Michael Minhong Yu ผู้ก่อตั้ง New Oriental Education หวนคืนบัลลังก์ ‘มหาเศรษฐีพันล้าน’ อีกครั้ง ด้วยการปรับกลยุทธ์ใช้ประโยชน์จากไลฟ์สตรีมมิง หลังทางการจีนเพิ่มมาตรการปราบปรามบริษัทกวดวิชาด้วยการออกกฎข้อบังคับชุดใหม่ที่ห้ามบริษัทแสวงหากำไรและระดมทุนจากตลาดต่างประเทศ
ความสำเร็จครั้งใหม่ของชายวัย 60 ปีรายนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจการศึกษามากนัก เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลได้มีการกำหนดให้บริษัทกวดวิชาทุกแห่งลงทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร “อุตสาหกรรมกวดวิชาหลังเลิกเรียนกลายเป็นสนามแข่งขันของกลุ่มนายทุน ขัดต่อธรรมชาติของการศึกษาในฐานะสวัสดิการ และเป็นอันตรายต่อรบนิเวศการศึกษาตามปกติ” ฉะนั้นเพื่อให้ธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ Michael Minhong Yu จึงเลือกที่จะหันไปใช้ประโยชน์จากการไลฟ์ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
Yu ร่วมกับอดีตครูสอนภาษาอังกฤษจำนวนหนึ่งไลฟ์ขายสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่อาหารไปจนถึงสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และด้วยยอดขายและจำนวนผู้เข้าชมที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดก็ได้ส่งผลให้หุ้นของ New Oriental ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 จากระดับต่ำสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ด้าน Yu ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 11.6 ในบริษัท จึงได้รับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2022 อยู่ที่ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้การไลฟ์ขายสินค้าของทางบริษัทมีจุดเด่นที่น่าสนใจตรงที่มีการสอนภาษาอังกฤษเสริมไปในตัวเนื่องจากอดีตครูสอนภาษาอังกฤษมักจะดึงกระดานไวท์บอร์ดออกมาใช้เพื่อสอนคำศัพท์เกี่ยวกับสินค้าที่พวกเขากำลังโปรโมตแก่ผู้ชม
ตัวอย่างเช่น ในรายการหนึ่งทีมงานได้เขียนคำว่า “easy to cook" และ “dietary supplement" ไว้บนกระดานในขณะที่พูดถึงประโยชน์ต่อสุขภาพของฟักทองชนิดใหม่
“อาจารย์ขายสินค้าได้เก่งมาก!” ผู้ใช้รายหนึ่งกล่าวชมบน Sina Weibo หรือ Twitter ของจีน “พวกเขาพูดเก่งมาก และฉันยังจดบันทึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษใหม่ๆ ขณะดูไปด้วย”
ทว่าสำหรับ Kenny Ng นักยุทธศาสตร์จาก Everbright Securities International มองว่าการแข่งขันในตลาดอี-คอมเมิร์ซในจีนค่อนข้างรุนแรง ฉะนั้นคงต้องจับตาดูว่า New Oriental จะสามารถรักษาโมเมนตัมการเติบโตดังเช่นในปัจจุบันได้หรือไม่ ขณะที่ Huitun ผู้ให้บริการด้านข้อมูลจาก Hangzhou ซึ่งติดตามการไลฟ์ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รายงานว่า บริษัทสามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้าราว 68.8 ล้านหยวน (10.3 ล้านเหรียญ) ในวันที่ 16 มิถุนายน เพิ่มขึ้นเกือบ 20 เท่าจาก 600,000 เหรียญในวันที่ 9 มิถุนายนซึ่งเป็นวันแรกที่ได้มีการทดลองสอนภาษาอังกฤษขณะไลฟ์ขาย
"ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า New Oriental ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ" Ng กล่าว “ต้องใช้เวลาพิสูจน์ว่าจำนวนผู้ชมที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้บริษัทต่อยอดปัจจัยพื้นฐานที่มีได้อย่างไร"
ด้าน New Oriental ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นว่าจะใช้การไลฟ์สตรีมมิ่งเป็นกลยุทธ์ระยะยาวหรือไม่ ซึ่งแท้จริงต้องพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย เนื่องจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กและฮ่องกงแห่งนี้มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 122.4 ล้านเหรียญในไตรมาสที่ 3 สิ้นสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2022 จากเดิมที่เคยกวาดกำไร 151.3 ล้านเหรียญในช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากบริษัทไม่สามารถเปิดสอนพิเศษได้ตามต้องการอีกต่อไป
ล่าสุด เมื่อต้นปีนี้ New Oriental ประกาศว่าจะเลิกจ้างพนักงาน 60,000 คน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่หุ้นของบริษัทซึ่งซื้อขายในฮ่องกงแตะระดับสูงสุดเพียง 151.5 เหรียญฮ่องกงต่อหุ้น
แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Chinese Education Tycoon Regains Billionaire Status By Pivoting To Livestreamed Sales เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: การปราบปรามกวดวิชาของจีนทำให้มหาเศรษฐีด้านการศึกษามีทรัพย์สินลดลงไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine