Forbes 30 Under 30 Asia 2023 (ตอน1) - Forbes Thailand

Forbes 30 Under 30 Asia 2023 (ตอน1)

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Aug 2023 | 11:00 AM
READ 1596

เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกผันผวนมากขึ้นและเม็ดเงินจากธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) ลดลงอย่างมาก ผู้ประกอบการหนุ่มสาวในเอเชียแปซิฟิกจึงต้องเผชิญความท้าทายระลอกใหม่ในปีที่แล้ว แต่สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ฆ่านวัตกรรมไม่ได้ กลุ่มผู้ได้รับเกียรติให้เข้าทำเนียบ 30 Under 30 Asia ในปีนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความคิดสร้างสรรค์คือสินทรัพย์ที่มีค่ามากต่อความอยู่รอดและความรุ่งเรืองท่ามกลางสถานการณ์ที่ลำบากกว่าเดิม และไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ การสร้างความรู้ด้านการเงินให้คนทุกกลุ่ม หรือการพลิกโฉมแฟชั่นงานฝีมือและเสื้อผ้าสำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย ก็ไม่มีอุปสรรคใดจะขัดขวางผู้เข้าทำเนียบของเราได้ 


    คนหนุ่มสาวผู้โดดเด่นเหล่านี้มีแรงผลักดันมาจากความมุ่งมั่นและปรารถนาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และนอกจากผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ปรับตัวเก่งแล้ว ทำเนียบนี้ยังมีศิลปิน นักกีฬา และนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในแต่ละวงการทั้งในประเทศของตนและต่างประเทศ ในการจัดทำทำเนียบรายชื่อประจำปีฉบับที่ 8 นี้ทีมนักข่าวและบรรณาธิการของเราตรวจสอบผู้ได้รับการเสนอชื่อกว่า 4,000 รายชื่อ และคัดเลือกผู้เข้ารอบสุดท้าย 300 รายชื่อเพื่อนำมาให้เหล่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดกรอง


บันเทิงและกีฬา


MC CHEUNG TIN-FU

อายุ: 26 • นักร้อง • ฮ่องกง


    Michael Cheung Tin-fu เคยเป็นคนที่ใครๆ เห็นจนชินตาในอุโมงค์ใต้ดินอันจอแจของฮ่องกง เขายืนร้องเพลงของศิลปินตั้งแต่ Jay Chou ไปจนถึง Maroon 5 แต่ในวันนี้ Cheung ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ MC กลายเป็นดาวรุ่งแห่งวงการเพลงป๊อปกวางตุ้งของฮ่องกงไปแล้ว อัลบั้มเต็มชุดแรกของเขา This Is MC ขึ้นแท่นอัลบั้มขายดีในฮ่องกงภายในสัปดาห์แรกที่ออกจำหน่ายเมื่อเดือนมกราคม และตั๋วคอนเสิร์ตของเขาซึ่งจัดในเดือนเดียวกันที่ Hong Kong Coliseum ขนาด 12,500 ที่นั่งก็ขายเกลี้ยง หนึ่งในเพลงของเขาคือซิงเกิลฮิตปี 2021 “Pillow Talk” ซึ่งขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตของฮ่องกง 12 สัปดาห์ และมียอดเข้าชม 23 ล้านครั้งใน YouTube Cheung ผู้เกิดในฮ่องกงและไปโตที่แคนาดาได้แจ้งเกิดในวงการเมื่อปี 2019 เมื่อเขาได้รางวัลรองชนะเลิศในรายการเรียลลิตี้ทีวีประกวดร้องเพลงชื่อ King Maker 

    นักร้องหนุ่มคนนี้ยกเครดิตความสำเร็จให้พ่อของเขาซึ่งส่งเสริมความสามารถทางดนตรีของเขามาตลอดก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในระหว่างที่เขากำลังประกวดรอบรองชนะเลิศของซีซั่น ต่อมาในปี 2020 Cheung ได้เซ็นสัญญากับ Warner Music Hong Kong และในปี 2021 ได้ออก EP เปิดตัวชื่อ Have a Good Time Cheung กล่าวว่า ศิลปินรุ่นใหม่อย่างเขากำลังทำให้วงการเพลงป๊อปฮ่องกงกลับมาคึกคัก และเขาเชื่อว่าวงการนี้น่าจะเป็นที่นิยมในระดับโลกได้ไม่แพ้วงการป๊อปเกาหลี Cheung หวังว่าเขาจะได้แสดงคอนเสิร์ตและพยายามคว้าโอกาสการเป็นนักแสดงไปพร้อมกัน “ไม่ว่าผมจะเล่นดนตรีข้างถนนหรือบนเวที ผมก็เล่นดนตรีของผมในแบบเดียวกัน” ศิลปินผู้นี้กล่าว “ผมชอบการสื่อใจถึงกันตรงหน้า”


เทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภค


AKSHAY RAMPURIA และ YASHOVARDHAN PODDAR

อายุ: 28, 29 • ผู้ร่วมก่อตั้ง Openhouse • อินเดีย


    Akshay Rampuria (ซ้าย) และ Yashovardhan Poddar ก่อตั้ง Openhouse เมื่อปี 2018 โดยมีเหตุผลส่วนหนึ่งคือ เพื่อตอบโจทย์ข้อจำกัดที่พวกเขามองเห็นในระบบการศึกษาของอินเดีย เครือศูนย์กวดวิชาหลังเลิกเรียนรายนี้เปิดสอนวิชาอย่างคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และยังมีกิจกรรมนอกหลักสูตรอย่างวิทยาการหุ่นยนต์และเต้นฮิปฮอปด้วย ศิษย์เก่า Stanford University สองคนนี้เปิดศูนย์กวดวิชาซึ่งมีห้องเรียนสว่างสดใสดูทันสมัยแห่งแรกจากทั้งหมด 8 แห่งโดยเริ่มจากเมือง Kolkata แล้วจึงขยายไปยังเมือง Bangalore บริษัทคุยว่า มีนักเรียน 10,000 คน ส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ 3-10 ปี และคิดค่าบริการรายเดือน 35-50 เหรียญสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับคลาสที่สมัครเรียน Rampuria และ Poddar โตในอินเดีย แต่หลังจากเรียนจบจากต่างประเทศพวกเขาก็มองเห็นโอกาสในการศึกษาตามแนวทางการเรียนรู้แบบองค์รวมมากกว่าการท่องจำ กลยุทธ์ของพวกเขาเน้นการสอนในห้องเรียนแต่ก็เปิดให้พ่อแม่ติดตามพัฒนาการของลูกผ่านแอป Openhouse ได้ด้วย 

    “เราเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ดีที่สุดแบบออฟไลน์” Poddar กล่าว แม้โควิด-19 จะบีบให้ Openhouse ต้องเปิดสอนออนไลน์แต่ก็เปลี่ยนกลับมาสอนในห้องเรียนอีกครั้งเมื่อการระบาดคลี่คลาย Openhouse ระดมทุนได้ 11 ล้านเหรียญในรอบซีรีส์ A เมื่อเดือนธันวาคมทำให้มีเงินทุนรวมเป็น 17 ล้านเหรียญจากนักลงทุน ซึ่งรวมถึงไปด้วยบริษัท VC อย่าง Accel, Matrix Partners และ GSV Ventures และบริษัทกำลังเตรียมเพิ่มศูนย์กวดวิชาทั้งในอินเดียและต่างประเทศ โดยเป็นไปได้ว่าผ่านแนวทางการเป็นเจ้าของร่วม Rajat Agarwal กรรมการผู้จัดการของ Matrix Partners กล่าวว่า บริษัทนี้ “มีเงินทุนพร้อมและ…มีหลายศูนย์ไปถึงจุดคุ้มทุนแล้ว” - Ardian Wibisono


การเงินและธุรกิจเงินร่วมลงทุน


SEO KYOUNG LEE

อายุ: 28 • เจ้าหน้าที่ TPG • เกาหลีใต้


    Seo Kyoung Lee ดาวรุ่งแห่งสำนักงาน Seoul ของยักษ์ใหญ่ไพรเวทอิควิตี้ TPG มีงานยุ่งกับการทำข้อตกลงธุรกิจอยู่เสมอ แต่ปี 2021 เป็นปีที่น่าจดจำเป็นพิเศษ เพราะในปีนั้น Lee ช่วย Kakao Mobility ระดมทุนได้กว่า 500 ล้านเหรียญด้วยการทำงานร่วมกับบริษัทและนักลงทุนอย่าง Google, LG และ Carlyle ความสำคัญที่ Kakao Mobility มีต่อ TPG นั้นไม่ใช่เพียงในฐานะบริษัทบริการรถโดยสารผ่านแพลตฟอร์มชั้นนำของเกาหลีเท่านั้น แต่ TPG ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2ในบริษัทนี้รองจาก Kakao Corp ด้วย เงินทุนก้อนนี้ช่วยให้ Kakao Mobility รักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดบริการรถโดยสารนี้เอาไว้ได้ และ Lee ก็ได้เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการบริษัทของ Kakao Mobility เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทำให้เธอได้เป็นกรรมการหญิงอายุน้อยที่สุดในบริษัทเทคที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชีย 

    ซึ่ง Lee กล่าวในการให้สัมภาษณ์ผ่านวิดีโอว่า “เป็นการตัดสินใจที่กล้ามาก” รายงานฉบับหนึ่งของ Deloitte ในปีที่แล้วกล่าวว่า เกาหลีใต้มีสัดส่วนกรรมการบริษัทหญิงน้อยที่สุดในเอเชีย โดยกรรมการบริษัทในประเทศนี้มีผู้หญิงแค่ 4% ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วค่าเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคคือ 12% ขณะที่สัดส่วนกรรมการหญิงในญี่ปุ่น (ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย) อยู่ที่ประมาณ 8% “ฉันหวังว่าตำแหน่งกรรมการนี้จะแสดงให้เด็กผู้หญิงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ และสร้างโอกาสให้ผู้หญิงได้มากขึ้น” Lee เสริม “ฉันอายุน้อยที่สุด แต่ไม่รั้งท้ายแน่นอน” Lee จบการศึกษาจาก Seoul National University เคยทำงานสายวาณิชธนกิจที่ JPMorgan Chase ก่อนจะมาทำงานกับ TPG เมื่อเดือนมกราคม ปี 2019 - John Kang


สื่อ การตลาด และโฆษณา


SIMRAN KAUR และ SONYA GUPTHAN

อายุ: 26, 26 • ผู้ร่วมก่อตั้ง Girls That Invest • นิวซีแลนด์


    Simran Kaur (ในภาพ) และ Sonya Gupthan เรียกการเดินทางของพวกเธอว่า “กระบวนการลบล้างความรู้เดิม” เพื่อเอาชนะความไม่มั่นใจที่ว่าพื้นฐานชีวิต วุฒิการศึกษา และประสบการณ์ของพวกเธอนั้นไม่เหมาะจะเป็นนักลงทุน สองสาวชาวเมือง Auckland เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ 5 ขวบ และเริ่มทำรายการพอดแคสต์ Girls That Invest จากบทสนทนาในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับหุ้น กองทุน และอสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลจาก Spotify ชี้ว่า พอดแคสต์รายการนี้ติดกลุ่ม 1% ของรายการที่แชร์กันมากที่สุดทั่วโลก ณ ช่วงสิ้นปี 2022 ซึ่งนับเป็นเวลา 2 ปีครึ่งหลังจากรายการตอนแรกเริ่มออกอากาศ Kaur มองว่าความสำเร็จนี้มาจากการที่ผู้ฟังรู้สึกว่าผู้ดำเนินรายการก็มีอะไรคล้ายๆ พวกเขา “เราคือหญิงสาวชาวเอเชียใต้ 2 คนที่นั่งคุยกันถึงเรื่องที่คนในแวดวงการเงินเขาคงไม่เอามาคุย…เราคุยเรื่องกระเป๋า Birkin คุยเรื่องรายการ Love Island” Kaur กล่าว “ทำให้ [ผู้ฟัง] รู้สึกประมาณว่า ถ้าพวกเธอทำได้ ฉันก็ทำได้” 

    Kaur มองว่าพอดแคสต์รายการนี้ซึ่งขายคอนเทนต์โดย “ไม่ต้องมีพวกหนุ่มๆ สายการเงิน ไม่มีศัพท์เฉพาะวงการ และไม่ยกตนข่มผู้ฟัง” คือจุดเริ่มต้นเข้าสู่การลงทุน นอกจากนี้ เธอและ Gupthan ยังจัดคอร์สสอนลงทุนยาว 6 สัปดาห์ปีละ 3 รอบเพื่อช่วยวางแผนอนาคตไปสู่อิสรภาพทางการเงิน และ Kaur ก็เขียนหนังสือ (ชื่อ Girls That Invest เหมือนชื่อรายการ) ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้เป็นหนังสือขายดีอันดับ 13 ของ Amazon ในหมวดการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ Gupthan กล่าวว่า สิ่งที่เคยเป็นกำแพงขวางการลงทุนของเธอคือ ความกลัวผิดพลาด และการเล่าเรื่องความลำบากของตัวเองออกมาตรงๆ ก็ช่วยให้พวกเธอเข้าถึงแฟนประจำของรายการได้ “เวลาเราอธิบายอะไร [เราจะคิดว่า] จะทำอย่างไรให้สนุก จะใช้ภาษาอย่างไรให้กลุ่มคนที่คล้ายเราเข้าใจได้ แล้วมันก็ได้ผลจริง” เธอกล่าว - Danielle Keeton-Olsen


เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจ


BO ZHIYUAN

อายุ: 29 • ผู้ก่อตั้ง Qingflow • จีน


    ตลอด 3 ปีของการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19 ความต้องการแพลตฟอร์มเครื่องมือสำหรับทำงานร่วมกันที่มีชื่อว่า Qingflow ของ Bo Zhiyuan เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริษัทต่างๆ ในประเทศจีนเริ่มหันมาใช้เครื่องมือทำงานออนไลน์ โดย Qingflow จะใช้ซอฟต์แวร์จัดการกระบวนการทำงานบนระบบคลาวด์ในการสร้างแอปพลิเคชันสำหรับเว็บไซต์และอุปกรณ์มือถือเพื่อจัดการกระบวนการทางธุรกิจและโครงการต่างๆ ระหว่างทีมงาน แผนกงาน และสถานที่ปฏิบัติงานต่างๆ ผู้ใช้สามารถป้อนข้อมูลด้วยเนื้อหาที่กำหนดเอง ติดตามตรวจสอบสัญญา และออกใบแจ้งหนี้ได้เพียง “ลากและวาง” ซึ่งไม่ต้องใช้ทักษะในการเขียนโค้ดใดๆ “ทีมงานแต่ละฝ่ายล้วนมีความต้องการของตนเอง ซึ่งระบบไอทีมาตรฐานของบริษัทอาจไม่ตอบโจทย์” Bo ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Qingflow บริษัทจาก Shanghai กล่าว 

    “โรคระบาดมีแต่จะทำให้ความต้องการเครื่องมือใหม่ๆ เพิ่มขึ้น” จากข้อมูลของ iResearch จาก Beijing แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจบริการที่ไม่ต้องพึ่งพาการเขียนโค้ดมากนักในประเทศจีนคาดว่าจะมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) 44% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญในปี 2025 จาก 400 ล้านเหรียญในปี 2021 โดยมีบริษัทจีน 500,000 แห่งเคยลองผลิตภัณฑ์ของ Qingflow มาแล้ว บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนอย่าง Xiaomi บอกว่า พวกเขาใช้แพลตฟอร์มของ Qingflow ในการสร้างซอฟต์แวร์สำหรับจัดการเอกสารกฎหมายและปรับปรุงระบบภายในองค์กร Qingflow ให้บริการเครื่องมือพื้นฐานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากลูกค้าต้องการยกระดับการบริการระดับมืออาชีพจะมีค่าบริการเริ่มต้นปีละ 1,400 เหรียญ สำหรับ Bo เป็นมหาบัณฑิตด้านคลาวด์คอมพิวติ้งจาก Shanghai Jiao Tong University เขาเริ่มกิจการ Qingflow ในปี 2015 ด้วยการสร้างต้นแบบช่วยบริหารกิจกรรมของโรงเรียนและจัดการการรับสมัครนักเรียนใหม่ Qingflow ระดมทุนได้ประมาณ 30 ล้านเหรียญจากบรรดานักลงทุน อาทิ Tencent และ Qiming Venture Partners สำหรับ Bo อยากให้บริการทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และร่วมมือกับพันธมิตรระดับท้องถิ่นในญี่ปุ่นและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ” ได้ - Yue Wang

    

    อ่านเพิ่มเติม : FWD ประกันชีวิต ติวเข้มผู้บริหารตัวแทน เพิ่มทักษะรอบด้านสู่มาตรฐานระดับโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine