WeLab สตาร์ทอัพฟินเทคระดับยูนิคอร์นในฮ่องกง วางแผนที่จะเปิดตัวธนาคารดิจิทัลในอินโดนีเซียในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากบรรลุข้อตกลงมูลค่า 240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อถือหุ้นใน Bank Jasa Jakarta
แม้การรุกเข้าสู่ตลาดธนาคารดิจิทัลของอินโดนีเซียอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากธนาคารแบบดั้งเดิมและบริษัทเทคโนโลยีต่างเดินหน้าชิงส่วนแบ่งกันอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา นำโดยJenius ของ Bank BTPN เป็นรายแรก ตามมาด้วย Blu ของ Bank Central Asia และ Bank Jago ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย GoTo
ด้าน Simon Loong ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ WeLab มองว่า ตลาดธนาคารดิจิทัลในอินโดนีเซียยังพอมีช่องว่างให้เติบโต ขณะที่การแข่งขันที่ดุเดือดนั้นย่อมเป็นผลดีต่อตลาด “อินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่” Loong กล่าวในวิดีโอสัมภาษณ์จากสำนักงานใหญ่ของสตาร์ทอัพในฮ่องกง “ตลาดนี้ไม่ใช่ตลาดที่ผู้ชนะจะได้รับผลประโยชน์ฝ่ายเดียว เพราะธนาคารดิจิทัลยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้นจึงไม่มีผู้ชนะที่ชัดเจนและยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก”
Loong เสริมต่อว่า WeLab ต้องการที่จะเข้าสู่ตลาดใหม่ที่มีผู้เล่นจำนวนมาก ซึ่งแม้จะมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่นั่นก็ทำให้การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2020 WeLab ได้เปิดตัวธนาคารดิจิทัลแห่งแรกในฮ่องกงในชื่อ WeLab Bank ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 150,000 ราย และมีผลิตภัณฑ์ยอดนิยม คือ เงินฝากประจำ GoSave ที่จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นหากมีลูกค้าเข้าร่วมกลุ่มเงินฝากมากขึ้น
ขณะที่ในปี 2018 WeLab ได้เดินหน้าเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ Astra International เพื่อให้บริการแอปพลิเคชันยืมเงินออนไลน์ Maucash ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้มากกว่า 3 ล้านราย
“ดังนั้น ในอนาคต อินโดนีเซียจะมีโครงสร้างการเงินแบบเดียวกับฮ่องกง ซึ่งเราจะมีแพลตฟอร์มการให้กู้ยืมและธนาคารดิจิทัล เราจะทำงานร่วมกันและจะมีการผนึกกำลังกันมากมาย” Loong กล่าว
ล่าสุด บริษัทที่ปรึกษา McKinsey รายงานว่าในปีที่ผ่านมามีลูกค้าชาวอินโดนีเซียกว่าร้อยละ 78 ใช้งานธนาคารดิจิทัล เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 57 ในปี 2017 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการต่างๆ ในช่วงการระบาดใหญ่ ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามตั้งเป้าที่จะเพิ่มการใช้บริการธนาคารบนช่องทางอินเทอร์เน็ตนอกมากขึ้น
“ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เราจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างธนาคารดิจิทัลทั่วเอเชีย ต่อยอดจากที่แรกในฮ่องกง ซึ่งเรายังคงมองหาตลาดอื่นๆ เรื่อยมา แต่ผมมองว่ามีตลาดอยู่ไม่กี่แห่งที่เราพบว่าน่าสนใจ” Loong กล่าวพร้อมยกตัวอย่างประเทศไทยและเวียดนาม
นอกจากนี้ WeLab ยังตั้งเป้าที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่เสร็จสิ้นการเข้าซื้อกิจการและควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากความผันผวนของตลาด
แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Hong Kong Fintech Unicorn WeLab To Enter Increasingly Crowded Indonesian Digital Banking Market เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม: สร้าง “Digital Commerce” ให้เติบโตอย่างยั่งยืน