Tadashi Yanai มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจค้าปลีกแฟชั่นแบรนด์ Uniqlo มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้น 4.16 หมื่นล้านเหรียญในสัปดาห์นี้ ด้วยกลยุทธ์การปรับตัวสู่การจัดจำหน่ายสินค้าที่ออกแบบให้ชีวิตของผู้คนที่ได้สวมใส่ดีขึ้นในวิกฤตโควิด-19
นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 Uniqlo แบรนด์เสื้อผ้าจากประเทศญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกมีมูลค่าบริษัทเพิ่มสูงขึ้นราวร้อยละ 114 ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินของ Yanai ผู้ถือครองหุ้นในกิจการ Uniqlo ที่อัตราร้อยละ 47 เพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่า หลังจากที่ Forbes ได้จัดอันดับให้เขาเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีพันล้านของโลกประจำปี 2020 ในอันดับที่ 41 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.97 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯนอกจากแบรนด์ Uniqlo แล้ว Yanai ยังถือครองหุ้นในธุรกิจเสื้อผ้าแบรนด์อื่นๆ เช่นกัน อันได้แก่ Theory, Helmut Lang, J Brand และ GU ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่า การปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดของมูลค่าบริษัทเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากการปรับกลยุทธ์สู่แพลตฟอร์มออนไลน์ และการมุ่งเน้นความสำคัญไปยังการผลิตเสื้อผ้าที่สามารถสวมใส่ได้ทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผู้คนต้องทำงานจากที่บ้านเป็นหลัก
“ยอดขายที่ดีขึ้นนี้เป็นผลมาจากการที่สายพานการผลิตเสื้อผ้าของทางบริษัทสอดรับกับความต้องการสวมใส่เสื้อผ้าประจำวันสำหรับอยู่บ้านที่เพิ่มมากขึ้น” Dairo Murata นักวิเคราะห์อาวุโสจาก JP Morgan ในโตเกียวกล่าว พร้อมเสริมว่า “ธุรกิจค้าปลีกแฟชั่นได้พยายามปรับตัวสู่คอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า ‘LifeWear’ มาโดยตลอด และพยายามออกสินค้าที่สอดรับกับการทำงานจากที่บ้านให้มากยิ่งขึ้น”
ปัจจุบัน Uniqlo มีร้านค้าทั้งหมด 3,600 สาขาใน 26 ประเทศ ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป ด้วยสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ เน้นความเรียบง่าย สวมใส่ได้ทุกโอกาส คุณภาพดี และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จาก การผสมผสาน “เทคโนโลยี Heattech” ซึ่งเป็นนวัตกรรมเสื้อผ้าที่เพิ่มความอบอุ่นทว่าบางเบา จึงสามารถสวมใส่เป็นตัวในได้อย่างสบาย ขณะที่ “เทคโนโลยี Airism” จะเหมาะกับการใส่ในสภาพอากาศร้อน เพราะนอกจากจะเบาบางแล้วยังเย็นสบาย และสามารถระบายอากาศได้อย่างดีเยี่ยม จึงเป็นที่นิยมในการนำมาใช้ทำหน้ากากอนามัยเพื่อจัดจำหน่ายในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นแห่งนี้ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากนโยบายการปิดหน้าร้านได้ ส่งผลให้ผลประกอบการประจำปี ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2020 ลดลงกว่าร้อยละ 12 โดยมีรายได้สุทธิทั้งหมดอยู่ที่ 2 ล้านล้านเยนหรือ 1.9 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่กำไรของบริษัทลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 44 อยู่ที่ 853 ล้านเหรียญ
ตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 Uniqlo ต้องปิดหน้าร้านราวครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 780 สาขาในจีน ก่อนที่จะกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในเดือนเมษายน ขณะที่สาขาในญี่ปุ่นต้องปิดไปกว่า 311 สาขาจากทั้งหมด 817 สาขาในเดือนมีนาคม และกลับมาเปิดอีกครั้งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม
แต่สำหรับกรณีของสาขาในญี่ปุ่นนี้ รายงานของบริษัทระบุว่า สามารถทำผลประกอบการได้ดียิ่งขึ้นจากการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีรายได้เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ส่งผลให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 2 ซึ่งเป็นผลมาจากยอดขาย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2020 ที่เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 29.3
“การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เราหันกลับมาพิจารณารูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น” Yanai กล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
“แม้แต่การให้คุณค่ากับเสื้อผ้าก็เปลี่ยนแปลงไป จากการสวมใส่เพื่อความสวยงามหรือการบอกสถานะทางสังคม ก็แปรเปลี่ยนไปสู่การสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถใส่ได้ในทุกโอกาสมากยิ่งขึ้น”
ขณะที่ ธุรกิจค้าปลีกหลายแห่ง อย่าง J.C. Penney และ J Crew ต่างยื่นล้มละลายหลังยอดขายในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตกลง แม้ว่าจะได้รับแรงส่งจากลูกค้าในจีนและญี่ปุ่นก็ตาม Uniqlo กลับเดินหน้าเปิดสาขาใหม่ถึง 2 แห่งในย่าน Ginza แหล่งช้อปปิ้งสุดหรูในโตเกียว และอีกแห่งในย่าน Harajuku ในเดือนมิถุนายน 2020 หวังเพิ่มยอดขายสินค้า และล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน บริษัทก็ได้จับมือกับพันธมิตรรายใหม่ อย่าง Jil Sander ดีไซเนอร์ชาวเยอรมัน สำหรับคอลเลคชันใหม่สำหรับผู้ชายและผู้หญิง ตั้งแต่สเวตเตอร์คอเต่าไปจนถึงคาร์ดิแกนและกางเกงลำลอง โดยเพิ่งเปิดตัวไปในงาน China International Import Expo 2020 ที่เซี่ยงไฮ้ในเดือนเดียวกันร่วมกับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก
จากการคาดการณ์ว่าโควิด-19 จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือนมีนาคม 2021 นักวิเคราะห์จึงมองว่า ในปีงบประมาณ 2021 ที่กำลังจะถึงนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นจะสามารถกลับมาสร้างรายได้และกำไรสุทธิได้มากถึงร้อยละ 10 และร้อยละ 83 ตามลำดับ แม้ว่าในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งเริ่มตั้งแต่กันยายน 2020 ไปจนถึงกุมภาพันธ์ 2021 จะเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุด ซึ่งมีสาเหตุมาจากอุปสงค์ที่น้อยลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาเหนือ และยุโรป แต่จะเริ่มกลับมาดีอีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม
“ในปีงบประมาณ 2021 เราคาดการณ์ว่ากำไรของ Uniqlo จากภายในประเทศจะแตะจุดสูงสุด เช่นเดียวกับผลประกอบการจากสาขาต่างๆ ในจีน” Murata จาก JP Morgan รายงานในบทวิเคราะห์ประจำเดือนตุลาคม 2020
Yanai เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจร้านขายเสื้อผ้าในย่านเล็กๆ ของเมือง Yamaguchi ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ด้วยเป้าหมายที่จะกลายเป็นผู้จัดจำหน่ายเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปัจจุบัน Inditex บริษัทสัญชาติสเปน หรือที่รู้จักกันในแบรนด์ Zara คือ บริษัทผู้จัดจำหน่ายเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตามมาด้วย H&M แบรนด์ชื่อดังจากสวีเดนด้วยยอดขายต่อปีอยู่ที่ 3.16 หมื่นล้านเหรียญ และ 2.48 หมื่นล้านเหรียญ ตามลำดับ
Amancio Ortega ผู้ก่อตั้ง Inditex คือ มหาเศรษฐีพันล้านจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่ร่ำรวยที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 7.69 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่ Stefan Persson ผู้ก่อตั้ง H&M มีมูลค่าทรัพย์สินราว 2.04 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งครองอันดับ 3 และเป็นรอง Yanai อยู่ ณ ขณะนี้
แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Japan’s Richest Person Sees Wealth Cross $41 Billion As Fashion Sales Rebound In Japan And China เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: เมื่อผู้ก่อตั้ง Uniqlo บอกว่าตำแหน่งซีอีโอ “เหมาะ” กับผู้หญิงมากกว่า