ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็น ‘ผู้หญิง’ ก้าวขึ้นมามีบทบาทในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทญี่ปุ่น แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสังคมญี่ปุ่นมากขึ้น บริษัทชั้นนำหลายแห่งในญี่ปุ่นเริ่มแต่งตั้งผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูง รวมถึง “ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด” ที่มี “มากิโกะ โอโนะ” เป็นซีอีโอหญิงคนแรกตั้งแต่ปี 2023 จากพนักงานคนหนึ่งก้าวมาจนถึงตำแหน่งซีอีโอ ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เธอบอกว่ามาจากความกล้าที่จะคว้าโอกาสใหม่ๆ
“ขอให้มีความโลภ แต่หมายถึงโลภในทางที่ดี โลภในความรู้และอยากหาประสบการณ์ สุดท้ายคืออย่าไปกลัวที่จะคว้าโอกาสใหม่ๆ” คือคำตอบของ มากิโกะ โอโนะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (Suntory Beverage & Food) หรือ SBF เมื่อ Forbes Thailand ถามถึงคำแนะนำสำหรับผู้หญิงที่อยากจะกล้าก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้นำองค์กร
ในโอกาสที่เธอเดินทางเยือนไทยเพื่อร่วมประชุมประจำปีกับ บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำตลาดอาหารเสริมสุขภาพภายใต้ตราผลิตภัณฑ์แบรนด์ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย และ บริษัท ซันโทรี่ เป๊บซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์สินค้าซันโทรี่และเป๊ปซี่โคในประเทศไทย และร่วมให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนด้วย

ที่ถามเธอแบบนั้นเพราะ มากิโกะ โอโนะ มีเส้นทางการทำงานที่น่าสนใจไม่น้อย เธอเริ่มต้นทำงานกับอาณาจักรเครื่องดื่มของญี่ปุ่นอย่าง ‘ซันโทรี่’ ด้วยตำแหน่งพนักงานคนหนึ่ง แต่ปัจจุบันเธอคือผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัทลูกอย่าง ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ซึ่งธุรกิจนี้มีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 55% ของรายได้ทั้งหมดของซันโทรี่ในปี 2024 ซึ่งอยู่ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
การมีผู้บริหารเป็นผู้หญิงเป็นเรื่องที่เราเห็นได้ไม่บ่อยนักในสังคมญี่ปุ่น ผลสำรวจพบว่าในจำนวนบริษัทชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว 1,643 แห่งในญี่ปุ่น มีประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้หญิงเพียง 13 คนเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8
แล้วทำไมองค์กรที่อายุ 126 ปีอย่าง ‘ซันโทรี่’ ถึงเลือกมากิโกะขึ้นเป็นซีอีโอ?
แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เป็นเพราะโชคช่วย ไม่ใช่เพราะเธอเป็นผู้หญิง แต่มากิโกะบอกว่าเป็นเพราะ ‘ประสบการณ์’ ที่เธอมี ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ในหลายประเทศ และประสบการณ์ในหลากหลายส่วนในบริษัท
มากิโกะ เล่าว่าเธอเริ่มต้นเส้นทางอาชีพที่ซันโทรี่ตั้งแต่ปี 1982 ซึ่งในขณะนั้นซันโทรี่ยังเป็นบริษัทเล็กมาก และเน้นตลาดในประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่เป้าหมายของคุณเคอิโซะ ซาจิ (Keizo Saji) ประธานบริษัทในขณะนั้น คือการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดโลก
ซึ่งหนึ่งในความท้าทายแรกคือการเข้าซื้อกิจการ Château Lagarde ไร่องุ่นเก่าแก่ในฝรั่งเศส ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลฝรั่งเศส กระบวนการนี้ใช้เวลาถึง 18 เดือน และต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าซันโทรี่ให้ความเคารพต่อประเพณีและชุมชนผู้ผลิตไวน์ในบอร์โดซ์
“ตอนนั้นเมื่อบริษัทถามว่าใครจะไปทำงานนี้ ซึ่งตอนนั้นไม่มีผู้หญิงคนไหนได้ไปต่างประเทศ แต่ฉันคือคนที่ยกมือขึ้นและบอกว่าขอไปต่างประเทศ นั่นคือการไปต่างประเทศครั้งแรกของฉัน และถือว่าเป็นงานใหญ่ ฉันต้องใช้เวลา 18 เดือนที่นั่น เพราะต้องคุยกับรัฐบาลด้วย แล้วไม่มีคนญี่ปุ่นเลย เป็นงานที่ยากมาก แต่ก็ได้เจอคนหลากหลายอาชีพ”

เส้นทางในต่างประเทศของเธอไม่ได้หยุดแค่นั้น เธอยังถูกย้ายไปปารีสและลอนดอน โดยในลอนดอนเข้าซื้อแบรนด์เครื่องดื่มอังกฤษ เช่น Lucozade และ Ribena ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของซันโทรี่ในตลาดโลก
และอีกหนึ่งข้อตกลงที่สำคัญคือการเข้าซื้อ Cerebos Pacific Limited ในปี 1990 ซึ่งเป็นก้าวแรกของซันโทรี่ในตลาดเอเชีย โดยซันโทรี่ได้นำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาช่วยผลักดันให้แบรนด์ (BRAND’S) กลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมในภูมิภาค
จากนั้นมากิโกะก็มาดูแลงาน HR ซึ่งไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่น แต่เธอดูแลงานนี้ในระดับโกลบอล ความท้าทายของตำแหน่งนี้ คือการที่ธุรกิจขยายไปในหลายประเทศ ทำให้ต้องสร้างวัฒนธรรมของซันโทรี่ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเธอใช้วิธีเอาคนจากหลายประเทศมาเจอกัน หลอมรวมความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลของหลายแบรนด์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“เราอยากสร้าง Suntory culture เพราะเวลาไปซื้อกิจการ บริษัทอื่นไม่รู้จักคัลเจอร์ของเรา ดังนั้นจึงต้องพยายามซิงก์ให้เข้ากัน นั่นคือการทำงานที่ยากมาก เพื่อให้เป็นธุรกิจของเราที่ขยายไปทั่วโลกหลอมรวมเป็น one company” มากิโกะกล่าว
ความมุ่งมั่นเดินตามค่านิยมขององค์กรที่บอกว่า Yatte Minahare หรือจิตวิญญาณของผู้กล้าที่จะลงมือทำ ทำให้นอกจากสายงานธุรกิจและสายงาน HR แล้ว มากิโกะยังเคยบริหารงานด้านสายงานความยั่งยืนด้วย เรียกได้ว่าเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หลากหลาย ก่อนจะมาเป็นแม่ทัพใหญ่ของซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด
แต่ถึงอย่างนั้นการเป็นผู้บริหารก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มากิโกะบอว่า “ช่วงสองปีที่รับตำแหน่ง ความท้าทายหลักที่เจอคือ ราคาต้นทุน raw material และค่าแรงที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเจอภาวะเงินเฟ้อ แต่เราก็ตั้งเป้าว่าเราต้องไม่ยอมแพ้ เลยทำให้เราพยายามหาหลากหลายวิธีเพื่อสู้กับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มราคา แต่ก็เพิ่มโปรโมชั่น”
ความไม่ยอมแพ้ของมากิโกะสะท้อนออกมาเป็นผลงานผ่านตัวเลขรายได้ของซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ในปี 2024 ที่นอกจากจะมีสัดส่วนมากกว่าธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ตัวเลขรายได้ 1.1 หมื่นล้านเหรียญยังสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสัดส่วนรายได้มาจากญี่ปุ่น 44%, เอเชียแปซิฟิก 24%, ยุโรป 21% และอเมริกา 11%
“Key Success ของเราคือการยึดตามปรัชญา Seikatsusha ซึ่งเป็นหัวใจในการดำเนินงานของ Suntory Beverage & Food เราไม่ได้มองว่าผู้บริโภคเป็นเพียงลูกค้า แต่คือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เราจึงต้องคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา ไม่ใช่แค่ในช่วงเวลาของการบริโภคผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ตลอดทุกช่วงเวลาในการดำเนินชีวิตประจำวัน”

นอกจากนี้ มากิโกะยังให้ความสำคัญกับ “Gemba” หรือการลงพื้นที่จริง เพื่อเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค คู่ค้า และพนักงานอย่างแท้จริง ซึ่งข้อมูลที่สำคัญเหล่านี้จะช่วยให้ซันโทรี่มองเห็นโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ ได้
เธอยังระบุว่า “ญี่ปุ่นเป็นประเทศต้นแบบที่มีจุดแข็งที่หลากหลาย” ตั้งแต่การทำงานเป็นทีมและความภักดีต่อองค์กรในระดับสูง ไปจนถึงความเข้มแข็งของฝ่ายวิจัยและพัฒนา การตลาด และการผลิต ซึ่งเธอต้องการถ่ายทอดจุดแข็งเหล่านี้ไปสู่ทีมงานทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปีนี้ มากิโกะบอกว่าบริษัท วางแผนการลงทุน 3 ปี (ปี 2024 - 2026) ไว้ที่งบลงทุนประมาณ 2,000 ล้านเหรียญ ซึ่งจะใช้สร้างโรงงานใหม่ในหลายประเทศ โดยจะเป็นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกราว 40% ซึ่งที่ไทยจะมีการสร้างไลน์ผลิตเพิ่ม 2 ไลน์
นอกจากเรื่องธุรกิจแล้ว เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งของมากิโกะที่เธอให้ความสำคัญตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง คือ การเปลี่ยนแปลงองค์กรให้เป็นสถานที่แห่งความเท่าเทียมและเปิดโอกาสให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน โดยต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ช่วยให้พนักงานสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้มากถึง 150% และผลักดันให้เป้าหมายด้าน Diversity, Equity, and Inclusion (DE&I) เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยนโยบายของซันโทรี่ ตั้งเป้าให้ 30% ของพนักงานในระดับผู้จัดการเป็นผู้หญิงภายในปี 2030
ทั้งนี้ Suntory Beverage & Food ได้ก่อตั้งสภาส่งเสริม DE&I เมื่อปี ค.ศ. 2023 โดยมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้จัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ่ายขายและฝ่ายผลิตที่มีผู้หญิงน้อย นอกจากนี้ ซันโทรี่ยังส่งเสริมการทำงานที่ยืดหยุ่น การจัดตั้งกลุ่มพนักงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในที่ทำงาน และโครงการพัฒนาผู้นำหญิงที่ครอบคลุมทั้งพนักงานที่เป็นแม่และพนักงานหญิงที่มีความสามารถในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหาร
“สภาส่งเสริม DE&I มีหน้าที่ในการเปลี่ยนแนวคิดของผู้ชาย ที่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ปิดกั้นผู้หญิง แต่อาจจะมีแนวคิดว่างานนั้นๆ ยากเกินไปสำหรับผู้หญิง นอกจากนี้จะต้องผลักดันการโปรโมตผู้หญิง และเปลี่ยนแนวคิดของผู้หญิงด้วย เพราะหลายครั้งผู้หญิงที่ไต่เต้าไปจนเกือบจะถึงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ก็ไม่กล้าขยับขึ้นไปเป็นผู้บริหาร เพราะกลัวว่าจะยากเกินไป ทั้งยังไม่มี Role Model หรือต้นแบบ เลยไม่กล้าที่จะคว้าโอกาสในการก้าวมาเป็นผู้บริหาร ฉันเลยบอกว่า ฉันนี่แหละเป็น Role Model”
ในปัจจุบัน ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด นั้นเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น อาทิ การมอบหมายให้ผู้บริหารหญิงไปทำงานในต่างประเทศมากขึ้น โดยย้ายไปพร้อมกับคู่สมรส ซึ่งเป็นสัญญาณให้เห็นว่า วัฒนธรรมด้านการทำงานของญี่ปุ่นที่เคยเป็นอนุรักษ์นิยมกำลังเปลี่ยนแปลงไป
มากิโกะ ระบุว่า ซันโทรี่ประสบความสำเร็จในการสร้างสมดุลระหว่างพนักงานชายและหญิงในเอเชีย กล่าวคืิอ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) มีสัดส่วนผู้หญิงในระดับผู้จัดการ 40% มีพนักงานผู้หญิงทั่วทั้งองค์กรมากถึง 60% รวมถึงมีผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มผู้บริหารสูงสุดถึง 50%
ขณะที่ ซันโทรี่ เป๊บซี่โค ประเทศไทย มีสัดส่วนพนักงานระดับผู้จัดการที่เป็นผู้หญิงถึง 51% และยังคงเดินหน้าสร้างสมดุลทางเพศในองค์กรให้เพิ่มขึ้น
แต่สำหรับซันโทรี่ในญี่ปุ่น ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้ผู้หญิงเข้าสู่บทบาทผู้นำ

“การสร้างความเท่าเทียมในองค์กรไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข แต่เป็นเรื่องของโอกาสและความสามารถ ดิฉันอยากให้ผู้หญิงทุกคนกล้าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ เพราะเมื่อคุณเปิดประตูแล้ว คนอื่นๆ ก็จะเดินตามมา”
ช่วงท้าย Forbes Thailand ขอให้เธอฝากแนวคิดสำหรับผู้หญิง ซึ่งเธอระบุว่า “ฉันก็ไม่ได้เป็นคนมั่นใจ 100% แต่เชื่อเถอะว่า ทุกคนสามารถท้าทายตัวเองได้ อย่าปิดกั้นโอกาส อย่ากลัวที่จะคว้าโอกาสเอาไว้ก่อน หลายครั้งที่เราไม่สนใจงานที่ได้รับมอบหมาย แต่อย่าเลือกงานเลย เพราะทุกอย่างจะเป็นประสบการณ์ ตอนฉันเอง ฉันก็ไม่มีความรู้ทางบัญชีเลย ไม่รู้เลยว่าบานลานซ์ชีตคืออะไร แต่ฉันก็ศึกษาจากหัวหน้า เรียนรู้เพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่างๆ ดังนั้นขอให้มีความโลภ แต่หมายถึงโลภในทางที่ดี โลภในความรู้และอยากหาประสบการณ์ สุดท้ายคืออย่าไปกลัวที่จะคว้าโอกาสใหม่ๆ” มากิโกะกล่าวทิ้งท้าย
ภาพ: ซันโทรี่ เบฟเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘เวลา’ คือทรัพย์ล้ำค่า เปิด 4 วิธีบริหารเวลา แบบฉบับนักธุรกิจระดับโลก
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine