Takuya Tsutsumi กับ “แลคเกอร์เคลือบเงา Urushi” ศาสตร์แห่งศิลป์จากอดีตสู่ความร่วมสมัย - Forbes Thailand

Takuya Tsutsumi กับ “แลคเกอร์เคลือบเงา Urushi” ศาสตร์แห่งศิลป์จากอดีตสู่ความร่วมสมัย

FORBES THAILAND / ADMIN
10 May 2023 | 11:45 AM
READ 1846

นับตั้งแต่แผ่นสเก็ตบอร์ดต่อเนื่องไปถึงหุ่นโมเดลฟิกเกอร์รูปหมี Bearbrick, Takuya Tsutsumi มุ่งมั่นแสดงให้เห็นว่าอุรุชิ (Urushi) หรือศิลปะแบบโบราณอย่างการลงรักเคลือบเงาไม่ได้ล้าสมัยแม้ในยุคปัจจุบัน


    วัดวาอาราม สวนสไตล์เซน และศาลเจ้าชินโต อดีตนครหลวงอันเก่าแก่ของญี่ปุ่นอย่างเกียวโตนั้นรุ่มรวยไปด้วยสมบัติทางวัฒนธรรมมากมาย และยังเป็นสถานที่ตั้งของธุรกิจหัตกรรมอันเก่าแก่ของประเทศที่สืบสานกันมาหลายต่อหลายรุ่น

    หนึ่งในธุรกิจเหล่านั้นคือ Tsutsumi Asakichi Urushi ร้านช่างศิลป์ที่นำศิลปะการลงรักเคลือบเงาแบบญี่ปุ่นหรืออุรุชิมาขัดเกลาให้งดงามเข้ากับยุคสมัย ซึ่งศาสตร์แห่งศิลปะนี้จำเป็นต้องใช้เวลาฝึกฝนยาวนานนับหลายปีถึงจะมีฝีมือสมบูรณ์แบบ

    Takuya Tsutsumi คือ ทายาทรุ่น 4 ที่สานต่อธุรกิจของครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นส่งต่อกันมายาวนานถึง 144 ปี ความรักที่เขามีต่องานหัตถศิลป์ประเภทนี้ได้รับการฟูมฟักมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเล็ก

    “คุณปู่ทวดของผม Asakichi เป็นผู้ริเริ่มร้านอุรุชิแห่งนี้ และโรงงานก็เคยเป็นบ้านของคุณปู่มาก่อน ตอนผมมาเยือนที่นี่เมื่อสมัยเด็ก ปู่ของผมก็ใช้ยางรักสร้างสรรค์หรือซ่อมแซมสิ่งต่างๆ” เขาเล่า

    “ครั้งหนึ่งผมนำเครื่องบินของเล่นที่ทำจากดินเผามาที่นี่ และคุณปู่ก็ใช้ยางรักซ่อมปีกที่หักของมัน สำหรับผมแล้วยางรักนั้นเปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยนใจดีของคุณปู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าเราสามารถนำมันมาใช้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้มากมาย”



    งานฝีมือในแบบอุรุชิถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์พื้นบ้านมากมาย ไม่ว่าจะเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ของประดับตกแต่ง เครื่องเรือนต่างๆ รวมถึงประตูและฉากกั้น ซึ่งน้ำมันแลคเกอร์เคลือบขัดเงาที่นำมาใช้ในขั้นตอนการผลิตสินค้าต่างๆ นั้นทำมาจากยางของต้นอุรุชิหรือต้นรักที่มีอายุสิบปีขึ้นไปและนิยมใช้รูปแบบนี้มานานตลอดระยะเวลากว่า 10,000 ปี

    กระบวนการเก็บและกลั่นยางไม้เป็นงานหนักที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง Tsutsumi กลั่นอุรุชิโดยเริ่มจากการกรอง การเคี่ยว และการให้ความร้อน ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้เวลานานถึงหนึ่งเดือนจึงจะเสร็จสมบูรณ์

    “แลคเกอร์เคลือบเงาที่ทำจากยางรักสามารถแปรเปลี่ยนได้ราวกับมีชีวิต ทั้งยังอ่อนไหวต่อความชื้นและอุณหภูมิในแต่ละวัน แน่นอน คนเก็บยางก็บอกผมว่าคุณภาพของยางจากต้นก็เปลี่ยนไปเช่นกัน” เขาอธิบายด้วยว่า ความหนืด สี ความวาว และความเร็วในการแข็งตัวจะถูกปรับให้ตรงความต้องการและการใช้งานของเขา

    “ผมคิดว่าเสน่ห์ของการลงรักเคลือบเงาคือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งก็คือวัสดุที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ วัสดุนี้มาจากธรรมชาติและถูกสร้างโดยธรรมชาติ ยางรักเป็นน้ำยาชนิดเดียวที่จะแข็งตัวเมื่อเจอความชื้น และร่างกายของมนุษย์ก็มีน้ำเป็นส่วนประกอบใหญ่ ดังนั้นเมื่อยางรักสัมผัสกับผิวของมนุษย์จึงให้ความรู้สึกที่ดี” เขากล่าวเสริม

    และเนื่องจากผลิตภัณฑ์พื้นบ้านแบบเก่าแก่ดั้งเดิมส่วนใหญ่มีความเปราะบางและจำเป็นต้องดูแลถืออย่างระมัดระวัง ผู้คนจึงมักเข้าใจผิดว่าวัสดุที่มีการเคลือบเงาด้วยแลคเกอร์หรือยางรักไม่มีความทนทาน ซึ่งนั่นไม่เป็นความจริงเลย “ต่อให้โดนกรดหรือด่างก็ไม่มีผลกระทบใดๆ เลย ผู้คนต่างก็ลืมนึกถึงศักยภาพนี้ของยางรัก” Tsutsumi บอก


    แม้ว่าวัสดุนี้จะมีประโยชน์มากมายอย่างน่าอัศจรรย์ ความนิยมของมันกลับค่อยๆ ลดหลั่นลงเรื่อยๆ ตัวเลขปริมาณการใช้ยางรักในแต่ละปีตกลงอย่างหนักจาก 500 ตันเหลือเพียง 23 ตันเมื่อไม่นานมานี้

    สาเหตุหลักอย่างหนึ่งอาจมาจากความยากลำบากในการฝึกฝนจนสามารถใช้วัสดุนี้ได้อย่างชำนาญ ในอดีตกาลช่างรักต้องผสมยางรักด้วยมือภายใต้แสงอาทิตย์เพื่อให้ได้น้ำยาออกมาแวววาว 

    แต่ทว่าทุกวันนี้เครื่องจักรถูกนำมาช่วยทุ่นแรงในการผสมอุรุชิ แต่ทั้งนี้ การกลั่นยางรักก็ยังไม่ใช่งานง่ายๆ อยู่ดี Tsutsumi เผยว่า “ในการทำแลคเกอค์จากยางรัก การควบคุมเวลาให้พอเหมาะพอควรเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง และยังคงยากสำหรับผมด้วย”

    ปัจจุบันมีร้านอุรุชิที่ผลิตอุรุชิเองตั้งแต่ต้นเหลือเพียงประมาณ 10 แห่งในญี่ปุ่น และ Tsutsumi Asakichi Urishi คือหนึ่งในนั้น โดยน้ำยาแลคเกอร์เคลือบขัดเงาที่ทำจากยางรักธรรมชาติที่ทางเขาผลิตยังได้ถูกนำมาใช้ในการบูรณะสมบัติของชาติและทรัพย์สินทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าต่างๆ

    เพื่อป้องกันไม่ใช้งานศิลป์ชนิดนี้สูญหายไปกับกาลเวลา Tsutsumi ตัดสินใจว่าเขาต้องลงมือทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเผยแพร่ความตระหนักรู้เกี่ยวกับอุรุชิ ในปี 2016 เขาริเริ่มโปรเจ็กต์ที่เรียกว่า urushi-no-ippo (ก้าวแรกสู่การลงรักแบบญี่ปุ่น) เพื่อนำเสนอศักยภาพของยางรักให้ประจักษ์แก่คนรุ่นหลัง 

    เขายังร่วมมือกับศิลปินหลายคนเพื่อแสดงให้เห็นว่ายางรักสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสมัยนี้ได้อย่างไรเป็นการดึงดูดความสนใจจากลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ ยกตัวอย่างเช่น การนำแลคเกอร์จากน้ำยางธรรมชาติมาทากาต้มน้ำ รวมทั้งหุ่นโมเดลฟิกเกอร์ยอดนิยม อย่าง Bearbrick

    “ผมหวังที่จะทำให้ผู้คนได้เข้าใจว่าการค้นพบวัสดุจากธรรมชาติที่ยอดเยี่ยมแบบนี้มันดีแค่ไหนแม้พวกเขาจะคิดว่ามันไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ผมก็อยากจะแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถใช้แลคเกอร์จากยางรักกับงานหนักๆ ได้ด้วย ก็เลยนำมาทาบนเซิร์ฟบอร์ดกับสเก็ตบอร์ด” Tsutsumi ซึ่งถือเป็นนักสเก็ตบอร์ดตัวยงคนหนึ่งกล่าว


    สเก็ตบอร์ดที่เคลือบแลคเกอร์จากยางรักอาจได้รับรอยขีดข่วนจากการใช้งานจริงบ้าง แต่สำหรับเขาแล้ว ตำหนิเหล่านี้กับเพิ่มความน่าหลงใหลให้กับมัน เช่นเดียวกับที่เครื่องหนังดูมีเรื่องราวมากขึ้นจากลวดลายที่เกิดขึ้นหลังการใช้งานผ่านเวลาอันยาวนาน 

    เขาบอกว่า “มันก็เหมือนกับผลิตภัณฑ์จากหนังหรือเดนิม ธรรมชาติของแลคเกอร์นั้นมีความคงทนและจะค่อยๆ สวยงามยิ่งขึ้นเมื่อผ่านการใช้งาน”

    เพื่อให้มั่นใจว่างานศิลป์หายากแขนงนี้จะคงอยู่อย่างยั่งยืน ในปี 2019 Tsutsumi ก็เริ่มต้นปลูกต้นยางรักที่ Keihouku ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าทางเหนือของเกียวโต ทุกวันนี้มีการใช้ยางรักท้องถิ่นในญี่ปุ่นน้อยกว่าหนึ่งตัน เขาหวังว่าจะเปลี่ยนสิ่งนี้ได้ แม้ว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 15 ปีกว่าต้นยางรักจะโตเต็มที่

    “การใช้งานของแลคเกอร์จากยางรักที่ลดลงยังก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ผมหวังว่าจะสร้างจุดบรรจบระหว่างมนุษย์กับยางรัก และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และยังหวังว่าลูกหลานของผมจะได้ใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่สวยงาม” เขากล่าว


    ประโยชน์อย่างหนึ่งของอุรุชิคือการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็มีความสำคัญ “มีหลายคนยังคงพิศวงสงสัยเกี่ยวกับการใช้งานจากแลคเกอร์เคลือบเงาจากธรรมชาติ ซึ่งผมก็รักมันตรงนี้แหละ เมื่อสิ่งของค่อยๆ เก่าขึ้น คุณก็จะสามารถซ่อมและนำมันกลับมาใช้ให้ดูเหมือนใหม่ได้อีกครั้ง นั่นคือวิถีของชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เพื่อที่คุณจะได้ใช้งานสิ่งของชิ้นเดิมได้อย่างยาวนาน”

    จากความพยายามทั้งหมด เขาหวังจะสืบสานมรดกที่ทางครอบครัวปกป้องมานานนับศตวรรษต่อไป “ผมได้รับความรักมากมายจากคุณปู่ของผมซึ่งรวมถึงวิถีของการใช้น้ำมันเคลือบเงาจากแลคเกอร์ธรรมชาติ นี่จึงเป็นเหตุผลให้ผมยังทำงานนี้อยู่จวบจนถึงปัจจุบันนี้ ผมหวังว่าจะสามารถส่งต่อสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนของผมไปยังรุ่นถัดไป พร้อมๆ กับมีความสุขในสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้ด้วย”



แปลและเรียบเรียงโดย พรรณราย ดวงดีเด่น จากบทความ This artisan who is also an avid skateboarder creates his own lacquer for his skateboards ซึ่งเผยแพร่บน CNA Luxury

อ่านเพิ่มเติม: Trident Seafoods จากเรือหนึ่งลำสู่อาณาจักรประมงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine