นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศใดประเทศหนึ่งอนุญาตให้นักเดินทางข้ามผ่านพรมแดนด้วยหนังสือเดินทางดิจิทัลบนสมาร์ตโฟนแทนการใช้หนังสือเดินทางแบบเป็นเล่ม ระบบทดสอบนี้กำลังดำเนินการในฟินแลนด์
สหภาพยุโรปต้องการให้พลเมืองอย่างน้อย 80% ใน 27 ประเทศสมาชิกเปลี่ยนมาใช้การระบุตัวตนแบบดิจิทัลภายในปี 2030
โครงการนำร่องซึ่งเริ่มต้นนับตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีผลเฉพาะกับพลเมืองชาวฟินนิชเท่านั้น โดยจัดขึ้นที่ท่าอากาศยานเฮลซิงกิพร้อมความร่วมมือกับสายการบิน Finnair, บริษัทผู้ดำเนินการสนามบิน Finavia และตำรวจแห่งฟินแลนด์ ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024
ผู้โดยสาร Finnair ที่บินไปกลับสนามบินสามแห่งในสหราชอาณาจักรสามารถผ่านจุดตรวจได้โดยใช้ “หนังสือรับรองการเดินทางดิจิทัล (Digital Travel Credential หรือ DTC)”
Raja ผู้ดูแลพรมแดนฟินแลนด์กล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่ใช้ DTC ใหม่ล่าสุดนี้สามารถ “ผ่านจุดตรวจได้รวดเร็วและราบรื่นกว่าแบบเดิมโดยไม่ต้องเสียเวลาเข้าคิว”
สหภาพยุโรปร่วมสนับสนุนทุนแก่โครงการนำร่องนี้ 2.3 ล้านปอนด์ (2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยระหว่างที่มีการทดสอบในเฮลซิงกิตลอดระยะเวลาหกเดือนนั้นเอง ทางสหภาพยุโรปก็กำลังวางแผนโครงการนำร่องที่ท่าอากาศยาน Zagreb Franjo Tudman ในโครเอเชีย และท่าอากาศยาน Schiphol Amsterdam ในเนเธอร์แลนด์ด้วยเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวของยุโรปในการสร้างขอบข่ายการทำงานร่วมกันเพื่อการระบุตัวตนแบบดิจิทัลคือเป้าหมายสำคัญสูงสุดของ eIDAS ซึ่งเป็นกฎว่าด้วยลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ที่บังคับใช้ในปี 2014 กฎนี้มุ่งยกระดับความปลอดภัย ความรวดเร็ว และประสิทธิภาพในการปฏิสัมพันธ์แบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างธุรกิจต่างๆ และแต่ละบุคคล ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่แห่งหนใดในยุโรปก็ตาม
Biometric Passport หรือ E-Passport แบบเดิม
คำนิยามเฉพาะทางเกี่ยวกับหนังสือรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์อาจก่อให้เกิดความสับสนได้ ต้องอธิบายว่า DTC ของยุโรปนั้นหมายถึงหนังสือรับรองอิเล็กทรอนิกส์บนมือถือ ซึ่งเป็นคนละอย่างกับ Biometric Passport หรือ E-Passport ที่เป็นหนังสือเดินทางแบบเล่มดั้งเดิมเสริมไมโครชิปบรรจุข้อมูลเฉพาะทางกายภาพของผู้ถือครอง
ประเทศส่วนใหญ่ในโลกกำลังพยายามใช้ E-Passport รูปแบบต่างๆ กัน ซึ่งตามปกติแล้วจะระบุตัวตนโดยสัญลักษณ์กล้องถ่ายรูปบนหน้าปก ชิป RFID บรรจุข้อมูลชีวภาพทำให้ยากจะลอกเลียนแบบหรือปลอมแปลง
นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้นำ E-Passport มาใช้เป็นมาตรฐาน ถัดมาในปี 2021 ก็มีการใช้หนังสือเดินทางแบบ Next Gen-eration Passport (NGP) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ประสิทธิภาพสูงกว่ามาแทนที่ E-Passport แบบเดิมในฐานะเอกสารพื้นฐานสำหรับเดินทางในสหรัฐฯ
ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือในหน้าของข้อมูลที่เป็นโพลีคาร์บอเนต ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนบัตรเครดิตมากกว่าหนังสือเดินทาง หน้าข้อมูลที่เป็นพลาสติกนี้ได้เพิ่มความสมบูรณ์และทนทานมากขึ้น เพราะแต่ละชั้นถูกเชื่อมติดกันไม่สามารถแยกจากกันได้จึงทำให้เกิดความเสียหายได้ยาก
แปลและเรียบเรียงจาก Europe Is Testing The Worlds First Digital Passport In Finland ซึ่งเผยแพร่บน Forbes
อ่านเพิ่มเติม : การรับช่วงต่อของทายาทธุรกิจพันล้านแห่ง Royal Group
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine