ของเล่นใหม่ของ Francis Choi เศรษฐีพันล้านชาวฮ่องกง - Forbes Thailand

ของเล่นใหม่ของ Francis Choi เศรษฐีพันล้านชาวฮ่องกง

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Oct 2020 | 07:27 AM
READ 2507

เศรษฐีพันล้านชาวฮ่องกง Francis Choi ผู้ร่ำรวยจากการผลิตของเล่นกำลังหาทางเพิ่มทรัพย์สิน ด้วยการขยับไปสู่ธุรกิจต้นน้ำอย่างพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ของเล่นเป็นเรื่องสนุกสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับมหาเศรษฐีชาวฮ่องกง Francis Choi Chee-ming ของเล่นคือ ธุรกิจที่จริงจัง เขาอ้างว่า บริษัทเอกชน Early Light International ของเขาเป็นบริษัทผลิตของเล่นขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อวัดจากกำลังการผลิต การผลิตของเล่นคือ ธุรกิจแรกที่สร้างความร่ำรวยให้เขา แต่ปัจจุบันทรัพย์สิน 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ของเขามาจากธุรกิจหลากหลาย ทั้งหมดอยู่ภายใต้บริษัทชื่อ Early Light ซึ่งมีธุรกิจอย่างเช่น บริการสำหรับรถยนต์ การศึกษา อสังหาริมทรัพย์ และกิจการค้าปลีกอัญมณีและนาฬิกาข้อมือ
ธุรกิจอื่นๆ ของ Early Light
ธุรกิจล่าสุดที่เขาจะแตกสายเข้าไปนะหรือ พลาสติกสีเขียว ไงละ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักธุรกิจใหญ่วัย 73 ปีผู้นี้ควักกระเป๋าตัวเอง 100 ล้านเหรียญเพื่อลงทุนสร้างโรงงานเรซินพลาสติกชีวภาพ ที่มีความสูง 5 ชั้น ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ตั้งอยู่ในเมือง Shaoguan ของจีน ตึกนี้จะเป็นที่ทำการของกิจการร่วมค้าที่เขาจัดตั้งร่วมกับบริษัทอเมริกันแห่งหนึ่ง เพื่อผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนประกอบพื้นฐานคือ พลาสติกชีวภาพชนิดหนึ่งที่ใช้ชื่อการค้าว่า NuPlastiQ โดยคาดว่าจะเริ่มต้นผลิตได้ในช่วงหลังของปีนี้ เหตุการณ์โรคระบาดในช่วงที่ผ่านมายังไม่ได้ทำให้กิจการร่วมค้าแห่งใหม่นี้ หรือกิจการอื่นๆ ของ Choi ต้องชะลอลง เขากล่าวว่า เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนโรงงานของเขาที่เมือง Shenzhen และ Shaoguan ในจีนยังไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 และคนงานส่วนใหญ่ก็เป็นคนในพื้นที่ “โชคดีที่เราไม่มีผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ หรือผู้ที่ยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19” Choi ประธานบริหารของ Early Light กล่าว และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อที่เคยสั่งไว้ นับตั้งแต่ Choi ก่อตั้ง Early Light เมื่อปี 1972 ตอนอายุเพียง 25 ปี เขาก็รอดพ้นจากภาวะวิกฤตมาได้หลายครั้งแล้ว เขาเล่าว่า เมื่อครั้งที่โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ระบาดในปี 2003 เขานอนไม่หลับอยู่หลายคืนเพราะกังวลว่าพนักงานอาจติดโรคระบาด แต่ก็ไม่มีใครติดโรค ถึงกระนั้นคราวนี้ Choi ก็ไม่อยากเสี่ยง เขากล่าวว่า เขาดำเนินการไปหลายอย่างเพื่อติดตามตรวจสอบสุขภาพคนงานของเขาในจีน เมื่อไม่ต้องกังวลเรื่องไวรัส Choi จึงเดินหน้ากิจการพลาสติกชีวภาพได้อย่างเต็มที่ ขณะที่เขานั่งอยู่ในห้องทำงานที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทในฮ่องกง ซึ่งเขาตกแต่งด้วยตู้ปลายาว 10 เมตร และหัวละมั่งติดผนัง Choi ก็หยิบสิ่งที่ดูคล้ายถุงพลาสติกช็อปปิ้งธรรมดาขึ้นมา “สิ่งนี้แหละจะเป็นธุรกิจใหญ่ของเรา” เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์ ก่อนที่โควิด-19 จะระบาดไปทั่วโลก NuPlastiQ ซึ่งใช้ผลิตถุงนี้สามารถนำมาผสมกับพลาสติกแบบดั้งเดิม เพื่อใช้ผลิตของเล่น หรือสิ่งของอื่นๆ พลาสติกชีวภาพอีกหลายอย่าง เช่น เครื่องครัว เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า แม้เดิมพัน 100 ล้านเหรียญของ Choi จะไม่มากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินสุทธิ 6.6 พันล้านเหรียญของเขา แต่ก็เป็นการประกันความเสี่ยงที่ฉลาดเมื่อต้นทุนแรงงานทั่วประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 70% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Choi รับมือกับเรื่องนี้ด้วยการลงทุนหลายล้านเพื่อเปลี่ยนโรงงานของเขาไปใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อลดต้นทุนแรงงาน ที่ผ่านมาเขาลดจำนวนพนักงานรวมลงได้ครึ่งหนึ่งจนเหลือ 40,000 คนในปัจจุบัน จาก 80,000 คนในช่วงที่มีคนงานมากที่สุดในปี 2008 (เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชน Choi จึงไม่เปิดเผยเรื่องการขาดทุน และไม่เปิดเผยแม้กระทั่งรายได้ในปัจจุบัน แต่เขายอมรับว่าอัตรากำไรลดลง)
Karson (ซ้าย) ถ่ายภาพกับรถซูเปอร์คาร์ของเล่น ซึ่งคล้ายรถของจริงที่พ่อเขามีอยู่ Karson มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจพลาสติกชีวภาพด้วย เช่น หาแหล่งวัตถุดิบแป้งเพื่อป้อนในการผลิต
นอกจากนี้ Choi ยังต้องรับแรงกดดันจากกลยุทธ์ของเขาเองที่จะผลิตสินค้าในจีนเท่านั้น เขายังคงผลิตของเล่นทั้งหมดในจีนแผ่นดินใหญ่ แทนที่จะกระจายการผลิตไปยังโรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนที่รายอื่นๆ ทำ แต่ Choi ยืนยันว่าวิธีนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เขากล่าวว่า การย้ายไปผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้เขานึกถึงตอนที่บริษัทในฮ่องกงย้ายการผลิตไปสู่ไต้หวันเมื่อ 4 ทศวรรษก่อน (เมื่อต้นทุน ในฮ่องกงสูงขึ้น) “หลังจากนั้นไม่กี่ปีทุกคนย้ายกลับมาเพราะไต้หวันเริ่มจะแพงเกินไป แถมยังหาคนงานยากด้วย” เขาเล่า ดังนั้น กลเม็ดพลาสติกชีวภาพของเขาจึงเหมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว Choi กำลังสร้างช่องทางหารายได้เพิ่มอีกช่องทางหนึ่งเพื่อเพิ่มความหลากหลายไปสู่ธุรกิจอื่นนอกจากของเล่น และเขาก็เริ่มขยับไปสู่ธุรกิจต้นน้ำ เพื่อจะควบคุมและทำกำไรจากสิ่งที่เป็นหนึ่งในต้นทุนหลักในธุรกิจของเล่นของเขา นั่นคือ พลาสติกที่ใช้ทำของเล่น อีกทั้งการผลิตสิ่งของอื่นๆ นอกจากพลาสติกที่ใช้ทำของเล่นก็จะช่วยให้โรงงานนี้เกิดการประหยัดต่อขนาด “เราเริ่มผลิตได้ (ในปีนี้) แน่นอน” Karson Choi ลูกชายวัย 34 ปีของเขา ซึ่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Early Light กล่าว “เมื่อทุกอย่างเข้าที่ เราจะเริ่มผลิตจำนวนมาก” พลาสติกชีวภาพเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตดีในยุคที่ทั่วโลกกำลังตระหนักถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ข้อมูลของบริษัทวิจัย Fortune Business Insights ในเมือง Pune ของอินเดียชี้ว่า ในปี 2019 ตลาดพลาสติกชีวภาพทั่วโลกมีมูลค่า 7 พันล้านเหรียญ และน่าจะโต 16% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่ง Choi ก็เดิมพันว่า เขาน่าจะเติบโตไปพร้อมกันได้
Elsa (ซ้าย) และตุ๊กตาหุ่นมือ Baby Shark ของ Pinkfong คือ สินค้าในบรรดาของเล่นยอดนิยมที่ผลิตโดย Early Light
“ในอนาคตโลกจำเป็นต้องใช้สิ่งนี้ (พลาสติกชีวภาพ)” Choi กล่าว ความต้องการพลาสติกสีเขียวเพื่อใช้ผลิตของเล่นกำลังเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ “บริษัทของเล่นจำนวนมากปรับตัวมาใช้วัสดุที่ยั่งยืนกันแล้ว ซึ่งไม่ได้ใช้กับตัวของเล่นเท่านั้น แต่ใช้กับบรรจุภัณฑ์ด้วย” Jim Silver ซีอีโอของ TTPM (Toys, Tots, Pets & More) เว็บไซต์รีวิวของเล่นจากรัฐ New York กล่าว Hasbro, Lego และ Mattel เป็นกลุ่มหนึ่งในบรรดาบริษัทที่ให้คำมั่นสัญญาต่อสาธารณชนว่า จะเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อผลิตของเล่น แต่ตลาดพลาสติกชีวภาพก็มีการแข่งขันสูง รวมถึงมีผลผลิตจากบริษัทข้ามชาติอย่าง Cargill, Mitsubishi Chemicals ของญี่ปุ่น และ Total ของฝรั่งเศส Himanshu Vasisht นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยตลาด Mordor Intelligence ในอินเดียกล่าวว่า อัตราการทำกำไรของพลาสติกชีวภาพต่ำกว่าพลาสติกแบบดั้งเดิมเพราะมีต้นทุนสูงกว่า และ Kent Furst หัวหน้าฝ่ายกิจการโพลีเมอร์ของบริษัทวิจัยตลาด Freedonia Group จากรัฐ Ohio กล่าวว่า “ในฐานะธุรกิจเกิดใหม่ พวกเขา (บริษัทพลาสติกชีวภาพ) ขาดทุนเหมือนกันแทบทุกแห่ง” ส่วนเรื่องความสามารถในการสร้างกำไรนั้น “ขึ้นอยู่กับการมีผู้ใช้งานวัสดุนี้มากขึ้น หรือการทำสัญญาผลิตบรรจุภัณฑ์จำนวนมากสำหรับสินค้าผู้บริโภค” Furst กล่าว ความมั่นใจที่ Choi มีต่อกิจการร่วมค้าแห่งนี้จะให้ผลตอบแทนในภายหลัง แต่เขายังลังเลที่จะพูดถึงรายละเอียดเรื่องข้อได้เปรียบ ที่เขามีในการแข่งขันหรือโครงสร้างต้นทุน อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า พลาสติกของเขาซึ่งใช้ NuPlastiQ เป็นพื้นฐานจะขายได้ในราคาพรีเมียม เพราะมี “สูตรลับ” ที่ทำให้พลาสติกนี้เหนือกว่าคู่แข่ง ส่วน Karson ลูกชายของเขาก็สัญญาว่า อีกไม่นานพวกเขาจะทำกำไร “เป็นเลข 2 หลัก” ได้จากธุรกิจใหม่นี้ เพราะไม่ว่าอย่างไรตลาดของเขาก็มีทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย “เมื่อคุณนำธุรกิจเข้าไปในจีนได้ ก็เท่ากับได้ปริมาณเพิ่ม” Karson กล่าว BioLogiQ หุ้นส่วนของ Choi ก่อตั้งเมื่อปี 2011 โดยผู้ประกอบการจากรัฐ Idaho ชื่อ Brad LaPray ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นซีอีโอ Choi วางแผนงานนี้มาตั้งแต่ปี 2017 เมื่อเขาเริ่มลงทุนใน BioLogiQ (เขาไม่เปิดเผยจำนวนหุ้นและจำนวนเงินลงทุน) หลังจากนั้น Choi ใช้เวลาเจรจาอยู่ 18 เดือนเพื่อจะก่อตั้งกิจการร่วมค้าที่เมือง Shaoguan บริษัท BioLogiQ ในสหรัฐฯ ใช้แป้งมันฝรั่งผลิต NuPlastiQ ส่วนในจีน Karson กล่าวว่า โรงงานใหม่ใช้แป้งข้าวโพดจากจีนหรือแป้งมันสำปะหลังจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ “เราต้องจัดหาวัตถุดิบเยอะเลย” เขากล่าว แล้ว Choi คิดว่าธุรกิจพลาสติกชีวภาพนี้เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับธุรกิจของเล่น เขาร้องว่า “ของเล่นพวกนี้สนุกกว่าตั้งเยอะ!”  
คลิกอ่านฉบับเต็ม “ของเล่นใหม่ของ Francis Choi เศรษฐีพันล้านชาวฮ่องกง” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine