Roshni Nadar Malhotra นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งเอเชีย - Forbes Thailand

Roshni Nadar Malhotra นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งเอเชีย

FORBES THAILAND / ADMIN
09 Dec 2020 | 12:11 AM
READ 2444

Roshni Nadar Malhotra เป็นหนึ่งในนักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งเอเชีย ในปีที่ถูกกำหนดโดยสถานการณ์โรคระบาดที่แพร่ไปทั่วโลกและได้สร้างความท้าทายแก่ทุกอณูของชีวิต ความเป็นผู้นำได้ถูกทดสอบอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้นำธุรกิจ 25 คนในรายชื่อ Power Businesswomen ของ Forbes Asia ปี 2020 ได้ลุกขึ้นต่อกรกับความท้าทายเหล่านั้น และได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่มาจากความแน่วแน่มุ่งมั่นที่จะผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้

ผู้ติดโผรายชื่อของเราในปีนี้มาจากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ไบโอเทค ฟินเทค และเทคโนโลยี การศึกษา ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างค้าปลีก โลจิสติกส์ และกฎหมาย ทุกคนได้สั่งสมชื่อเสียงในการเป็นผู้บริหารบริษัทรายได้มหาศาล หรือเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รายชื่อในปีนี้ประกอบไปด้วยผู้เข้าอันดับหน้าใหม่ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเป็นการขยายเครือข่ายเหล่าผู้นำธุรกิจหญิงของเรา พวกเธอล้วนมีอิทธิพลในการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  

- Roshni Nadar Malhotra -

ประธานกรรมการ HCL Technologies

อายุ: 38 ปี • อินเดีย

โดย: MEGHA B AHREE

ในราวกลางเดือนกรกฎาคม Roshni Nadar Malhotra ขึ้นรับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท HCL Technologies จากพ่อของเธอ Shiv Nadar มหาเศรษฐีวัย 75 ปี Nadar Malhotra ในวัย 38 ปี ในฐานะลูกสาวคนเดียวของผู้ก่อตั้ง HCL เองก็ผ่านสมรภูมิมาพอตัวหลังจากได้ทำงานบริหารกับ Noida บริษัทของอินเดียมาเป็นเวลา 12 ปี โดยที่ 2 ปีสุดท้ายนั้นเธอดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ ขณะอยู่ในตำแหน่งนั้นเธอได้สนับสนุนให้ HCL เข้าซื้อผลิตภัณฑ์ของ IBM เป็นเงิน 1.8 พันล้านเหรียญ การเข้าซื้อดังกล่าวซึ่งจบสิ้นไปเมื่อปีที่แล้ว นับเป็นข้อตกลงธุรกิจมูลค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ 29 ปีของบริษัท เพื่อเป็นการสนับสนุนความต่อเนื่องของครอบครัว Shiv Nadar จะยังทำงานต่อในฐานะกรรมการผู้จัดการและคงอยู่ในตำแหน่งที่ดำรงมาเป็นเวลานานนั่นคือ ประธานฝ่ายกลยุทธ์ “เขายังไม่ไปไหนหรอกค่ะ” Nadar Malhotra กล่าวผ่านวิดีโอจากบ้านของเธอ ถือเป็นการให้สัมภาษณ์ในฐานะประธานกรรมการบริษัทเป็นครั้งแรก แม้บริษัทจะมีขนาดใหญ่แต่ Nadar Malhotra ก็ยังอยากให้บริษัทดำเนินงานเหมือนเป็นสตาร์ทอัพ “มันควรจะมีความยืดหยุ่น หิวกระหาย และกล้าเสี่ยงเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าอยู่เสมอ” เธอกล่าว และยังบอกด้วยว่า บริษัทมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการ “บุกไปในดินแดนที่ไม่รู้จัก” บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการด้านไอทีกำลังเจอกระแสลมต้านอันเกิดจากสถานการณ์โรคระบาดอยู่พอประมาณผลประกอบการไตรมาสแรกของ HCL ซึ่งได้รับการเปิดเผยในวันเดียวกันกับที่มีการแต่งตั้ง Nadar Malhotra เป็นประธานกรรมการบริษัท แสดงรายได้ที่เติบโตเพียง 1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ไปอยู่ที่ 1.78 แสนล้านรูปี (2.4 พันล้านเหรียญ) ผลกำไร 2.9 หมื่นล้านรูปี ลดลง 7.4% จากไตรมาสก่อนหน้า บริษัทเตือนว่า การเติบโตของรายได้ประจำไตรมาสนับจากนี้อาจอยู่ที่เพียงประมาณ 2% ห่างไกลจากอัตราเติบโตตามปกติที่แข็งแกร่ง สถานการณ์โรคระบาดยังหมายถึงว่า 90% ของพนักงาน HCL 150,000 คนทั่วโลกต้องทำงานจากบ้าน ซึ่งก็รวมถึง Nadar Malhotra เองด้วย (เธอเดินทางไปสำนักงานบ้างเป็นครั้งคราว) บริษัทคาดหมายว่า พนักงานอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะยังทำงานจากบ้านในช่วง 18 เดือนนับจากนี้ รายได้ราว 2 ใน 3 ของบริษัทมาจากตลาดสหรัฐฯ ซึ่งยังทำสถิติมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับ 1 ของโลก และซีอีโอของบริษัทก็ประจำอยู่ที่ New York อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบไม่มากนักต่อ HCL ก็คือ การระงับชั่วคราวการออกวีซ่าทำงานประเภท H-1B ของสหรฐั ฯ (ซึ่งชาวอินเดียในวงการเทคโนโลยีจำนวนมากที่ทำงานในอเมริกาต้องใช้) เนื่องจาก 2 ใน 3 ของพนักงาน HCL ในสหรัฐฯ เป็นคนท้องถิ่น ถึงจะต้องเผชิญความท้าทายเหล่านี้ HCL ก็ยังอยู่ในจุดที่จะได้ผลประโยชน์ในระยะยาวจากกระบวนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการดำเนินงานต่างๆ ที่มีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดขึ้น Nadar Malhotra ในฐานะประธานกรรมการบริษัทเวลานี้คาดหวังให้ HCL สานต่อกระแสดังกล่าว “ที่ผ่านมาได้มีการเน้นย้ำเพิ่มขึ้นถึงความจำเป็นของเทคโนโลยี และธุรกิจจะต้องการสิ่งนี้เพื่อเติบโตหรือแม้กระทั่งสร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง” เธอกล่าว “Digitalization ได้รับความสนใจมากขึ้นและนั่นเป็นสิ่งที่เปิดโอกาสใหม่ๆ ขึ้นอย่างมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว” การเข้าซื้อสินทรัพย์ของ IBM เป็นบทเรียนที่สำคัญ ขณะที่บริษัทไอทีหลักๆ ของอินเดียส่วนใหญ่มีผลิตภัณฑ์ของตนเองในพอร์ต HCL กลับวางเดิมพันครั้งใหญ่กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วยข้อตกลงนี้ หลังจากการเข้าซื้อ HCL ได้เปิดแผนกใหม่ขึ้นมาชื่อว่า HCL Software ซึ่งขณะนี้มีลูกค้า 2,000 คน “เรามองเห็นศักยภาพอันยิ่งใหญ่ในการนำเสนอสินค้าที่เป็นการให้บริการที่น่าดึงดูดใจด้วยการผนวกผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้ากับบริการด้านไอทีทั้งแบบดั้งเดิมและบริการรูปแบบใหม่ๆ” C. Vijayakumar ซีอีโอระบุในข่าวแจกหลังการปิดดีลเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว Nadar Malhotra ยังมองเห็นโอกาสในการพัฒนาพันธมิตรธุรกิจเพิ่มเติม “เรามักจะหาพันธมิตร ผู้ร่วมทุนใหม่ๆ อยู่เสมอ การเข้าซื้อกิจการมันอยู่ในดีเอ็นเอของเรา” เธอกล่าว ตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม HCL ได้ขยายความเป็นพันธมิตรกับ Broadcom บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เพื่อให้บริการในการเป็ฯที่ปรึกษาด้านความมั่นคงวิสาหกิจ นอกเหนือไปจากบริการซอฟต์แวร์อื่นๆ เทคโนโลยีไม่ใช่รักแรกของ Nadar Malhotra หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านวิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ จาก Northwestern University สหรัฐฯ ในปี 2003 เธอทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ข่าวโทรทัศน์ให้กับ Sky News ที่ประเทศอังกฤษ 3 ปีต่อมาเธอกลับไปสหรัฐฯ อีกครั้งเพื่อเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) ซึ่งเธอเลือกศึกษาเฉพาะทางในด้านธุรกิจเพื่อสังคม ในปี 2008 Nadar Malhotra เดินทางกลับบ้าน และในปีถัดจากนั้นได้เข้าดำรงตำแหน่งซีอีโอของ HCL Corp. บริษัทโฮลดิ้งที่ครอบครัว Nadar ถือหุ้นผ่านบริษัท HCL Technologies และ HCL Infosystems ในตลาดหลักทรัพย์กลุ่มบริษัท HCL ในเวลานั้นเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของอินเดียร่วมกับ Infosys, Tata Consultancy Services และ Wipro ซึ่งได้สร้างมหาเศรษฐีมากมาย รวมทั้ง Azim Premji และ N.R. Narayana Murthy ทุกวันนี้ HCL ดำเนินงานใน 49 ประเทศ และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดราว 2.6 หมื่นล้านเหรียญ เมื่อวัดจากมูลค่าตลาดและยอดขายแล้ว HCL เป็นบริษัทเทคโนโลยีใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของอินเดีย Nadar Malhotra เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้นั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของอินเดีย และเป็นหนึ่งในผู้หญิงจำนวนหยิบมือเดียวที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดของในแวดวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของโลกที่เต็มไปด้วยผู้ชาย ความเฟื่องฟูของ HCL และบริษัทระดับเดียวกันในวงการนั้นสอดคล้องกับการที่อินเดียผงาดขึ้นเป็นศูนย์กลางบริการด้านไอทีของโลก Shiv Nadar พ่อของเธอเริ่มต้นธุรกิจของ HCL ในฐานะบริษัทผู้ผลิตเครื่องคิดเลขและไมโครโปรเซสเซอร์ ร่วมกับเพื่อน 7 คนในปี 1976 ก่อนจะหันเหธุรกิจไปในบริการด้านไอทีเป็นหลักในปี 1991 ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ การวิจัยและพัฒนา และบริการจัดการธุรกิจระบบงาน ภายใต้บริษัท HCL Technologies ความเคลื่อนไหวของบริษัทเข้าสู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเมื่อราว 15 ปีก่อน ได้ดึงดูดลูกค้ารายใหญ่และตอกตำแหน่งแห่งที่ของบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก เดิมทีนั้น Nadar Malhotra กล่าวว่า เธอต้องการหลีกเลี่ยงการรับตำแหน่งใน HCL Technologies ซึ่งเป็นธุรกิจเรือธงของกลุ่มบริษัทของครอบครัว เธอใช้เวลา 1 ปีแรกดูแลโครงการริเริ่มด้านการศึกษาที่มูลนิธิ Shiv Nadar Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการกุศลของครอบครัวและก่อตั้งโรงเรียนประจำที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับนักเรียนยากจนในชนบทของรัฐ Uttar Pradesh ซึ่ง HCL มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ในปี 2013 Nadar Malhotra ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัทของ HCL Technologies และ 5 ปีต่อมาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ เธอบอกว่าตำแหน่งเหล่านั้นได้ช่วยให้เธอ “เรียนรู้อย่างมากมาย” ไม่ใช่แค่เกี่ยวกับพ่อของเธอ แต่ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมการทำงานของบริษัท และได้รู้จักผู้บริหารที่มีความสามารถ รวมทั้งซีอีโอทั้งในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนี้ เธอยังได้เรียนรู้ทักษะงานจากคณะกรรมการบริษัทคนอื่นๆ อาทิ Srikant Datar รองคณบดีอาวุโสของ Harvard Business School และ S. Shankar Sastry อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ของ University of California วิทยาเขต Berkeley เธอเล่าว่า ด้วยความที่เป็นลูกคนเดียวเธอจึงใช้เวลากับพ่อของเธอมากมาย ได้ซึมซับวิธีการที่เขาสร้างและบริหารงาน HCL นายธนาคารคนหนึ่งผู้ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อที่รู้จักคู่พ่อลูกกล่าวว่า Nadar Malhotra ได้เรียนรู้วิธีการทำธุรกิจจากพ่อของเธอ “ถ้าคุณมีช่องให้กากบาท 10 ช่อง เพื่อดูว่าเธอผ่านเกณฑ์ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทหรือไม่ เธอคงจะเข้าข่ายเกือบทั้ง 10 ข้อ” เขาบอก “เธอเป็นคนฉลาด มุ่งมั่นปฏิภาณไหวพริบดี อายุยังน้อย ทะเยอทะยาน และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง” แม้ว่าครอบครัวจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ HCL Technologies แต่ Nadar Malhotra ยืนกรานว่า “เราเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการบริษัท” เธอมีตำแหน่งในทุกคณะกรรมาธิการของบอร์ดบริษัทและได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำคัญๆ มาตลอด รวมทั้งในข้อตกลงที่ทำกับ IBM และการสรรหาซีอีโอคนปัจจุบัน เธอยังนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการด้าน CSR ที่ดูแลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในตำแหน่งดังกล่าวนี้เธอมีหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับองค์กร NGOs ราว 120 แห่ง ที่ดำเนินงานด้านชุมชน การศึกษา และสุขภาพ  
คลิกอ่านฉบับเต็ม “นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งเอเชีย ผู้นำธุรกิจ 25 คนในรายชื่อ Power Businesswomen ของ Forbes Asia ปี 2020” และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine

Forbes Thailand ใช้คุ้กกี้บนเว็บไซต์นี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของท่าน ท่านตกลงใช้งานคุ้กกี้เพื่อใช้งานเว็บไซต์ต่อไปนโยบายความเป็นส่วนตัวและนโยบายความการใช้คุกกี้