TATA ท่ามกลางพายุกระหน่ำ - Forbes Thailand

TATA ท่ามกลางพายุกระหน่ำ

FORBES THAILAND / ADMIN
25 May 2017 | 11:54 AM
READ 2044

ตัวละครล่าสุดที่ก้าวเข้าสู่สมรภูมิแห่งความขัดแย้งใน Tata คือ นักธุรกิจชื่อดังชาว Parsi ที่พลิกบทเหนือความคาดหมายในการปลด Cyrus Mistry จากเก้าอี้ประธานกรรมการ

ขณะที่ Nusli Wadia นักธุรกิจชื่อดังชาวอินเดียและประธานคณะกรรมการ Wadia Group บริษัทที่ทำรายได้ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กำลังอยู่ใน New York มหากาพย์ความขัดแย้งในธุรกิจแห่งปี 2016 ที่อินเดียก็ปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการของ Tata Sons บริษัทโฮลดิ้งซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่ของเครือธุรกิจที่สร้างรายได้ปีละ 1.03 แสนล้านเหรียญ ลงมติปลด Cyrus Mistry ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการอย่างกะทันหันและแต่งตั้ง Ratan Tata อดีตประธานกรรมการวัย 79 ปีขึ้นดำรงตำแหน่งแทนเป็นระยะเวลา 4 เดือน แผนยึดอำนาจกลางอากาศที่เป็นการทุบโต๊ะแบบไม่ให้ตั้งตัวสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่ว เพราะ Mistry ไม่ใช่เพียงกรรมการกินค่าตอบแทนทั่วไป แต่เขามาจากตระกูลธุรกิจพันล้านซึ่งถือหุ้น 18.4% ใน Tata Sons และยังเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของอินเดียด้วยทรัพย์สินในครอบครอง 1.37 หมื่นล้านเหรียญ ยิ่งไปกว่านั้นครอบครัวพวกเขายังเกี่ยวดองกัน โดยน้องสาวของเขาแต่งงานกับ Noel Tata พี่น้องร่วมบิดาของ Ratan Tata
ลงจากเก้าอี้: Cyrus Mistry ไม่ยอมยกธงขาวในสมรภูมินี้
“ผมแทบไม่อยากจะเชื่อ ผมคิดว่ามันเป็นหายนะ” Wadia วัย 72 ปี กล่าว เขาเป็นผู้ดูแลเครืออาณาจักรที่ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจอาหารไปจนถึงสายการบินโดยเริ่มต้นจากธุรกิจต่อเรือในปี 1736 เมื่อความขัดแย้งยกระดับความรุนแรง Wadia ปรากฏตัวในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญคนที่สามในมหากาพย์ครั้งนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องราวใน กลุ่มชาว Parsi ผู้อพยพจากเปอร์เซียที่มีบทบาทสำคัญในวงการเศรษฐกิจของอินเดีย Wadia มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับ Ratan Tata มานานกว่าทศวรรษและยังนั่งเก้าอี้กรรมการใน 3 บริษัทหลักของกลุ่มธุรกิจ Tata ได้แก่ Tata Steel, Tata Motors และ Tata Chemicals ทั้งสองตระกูลเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่ช่วยเหลือกันมาตลอด โดย JRD Tata ตำนานนักธุรกิจอดีตประธานกรรมการของ Tata Group เคยช่วยรักษากิจการ Bombay Dyeing ของตระกูล Wadia ไว้ในปี 1971 Wadia จึงเคารพนับถือเขาเสมือนพ่อคนหนึ่ง ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์กันว่า Wadia จะเข้าร่วมทัพกับ Ratan Tata
หวนคืน: Ratan Tata กลับมารับตำแหน่งประธานชั่วคราว
หลังเดินทางกลับถึงประเทศอินเดีย Wadia รีบรุดเข้าติดตามสถานการณ์ที่กำลังดุเดือด แต่น่าประหลาดใจที่คราวนี้เขากลับเลือกเข้าข้าง Mistry แทนที่จะเป็นสหายเก่าแก่ที่สนิทชิดเชื้อกันมานานกว่า 10 ปี ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากรรมการอิสระของ 3 บริษัทมีมติเรียกประชุมซึ่งในการประชุมครั้งนั้น Wadia ให้การสนับสนุน Mistry “วิธีการปลด Cyrus จากเก้าอี้ประธานกรรมการของ Tata Sons เป็นเรื่องน่าตกใจและไม่เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่บัญญัติขึ้นโดย JRD Tata” Wadia กล่าวยืนยัน หลังการประชุมคณะกรรมการ Tata Sons เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทในเครือเมื่อเดือนธันวาคมเพื่อปลด Wadia จากตำแหน่งเช่นเดียวกับ Mistry โดยระบุว่า Wadia ได้ “กระตุ้น” กรรมการอิสระรายอื่นให้กระทำการที่ขัดต่อผลประโยชน์ของ Tata Group
Nusli Wadia: "ผมไม่ใช่คนที่จะยอม Ratan Tata ไปเสียทุกเรื่อง"
ในเวลาต่อมา Wadia ปฏิเสธข้อกล่าวหาและโต้แย้งว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริง เขาร่างหนังสือชี้แจงต่อผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัท Tata นอกจากนี้ เขายังยื่นคำร้องต่อสำนักงาน Securities & Exchange Board of India เพื่อขอแรงจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดให้เข้ามาช่วยตรวจสอบดูแล กลุ่มผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างน้อยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อคัดค้านการปลดเขาลงจากตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่า Tata Sons ในฐานะ “ผู้ลงทุนและถือหุ้น” ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่ภายใต้เครือบริษัทไม่ควรมีสิทธิออกเสียงในการปลดกรรมการอิสระออกจากตำแหน่ง ขณะที่ศาลไม่อนุญาตให้ Wadia ดำรงตำแหน่งต่อ แต่นับว่าเขาชนะคดีบางส่วนเมื่อศาลระงับการแต่งตั้งกรรมการคนใหม่เข้ามานั่งแทนเก้าอี้ที่ว่างลงจนกว่าการตัดสินคดีจะถึงที่สุด ขณะที่ Mistry มองเห็นถึงสัญญาณร้ายและตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการ 6 บริษัทในเครือก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นแต่ Wadia เลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น เมื่อผู้ถือหุ้นลงมติเห็นชอบตามที่ Tata เสนอทำให้เขาหลุดจากตำแหน่งที่นั่งมานานกว่า 3 ทศวรรษ Wadia กล่าวว่า “ผมไม่ใช่คนที่จะเห็นด้วยกับ Ratan Tata ไปเสียทุกเรื่อง ผมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบในฐานะกรรมการอิสระ”
กิจการ Bombay Dyeing บริษัทผู้ผลิตเครื่องนอนซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของตระกูล Wadia ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างตระกูล Wadia กับ ตระกูล Tata เมื่อ JRD Tata ได้ช่วยรักษากิจการนี้ไว้ให้ในปี 1971 (Photo Credit: vrdiaries.virtuousretail.com)
Wadia ไม่มีทางเลือก เขายื่นฟ้อง Ratan Tata, Tata Sons และกรรมการรายอื่นๆ ในข้อหาหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและอาญาโดยเรียกร้องค่าเสียหาย 445 ล้านเหรียญจากการปลดเขาจากตำแหน่งซึ่งทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและสูญเสียความเคารพนับถือ (ทางด้าน Tata ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา) แหล่งข่าวของ Tata ยืนยันว่าจุดเริ่มต้นของความบาดหมางมาจากการรุกสู่ธุรกิจสายการบินของ Tata ในปี 2013 เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่ Wadia Group อยู่ในตลาดมาก่อน Wadia ออกมาหักล้างทฤษฎีดังกล่าวโดยยืนยันว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาเริ่มสั่นคลอนมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นซึ่งเกิดจากสิ่งที่เขาเรียกว่า “วิถี” ของ Tata เขายกตัวอย่างถึงการจ้างล็อบบี้ยิสต์ในรัฐบาลอินเดีย และเขาไม่เห็นด้วยเมื่อ Tata Steel เข้าซื้อ Corus บริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สัญชาติอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ในราคา 1.2 พันล้านเหรียญ Wadia ยอมรับว่าในช่วงแรกเขาคัดค้านเมื่อ Mistry จะเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการของ Tata ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องราวบาดหมางระหว่างครอบครัวในอดีต ทั้งนี้ Wadia กล่าวต่อว่าเมื่อมองข้ามความขัดแย้งในอดีตและหลังจากได้ร่วมงานกับ Mistry พวกเขาได้พัฒนาความสัมพันธ์ในเรื่องงานและรู้สึกชื่นชมแนวทางการทำงานที่โปร่งใสของ Mistry
สายการบิน Go Airlines ของ Wadia Group และสายการบิน Vistara ที่ Tata ก่อตั้งขึ้นร่วมกับพันธมิตรสายการบินจากสิงคโปร์ (Photo Credit: travel-guide-and-leisure.blogspot.com และ ndtv.com)
Mistry ได้ยื่นเรื่องต่อ National Company Law Tribunal เพื่อฟ้อง Tata Sons ในข้อหา “การบริหารจัดการผิดพลาดและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นส่วนน้อยอย่างไม่เป็นธรรม” นอกจากนั้น เขายังพยายามหาทางยับยั้ง Tata Sons จากการปลดเขาออกจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทและลดสัดส่วนการถือหุ้นของครอบครัวเขา เช่นเดียวกัน Wadia กล่าวว่าเขาวางแผนจะดำเนินการฟ้องร้องอดีตเพื่อนรักจนถึงที่สุดเพราะ “ผมเอาจริง” มหาเศรษฐี Cyrus Poonawalla ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่ม Parsi ให้ความเห็นว่ายิ่งปัญหาขัดแย้งยืดยาวออกไปเท่าไหร่ก็จะยิ่งบั่นทอนชื่อเสียงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมากขึ้นเท่านั้น  “พวกเขาควรหาคนทำหน้าที่เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยและหาทางลงให้ Cyrus อย่างเหมาะสม” ประเด็นที่ถูกพูดถึงกันในวงกว้างคือการที่ Tata แต่งตั้ง Natarajan Chandrasekaran เข้ามารับตำแหน่งแทน Mistry เขาเป็นลูกหม้อที่ทำงานกับบริษัทมายาวนานและดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tata Consultancy Services บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีซึ่งสามารถทำกำไรได้มากที่สุดในเครือธุรกิจ ทั้งนี้ Chandra ชื่อที่ทุกคนเรียกติดปาก เป็นผู้ได้รับแต่งตั้งในฐานะประธานกรรมการคนแรกที่ไม่ได้มาจากกลุ่ม Parsi   เรื่อง: Naazneen Karmali เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา
คลิกอ่านฉบับเต็ม "TATA ท่ามกลางพายุกระหน่ำ" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine