การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซียราวร้อยละ 4 ในปีนี้ ได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนี IDX ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 19 จากปีที่แล้ว ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินรวมของ 50 มหาเศรษฐีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.62 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 21 ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

สำหรับในปีนี้ พี่น้อง
R. Budi และ Michael Hartono ยังคงครองตำแหน่งสูงสุดของทำเนียบ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นราว 3.8 พันล้านเหรียญเป็น 4.26 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งได้รับอานิสงส์มาจากการปรับตัวสูงขึ้นของหุ้น Bank Central Asia จากการที่นักลงทุนหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร
แม้
ตระกูล Widjaja ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท Sinar Mas Group จะเป็น 1 ใน 7 รายชื่อมหาเศรษฐี ที่มีความมั่งคั่งลดลงราว 2.2 พันล้านเหรียญในปีนี้ โดยได้รับผลกระทบจากยอดขายและผลกำไรที่ลดลงในธุรกิจกระดาษ ทว่าด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.7 พันล้านเหรียญ ทำให้พวกเขายังคงรั้งตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศเช่นเคย
ด้าน
Anthoni Salim จาก Salim Group ที่ดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภทตั้งแต่อาหารไปจนถึงโทรคมนาคม ได้กลับมาทวงคืนบัลลังก์ในฐานะบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 3 ของอินโดนีเซียหลังจากที่หลุดจากทำเนียบไปนาน 4 ปี ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 44 เป็น 8.5 พันล้านเหรียญ โดยได้รับอานิสงส์จากผลตอบแทนการลงทุนในบริษัทดาวรุ่งอย่าง Emtek และผู้ดำเนินการศูนย์ข้อมูล DCI Indonesia
อย่างไรก็ดี Salim ไม่ใช่ผู้รับผลประโยชน์เพียงรายเดียวจากการเสนอขายหุ้น IPO ของ DCI Indonesia ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพราะในขณะเดียวกัน มหาเศรษฐีหน้าใหม่ 3 ใน 4 รายของปีนี้ล้วนเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง DCI ด้วยกันทั้งสิ้น อันได้แก่
Otto Toto Sugiri, Marina Budiman และ
Han Arming Hanafia ขณะที่ผู้มาใหม่คนที่สี่ คือ
John Kusuma ซึ่งได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในธนาคารดิจิทัล Bank Aladin Syariah
ขณะที่ผู้รับผลประโยชน์จากธนาคารดิจิทัลที่โดดเด่นที่สุดในปีนี้ คือ
Jerry Ng โดยความมั่งคั่งของเขาเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า ท่ามกลางการขยายตัวทางดิจิทัลของ Bank Jago ที่ทำให้เขาก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 12 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.2 พันล้านเหรียญ
ในทำนองเดียวกัน ราคาถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดก็ได้เป็นแรงผลักดันให้ 6 มหาเศรษฐีจากกลุ่มธุรกิจได้รับผลประโยชน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ
Kiki Barki ผู้ก่อตั้งบริษัทขุดถ่านหิน Harum Energy ที่กลับเข้าสู่ทำเนียบอีกครั้งหลังจาก 7 ปีในอันดับที่ 27 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.6 พันล้านเหรียญ ขณะที่อีก 5 รายมีรายชื่อหลุดจากทำเนียบไป ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการใช้เกณฑ์การจัดอันดับที่เพิ่มขึ้นจาก 475 ล้านเหรียญในปี 2020 เป็น 695 ล้านเหรียญ
พบกับ
10 มหาเศรษฐีอินโดนีเซีย ประจำปี 2021 ซึ่งได้รับการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2021
อันดับ 1
R. Budi และ Michael Hartono
ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย
มูลค่าทรัพย์สิน: 4.26 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
อันดับ 2
ตระกูล Widjaja
ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย
มูลค่าทรัพย์สิน: 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
อันดับ 3
Anthoni Salim และครอบครัว
ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย
มูลค่าทรัพย์สิน: 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
อันดับ 4
Sri Prakash Lohia
ประเภทธุรกิจ: ปิโตรเคมี
มูลค่าทรัพย์สิน: 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
อันดับ 5
Prajogo Pangestu
ประเภทธุรกิจ: ปิโตรเคมี
มูลค่าทรัพย์สิน: 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
อันดับ 6
Chairul Tanjung
ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย
มูลค่าทรัพย์สิน: 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
อันดับ 7
Susilo Wonowidjojo และครอบครัว
ประเภทธุรกิจ: ยาสูบ
มูลค่าทรัพย์สิน: 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
อันดับ 8
Boenjamin Setiawan และครอบครัว
ประเภทธุรกิจ: เวชภัณฑ์
มูลค่าทรัพย์สิน: 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
อันดับ 9
Jogi Hendra Atmadja และครอบครัว
ประเภทธุรกิจ: สินค้าอุปโภคบริโภค
มูลค่าทรัพย์สิน: 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
อันดับ 10
Bachtiar Karim และครอบครัว
ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย
มูลค่าทรัพย์สิน: 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Indonesia’s 50 Richest 2021: Combined Wealth Rises To Record $162 Billion
เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
“เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย ประจำปี 2021 ตอนที่ 1