อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก พื้นที่กลางหุบเขาสูงกว่า 1,400 เมตร เป็นที่ตั้งดอยปู่หมื่น หมู่บ้านของชนเผ่าลาหู่ ซึ่งอดีตเคยเป็นแหล่งปลูกฝิ่น แต่ด้วยแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เปลี่ยนพื้นที่นี้ให้กลายเป็นแหล่งปลูกชาป่าในวิถียั่งยืน มีที่มาและเรื่องเล่าอันน่าจดจำ
จะฟะ ไชยกอ บิดาผู้ล่วงลับของ จิราวรรณ ไชยกอ เป็นชนเผ่าลาหู่หรือมูเซอตามคำเรียกของคนเมือง “จะฟะ” เป็นผู้นำชุมชนของชาวลาหู่ บ้านปู่หมื่นบนดอยปู่หมื่นตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่แห่งนี้อยู่บนยอดเขาสูงกว่า 1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในเขตอุทยาแห่งชาติดอยผ้าห่มปก รอยต่อชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่โดยทางรถยนต์ราว 3 ชั่วโมง ที่หมู่บ้านชาวเขาแห่งนี้คือ โครงการแบ่งปันสังคมของ FWD บริษัทประกันข้ามชาติแห่งเอเชียในกลุ่มแปซิฟิก เซ็นจูรี กรุ๊ป ที่มองเห็นความสำคัญของวิถีชีวิตผู้คนบนดอยกับอาชีพการปลูกชาป่าและผลิตชาเพื่อสร้างรายได้ โดยมี จิราวรรณ ไชยกอ ทายาทผู้นำชุมชนลาหู่สืบทอดเจตนารมณ์ของบิดาผู้ล่วงลับ และสืบสานแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานแก่ชาวลาหู่ยุคบุกเบิก จากอาชีพปลูกฝิ่นมาสู่การปลูกชาเพื่อการยังชีพตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา กว่า 50 ปีที่ชนเผ่าลาหู่ก้าวเดินตามแนวพระราชดำริ ค่อยๆ เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการปลูกฝิ่นมาปลูกชาและพืชสมุนไพรธรรมชาติเพื่อเลี้ยงชีพแทนการปลูกพืชที่ผิดกฎหมายและทำลายสุขภาพผู้คน
“การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในหลวงท่านค่อยๆ เปลี่ยนให้ชาวบ้านมีหนทางในอาชีพใหม่ ทรงสอนให้ปลูกชาแทนฝิ่น ชวนชาวบ้านให้ปรับด้วยความสมัครใจ” จิราวรรณหรือ “หยก” หญิงสาววัย 42 บอกเล่าอดีตจากความทรงจำที่มีในฐานะบุตรสาวคนเล็ก (คนที่ 11) ของ “จะฟะ”ผู้นำชนเผ่าที่น้อมรับแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชาวลาหู่ ด้วยเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า ต้องการให้ชาวบ้านประกอบอาชีพที่ถูกกฎหมาย โดยเขาได้รับสนองพระราชดำริจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต
ยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น
หลายปีต่อมา “หยก” ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของบิดา หลังจากเธอได้เรียนจบปริญญาด้านการโรงแรม หยกได้นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาผนวกเข้ากับวิถีของชาวบ้านปู่หมื่นทำโครงการพัฒนาชุมชนบ้านปู่หมื่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขายวิถีความเป็นชนเผ่าลาหู่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่แก่ผู้มาเยือน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด และยังได้ FWD มาเป็นผู้สนับสนุนวิถีการปลูกชาเพื่อเลี้ยงชีพของชุมชนลาหู่ ด้วยโครงการธนาคารต้นกล้า โครงการพัฒนาคุณภาพชาและโครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัมหรือชาป่าใบใหญ่ซึ่งเป็นพันธุ์ชาพื้นเมืองในท้องที่
โครงการธนาคารต้นกล้าก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านได้มีต้นกล้าในการปลูกชาเพิ่มขึ้นส่งเสริมการพัฒนาและศึกษาเพื่อพัฒนาการผลิตชาให้มีคุณภาพดี เพิ่มมูลค่าให้เป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านปู่หมื่นกว่า 100 ครัวเรือน มีความพร้อมสำหรับการเป็นแหล่งผลิตชาชั้นดีที่มีความสมบูรณ์ของใบชาและรสชาติ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติของชาวลาหู่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่กับผู้มาเยือน
สิ่งที่ “หยก” ทำคือ สร้างโรงแรมขึ้นมาเป็นศูนย์กลาง เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและวิถีชุมชนของบ้านปู่หมื่น โดยพยายามส่งเสริมดึงการท่องเที่ยวเข้ามายังอำเภอฝาง ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงแรม “ภูมณี ลาหู่ โฮม โฮเทล” โรงแรมขนาดเล็กที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ดอยปู่หมื่น และแหล่งจำหน่ายผลผลิตชาจากดอยปู่หมื่น และส่งต่อการท่องเที่ยวจากพื้นราบในเมืองฝางไปสู่แหล่งท่องเที่ยวของชาวลาหู่บนดอยปู่หมื่น
ความยั่งยืนที่สัมผัสได้คือ แนวทางส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้จากอาชีพในท้องถิ่นจากการทำไร่ชาและรับรองนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสัมผัสธรรมชาติของหมู่บ้านชาวเขาและวิถีชีวิตชาวลาหู่บนยอดดอยสูง ส่งเสริมให้การใช้ชีวิตประจำวันของชาวบ้านเป็นเรื่องเดียวกันกับการสร้างรายได้เข้ามาในชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพรองรับสำหรับการอยู่อาศัยในบ้านเกิดของตัวเอง
นอกเหนือจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแล้ว “หยก” ยังเป็นแกนนำสำคัญส่งเสริมและพัฒนาการปลูกชาของชาวบ้าน รวมทั้งสร้างศูนย์กลางการผลิตชาเพื่อให้ชาวบ้านนำใบชาที่เก็บเกี่ยวได้มาเข้ากระบวนการอบแห้งด้วยวิธีธรรมชาติสมัยใหม่ก่อนบรรจุขายให้กับลูกค้า และเธอยังผลิตชาส่วนหนึ่งเป็นชาสำเร็จรูปพร้อมชงภายใต้แบรนด์ “Ahpa Tea” วางขายหน้าร้านที่โรงแรมภูมณีฯ และขายออนไลน์ผ่านมาร์เก็ตเพลส Shopee แม้ยอดขายยังไม่สูงมากแต่เธอมั่นใจว่านี่เป็นแนวทางที่ยั่งยืนในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชาของชาวบ้าน เป็นโมเดลที่ผสมกลมกลืนระหว่างวิถีชีวิตชาวเขา และช่องทางการตลาดสำหรับคนเมืองและนักท่องเที่ยว มีโอกาสที่จะขยายตลาดได้ในอนาคต
แรงสนับสนุนจาก FWD
ขณะที่ FWD ได้เดินหน้าโครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในปัจจุบัน มุ่งมั่นที่จะสร้างชุมชนต้นแบบสู่การสร้างสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน David John Korunic ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า FWD มีกรอบแนวคิดในการพัฒนา “โครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น” อย่างยั่งยืน 3 ด้านคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
โครงการได้รับความร่วมมือจากหลายส่วนร่วมพัฒนาและทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ เข้าช่วยพัฒนา การพัฒนาชุมชนลาหู่จาก FWD มี 3 โครงการหลักๆ คือ
1. โครงการธนาคารต้นกล้า เป็นโครงการแรกที่จัดตั้งขึ้นหลังจากมีการสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของชุมชนเพื่อช่วยแก้ปัญหาจำนวนต้นกล้าไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับพื้นที่และความต้องการเพิ่มผลผลิตชาให้มากขึ้นในระยะยาว FWD จึงมอบต้นกล้าให้สมาชิกเพื่อเพิ่มปริมาณต้นชา และส่งเสริมให้เกิดการจัดการทรัพยากรต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ทั้งความรู้ในการบริหารจัดการธนาคารต้นกล้า วางแผนการดำเนินงาน และจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบ
ในปี 2565 ที่เริ่มดำเนินการได้เปิดรับสมาชิกโครงการธนาคารต้นกล้ารุ่นที่ 1 มีผู้ผ่านเข้ามาเป็นสมาชิกจำนวน 21 ครัวเรือน จากนั้นได้มีการทำสำรวจผลการดำเนินงานพบว่า 86.6% ของจำนวนสมาชิกได้นำองค์ความรู้ในการเพาะปลูกไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรของตนเอง และเห็นการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา ในปีนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการธนาคารต้นกล้ารุ่นที่ 2 จำนวนเพิ่มขึ้น 12 ครัวเรือน ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกโครงการธนาคารต้นกล้ารวมทั้งสิ้น 33 ครัวเรือน
2. โครงการพัฒนาคุณภาพชา เป็นการเพิ่มคุณภาพจากผลผลิตในปัจจุบันผ่านการพัฒนาโรงอบใบชา โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2565 ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ออกแบบนวัตกรรม “โรงอบชาอัจฉริยะ” ใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถแก้ไขข้อจำกัดในกระบวนการผลิตชาให้มีคุณภาพมากขึ้น จากโรงอบชาเดิมที่สามารถตากชาได้เพียง 60 ถาด ตากใบชาสดได้ 200 กก./รอบ จำนวนใบชาแห้งที่ได้ 40 กก./รอบ มาเป็นตากชาได้เพิ่มขึ้น 100 ถาด ตากใบชาสดได้เพิ่มขึ้นเป็น 300 กก./รอบ จำนวนใบชาแห้งที่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 กก./รอบ
นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งระบบ Smart Device ภายในโรงอบชา เพื่อแสดงผลฐานข้อมูล อุณหภูมิ และความชื้นของโรงอบชาผ่านโทรศัพท์มือถือมาใช้ในการอ่านข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์หาแนวทางการพัฒนาโรงอบชาต่อไป และมีการจัดอบรมเรื่องการดูแลต้นกล้า การใช้ปุ๋ยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการเก็บเกี่ยวตามมาตรฐาน ในปีแรกได้มอบต้นกล้าให้แก่สมาชิกรุ่นที่ 1 รวม 2,100 ต้น และเมล็ดพันธุ์รวม 21 กก. ส่วนปีนี้ได้มอบต้นกล้าให้แก่สมาชิกรุ่นที่ 2 รวม 1,200 ต้น และเมล็ดพันธุ์อีก 12 กก. ชุมชนได้รับต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ที่ลงแปลงเพาะแล้วรวมกว่า 5,000 ต้น ยิ่งไปกว่านี้สมาชิกในชุมชนยังมีแนวคิดร่วมกันในการผลักดันให้ชาดอยปู่หมื่นก้าวสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อสร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้แก่สมาชิกสามารถนำไปต่อยอดในการจำหน่ายชาให้มีราคาขายมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ในระยะยาว
3. โครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ด้วยแนวคิดในการนำใบชาไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อยกระดับชาอัสสัมจากดอยปู่หมื่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจาก “เชฟชุมพล แจ้งไพร” เชฟมิชลิน 2 ดาว ผู้นำเสนอประสบการณ์อาหารไทยแบบไฟน์ไดนิ่ง นำใบชามารังสรรค์ 3 เมนูอาหารคาว และ 2 เมนูเครื่องดื่ม พร้อมวางขายเมนูพิเศษในร้านหวานไทย ขณะเดียวกันทีมงานยังมีแผนจะนำชาอัสสัมไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ
“เรามุ่งหวังให้ชุมชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน FWD จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้เป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ ต่อไป” ซีอีโอ FWD ย้ำและว่า นอกจากส่งเสริมการปลูกชาแล้ว FWD ยังได้แนะนำวิธีการทำการตลาดและการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ช่องทางออนไลน์ และต่อยอดสู่การออกบูธแสดงสินค้าของชุมชน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้ชุมชนมีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อเป็นช่องทางการตลาดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การทำธุรกิจออนไลน์ การทำคอนเทนต์ การถ่ายภาพออนไลน์ ตลอดจนการเล่าเรื่องราวเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์เด่นและเรื่องเล่าของชุมชน
เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา FWD ได้นำผู้บริหารและสื่อมวลชนเดินทางสู่ดอยปู่หมื่นเพื่อร่วมกิจกรรมมอบต้นกล้าชาป่าในโครงการธนาคารต้นกล้าปีที่ 2 ซึ่งมีชาวลาหู่ให้การต้อนรับพร้อมสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการธนาคารต้นกล้าเพิ่มขึ้น โดยมี “หยก” ทายาทหัวหน้าชนเผ่าเป็นแกนนำคนสำคัญเชื่อมโยงความช่วยเหลือจาก FWD และความพร้อมของชาวลาหู่ที่เข้ารับการสนับสนุน
“หยก” ยังได้ร่วมพัฒนาหมู่บ้านปู่หมื่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชุมชนลาหู่ ซึ่งมีบ้านพักแบบโฮมสเตย์ให้บริการภายในหมู่บ้าน และมีเรือนรับรองสาธิตส่งเสริมการชงชาและดื่มชาเป็นกิจกรรมเสริมให้กับนักท่องเที่ยว ร่วมสร้างความยั่งยืนให้หมู่บ้านบนดอยสูงแห่งนี้ดำรงอยู่ได้ในวิถีของชาวดอย กับอาชีพปลูกและผลิตชาป่าป้อนสู่การค้าให้กับคนเมือง ประสานและดำรงไว้ซึ่งวิถีดั้งเดิมของชนเผ่าลาหู่คู่สังคมคนเมืองให้เกื้อกูลและอาศัยซึ่งกันและกัน ส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมสู่คนรุ่นหลังต่อไป
อ่านเพิ่มเติม :