หากถาม Nandan Nilekani ผู้ร่วมก่อตั้ง Infosys บริษัทไอทียักษ์ใหญ่สัญชาติอินเดีย ว่าอะไรคือกุญแจสู่ความสำเร็จในการพลิกโฉมภูมิทัศน์ของการทำงาน คำตอบอาจเรียบง่ายกว่าที่คุณคิด
Nandan Nilekani ร่วมก่อตั้ง Infosys บริษัทด้านไอทีและการให้คำปรึกษาในปี 1981 โดยดำรงตำแหน่งซีอีโอตั้งแต่ปี 2002 - 2007 และในปี 2009 จึงเกิด Aadhaar ฐานข้อมูลกลางที่รวบรวมข้อมูลอัตลักษณ์ทางชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้น
ความทุ่มเทในการทำงานด้านเทคโนโลยียังนำพาให้เขาขึ้นแท่นมหาเศรษฐีระดับโลก โดยล่าสุด Forbes ประเมินว่าเขามีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน และเกิดความกังวลเกี่ยวกับการทำงานในอนาคต ฝั่ง Nilekani ชี้ว่าทุกคนควรโฟกัสกับการสร้างทักษะด้านอารมณ์และการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือ Soft Skill ที่ AI ไม่สามารถทำได้
“จงกระหายที่จะเรียนรู้ เชื่อมโยง และเท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน” Nilekani เผยกับ Ryan Roslansky ซีอีโอของ LinkedIn ในตอนหนึ่งของรายการ The Path ว่า “ผมตื่นขึ้นมาทุกเช้าพร้อมความต้องการที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเปิดใจให้กว้าง”
สิ่งนี้เองเป็นเสมือนคาถาวิเศษที่ช่วยผลักดัน Nilekani ตลอดชีวิตการทำงานของเขา มหาเศรษฐีวัย 69 ปีผู้นี้เติบโตมาในประเทศอินเดียช่วงยุค 60s ถึง 70s ซึ่งพ่อแม่มักกำหนดอนาคตของลูกๆ ไว้ว่า ถ้าไม่เป็นหมอ ก็ต้องเป็นวิศวกร
Nilekani เลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็จริง แต่กลับเข้าเรียนในสถาบันที่พ่อของเขาไม่อนุมัติ ทั้งยังเลือกวิศวกรรมไฟฟ้าแทนวิศวกรรมเคมีตามที่พ่อของเขาต้องการอีกต่างหาก โดยเขาจบการศึกษาจาก IIT Bombay ในปี 1978 และพบว่าตัวเองหลงใหลในเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ ณ ช่วงเวลานั้น
เขาได้งานที่ Putney Computer Systerms บริษัทด้านเทคโนโลยี ภายได้การนำของ N.R. Narayana Murthy ผู้ซึ่งภายหลังจะจับมือกับเขาร่วมก่อตั้ง Infosys
Nilekani มองว่าปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จมาจากนิสัยชอบเก็บข้อมูล และตื่นเต้นกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยย้ำว่าความกระหายที่จะเรียนรู้ทำให้เขาประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ความรักในธุรกิจ
“ผมเป็นผู้ประกอบการโดยไม่ได้ตั้งใจ” เขาเผยกับ Roslansky “ผมไม่ได้ตั้งต้นว่าอยากเป็นผู้ประกอบการ แต่เมื่อผมก้าวขาเข้ามาแล้ว ผมจึงตระหนักว่านี่แหละคือที่ของผม”
เปิดใจเรียนรู้ หรือ ย่ำอยู่กับที่
ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้นับเป็น Soft Skill ที่ประเมินค่ามิได้ โดยสองนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงอย่างมหาเศรษฐีนักลงทุน Mark Cuban และซีอีโอ Amazon คนปัจจุบัน Andy Jassy ต่างก็สนับสนุนกับแนวคิดนี้
“ผมอาจทำเหมือนตัวเองคาดการณ์แนวโน้มและผลกระทบของ AI ต่อตลาดงานได้ แต่นั่นย่อมเป็นการโกหก เพราะผมไม่รู้อะไรเลย” Cuban เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา “แต่ผมตระหนักว่าควรให้ความสำคัญ ทำงานอย่างกระฉับกระเฉง ขณะที่ยังรักษาความกระหายการเรียนรู้ และพร้อมจะปรับตัว”
ในกรณีของ Jassy เขาเคยเปิดเผยผ่านวิดีโอบน YouTube ช่อง Inside Amazon ในเดือนกรกฎาคม 2024 ว่า การหมั่นติดตามและพัฒนาตัวเองให้เท่าทันทักษะใหม่ๆ รวมถึงโลกรอบตัวนับเป็นปัจจัยสำคัญสู่เส้นทางอาชีพอันรุ่งโรจน์ ใครที่ไม่คิดเปลี่ยนแปลงก็จะต้องย่ำอยู่กับที่ไปเรื่อยๆ
ข้อมูลจาก Pew Research Center เมื่อปี 2022 เปิดเผยว่า 19% ของกลุ่มแรงงานทักษะในสหรัฐอยู่ในอาชีพที่ AI อาจเข้ามาช่วยเหลือ หรือ AI อาจมาแทนที่ได้ แม้สถิติดังกล่าวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นต่อเนื่อง Nilekani เชื่อว่า Soft Skill จะเป็นเหมือนทางด่วนที่ทำให้คนมุ่งไปสู่ความสำเร็จได้
“อนาคตนั้นเกี่ยวกับว่า มีอะไรที่มีเพียงแค่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้” เขากล่าว “ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจ…จงรักษาความกระหายที่จะเรียนรู้ เชื่อมโยง และเท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน”
แปลและเรียบเรียงจาก Tech billionaire shares his 5-word piece of advice for a successful future: ‘I get up every morning’ with it in mind
ภาพ: AFP
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “อย่าทำทุกอย่าง-จัดลำดับความสำคัญ” วิธีบริหารเวลาแบบ Jensen Huang
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine