เครือโรงพยาบาลยักษ์สิงคโปร์ “Raffles Medical” ลุยตลาดการแพทย์แดนมังกร - Forbes Thailand

เครือโรงพยาบาลยักษ์สิงคโปร์ “Raffles Medical” ลุยตลาดการแพทย์แดนมังกร

FORBES THAILAND / ADMIN
02 Nov 2017 | 02:29 PM
READ 4918

Loo Choon Yong วางหมากพาเครือโรงพยาบาล Raffles รุกตลาดจีน แต่แผนขยายธุรกิจนี้กลับสร้างความกังวลในหมู่นักลงทุน

บนชั้น 11 ของอาคาร Loo Choon Yong กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งวัย 68 ปีของ Raffles Medical Group กำลังเข้ามายังห้องโถงรับรองผู้บริหารระดับสูงเพื่อถ่ายภาพ ตามผนังทางเดินมีภาพบอกเล่าเรื่องราวสู่ความสำเร็จและประวัติขององค์กรติดอยู่ หนึ่งในนั้นคือแผนรุกตลาดจีนด้วยโครงการก่อสร้างโรงพยาบาล 2 แห่งมูลค่ารวม 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา Raffles Medical เครือโรงพยาบาลจากสิงคโปร์มีทิศทางการเติบโตที่น่าประทับใจ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ด้วยการเปิดคลินิก 2 แห่งในปี 1976 บริษัทได้เติบโตกลายเป็นบริษัทมหาชนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 1997 พร้อมเปิดดำเนินการโรงพยาบาลในย่าน Bugis เมื่อปี 2001 บริษัทมีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 1.7 พันล้านเหรียญ กวาดรายได้ไป 345 ล้านเหรียญในปีที่ผ่านมาและมีคลินิกภายใต้การดำเนินงานกว่า 100 แห่งในหลายประเทศแถบเอเชีย เครือข่ายแพทย์กว่า 380 คนของ Raffles Medical ให้บริการผู้ป่วย 2.2 ล้านคนใน 13 เมืองของเอเชีย โดยจำนวนนี้ครอบคลุมไปถึง 6 เมืองของจีน
Raffles Medical ขยายโรงพยาบาลและคลินิกออกไปกว่า 100 แห่งทั่วเอเชีย และทำรายได้ 345 ล้านเหรียญเมื่อปี 2016 (Cr: todaymiddleware.mims.com)
Loo และ Jacqueline Leong ภรรยาของเขาร่วมกันถือหุ้น 51% ของบริษัทซึ่งจากการประเมินเขามีมูลค่าทรัพย์สินในครอบครองราว 890 ล้านเหรียญ ส่งผลให้เขาขึ้นแท่นติดอันดับที่ 34 ของโผการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของสิงคโปร์ประจำปี 2017 ทว่า ประเด็นที่น่าคิดก็คือ มูลค่าทรัพย์สินของ Loo ลดลงถึง 18% ในปีนี้เนื่องด้วยราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากความกังวลของเหล่านักลงทุนเกี่ยวกับแผนขยายธุรกิจของบริษัท อันรวมถึงโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 700 เตียงใน Chongqing มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปีหน้า Andrew Chow ผู้อำนวยการฝ่ายการวิเคราะห์ประจำสิงคโปร์ของ UOB Kay Hian กล่าวว่า “ในช่วง 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้าการลงทุนในจีนจะเป็นปัจจัยถ่วงรายได้ของบริษัท อาจต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะปรับตัวดีขึ้นแต่ก็อาจไม่พอหล่อเลี้ยงค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่”
โรงพยาบาล Raffles ขนาดใหญ่ 700 เตียงใน Chongqing ของจีน คือที่มาของข้อกังขาจากบรรดานักลงทุนว่าอาจจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินไปของบริษัท (Cr: asia.nikkei.com)
Loo ยอมรับว่า Raffles Medical ต้องเผชิญ “เส้นทางที่ยากลำบาก” แต่เขาเสริมว่า “ทว่าเราได้ไตร่ตรองอย่างละเอียดและคิดพิจารณาแล้ว” หลังจากศึกษาตลาดธุรกิจให้บริการด้านการแพทย์ของจีนมานาน 32 ปีและเยี่ยมเยือนโรงพยาบาลจีนมากว่า 100 แห่ง Loo เชื่อว่าตอนนี้ฐานตลาดในจีนมีขนาดใหญ่เพียงพอ โดยเขาประเมินว่าชาวจีนกระเป๋าหนาที่มีกำลังทรัพย์พร้อมจ่ายค่าบริการมาตรฐานระดับนานาชาติของ Raffles มีจำนวนประมาณ 140 ล้านคน นอกจากนี้ มาตรการข้อบังคับต่างๆ ของจีนลดทอนความเข้มงวดลงและอนุญาตให้บริษัทเข้าไปเปิดโรงพยาบาลผ่านการร่วมทุนกับพันธมิตร ซึ่งบริษัทได้จับมือกับส่วนปกครองท้องถิ่นของ Liangjiang เพื่อเปิดดำเนินการโรงพยาบาลใน Chongqing และลงทุนร่วมกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับโครงการลำดับถัดมาใน Shanghai โดย Loo รับรองว่ามาตรฐานโรงพยาบาลในจีนจะเท่าเทียมกับโรงพยาบาลแห่งอื่นๆ ในเครือของบริษัท Loo กล่าวว่าเขาจะขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป “เราต้องการแน่ใจว่าเราจะสามารถบริหารจัดการธุรกิจเหล่านั้นได้ดี เราไม่รีบ”
Loo ประเมินว่าจำนวนคนจีนกระเป๋าหนักที่สามารถเป็นลูกค้าของ Raffles ได้อยู่ที่ราว 140 ล้านคน
นอกจากแผนขยายธุรกิจแล้วยังมีประเด็นอื่นที่สร้างความหนักใจให้กับ Loo หลังจากรายได้ของบริษัทเติบโตในอัตราเกือบสองหลักมานานกว่า 2 ทศวรรษ แต่ตัวเลขกลับทรุดตัวลงเล็กน้อยในไตรมาสแรกของปีนี้ ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผนวกกับอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่าของคู่แข่งรายอื่นในภูมิภาคส่งผลให้ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแทบไม่มีการขยายตัวมาตั้งแต่ปี 2009 คำถามสำคัญคือ Raffles จะหาผู้ใช้บริการมาเติมเต็มโครงการลงทุน 220 ล้านเหรียญในส่วนต่อขยายโรงพยาบาลย่าน Bugis ในสิงคโปร์ที่จะเปิดดำเนินการปลายปีนี้ได้อย่างไร Loo ยอมรับว่าประเด็นดังกล่าวคืออุปสรรคอันท้าทายแต่ยืนยันว่าแผนของเขามีความเป็นไปได้ ปัจจุบันโรงพยาบาลแห่งนี้มีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 80% โดยส่วนใหญ่เป็นการรักษาในคลินิกและศูนย์แพทย์เฉพาะทางต่างๆ อาทิ ด้านระบบประสาทและสมอง หัวใจและหลอดเลือด แพทย์แผนจีน Loo อดีตแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปได้วางมือจากการรักษาคนไข้เมื่อ 3 ปีก่อนและหันมาดำรงตำแหน่งระดับบริหารสายสนับสนุนอย่างเต็มตัวในปัจจุบัน เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต เขาเผยว่าอุปสรรคครั้งใหญ่ที่สุดในเส้นทางอาชีพของเขาเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์การเงินปี 1997 ซึ่งปัญหาที่ถาโถมเข้ามาส่งผลให้แผนก่อสร้างโรงพยาบาลสาขาเรือธงของเขาตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง
Loo Choon Yong กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งวัย 68 ปีของ Raffles Medical Group ยังคงดูหนุ่มกว่าอายุจริง
ณ เวลานั้น Raffles Medical ได้จับมือกับ Pidemco Land (ก่อนจะควบรวมธุรกิจกลายเป็นกิจการวิสาหกิจของรัฐภายใต้ชื่อ CapitaLand) เพื่อลงทุนซื้อที่ดินซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของตึกสำนักงานและศูนย์การค้าสำหรับก่อสร้างโครงการโรงพยาบาล ทว่า Pidemco แตะเบรกอย่างกะทันหันเนื่องจากกังวลที่จะเดินหน้าตามแผนในช่วงที่ภาวะตลาดอ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีปัญหาจุกจิกเกี่ยวกับการซื้อโครงการศูนย์อาหารในพื้นที่ดังกล่าวรวมไปถึงปัญหาด้านงานก่อสร้าง “เรารู้ว่าวิกฤตจะผ่านพ้นเมื่อถึงเวลาของมัน” Loo กล่าว ในทำนองเดียวกัน Loo ยังคงเชื่อว่าอัตราเติบโตทั้งปีของ Raffles Medical จะอยู่ที่ราว 4% สำหรับปี 2017 ขณะที่ Loo ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนมั่งคั่งระดับบนของสิงคโปร์ เขามีทั้งรูปถ่ายขณะกำลังจับมือกับนายกรัฐมนตรี Lee Kuan Yew และ Lee Hsien Loong รวมถึงประธานาธิบดี George W. Bush ซึ่งเขาเป็นเจ้าบ้านออกรอบกอล์ฟ แต่ Loo ยังไม่ลืมชีวิตอันธรรมดาในวัยเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวชาวจีนอพยพเชื้อสาย Hokkien สาขาวิชาที่เขาสนใจในตอนแรกไม่ได้เกี่ยวกับการแพทย์การรักษาโรคแต่เป็นคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ซึ่งได้เรียนรู้ระหว่างชั้นมัธยมปลายที่ Raffles Institution แต่ด้วยแรงหนุนจากพ่อของเขา Loo จึงตัดสินใจเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์ที่ National University of Singaporeเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือพี่น้องอีก 6 คน Loo ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์อันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตใน London โดยศึกษาต่อเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดและเรียนด้านกฎหมายในช่วงกลางคืน เขาคว้าใบปริญญาด้านกฎหมายผ่านระบบการศึกษาทางไกลระหว่างทำหน้าที่รับใช้ชาติเป็นทหารเกณฑ์ในสิงคโปร์ ทว่าเป็นวิชาที่เขาไม่เคยมีโอกาสควักออกมาใช้
โรงพยาบาล Raffles ในย่าน Bugis ของสิงคโปร์ที่บริษัทเพิ่งลงทุนขยายต่อเติมมูลค่า 220 ล้านเหรียญ สวนทางภาวะตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เริ่มหดตัว (Cr: Alphonsus Chern/The Straitstimes)
หลังจากเข้าทำงานที่ Singapore General Hospital อยู่ระยะหนึ่ง Loo ได้ตัดสินใจร่วมก่อตั้ง Raffles Medical ร่วมกับ Alfred Loh เพื่อนสมัยเรียน (Alfred ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยของบริษัทและยังออกตรวจที่โรงพยาบาลในปัจจุบัน) Loo ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกษียณหรือวางตัวผู้ที่จะเข้ามารับไม้ต่อ แต่เผยว่าคงจะไม่ใช่ลูกๆ ของเขาซึ่งปัจจุบันเป็นหมอประจำอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐ เขายังมีแรงกำลังนั่งตำแหน่งประธานกรรมการและอาจจะลงมือสอนด้านการบริหารธุรกิจการแพทย์ “ผมทำสิ่งที่ผมรักกับคนที่ผมอยากทำงานด้วย” Loo กล่าวพร้อมแววตาที่เป็นประกาย “มันก็ไม่เลวนัก มันไม่มีเหตุผลที่ผมจะต้องเกษียณ”   เรื่อง: Jane A. Peterson เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา
คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็มของ "Raffles Medical ลุยตลาดการแพทย์แดนมังกร" ได้ในรูปแบบ e-Magazine