“เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย ประจำปี 2021 ตอนที่ 2 - Forbes Thailand

“เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย ประจำปี 2021 ตอนที่ 2

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Dec 2021 | 03:00 PM
READ 3956

“เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย ประจำปี 2021 ครั้งที่ 15 เผยรายชื่อ 15 ผู้ประกอบการและมหาเศรษฐีในภูมิภาคที่บริจาคและทุ่มเทกายใจ เพื่อช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา 

สำหรับในตอนที่ 2 นี้ปรากฎรายชื่อมหาเศรษฐีใจบุญจากหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจผู้ผลิตเซ็นเซอร์อัตโนมัติ การโรงแรม การศึกษา และเกมออนไลน์ ที่ร่วมบริจาคเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างอาคารให้กับโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย การปกป้องสิ่งแวดล้อม การบรรเทาความยากจน และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม พบกับ 11 “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย ประจำปี 2021 ตอนที่ 2  Takemitsu Takizaki  ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ Keyence  วัย: 76 ปี ประเทศ: ญี่ปุ่น มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Keyence บริจาคหุ้น 3.65 ล้านหุ้น คิดเป็นประมาณ 2.3 พันล้านเหรียญให้กับ Keyence Foundation เมื่อปีที่แล้ว เพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยใหม่  ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ทางมูลนิธิได้มอบทุนการศึกษาประมาณ 80,000 เยน (708 เหรียญ) ต่อเดือนเป็นเวลา 4 ปีให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีชาวญี่ปุ่นและนักศึกษาต่างชาติในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 500 คน โดยพิจารณาจากผลการเรียน ความต้องการทางการเงิน และเรียงความ ตามคำกล่าวของ Takizaki บนเว็บไซต์มูลนิธิระบุว่าวั ตถุประสงค์ของทุนการศึกษา คือ "เพื่อให้นักเรียนมัธยมปลายที่ด้อยโอกาสทางการเงินสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สำเร็จการศึกษาต้องแบกรับภาระเงินกู้หลังจบการศึกษา" ด้าน Takizaki ก่อตั้งโรงงานผลิตเซ็นเซอร์ระบบอัตโนมัติที่ใช้ในโรงงานในปี 1974 และเป็นเพียงผู้บริหารบริษัทบลูชิพในญี่ปุ่นไม่กี่คนที่ไม่มีใบปริญญา โดยเขาก้าวลงจากตำแหน่งประธานในเดือนมกราคม 2015 แต่ยังคงอยู่ในคณะกรรมการบริหารและดำรงตำแหน่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นใน Keyence ที่มีมูลค่าประมาณ 3.3 หมื่นล้านเหรียญ Michael Kim  ผู้ก่อตั้ง MBK Partners  วัย: 58 ปี  ประเทศ: เกาหลีใต้ ผู้ก่อตั้งบริษัทไพรเวทอิควิตี้ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย (ในแง่มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ) ให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงิน 3 หมื่นล้านวอน (2.55 หมื่นล้านเหรียญ) ให้กับรัฐบาลโซล เพื่อใช้ในการสร้างห้องสมุดสาธารณะแห่งใหม่ในเมืองหลวงของเกาหลีใต้  The Seoul Public Kim Byung-ju Library ห้องสมุด 5 ชั้นขนาด 9,000 ตารางเมตรแห่งนี้ จะเริ่มก่อสร้างในปี 2023 และคาดว่าจะพร้อมเปิดให้ใช้บริการในปี 2025 “ความรักในหนังสือของผมเป็นแรงบันดาลใจให้ผมช่วยสร้างพื้นที่ส่วนกลางที่ผู้คนสามารถมารวมตัวกันเพื่ออ่านหนังสือ” Kim กล่าวในเดือนสิงหาคมในพิธีประกาศการบริจาค ในปี 2010 เขาได้บริจาคเงิน 7.5 ล้านเหรียญ เพื่อสร้างหอพักแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ Kim Hall ที่ Haverford College ใน Pennsylvania ซึ่งเขาเคยศึกษาในระดับปริญญาตรี เพื่อรำลึกถึงพ่อของเขา Kim Ki-yong นักวิชาการที่เสียชีวิตเมื่อ 20 ปีก่อนด้วยโรคปอด  ขณะที่ในปี 2018 Kim บริจาคเงิน 7 ล้านเหรียญ เพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับรองศาสตราจารย์ที่ Harvard Business School ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเก่าอีกแห่งของเขา “การศึกษาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงโลก” Kim กล่าวทางอีเมล ทั้งนี้ Kim ก่อตั้งบริษัทซื้อกิจการของเขาในปี 2005 หลังจากเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจไพรเวทอิควิตี้ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ในเอเชียอย่าง Carlyle Group และ 2 ปีต่อมา เขาได้เปิดตัว MBK Scholarship Foundation ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรไม่แสวงผลกำไรแห่งแรกในเกาหลีที่มอบทุนสนับสนุนการศึกษาโดยพิจารณาจากความต้องการทางการเงินเทียบเคียงกับทุนการศึกษาตามความเหมาะสม  ปัจจุบัน นักเรียนทุน MBK มากกว่า 150 คนได้รับค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของประเทศ Jeffrey Cheah ประธาน Sunway Group วัย:  76 ปี ประเทศ: มาเลเซีย มหาเศรษฐีธุรกิจการโรงแรมและการศึกษาของมาเลเซียประกาศเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วถึงแผนการที่จะเปิดตัวกองทุนมูลค่ากว่า 1 พันล้านริงกิต (240 ล้านเหรียญ) ซึ่งด้วยกองทุนนี้ มหาเศรษฐีตั้งใจที่จะย้ายโรงเรียน Sunway Education Group ของเขาออกจากรูปแบบโมเดลธุรกิจที่พึ่งพาค่าเล่าเรียน เพื่อให้บริหารจัดการภายในด้วยตนเองและสามารถมอบทุนการศึกษาเพิ่มเติมได้ จากการตอบกลับทางอีเมลระบุว่า เงินบริจาคจะมาจากเงินทุนส่วนตัวของ Cheah แต่ประการแรก มูลนิธิของ Cheah กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียแก้ไขนโยบายที่กำหนดให้องค์กรการกุศลใช้จ่ายเงินอย่างน้อยร้อยละ 50 ของรายได้ในปีต่อไป ดังนั้นการบริจาคของผู้ประกอบการจึงสามารถเป็นเงินทุนเสมือนเงินบริจาคที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย   Azim Premji  ผู้ก่อตั้งและประธาน Wipro  ประเทศ: อินเดีย Premji ซึ่งครองตำแหน่งผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดอย่างต่อเนื่องในหมู่ผู้ใจบุญชาวอินเดีย บริจาคทรัพย์สินของครอบครัวกว่า 1.3 พันล้านเหรียญในปี 2001 ให้กับสังคมผ่านมูลนิธิที่มีชื่อเดียวกันนี้  โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2001 Azim Premji Foundation ซึ่งมุ่งเน้นการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนของรัฐบาลในพื้นที่ชนบทเพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ขณะที่ในปี 2020 ทางมูลนิธิและ Wipro บริษัทเทคโนโลยีของ Premji ได้จัดสรรเงินประมาณ 1.1 หมื่นล้านรูปี (148 ล้านเหรียญ) เพื่อต่อสู้กับโควิด-19 และล่าสุดปีนี้พวกเขาเพิ่มภาระผูกพันอีก 1 หมื่นล้านรูปี พร้อมรับประกันว่าจะให้มากกว่านี้หากจำเป็น เพื่อแจกจ่ายวัคซีนในพื้นที่ชนบทกว่า 10 รัฐ และจัดหาอุปกรณ์สำคัญในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 นอกจากนี้ ในปี 2019 Premji ยังได้สละทรัพย์สินส่วนตัวของเขามากขึ้น โดยจัดสรรไว้เป็นกองทุนเพื่อการบริจาคที่สนับสนุนโครงการต่างๆ ของมูลนิธิ คิดเป็นมูลค่าเกือบ 3.5 หมื่นล้านเหรียญ ทั้งยังเป็นชาวอินเดียคนแรกที่ร่วมลงนามใน The Giving Pledge ในปี 2013 และดำเนินกิจการทางการกุศลทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องที่มูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญแล้ว “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย Wee Wei Ling กรรมการบริหาร Pan Pacific Hotels Group วัย: 69 ปี ประเทศ: สิงคโปร์ บุตรสาวคนโตของนายธนาคารมหาเศรษฐีและผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ Wee Cho Yaw ร่วมกับลูกพี่ลูกน้องของเธอ Wee Boon Kuan ผู้มีความสนใจในธุรกิจด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ก่อตั้ง Extra • Ordinary People ในปี 2017 เพื่อจัดโปรแกรมการแสดงและทัศนศิลป์สำหรับเด็ก วัยรุ่น และคนหนุ่มสาวที่มีความต้องการพิเศษ  ปัจจุบัน องค์กรการกุศลแห่งนี้ระดมทุน 1.2 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (881,380 เหรียญ) จากผู้ใจบุญและผู้สนับสนุนองค์กร ซึ่งถูกนำไปใช้ในการจัดคอนเสิร์ต 2 ครั้ง ภายใต้ชื่อ Extra • Ordinary Celebration โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การแสดงความสามารถของเหล่านักแสดงที่มีความสามารถต่างกันออกไปสู่ได้ปรากฎสู่สายตาผู้ชมรวมกันกว่า 20,000 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว Wee กรรมการบริหาร Pan Pacific Hotels Group ยังสนับสนุนความเท่าเทียมกันในสถานที่ทำงาน ด้วยการจัดโครงการศึกษาต่อสำหรับคนพิการในสิงคโปร์ นอกจากนี้ ภายใต้การนำ Project We Care ของเธอ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนกับรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมการเป็นอาสาสมัครระหว่างบริษัทต่างๆ สามารถระดมอาสาสมัครได้มากกว่า 11,800 คนจาก 383 บริษัท เพื่อช่วยเหลือผู้คนกว่า 80,800 คนจากเงินสนับสนุนกว่า 5.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย Ronnie Chan  ประธาน Hang Lung Group วัย: 72 ปี ประเทศ: ฮ่องกง Gerald Chan ผู้ร่วมก่อตั้ง Morningside Group วัย: 70 ปี ประเทศ: ฮ่องกง ในเดือนกันยายน Morningside Group มูลนิธิการกุศลของครอบครัว Chan บริจาคเงินกว่า 175 ล้านเหรียญให้กับ The University of Massachusetts Medical School ซึ่งนับเป็นเงินบริจาคสูงสุดที่ทาง UMass เคยได้รับ  “เราเลือกสนับสนุน UMass Medical School เพราะ Morningside Foundation ต้องการสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการศึกษาภาครัฐ-เอกชน ด้วยจำนวนมหาวิทยาลัยเอกชนที่โดดเด่นหลายแห่งใน Massachusetts จึงอาจจจะทำให้ลืมเลือนไปว่าสถานที่แห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่รับภาระส่วนใหญ่ในการให้ความรู้แก่คนหนุ่มสาวในประเทศ” Gerald Chan ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทการลงทุน Morningside Group และผู้อำนวยการกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง Hang Lung กล่าวในพิธีบริจาคเงินให้กับสถาบันการศึกษา ขณะที่ในปี 2014 Morningside Foundation ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบเงิน 350 ล้านเหรียญแก่ Harvard University ซึ่งเป็นสถาบันที่ Gerald ศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้านชีววิทยารังสี นับเป็นการบริจาคครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 385 ปีของมหาวิทยาลัยที่ร่ำรวยที่สุดในโลก  ไม่ถึง 2 สัปดาห์ต่อมา Ronnie และภรรยาของเขาให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบเงิน 20 ล้านเหรียญแก่ University of Southern California สถาบันการศึกษาเก่าของ Ronnie และลูกชาย 2 คนของเขา “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย Rina Lopez Bautista  ผู้ก่อตั้งและประธาน Knowledge Channel Foundation วัย: 61 ปี ประเทศ: ฟิลิปปินส์ บุตรสาวมหาเศรษฐี Oscar Lopez ก่อตั้ง Knowledge Channel Foundation ในปี 1999 ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์สำหรับครูและนักเรียนชั้นอนุบาล - มัธยมศึกษาในประเทศ ล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา KCFI ได้เปิดตัวแคมเปญ Stay at Home, Learn at Home สำหรับนักเรียนในช่วงล็อกดาวน์ จนถึงตอนนี้ มูลนิธิได้ผลิตวิดีโอเพื่อการศึกษา 1,500 รายการ และมีผู้ติดตามบน Facebook ของมูลนิธิมากกว่า 150,000 คน ขณะที่บน YouTube มีผู้ติดตามมากกว่า 200,000 คน ในเดือนกันยายน KFCI ได้ร่วมมือกับแอปพลิเคชัน Asianparent Philippines เพื่อเข้าถึงผู้ใช้อีก 500,000 ราย โดยประมาณการว่า ขณะนี้มีครัวเรือนชาวฟิลิปปินส์กว่า 10 ล้านครัวเรือน ครูใหญ่ ครู และผู้ปกครองชาวฟิลิปปินส์กว่า 7,000 คนได้เข้าร่วมการสัมมนาผ่านเว็บของ KFCI และโปรแกรมการฝึกอบรมออนไลน์บน Facebook “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย Cho Tak Wong ผู้ก่อตั้งและประธาน Fuyao Glass Industry Group วัย: 75 ปี ประเทศ: จีน ในเดือนพฤษภาคม Heren Charitable Foundation ของ Cho ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคเงินมูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญ เพื่อสร้างมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใน Fuzhou เมืองหลวงของมณฑล Fujian ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา เพื่อฝึกอบรมผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงของจีน  2 เดือนต่อมา มูลนิธิได้บริจาคเงินเพิ่มอีก 15.6 ล้านเหรียญ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในมณฑล Henan ทางตอนกลางของจีน หลังจากฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์จนคร่าหลายร้อยชีวิตและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ผู้ก่อตั้ง Fuyao Glass Industry รายนี้ ซึ่งมีความจำเป็นต้องลาออกจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อมาช่วยครอบครัว ก่อตั้ง Heren ขึ้นในปี 2011 ด้วยเงินบริจาค 300 ล้านหุ้น ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านเหรียญ  โดยทางมูลนิธิได้ใช้เงินปันผลและเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นเพื่อสนับสนุนโครงการมากกว่า 233 โครงการในด้านการศึกษา การปกป้องสิ่งแวดล้อม การบรรเทาความยากจน และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ล่าสุด เอกสารที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า 215 ล้านหุ้นที่ Heren ยังคงเป็นเจ้าของในบริษัทซัพพลายเออร์กระจกรถยนต์ทั่วโลก ซึ่งจดทะเบียนทั้งในเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง มีมูลค่า ณ ราคาตลาดประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญ “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย Mike Cannon-Brookes ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอร่วม Atlassian วัย: 42 ปี ประเทศ: ออสเตรเลีย หนึ่งในมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในออสเตรเลีย ให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงิน 500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (357 ล้านเหรียญ) ภายในปี 2030 ให้กับองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ในเวลาเดียวกัน เขาได้ลงทุนเพิ่มในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็น 2 เท่า รวมเป็นมูลค่า 1 พันล้านเหรียญ นอกเหนือไปจาก 1 พันล้านเหรียญที่เขานำไปลงทุนผ่านบริษัทด้านการลงทุนของตนเองอย่าง Grok Ventures การเปลี่ยนจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียน “ต้องใช้ทั้งการลงทุนทางการเงินและการกุศล” Cannon-Brookes กล่าวผ่านทางวิดีโอคอลเมื่อเดือนที่แล้ว โดยกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากการบริจาคของเขา คือ Beyond Zero Emissions ในท้องถิ่น ซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลออสเตรเลียในโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของออสเตรเลีย  นอกจากนี้ Cannon-Brookes ยังได้ร่วมมือกับ Andrew Forrest  มหาเศรษฐีเหมืองขุด เพื่อสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับ Sun Cable ในออสเตรเลีย ซึ่งกำลังสร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์และแหล่งกักเก็บพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกในทะเลทรายออสเตรเลีย เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับเมืองดาร์วินและสิงคโปร์ผ่านสายเคเบิลไฟฟ้าแรงสูงใต้ทะเลที่ยาวที่สุดในโลก Kim Jung-Ju ผู้ก่อตั้ง Nexon วัย: 53 ปี ประเทศ: เกาหลีใต้ ผู้ก่อตั้งบริษัทเกมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ (มูลค่าตลาด) ได้บริจาคเงินจำนวน 6.3 พันล้านวอน (5.3 ล้านเหรียญ) ให้กับโรงพยาบาลเด็ก 2 แห่ง พร้อมมอบเงิน 3.8 พันล้านวอนให้กับ Daejeon Chung-nam Public Children’s Rehabilitation Hospital ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา  และอีก 2.5 พันล้านวอนในปีที่แล้วเพื่อก่อตั้ง Nexon Children's Palliative Care Center ที่ Seoul National University ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2022 ไม่เพียงเท่านี้ Kim ซึ่งมีบุตรสาววัยรุ่น 2 คน ได้วางแผนที่จะบริจาคเงินเพิ่มเติม 2.5 พันล้านวอนให้กับศูนย์ดูแลสุขภาพ และอีก 1.3 พันล้านวอนให้กับ Daejeon Hospital ในปีหน้า “ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท Nexon สามารถเติบโตได้ด้วยความรักและความสนใจอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับจากเด็กและวัยรุ่น” Kim กล่าวทางอีเมล “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมมองหาหนทางที่จะช่วยฟื้นฟูและบำบัดรักษาเด็กพิการในเกาหลี ในขณะเดียวกันก็คิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะตอบแทนพวกเขาอย่างไร” โดยเกมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของ Nexon ได้แก่ MapleStory และ KartRider ซึ่งทั้ง 2 เกมได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น  ตั้งแต่ปี 2013 ถึงปี 2015 Nexon ได้บริจาคเงิน 2 หมื่นล้านวอนเพื่อสร้าง Purme Foundation Nexon Children's Rehabilitation Hospital ในกรุงโซล ซึ่งบริษัทกล่าวว่าเป็นโรงพยาบาลฟื้นฟูแห่งแรกในเกาหลี และเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2016 เรื่อยมา  นอกจากนี้ Kim ยังเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง C Program ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการกุศลที่เปิดตัวในปี 2017 ร่วมกับผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตชาวเกาหลีคนอื่นๆ อย่าง Kim Beom-su (Kakao), Kim Taek-jin (NCSoft), Lee Hae-jin (Naver) และ Lee Jae- woong (Daum ซึ่งรวมเข้ากับ Kakao ในปี 2014) แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ ASIA’S 2021 HEROES OF PHILANTHROPY เผยแพร่บน ​Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีอินโดนีเซีย ประจำปี 2021