Park Kwan-ho ผู้ก่อตั้ง WeMade บริษัทพัฒนาเกมในเกาหลีใต้ ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีพันล้าน หลังหุ้นของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นราว 4 เท่า นับตั้งแต่เปิดตัวเกมที่ใช้ระบบบล็อคเชนในปลายเดือนสิงหาคม
เกมดังกล่าวมีชื่อว่า
Mir 4 เปิดให้บริการในประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก่อนที่จะขยายไปใน 170 ประเทศทั่วโลกกว่า 12 ภาษา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม และนับแต่นั้นมาก็ได้มีการดาวน์โหลดมากกว่า 1 ล้านครั้งใน Play Store ของ Google ส่งผลให้หุ้นของ WeMade ปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 290
ด้าน
Park Kwan-ho ซึ่งจะมีอายุครบ 49 ปีในเดือนหน้า ดำรงตำแหน่งประธานของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดราวร้อยละ 45 ในชื่อของเขาเอง ซึ่งในที่นี้ Forbes ประเมินว่า ปัจจุบันเขามีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
Mir 4 เป็นเกมที่อาศัยระบบบล็อคเชน ที่อนุญาตให้ผู้เล่นสามารถแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลได้ ซึ่งเกมดังกล่าวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของคริปโตเคอร์เรนซี
เช่นเดียวกับ Axie Infinity ที่พัฒนาโดยผู้สร้างเกมชาวเวียดนาม Sky Mavis ซึ่งปัจจุบันมีผู้เล่นมากกว่า 2 ล้านคนต่อวัน และล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา บริษัทสามารถระดมทุนได้ 152 ล้านเหรียญ นำโดย Andreessen Horowitz บริษัทร่วมทุนใน Silicon Valley
"เกมของเรากำลังพัฒนาไปสู่การเป็น metaverses หรือการประสานการทำงานระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนจริง ท่ามกลางมูลค่าของสินทรัพย์เสมือนที่กำลังเป็นที่ยอมรับ" Henry Chang ซีอีโอของ WeMade กล่าวกับนักวิเคราะห์ในเดือนสิงหาคม
"ตั้งแต่นั้นมา WeMade จึงมุ่งเน้นไปที่การคว้าโอกาสในช่วงการเปลี่ยนแปลงนี้”
ผลประกอบการของ WeMade ซึ่งตั้งอยู่ใน Seongnam ทางใต้ของกรุงโซล เป็นไปในทิศทางที่ดีตั้งแต่ก่อนการเปิดตัว Mir 4 ทั่วโลก โดยบริษัทรายงานว่า มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 175 ไตรมาสที่ 2 เป็น 6.9 หมื่นล้านวอน (60 ล้านเหรียญ) ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านวอน (16 ล้านเหรียญ) จากเดิมที่ขาดทุน 5 พันล้านวอน (4 ล้านเหรียญ) ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
Lee Moon-jong นักวิเคราะห์จาก Shinhan Investment กล่าวว่า
"เราคาดว่ารายรับจะยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการเปิดตัว Mir 4 ทั่วโลกในเดือนสิงหาคมและการเปิดตัว Mir M (เกมเวอร์ชั่นมือถือ) ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้”
ทั้งนี้ นอกจากแฟรนไชส์ Mir แล้ว เกมหลักอีกเกมของ WeMade อย่าง
Icarus ก็มีการดาวน์โหลดเกมเวอร์ชั่นมือถือมากกว่า 500,000 ครั้งบน Play Store ของ Google เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่แหล่งรายได้อื่นๆ ของ WeMade ได้แก่ ธุรกิจบล็อกเชนซึ่งเปิดตัวในปี 2018 ที่มีสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองที่เรียกว่า Wemix และแพลตฟอร์มการประมูล NFT ล่าสุด ในเดือนกรกฎาคม WeMade ลงทุน 8 หมื่นล้านวอน (ประมาณ 70 ล้านเหรียญ) ใน Vidente ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดรายเดียวของ Bithumb แพลตฟอร์มซื้อขายบิตคอยน์ในกรุงโซล
ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตเกมเกาหลีรายอื่นๆ เช่น Nexon, Netmarble, NHN Entertainment และ Smilegate ก็ได้เข้าลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลด้วยเช่นกันเพื่อทดแทนสกุลเงินในเกม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถซื้อไอเท็มในเกมได้อย่างง่ายดาย รวมถึงการขจัดการเก็งกำไรในไอเท็มและการแจกจ่ายไอเท็มที่ไม่ได้รับอนุญาต
ดังเช่น NXC ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของ Nexon ถือหุ้นร้อยละ 65 ใน Korbit ในกรุงโซล ซึ่งเป็นบริษัทแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลแห่งแรกของเกาหลี "ความเชื่อมโยงระหว่างเกมและสกุลเงินดิจิทัลเป็นเรื่องใหญ่" Bang Jun-hyuk ประธาน Netmarble กล่าวในปี 2018
Park ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านธุรกิจจาก Kookmin University ในกรุงโซล ก่อตั้ง WeMade ในปี 2000 และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Kosdaq ที่เต็มไปด้วยบริษัทเทคโนโลยีของเกาหลีในปี 2009
โดยก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานให้กับ ActozSoft บริษัทพัฒนาเกมเกาหลีเป็นเวลา 4 ปี ในตำแหน่งผู้ตรวจสอบบัญชีและหัวหน้าทีมพัฒนา
นอกจาก Park แล้ว ยังมีมหาเศรษฐีเกมชาวเกาหลีอีก 7 คน ได้แก่
Chang Byung-gyu แห่ง Krafton,
Kim Taek-jin แห่ง NCSoft,
Bang แห่ง Netmarble,
Kim Jung-ju แห่ง Nexon,
Lee Joon-ho แห่ง NHN Entertainment,
Kim Dae-il แห่ง Pearl Abyss และ
Kwon Hyuk แห่ง Smilegate-bin
ในเดือนสิงหาคม Chang จาก Krafton มีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าเป็น 2.9 พันล้านเหรียญ หลังนำบริษัทเข้าทเสนอขายหุ้น IPO มูลค่า 3.8 พันล้านเหรียญ ขึ้นแท่นหุ้น IPO ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยเป็นรองเพียง Samsung Life Insurance ที่สามารถระดมทุนได้ 4.9 ล้านล้านวอนในปี 2010
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Blockchain-Based Game Boosts Shares Of Korean Game Maker, Founder Becomes Billionaire เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
Stephen Hoge มหาเศรษฐีคนล่าสุดจาก Moderna