“Technoprobe” ไอเดียธุรกิจจากผู้ก่อตั้งวัยเก๋า - Forbes Thailand

“Technoprobe” ไอเดียธุรกิจจากผู้ก่อตั้งวัยเก๋า

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Dec 2022 | 04:13 PM
READ 4503

ย้อนอดีตกลับไปตอนอายุครบ 60 ปี Giuseppe Crippa รับแพ็กเกจเกษียณอายุจากที่ทำงานแล้วออกมาตั้งธุรกิจผลิตเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบประสิทธิภาพของไมโครชิป มีลูกค้าเป็นยักษ์ใหญ่ด้านไอทีอย่าง Apple และ Samsung ในที่สุดบริษัท Technoprobe ที่เขาปลุกปั้นมาเกือบ 30 ปี ก็ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


    Giuseppe Crippa ได้รับข้อเสนอแพ็กเกจเกษียณอายุจาก STMicroelectronics (STM) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติฝรั่งเศส-อิตาเลียนเมื่อปี 1995 เขาตัดสินใจยุติชีวิตลูกจ้างหลังจากทำงานกับบริษัทมาอย่างยาวนานถึง 35 ปี แต่แทนที่เขาจะเกษียณอายุและใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบ Crippa ในวัย 60 ปี เลือกใช้โอกาสนั้นก่อตั้งบริษัทของตัวเองและขยายไอเดียธุรกิจที่เขาฟูมฟักมาหลายปี 

    โดยในช่วงแรกเขาเริ่มธุรกิจ Technoprobe ในเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งที่อยู่รอบนอกของ Milan เพื่อทำการผลิต probe card ซึ่งเป็นแผ่นขนาดเล็กจิ๋วที่ประกอบไปด้วยหัวเข็มจำนวนมากที่ต่อเข้ากับไมโครชิปเพื่อทดสอบการทำงานของไมโครชิป โดยในช่วง 15 ปีแรกเขาขาย probe card ที่บริษัทของเขาผลิตได้เกือบทั้งหมดให้กับ STM ซึ่งเป็นที่ทำงานเก่าของเขานั่นเอง 

    “เขามีความเป็นนักประดิษฐ์สูงมาก การจะซ่อม probe card นั้น คุณต้องส่งมันไปที่อเมริกาและใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ ดังนั้น เขาจึงคิดหาวิธีที่จะผลิตมันขึ้นมาจากในครัวที่บ้านของเขา” Stefano Felici ซึ่งเป็นซีอีโอของ Technoprobe และยังเป็นหลานชายของ Crippa เล่าในการสัมภาษณ์ผ่าน Zoom เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

    หลังจากที่ก่อตั้งบริษัทมาได้ 27 ปี ปัจจุบัน Technoprobe เป็น 1 ใน 2 บริษัทผู้ผลิต probe card ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยผลิตสินค้าป้อนให้กับยักษ์ใหญ่ในแวดวงเทคโนโลยีมากมายไม่ว่าจะเป็น Apple, Qualcomm, Samsung และ Nvidia รวมถึงผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับแนวหน้าอย่าง AMD, Intel และ TSMC

    เซมิคอนดักเตอร์ยุคใหม่มีความซับซ้อนสูงมาก ชิปแต่ละตัวจำเป็นต้องมี probe card เฉพาะเพื่อทำการตรวจสอบว่ามีความบกพร่องตรงจุดไหนบ้างหรือไม่ หลังจากผ่านการตรวจสอบแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ เรียบร้อยแล้วจึงจะสามารถทำการผลิตแบบครั้งละมากๆ ได้อย่างราบรื่น จากนั้นชิปเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์ประเภทต่างๆ ตั้งแต่โทรศัพท์สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นล่าสุด 

    ทั้งนี้ probe card แต่ละชิ้นสามารถบรรจุหัวเข็มโลหะได้มากถึง 50,000 เข็ม ซึ่งแต่ละเข็มจะมีระยะห่างกันเพียงแค่ 1 ส่วน 600 ของ 1 นิ้วเท่านั้น “ผมว่ามันก็เหมือนกับการฝังเข็มนั่นแหละ เข็มที่เล็กละเอียดมากๆ พวกนี้ฝังอยู่บนชิป และทำให้มั่นใจได้ว่าทุกอย่างใช้การได้ดี” Amanda Scarnati นักวิเคราะห์จาก Citigroup ซึ่งดูแลกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และ probe card กล่าว 


Probe card เป็นการเชื่อมต่อในเชิงเครื่องกลไฟฟ้าที่ใช้ทดสอบชิปขณะที่อยู่บนแผ่นเวเฟอร์


    ในปี 2021 ยอดขายของ Technoprobe แซงหน้า FormFactor คู่แข่งอันดับ 1 ซึ่งมีฐานธุรกิจอยู่ที่ Livermore ในรัฐ California โดยมีกำไรสุทธิ 136 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากยอดขาย 446 ล้านเหรียญ สูงกว่ายอดขายในธุรกิจ probe card ของ FormFactor ซึ่งอยู่ที่ 436 ล้านเหรียญ

    ธุรกิจขยายการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง หลานชายของ Crippa ซึ่งทำหน้าที่เป็นซีอีโอ ส่วนลูกชายคนโตซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริษัทได้นำ Technoprobe เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น Euronext Growth Milan เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การขายหุ้น IPO ทำาให้ Crippa ซึ่งก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอเมื่อปี 2017 ปัจจุบันมีอายุ 87 ปี รวมถึงครอบครัวของเขากลายมาเป็นหนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในอิตาลี โดยมีมูลค่าสินทรัพย์สูงถึงเกือบ 4 พันล้านเหรียญ จากการถือหุ้นร้อยละ 75 ใน Technoprobe 

     Giuseppe Crippa  ถือเป็น 1 ในเศรษฐีระดับพันล้านใหม่ 8 รายในปีนี้ ที่นับรวม Marvy Finger และ William Franke ซึ่งมีอายุเกิน 80 ปีด้วย นับเป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่าอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการก้าวขึ้นสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีโลกแต่อย่างใด

    Crippa เกิดเมื่อปี 1935 ที่เมืองเล็กๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของ Milan เขาโตขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยที่เขายังเป็นเด็ก เมื่อไรที่มีฝูงบินมาโจมตีทางอากาศเขาจะต้องวิ่งลงหลุมหลบภัยใต้อะพาร์ตเมนต์ที่เขาและครอบครัวอาศัยอยู่

    หลังสงครามสงบ Crippa เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเทคนิคใกล้ Bergamo จากนั้นเขาได้งานแรกที่บริษัทด้านวิศวกรรมชื่อ Breda และต่อมาได้ก้าวเข้าสู่โลกของเซมิคอนดักเตอร์ในปี 1960 ขณะอายุได้ 25 ปีเมื่อเขาเข้าไปทำงานที่บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชื่อ SGS หลังจากที่เขาเห็นประกาศรับสมัครพนักงานในหนังสือพิมพ์ Corriere Della Sera

    ต่อมาในปี 1962 SGS ส่ง Crippa ไป Silicon Valley เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ถอดด้ามของบริษัทและนำกลับมาใช้ที่อิตาลี จากนั้นในปี 1963 Crippa กลับมาอิตาลีและมีส่วนช่วยก่อตั้งสายการผลิตซิลิคอนทราสซิสเตอร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในยุโรป ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตการทำงานของเขาที่ SGS ซึ่งหลังจากนั้นถูก เปลี่ยนเป็น STM

    หลายทศวรรษต่อมา Crippa เริ่มคิดถึงเรื่อง probe card ในครัวที่บ้านในชนบท เขามองว่ามันมีโอกาสที่ชัดเจนในแง่ของตลาด เพราะ probe card ทั้งหมดที่นายจ้างเก่าของเขาใช้ต้องนำเข้ามาจากคู่ค้าในอเมริกา ซึ่งในตอนนั้น probe card ยังมีคุณภาพค่อนข้างต่ำ และต้องซ่อมหลังจากใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง

    Cristiano ลูกชายของเขาซึ่งในตอนนั้นมีอายุ 19 ปีได้เข้ามาร่วมวงด้วย โดยสองพ่อลูกได้ซื้อเครื่องมือบางชิ้นมาใช้งาน เช่น กล้องจุลทรรศน์และเครื่องตัด พอถึงปี 1993 พวกเขาก็ยึดโรงรถ ห้องใต้หลังคา และชั้นใต้ถุนของบ้านเป็นที่ทำงานพร้อมทั้งเริ่มจ้างพนักงาน 2 คนแรก และมี Mariarosa ภรรยาของ Crippa เข้ามาช่วยดูแลงานเอกสาร

    ในปี 1995 เมื่อ Crippa ถึงเกณฑ์เกษียณอายุ เขาตัดสินใจรับแพ็กเกจและออกจากงานที่ STM ซึ่งค่าชดเชยที่ได้รับจากบริษัทเก่าทำให้ Crippa สามารถก่อตั้ง Technoprobe ได้อย่างเป็นทางการ และสามารถย้ายออฟฟิศออกจากบ้านที่เขาอยู่มาตั้งโรงงานขนาด 8,600 ตารางฟุตใน Cernusco Lombardone 

    ต่อมาในปี 1996 เขามีพนักงานประมาณ 10 คน หลังจากนั้นไม่นานคนอื่นๆ ในครอบครัวก็ทยอยกันมาร่วมงานด้วย โดย Stefano Felici หลานชายที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและการสื่อสารเข้ามาเริ่มงานในปี 1999 ขณะที่ Roberto ซึ่งเป็นลูกชายคนเล็กของ Crippa และตอนนั้นทำงานเป็นวิศวกรเคมีก็เข้ามาเริ่มงานในปี 2002

    ธุรกิจของ Technoprobe เติบโตไปอย่างรวดเร็ว โดยขยายกิจการไปที่ฝรั่งเศสในปี 2001 และสิงคโปร์ในปี 2004 ทั้งนี้ 40 ปีหลังจากที่ Crippa ได้ไปเรียนรู้งานที่ Silicon Valley เขาได้ส่ง Felici ซึ่งเป็นหลานชายของเขาไป California เพื่อเปิดสำนักงาน Technoprobe แห่งแรกในสหรัฐฯ ที่ San Jose ในปี 2007 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่บริษัทเริ่มพัฒนา probe card ที่มีขนาดเล็กลงและมีคุณสมบัติดีขึ้น


Stefano Felici หลานชายของ Giuseppe Crippa ซึ่งมีตำแหน่งเป็นซีีอีโอของ Technoprobe


    STM เป็นลูกค้าเพียงรายเดียวของ Technoprobe อยู่หลายปี จนกระทั่งในปี 2010 บริษัทจึงเริ่มมีลูกค้ารายอื่นจากตลาดใหม่ๆ ทั้งไต้หวันและฟิลิปปินส์ “เราเริ่มแทรกเข้ามาในตลาดที่มีโรงหลอมโลหะที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียได้และพอถึงปี 2017 ความพยายามของเราก็ส่งผลในอเมริกา” Felici กล่าว

    ในปี 2019 บริษัทใช้งบลงทุน 100 ล้านเหรียญเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด โดยใช้ 40 ล้านเหรียญซื้อกิจการ Microfabrica ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์สำหรับงานพิมพ์ 3 มิติเพื่อผลิต probe card ที่มีฐานธุรกิจอยู่ที่ Van Nuys ในรัฐ California โดยการซื้อกิจการครั้งนี้ยังมีส่วนช่วยให้ Technoprobe สามารถผลิต probe card ที่บางลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ก้าวใหม่ของพัฒนาการเซมิคอนดักเตอร์คือ chiplet หรือการนำชิปที่มีขนาดเล็กลงมาซ้อนต่อกันเป็นชั้นๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้นและทรงพลังมากขึ้น โดยสามารถนำมาใช้กับโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ รุ่นล่าสุด ทั้งนี้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมากลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกซึ่งได้แก่ AMD, Google, Intel, Meta Platforms (เดิมคือ Facebook), Microsoft, Qualcomm, Samsung และ TSMC ได้รวมกลุ่มกันเพื่อกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยี chiplet สำหรับอุปกรณ์รุ่นใหม่ในอนาคต

    ทั้ง Technoprobe และ FormFactor ต่างเป็นคู่แข่งอันดับ 1 จึงต้องเร่งเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า โดยในขณะที่ Technoprobe ได้ส่วนแบ่งตลาดจาก Intel ซึ่งปกติจะเป็นลูกค้าของ FormFactor แต่ทั้งสองบริษัทก็มักจะมีลูกค้ารายเดียวกัน เพราะผู้ผลิตชิปรายใหญ่ต่างต้องการมั่นใจว่าอุปทานมีความมั่นคงและมีการกระจายคู่ค้าอย่างเหมาะสม

    “อุตสาหกรรมนี้มันเล็กมากๆ เรารู้จักครอบครัว Crippa เป็นอย่างดี เราต้องการให้ธุรกิจของเรายังแข่งขันได้ดีต่อไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่พวกเขาทำลงไปกับบริษัทของครอบครัวถือว่าน่าประทับใจมากทีเดียว” Mike Slessor ซึ่งเป็นซีอีโอของ FormFactor กล่าว

    ด้านของ Felici ก็ชื่นชมคู่แข่งในทำนองเดียวกัน โดยยอมรับว่าอุตสาหกรรมนี้เสมือนว่าจะผูกขาดโดยผู้เล่นเพียง 2 รายเท่านั้น “พวกเขามีสินค้าที่แข่งขันกับเราได้ แต่บางครั้งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถสร้างความแตกต่างได้เหมือนกัน”

    อย่างไรก็ตามมีอุปสงค์มากมายเกินพอที่จะทำให้ทั้งสองบริษัทเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต โดย Felici บอกว่า การที่รถยนต์ยุคใหม่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีการนำแท็บแล็ตและจอสัมผัสเข้ามาใส่ไว้ในรถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่หนุนให้อุตสาหกรรม probe card เติบโตขึ้นตามไปด้วย “รถยนต์ทุกวันนี้มีทั้งคอมพิวเตอร์และการ์ดจอ… ซึ่งชิปที่ใช้ต้องผ่านการตรวจสอบ และนั่นหมายความว่าเราจะขายของได้มากขึ้น”

เรื่อง: Giacomo Tognini เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา

ภาพ: LAILA POZZO/TECHNOPROBE

อ่านเพิ่มเติม:

>> Hitachi Energy เร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้เชิงรุกให้สอดคล้องกับเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน

>> “5 เศรษฐีใจบุญ” แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine