Zhang Chunlin ทิ้งตำแหน่งวิศวกรเงินเดือนสูงในหน่วยงานภาครัฐและหันมาจับกระแสตลาดบำบัดน้ำเสียของจีนที่กำลังเติบโต
ณ โรงบำบัดน้ำเสียแห่งหนึ่งย่านชานเมืองของ Shanghai รถบรรทุกลำเลียงโคลนน้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือนเข้ามายังพื้นที่วันละกว่า 200 ตัน ซึ่งคิดเป็นราว 10% ของปริมาณน้ำเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นในมหานครแห่งนี้ จากนั้นน้ำเสียจะผ่านระบบการทำให้ระเหยและขจัดกลิ่นโดยที่น้ำส่วนหนึ่งจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ โรงงานแห่งนี้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปีที่ผ่านมาในฐานะผู้เล่นสัญชาติจีนรายแรกที่ก้าวลงมาแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติซึ่งคิดค่าบริการสูงกว่าถึง 50% หรือมากกว่านั้น “กฎหมาย (ด้านสิ่งแวดล้อม) ของจีนมีมาตรฐานที่สูงขึ้น” Zhang Chunlin ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการของ SafBon Water Service บริษัทโฮลดิ้งซึ่งถือหุ้นในโรงบำบัดน้ำเสียแห่งนี้และผู้ออกแบบระบบกล่าว โดยสำนักงานใหญ่ของบริษัทอยู่ในละแวกใกล้เคียง “สิ่งนี้ช่วยหนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและเปิดโอกาสมากมายให้กับเรา” ตัวเลขรายได้ของบริษัทในปีที่ผ่านมาพุ่งขึ้น 52% เป็น 151 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งผลให้บริษัททะยานเข้าสู่ ทำเนียบ Best Under A Billion หรือ สุดยอดบริษัทขนาดไม่เกิน 1 พันล้านเหรียญ เป็นครั้งแรก สัดส่วนรายได้ราว 22% มาจากธุรกิจบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือน ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการบริการน้ำประปา ทั้งนี้ Zhang วัย 54 ปีถือครองหุ้น 42% ใน SafBon บริษัทซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 900 ล้านเหรียญ Zhang Chunlin ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการของ SafBon Water Service บริษัทโฮลดิ้งที่ทำกิจการเกี่ยวกับการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียและประปา จีนไม่ได้วางผังระบบน้ำเพื่อสาธารณูปโภคสำหรับรองรับการใช้งานปริมาณมากในเขตเมืองจนกระทั่งปี 1990 ซึ่ง Zhang กล่าวว่าการปล่อยเวลาล่วงเลยมานานกว่าจะหันมาสนใจเริ่มพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและเทคโนโลยีทำให้มาตรฐานคุณภาพน้ำประปาของจีนแตกต่างจากในประเทศแถบตะวันตกอย่างชัดเจน ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของจีนซึ่งมีภูมิประเทศแห้งแล้งยังเป็นประเด็นสำคัญ กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นกระตุ้นให้เหล่าบริษัทในท้องถิ่นลุกขึ้นมาอุดช่องว่างทางเทคโนโลยีและ Zhang กำลังจับกระแสดังกล่าวด้วยการเฟ้นหาบริษัทต่างชาติและเข้าเทคโอเวอร์กิจการ เมื่อปีที่ผ่านมา SafBon ทุ่มเงิน 38 ล้านเหรียญเพื่อซื้อ KWI บริษัทสัญชาติออสเตรเลียผู้นำเทคโนโลยีแยกของแข็งออกจากของเหลวหรือน้ำเสียซึ่งอยู่ในธุรกิจมานานกว่า 67 ปี ส่วนในปีนี้บริษัทปิดดีลเข้าซื้อธุรกิจบำบัดจัดการน้ำในเครือของ Doosan บริษัทด้านโครงสร้างพื้นฐานสัญชาติเกาหลี รวมถึงเข้าซื้อหุ้นส่วนหนึ่งของ AquaSwiss ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดระดับแถวหน้าของโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แผนเหล่านี้หนุนให้บริษัทของ Zhang ก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในประเทศจีน ในปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจบำบัดจัดการน้ำเสียของจีนเติบโตขึ้น 13% เป็น 3.1 หมื่นล้านเหรียญและน่าจะขยายตัวในระดับนี้ไปจนถึงปี 2020 ทว่า ในภาพรวมตลาดมีการกระจายตัวสูงโดยแตกออกเป็นผู้เล่นรายเล็กรายน้อยซึ่งบริษัทเอกชนรายใหญ่สุดในตลาดอย่าง Beijing Water Technology ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 4% ในปีที่ผ่านมาขณะที่ SafBon รั้งอันดับที่ 12 ของภาคอุตสาหกรรม ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของจีนซึ่งมีภูมิประเทศแห้งแล้งยังเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งนี่คือโอกาสของ SafBon ทว่า ตลาดใหญ่กว่าคือโครงการที่เรียกกันว่า Sponge City หรือเมืองฟองน้ำ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งนำน้ำฝนมาใช้ประโยชน์ และขณะเดียวกันช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือขาดแคลนน้ำ จีนตั้งเป้าที่จะดำเนินโครงการเมืองฟองน้ำในพื้นที่ 20% ของเมืองใหญ่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2020 ซึ่งถือเป็นปีสุดท้ายก่อนหมดระยะเวลาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปีฉบับล่าสุด โดยสัญญาสำหรับโครงการในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีมูลค่าเกือบ 1.5 แสนล้านเหรียญ ส่วนแผนดำเนินการในพื้นที่อีก 80% ที่เหลือได้รับการตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2030 จากโครงการนำร่องทั้งหมด 30 แห่งของจีน SafBon คว้าโครงการเมืองฟองน้ำไว้ในมือ 2 โครงการและกำลังอยู่ระหว่างเจรจาเพิ่มเติม ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้ราวครึ่งหนึ่งของ SafBon มาจากโครงการเมืองฟองน้ำ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องรูปแบบการร่วมทุน PPP (public private partnership) Zhang จึงรักษาสัดส่วนโครงการประเภทนี้ให้อยู่ที่ 57% ของมูลค่าสัญญาทั้งหมดของบริษัท เพื่อรักษาความเสี่ยง Zhang เกิดมาในครอบครัวเกษตรกรซึ่งอาศัยอยู่ในแถบชานเมืองของ Shanghai เขาเข้าศึกษาต่อในภาควิชาเคมีด้านโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ Wuhan University ใบปริญญาสาขานี้การันตีว่าเมื่อจบมาจะได้งานดีเงินเดือนสูงในหน่วยงานของรัฐ แล้วก็เป็นไปตามนั้น Zhang กลับมายัง Shanghai ในปี 1984 เพื่อเข้าร่วมงานกับองค์กรวิสาหกิจด้านทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าของจีนในตำแหน่งวิศวกร อย่างไรก็ตาม เพื่อตามหาความอิสระผนวกกับได้รับแรงกระตุ้นจากการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศภายใต้การนำของ Deng Xiaoping สุดยอดผู้นำของจีน Zhang จึงยื่นใบลาออกจากงานที่คนส่วนใหญ่จ้องกันตาเป็นมันและลุกขึ้นมาก่อตั้ง SafBon ในปี 1995 โดยเขารวบรวมเงิน 70,000 เหรียญจากเหล่าเพื่อนฝูงเพื่อเป็นทุนตั้งต้น Deng Xiaoping สุดยอดผู้นำของประเทศจีน (Cr: Britannica.com) SafBon ไม่มีโครงการใหญ่ผ่านมือเลยจนกระทั่งปีที่ 8 ของการเปิดกิจการ ในปีนั้นบริษัทได้เซ็นสัญญากับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใน Taiyuan มณฑล Shanxi ทางตอนเหนือของจีนคิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านเหรียญ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีกรองน้ำที่สามารถรองรับภูมิอากาศแห้งแล้ง Zhang จึงพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นด้วยความช่วยเหลือของเหล่าวิศวกรปลดเกษียณซึ่งเคยร่วมงานกันในอดีตบริษัทของเขา “บรรดามิตรสหายเหล่านี้เองที่ได้วางรากฐานเทคโนโลยีให้กับบริษัทของเรา” เขากล่าว แต่หลังจากนั้นโรคไข้หวัดมรณะหรือ SARS เกิดการแพร่ระบาดในจีนเมื่อปี 2003 “บริษัทส่วนใหญ่ยกเลิกแผนเดินทางเข้าร่วมประชุมทางธุรกิจและ Taiyuan เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง เราพูดคุยกันภายใต้หน้ากากตลอดเวลา” Zhang กล่าวถึงอดีต “มีผู้โดยสารร่วมเที่ยวบินไป Taiyuan กับผมเพียง 2-3 คน และในร้านอาหารของโรงแรมที่ผมเข้าพักก็มีคนเพียงไม่กี่คน” นับเป็นความใจเด็ดของ Zhang ที่เห็นได้ชัด ความกล้าได้กล้าเสี่ยงนี้ทำให้ SafBon โลดแล่นเติบโตบนเวทีธุรกิจแถบตอนในของประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังคงสร้างรายได้สัดส่วนราว 2 ใน 3 ให้กับบริษัท เมื่อปี 2004 บริษัทเริ่มก้าวเข้ามาทำธุรกิจกับส่วนปกครองท้องถิ่นโดยให้บริการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และจ่ายเข้าไปยังโรงไฟฟ้าพลังความร้อน หลังจากนั้น Zhang ตัดสินใจนำ SafBon เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Shenzhen Stock Exchange เมื่อปี 2011 (Cr: carvermostradi.com) “แน่นอนว่าเราคือบริษัทด้านวิศวกรรม แต่ทุกบริษัทที่พัฒนามาจนถึงระดับหนึ่งต่างก็หันมามุ่งเน้นความสำคัญที่ด้านการเงินมากขึ้น” เขากล่าว Zhang วางแผนการสืบทอดกิจการ โดยมุ่งเป้าที่จะรับผู้จัดการ 100 คนมาร่วมทีมในช่วง 10 ปีข้างหน้าจากจำนวนพนักงาน 400 คนในปัจจุบัน เขากล่าวว่า “การบ่มเพาะเตรียมความพร้อมผู้บริหารรุ่นที่สองเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การพินิจพิจารณา” ลูกสาวทั้งสองคนของเขาอยู่ในวงการวิศวกรรมเคมีทั้งคู่ “แต่ในที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะเหมาะสมกับตำแหน่งงานมากที่สุดหรือไม่” เรื่อง: Jane Ho เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนาคลิกเพื่ออ่านฉบับเต็มของ "เปลี่ยนน้ำเสียเป็นน้ำใส" ได้ในรูปแบบ e-Magazine