นอกจากมณฑล Guangdong (กวางตุ้ง) จะเป็นแผ่นดินแม่ของคนจีนโพ้นทะเลในไทยแล้ว เมืองเอกของมณฑลนี้ยังช่วยให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวไหลเข้าแผ่นดินขวานทองเกือบปีละแสนล้านบาท คิดเป็นราว 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งประเทศ หากจะเรียก Guangzhou (กวางโจว) ว่าเป็นเมืองหลวงของการท่องเที่ยวไทยในประเทศที่มี GDP มากเป็นอันดับที่ 2 ของโลกก็คงจะไม่ผิดนัก
กว่า 3 ชั่วโมงที่เจ้านกเหล็กลำโตเหินเวหาในระยะทางกว่า 1,600 กิโลเมตร จากสนามบินดอนเมืองมาสู่ท่าอากาศยานนานาชาติ Guangzhou Baiyun (กวางโจวไป่หยุน) สนามบินที่มีความหนาแน่นของเที่ยวบินมากเป็นอันดับ 2 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยสถิติรองรับผู้โดยสารราว 52 ล้านคนในปีที่ผ่านมา (รองจากท่าอากาศยานนานาชาติในเมืองหลวง Beijing) จุดหมายปลายทางที่ถือเป็นประตูสู่แดนใต้ของแผ่นดินมังกร ต้อนรับเราด้วยความสงัดเงียบในยามค่ำคืน ตัดสลับกับแสงสีจากป้ายไฟน้อยใหญ่ที่รายเรียงตามสองข้างทาง ท่ามกลางการหลับไหลของผู้คนส่วนใหญ่ในตึกทรงสูง Guangzhou คือเมืองระดับ Beta+ จากการจัดอันดับ Global City ทั่วโลก ถือเป็นเมืองท่าสำคัญของจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งใกล้เขตเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ฮ่องกง, มาเก๊า รวมไปถึง Shenzhen (เสินเจิ้น) ที่เสมือนเป็นโรงงานอุปกรณ์ไอทีของโลก ทั้งยังถือเป็น 1 ใน 5 นครศูนย์กลางแห่งชาติหรือ National Central City ที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก (The Pearl River Delta Economics Zone) ทำให้ได้รับการพัฒนาทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ รวมไปถึงคุณภาพชีวิตที่ได้รับการดูแลมากกว่า หากเทียบกับเมืองอื่นๆ ตรงนี้เองที่ทำให้กำลังซื้อของคนกวางโจวมีสูงกว่าประชาชนต่างเมือง เศรษฐกิจในปี 2013 ของ Guangzhou มีมูลค่าประมาณ 8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.67% ของ GDP จีนทั้งประเทศ มีอัตราการเติบโตที่ 12.5% จากปี 2012 ประชากรมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 6.32 แสนบาท (ขณะที่ GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ราว 11.897 ล้านล้านบาท ประชากรมีรายได้ต่อคนต่อปีไม่ถึง 1.9 แสนบาท) ด้วยศักยภาพด้านทำเลที่ตั้งและผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ Guangzhou นครซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฮ่องกงเพียง 120 กิโลเมตร ในวันนี้ เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อจีนตอนใต้ไว้ด้วยกัน ไม่เพียงแต่การคมนาคมขนส่งเท่านั้น การเดินทางท่องเที่ยวของคนทางตอนใต้ก็ล้วนต้องอาศัยเมืองเอกแห่งลุ่มแม่น้ำไข่มุกแห่งนี้ทั้งสิ้นGlobal City คือการจัดอันดับเมืองต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจองค์รวมของโลก โดยเกณฑ์ที่ใช้วัดจะอิงตามหลัก socio-economic ซึ่งจะจำแนกเมืองต่างๆ ออกเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ คือ Alpha หรือเมืองที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจองค์รวมของโลกมาก, Beta หรือเมืองที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจองค์รวมของโลกแบบปานกลาง, Gamma หรือเมืองที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจองค์รวมของโลกเล็กน้อย และ Sufficiency หรือเมืองที่ไม่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจองค์รวมของโลก โดยนครที่มีอันดับสูงที่สุดในโลกคือ New York City และ London ในตำแหน่ง Alpha++ ขณะที่กรุงเทพมหานครอยู่ในกลุ่ม Alpha- ตามหลัง 2 เมืองใหญ่ในภูมิภาค ASEAN อย่าง Singapore City (Alpha+) และ Kuala Lumpur (Alpha) นครศูนย์กลางแห่งชาติ (National Central City) คือเมืองที่ทางการจีนต้องการให้เป็นเสมือนศูนย์กลางทางการปกครองในภูมิภาค ประกอบไปด้วย Beijing (ปักกิ่ง), Chongqing (ฉงชิ่ง), Guangzhou (กวางโจว), Shanghai (เซี่ยงไฮ้), Tianjin (เทียนจิน) และอีก 1 เมืองพิเศษคือ ฮ่องกง
สถิติในปีที่ผ่านมาขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNTWO ได้พูดถึงประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกไว้อย่างน่าสนใจว่า จีนเป็นประเทศที่มีการต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 55.7 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ในขณะที่ยอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศนั้นกลับมากเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนมากกว่า 80 ล้านคน มียอดการใช้จ่ายรวมมากที่สุดในโลก ราว 1.28 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4.14 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11% ของการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวของทั้งโลก
แม้แนวโน้มการท่องเที่ยวของชาวจีนจะยังคงจำกัดอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวจีนอีกไม่น้อยเลือกเดินทางท่องโลกกว้างนอกม่านไม้ไผ่ โดยจุดหมายปลายทางที่ชาวจีนนิยมมากที่สุดคือเกาหลีใต้ รองลงมาคือไทย ส่วนอันดับ 3 คือญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นประเทศคู่แค้นทางประวัติศาสตร์นับร้อยๆ ปีของจีน
การจับจ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีนสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศไทยกว่า 1.8 แสนล้านบาทในปี 2013 เฉลี่ยตกคนละประมาณ 39,000 บาทในการมาเยือนแต่ละครั้ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงาน Guangzhou ประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยว่าราว 30-40% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนราว 4.7 ล้านคนในปีที่ผ่านมา คือนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกจากนคร Guangzhou
เมื่อจีนทั้งประเทศคือตลาดมหึมาของการท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวจาก Guangzhou มีสัดส่วนประมาณ 1/3 ของ นักท่องเที่ยวจีนที่เข้าไทย ภาครัฐและเอกชนของไทยจึงจับมือร่วมกันพัฒนาตลาดและสร้างโอกาสทางธุรกิจ
รายงานพิเศษชุด Greater China ประจำฉบับ NOVEMBER 2014