับอันยิ่งใหญ่ตระการตามากมาย ทว่าสองสิ่งที่พระองค์ทรงไม่อาจหลีกหนีได้เฉกเช่นสามัญชนทั่วไปคือ เรื่องของการสิ้นอายุขัย และเรื่องของการต้องจ่ายภาษี (บางประเภท)





แปลและเรียบเรียงจากบทความ How Rich Is King Charles III? Inside The New Monarch’s Outrageous Fortune ซึ่งเผยแพร่บน forbes.com


อ่านเพิ่มเติม: 10 มหาเศรษฐีนีผู้สร้างฐานะด้วยตัวเองแห่งสหรัฐอเมริกาประจำปี 2023

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine