Taizo Son กูรูสายเทคโนโลยี ผู้สร้างผลักดันเทคโนโลยีชั้นสูง - Forbes Thailand

Taizo Son กูรูสายเทคโนโลยี ผู้สร้างผลักดันเทคโนโลยีชั้นสูง

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Sep 2018 | 11:12 AM
READ 11451

นับตั้งแต่ปีที่ Taizo Son ซึ่งเป็นผู้ประกอบการหลายกิจการ ย้ายจากบ้านเกิดในญี่ปุ่นมาอาศัยอยู่ในสิงคโปร์ เขาได้ค้นพบห้องทดลองที่เปิดประตูต้อนรับแนวคิดเรื่องเทคโนโลยีขั้นสูงของเขาแล้ว

Taizo Son กูรูสายเทคโนโลยีกำลังปฏิบัติภารกิจสำคัญเขาต้องการยกระดับวิถีชีวิตและการทำงานของชาวเมืองอย่างสิ้นเชิง เขาวาดภาพเมืองใหญ่อันเขียวขจี ผู้คนจำนวนมากใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขโดยไม่ต้องพึ่งพารถยนต์ แต่ใช้ยานพาหนะใต้ดินหรือเครื่องร่อนบินไปมาคนส่วนใหญ่ไม่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศกันแล้ว แต่อาศัยร้านกาแฟเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนแนวคิดท่ามกลางอวลไอร้อนของกาแฟลาเต้ ส่วนด้านสุขภาพนั้น ห้องน้ำแห่งอนาคตจะมีอุปกรณ์ตรวจร่างกายที่จำเป็นเพื่อที่เราจะสามารถตรวจร่างกายได้ด้วยตนเอง มีหุ่นยนต์พ่อครัวคอยทำอาหารเพื่อสุขภาพรสชาติเยี่ยม อาจฟังดูเพ้อเจ้อราวกับนวนิยายวิทยาศาสตร์นั่นทีเดียว แต่นักคิดวัย 45 ปี ซึ่งเป็นน้องชายคนเล็กของ Masayoshi Son ผู้ก่อตั้ง SoftBank ได้ลงทุนทุ่มเงินนับล้านๆ เหรียญให้กับแนวคิดเหล่านี้ เพื่อทำความฝันให้เป็นจริง Son เก็บกระเป๋าเดินทางออกจากบ้านเกิดในประเทศญี่ปุ่นมาได้ 1 ปีแล้ว เพื่อพาตนเองและครอบครัวย้ายมาอยู่ที่สิงคโปร์ จากบ้านหลังใหม่นี้เขาเดินทางไปทั่วโลกเพื่อค้นหาผู้ประกอบการสายเทคโนโลยีที่มีแนวคิดคล้ายๆ กัน ผู้ที่ไม่ได้มุ่งแสวงหาเงิน แต่ต้องการพัฒนาสุขภาพ การศึกษา อาหาร การคมนาคมขนส่ง ที่พักอาศัย เพื่อช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น เขามองว่าถ้ากลุ่มคนที่เขาสนับสนุนอยู่นี้ไม่ยอมแพ้เสียก่อนล่ะก็ พวกเขาจะไม่ทำให้ผิดหวังแน่ๆ นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาด้านเศรษฐศาสตร์จาก Tokyo University เป็นต้นมา Son ได้ก่อตั้งหรือไม่ก็ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจมาแล้วมากมายจนถึงวันนี้ ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ เขาคือ GungHo Online Entertainment ซึ่งเขาเริ่มกิจการเมื่อปี 1998 ทั้งนี้ GungHo Online Entertainment คือบริษัทผู้พัฒนา Puzzle & Dragons ซึ่งครั้งหนึ่งเคยครองตำแหน่งแอพพลิเคชั่นที่มียอดขายสูงที่สุดในโลกสำหรับโทรศัพท์มือถือ ต่อมาเขาเปิดตัว Mistletoe ซึ่งเป็นบริษัทด้านธุรกิจร่วมลงทุนขึ้นในปี 2013 เขาเล่าว่านับแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจสตาร์ทอัพไปแล้วประมาณ 80 รายในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นเงินรวมกัน 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ บริษัทที่เขาร่วมลงทุนเหล่านี้กำลังพัฒนาอุปกรณ์เฝ้าสังเกตการณ์ชนิดสวมใส่ได้ต่างๆ ตลอดจนโดรนสำหรับเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ และเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่นๆ Puzzle & Dragons หนึ่งในผลิตภัณฑ์สร้างชื่อของ GungHo Online Entertainment  Mistletoe ให้ความสำคัญกับธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีระดับก้าวหน้าที่ Son บอกว่า “สามารถเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ” ซึ่งรวมถึงปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ทั้งหลาย “ช่วงเริ่มต้นคือจุดแข็งของเรา”เขากล่าวขณะให้สัมภาษณ์ที่สำนักงานแห่งใหม่ในสิงคโปร์ เมื่อถามว่าทีมของเขาทำงานเป็นอย่างไรบ้าง Forbes Asia เคยจัดอันดับ Son ติดโผมหาเศรษฐีพันล้านเมื่อปี 2014 เนื่องจากความแข็งแกร่งของหุ้น GungHo แต่ปรากฏว่าเขากลับนำหุ้นก้อนนี้ไปค้ำประกันสินเชื่อให้กับพี่ชาย ปัจจุบันเราประเมินว่ามูลค่าทรัพย์สินของเขาน่าจะอยู่ที่ราว 275 เหรียญหรืออาจจะมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับมูลค่าของธุรกิจสตาร์ทอัพเหล่านั้นด้วย แต่เจ้าตัวบอกว่าไม่เคยคำนวณเองเลย Son คือทายาทของผู้อพยพชาวเกาหลีสี่พี่น้องตระกูล Son มีพื้นเพมาจาก Kyushu ซึ่งเป็นเกาะสุดทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น แต่ดูเหมือน Taizo จะปลีกตัวออกห่างจาก Masayoshi พี่ชายคนรองที่ Forbes Asia ประเมินว่ามีทรัพย์สินมูลค่า 2.19 หมื่นล้านเหรียญและทำให้เขากลายเป็นคนที่รวยที่สุดในญี่ปุ่น เมื่อตอนที่ Taizo รับหน้าที่ที่ปรึกษาให้กับ SoftBank อยู่หลายปีนั้น เขาบอกว่าสองพี่น้องไม่ค่อยได้คุยกันมากนัก “เขาเดินทางบ่อย ผมตามไม่ไหวหรอก” Son กล่าวกระมิดกระเมี้ยน “ผมก็แค่ส่งข้อความสุขสันต์วันเกิดไปให้ในฐานะพี่น้องกัน” ระหว่างที่พูดคุยกัน Taizo ดูท่าทางไม่ค่อยสบายอกสบายใจเท่าไรนัก เหมือนอยากจะให้เวลาผ่านไปเร็วๆ ปกติแล้วเขาไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ ผู้ช่วยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเขาซึ่งอยู่ที่ Tokyo เอง ยังเลื่อนนัดสัมภาษณ์ครั้งนี้ถึง 2 ครั้ง ตอนนี้เธอกำลังนั่งฟังผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ที่ Tokyo เมื่อถามถึงการที่ครอบครัวย้ายไปอยู่ Sentosa Son ผู้เร้นลับบอกว่า “เท่าที่ผ่านมาก็ดีนะ” Sentosa คือเกาะอันเขียวขจีที่มีสะพานสั้นๆ เชื่อมติดอยู่กับแผ่นดินใหญ่ของสิงคโปร์ “เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นแล้วสิงคโปร์เหมาะสำหรับสำนักงานใหญ่ระดับโลกมากกว่า” Son กล่าว โดยยกประเด็นกฎหมายภาษีและแนวคิดเรื่องประเทศอัจฉริยะซึ่งเป็นเครื่องมือผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งแต่การชำระเงินช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงยานยนต์อัตโนมัติ  เขาเชื่อว่ารัฐบาลสิงคโปร์มีความตั้งใจจริงและมีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วตรงข้ามกับญี่ปุ่น สำนักงานของ Mistletoe อยู่ใน Spectrum ชมรมธุรกิจอันหรูหราในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งตั้งอยู่บริเวณรอบชานเมือง พื้นที่ของบริษัทอยู่บริเวณใจกลางของพื้นที่เปิดอันกว้างขวาง มีเพียงโต๊ะยาวตัวหนึ่งที่มีตู้เก็บแฟ้มเอกสารวางขนาบและพื้นที่สำหรับวางเก้าอี้หมุนได้ 6 ตัว แม้ว่าจะมีสำนักงานอีกแห่งอยู่ที่ Tokyo และเป็นสำนักงานที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้แล้วด้วยจำนวนพนักงาน 70 คน และยังมีอีกแห่งที่ Palo Alto รัฐ California ด้วยก็ตาม Son บอกว่า ขนาดมันบอกอะไรไม่ได้หรอก เพราะไม่ใช่แค่ Son กับเพื่อนร่วมงานจะต้องเดินทางกันอยู่เสมอ (โดยมากแล้วก็เพื่องานโครงการต่างๆ) แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ด้วย เนื่องจากมีเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (virtual reality) และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (augmented reality) อยู่แล้ว แต่อย่างน้อยก็มีอยู่โครงการหนึ่งที่ Son วางแผนว่าจะใช้พื้นที่ใน Spectrum สำหรับทำการทดสอบ นั่นคือห้องน้ำแห่งอนาคต “Bathroom 2.0” (โดยมี Golden Equator บริษัทจัดการกองทุนซึ่งเป็นเจ้าของ Spectrum เป็นหุ้นส่วน) “เรากำลังมองหาเพื่อนร่วมทีม” Son กล่าว โดยเป็นการชี้ชวนผู้ประกอบการจากทั่วโลกให้เข้ามาร่วมทีมไปในตัว Son เล่าให้ฟังอย่างกระตือรือร้นเรื่องความร่วมมือกับรัฐบาลสิงคโปร์ เขาบอกว่ารัฐบาลสิงคโปร์เสนอวีซ่าธุรกิจสตาร์ทอัพระยะเวลา 2 ปีเป็นกรณีพิเศษให้กับผู้ประกอบการชาวต่างชาติที่มีความเหมาะสมที่จะย้ายถิ่นมาพำนักในสิงคโปร์ “เราจะสร้างเมืองใหม่โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ” Son กล่าว พร้อมเสริมด้วยว่าเขากำลังเจรจาอยู่กับทางการเกี่ยวกับทำเลเหมาะๆ “เราจะสร้างห้องแสดงผลงานให้เห็นกันจริงๆ ที่นี่เพื่อผลักดัน (โครงการที่คล้ายกันนี้ใน) พื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก” แม้โฆษกประจำรัฐบาลจะยังไม่เปิดเผยรายละเอียดแต่บอกว่าองค์กรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมนั้นเตรียมจะประกาศข่าวในปีนี้ Steve Leonard ประธานเจ้าหน้าที่บริหารผู้ก่อตั้ง SGInnovate ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของและให้การสนับสนุน ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีขั้นสูงบอกว่า Son ลงทุนในคนที่ “ฝันให้ไกลและทำให้คนอื่นๆ เชื่อมั่นในความฝันนั้นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน บวกกับความน่าเชื่อถือและความเอื้ออารีของ Taizo ทำให้เขามีอิทธิพลมากมายต่อระบบนิเวศของสิงคโปร์ไปแล้ว” Son ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการร่วมลงทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในปีที่ผ่านมานักลงทุนในธุรกิจร่วมลงทุนในสิงคโปร์ควักกระเป๋า 1.2 พันล้านเหรียญเข้าทำสัญญา 112 ฉบับ ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปีนี้คาดว่าการร่วมลงทุนจะยังคงแข็งแกร่งต่อไป ชั้น 5 ของอาคาร Duo Tower เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของสิงคโปร์ ก่อนจะย้ายมาสิงคโปร์ Son เคยลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพของสิงคโปร์มาแล้ว 2 รายด้วยกัน คือ Astroscale ซึ่งเป็นบริษัทกำจัดขยะอวกาศ และ Garena ผู้ให้บริการเกมออนไลน์ซึ่งปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า SEA และเพิ่งจะจำหน่ายหุ้นต่อสาธารณชนไปเมื่อปีที่แล้ว นับตั้งแต่ย้ายถิ่นมา Son กลายเป็นผู้นำการลงทุนในรอบระดมทุน 3.5 ล้านเหรียญให้กับ Hatcher+ บริษัทในสิงคโปร์ที่คอยช่วยให้ผู้จัดการกองทุนได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพมากมายหลายแห่งด้วยกันที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ “วิธีการของเราแตกต่างไปจากรูปแบบเดิมๆ ที่เน้นการบริหารแบบล่างขึ้นบนและกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง” Son อธิบาย พร้อมยืนยันว่า แผนการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ นั้นล้าสมัยและเป็นอันตราย “หากวางแผนขึ้นมาสักแผนหนึ่ง มันจะตัดสูตรเคมีใหม่ๆ ออกไปด้วย” Son เชื่อว่า “สูตรเคมีใหม่ๆ” จะเกิดขึ้นได้ในระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่มีความรุ่งเรืองเขาต้องการเร่งสร้างระบบนิเวศในลักษณะดังกล่าวให้เกิดขึ้นในสิงคโปร์ โดยดึงผู้เล่นกลุ่มเทคโนโลยีเข้ามารวมตัวกันเพื่อช่วยกันเสนอแนวคิดไปเรื่อยๆ ทั้งในรูปแบบเสมือนจริงและจัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ อย่าง Spectrum อีกหนึ่งโครงการที่ Son ทุ่มเทความสนใจให้ไม่น้อยคือ การปรับปรุงการศึกษา เขาตั้งใจที่จะพัฒนาเวอร์ชั่นสิงคโปร์ล่าสุดให้กับ Vivita ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจสตาร์ทอัพของเขาในญี่ปุ่น ทั้งนี้ Vivita เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสำหรับเด็กๆ ที่เขาบริหารงานด้วยตนเอง โดยเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์และมีผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์รับหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงให้เด็กๆ ทำการทดลองต่างๆ โดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครื่องตัดเลเซอร์และคอมพิวเตอร์ พร้อมกับสร้างสิ่งประดิษฐ์ของตนขึ้นมา รวมทั้งหุ่นยนต์ด้วย เขาถามขึ้นลอยๆ ว่า “ทำไมคนถึงยึดติดว่าจะต้องเข้าโรงเรียน” เพราะเขาเองเชื่อว่า สิ่งสำคัญคือการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ สักวันความรู้ที่มาจากการท่องจำก็จะล้าสมัยเหมือนกับที่หุ่นยนต์จะกลายเป็นของโหลๆแต่จะว่าไปแล้ว นี่ก็ค้านกับระบบความคิดที่ยืนกรานความสำคัญของการที่นักเรียนจะต้องสร้างรากฐานแห่งความรู้พื้นฐานเพื่อที่จะพัฒนาต่อยอดต่อไป มิฉะนั้นแล้วเด็กๆ จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองยังมีอะไรที่ไม่รู้เมื่อต้องปรึกษา Google หรือกำกับการทำงานของหุ่นยนต์ เรื่อง: Jane A. Peterson เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม
คลิกอ่านฉบับเต็ม "นักคิด...นักปฏิบัติ" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับเดือนสิงหาคม 2561