Hemant Bakshi จาก Unilever Indonesia พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส - Forbes Thailand

Hemant Bakshi จาก Unilever Indonesia พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Dec 2016 | 02:31 PM
READ 1332

Unilever Indonesia เป็นที่โปรดปรานของเหล่านักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคเป็นหลักนี้ ยังมีผู้ถือหุ้นหลักที่เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของโลก Unilever Indonesia ได้รับการบริหารอย่างเหนือชั้นจนทำให้มีผลประกอบการยอดเยี่ยม ในปีที่ผ่านมา มีอัตรากำไรขั้นต้น 50% และอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนการหักดอกเบี้ยและภาษีสูงกว่า 20% ขณะที่ราคาหุ้นพุ่งทะยานมากกว่า 3,000% จากปี 2000 พร้อมติด 1 ใน 10 บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียหรือ IDX บริษัทประเมินว่ามีผลิตภัณฑ์ของ Unileverอย่างน้อย 1 ชิ้นในทุกครัวเรือนของอินโดนีเซีย

ทว่าเมื่อปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอินโดนีเซียเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จีดีพีประเทศขยายตัวต่ำกว่า 5% เป็นครั้งแรกนับจากปี 2009 สินค้าหลายประเภทของบริษัทจากที่เคยขายดี กลายเป็นไม่ดี จนเริ่มมีคำแนะนำให้ “ขาย” หุ้นของบริษัททิ้ง ซึ่งไม่ค่อยปรากฏบ่อยนัก

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของ Hemant Bakshi ประธานบริหารวัย 52 ปีจาก Unilever “อินโดนีเซียเป็นตลาดดีเยี่ยมเหมาะแก่การเข้ามาทำธุรกิจ” เขากล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์บนชั้นสูงสุดของอาคาร  Graha Unilever ในกรุง Jakarta “ช่วงเวลาที่ยากลำบากคือโอกาสสำหรับเรา” การเดิมพันครั้งนี้ของ Hemant สูงนัก อินโดนีเซียนับเป็นตลาดใหญ่อันดับ 5 จากธุรกิจทั่วโลกของบริษัทโดยมีสัดส่วนรายได้มากกว่า 5% ของยอดขายรวมทั่วโลก (จากมากกว่า 150 ประเทศที่ Unilever เข้าไปดำเนินธุรกิจ)

หนึ่งในแผนดำเนินการของบริษัทคือการเปิดโรงงานแห่งใหม่ใน Cikarang ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอาหารซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า 630,000 ตารางเมตร (บริษัทมีโรงงานทั้งหมด 9 แห่งในอินโดนีเซีย) ในปีที่ผ่านมาธุรกิจอาหารเติบโต 12% มีมูลค่า 11.1 ล้านล้านรูเปีย คิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนที่จะย้ายไปยังสำนักงานแห่งใหม่ในเขตชานเมือง Jakarta อันพรั่งพร้อมด้วยศูนย์ฟิตเนสและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับปีนี้ Hemant กล่าวว่าบริษัทตั้งเป้าทุ่มงบลงทุน 2 ล้านล้านรูเปียในอินโดนีเซียและเพียงไม่นานก่อนหน้านี้บริษัทเพิ่งลงนามเซ็นสัญญา MOU มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า บริษัทมองหาโอกาสเพื่อการเติบโตในประเทศจากหลายแนวทางทั้งการขยายตัวจากภายในและภายนอกองค์กร “อินโดนีเซียคือตลาดแห่งการลงทุน เรายังกระตือรือร้นอย่างมากที่จะพิจารณากลยุทธ์เพื่อการเติบโตจากการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ” Hemant กล่าว

ตารางเปรียบระหว่าง Unilever Indonesia และ amazon

นอกจากนี้บริษัทยังปรับราคาสินค้าขึ้นในบางรายการอย่างรอบคอบเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นที่สำคัญกว่านั้น Hemant ได้ปรับโครงสร้าง Unilever Indonesia ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรของประเทศซึ่งเขาเรียกว่ากลยุทธ์ “จับกระแสพรีเมียม” หนึ่งในตัวอย่างสำคัญของกระแสการบริโภคลักษณะนี้เกิดขึ้นในปี 2011 จากความสำเร็จที่สูงอย่างไม่คาดคิดกับไอศครีม Magnum

 

ส่วนอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่มีการปรับให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคคือแผนด้านการตลาด Unilever Indonesia ครองอันดับ 1 ในการใช้จ่ายงบโฆษณามากที่สุดของประเทศและทิ้งห่างผู้ตามหลังอยู่หลายขุม ในไตรมาสแรกของปีนี้บริษัททุ่มเม็ดเงิน 4 ล้านล้านรูเปียไปกับการโฆษณา นับเป็นมูลค่าที่มากกว่าคู่แข่ง 4 รายของบริษัทใช้จ่ายรวมกันในช่วงเวลาดังกล่าว ภายใต้การนำของ Eka Sugiarto ผู้บริหารฝ่ายสื่อและโฆษณาบริษัทได้โยกงบโฆษณามูลค่ามหาศาลไปยังสื่อดิจิทัลมากขึ้นเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้บริโภคและใช้ประโยชน์จากกระแสการใช้สมาร์ทโฟนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่บริษัทยังใช้จ่ายงบโฆษณาไปกับสื่อโทรทัศน์มากที่สุดนั้น สื่อออนไลน์ได้ขึ้นแท่นตามมาเป็นอันดับ 2 แซงหน้าสื่อดั้งเดิมอย่างเช่นสิ่งพิมพ์และโฆษณากลางแจ้ง

ทว่า บริษัทยังคงมีความเสี่ยง เศรษฐกิจโลกและอินโดนีเซียมีสัญญาณฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน ขณะที่ค่าเงินรูเปียเริ่มมีเสถียรภาพและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงทว่าบริษัทจำนวนมากยังคงประกาศผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรกที่น่าผิดหวังและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงอ่อนตัว

จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน Hemant ดูเหมือนจะพิสูจน์ให้ผู้ที่แคลงใจได้เห็นแล้วว่าพวกเขาคาดการณ์ผิด ตัวเลขผลประกอบการครึ่งปีแรกของ Unilever ยังคงยอดเยี่ยมเหมือนเช่นเคย รายได้สุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้น 10% เทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2015 มาอยู่ที่ 20.7 ล้านล้านรูเปีย ส่วนตัวเลขกำไรมีอัตราเติบโตสูงยิ่งกว่าที่ 12.5% เป็น 3.2 ล้านล้านรูเปีย ขณะที่กระแสเงินสดอิสระเพิ่มขึ้น 20% เป็น 2.4 ล้านล้านรูเปีย ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นตามเช่นกัน โดยทะยานสูงขึ้นมากกว่า 25% จนแตะระดับ 45,500 รูเปียต่อหุ้น Unilever Indonesia ยังคงยึดมั่นในแนวทางการดำเนินธุรกิจของตนที่บริษัทเรียกว่าโมเดล“4ต” อันประกอบด้วย เติบโตอย่างต่อเนื่องผลกำไรเติบโต เติบโตในเชิงแข่งขัน และเติบโตอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ


คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "Hemant Bakshi จาก Unilever Indonesia พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ NOVEMBER 2016 ในรูปแบบ e-Magazine